กรรมชิน 2
อ่าน: 2821พวกเราสรุปกลุ่มผู้ไทและไทโซ่มาก่อนแล้วว่า ผู้ไทนั้นปรับตัวได้ดีต่อการไหลบ่าเข้ามาของสังคมใหม่ เทคโนโลยี่ใหม่ แนวความคิดใหม่ๆ แต่ ไทโซ่นั้น ปรับตัวได้ช้ากว่า มีลักษณะเฉพาะสูง มีลักษณะความพอเพียง แต่คำนี้สำหรับกลุ่มคนไทโซ่ต้องวิเคราะห์ลึกๆ คำเดียวกันแต่ต่างความหมายกันนะครับ
ย้อนกลับไปพิจารณาข้อสรุปของพระอาจารย์นรินทร์ ที่ว่า ..ไทยดำนั้น ชอบอยู่ป่า ติดการเข้าป่า พอเพียง ยึดติดประเพณี นิยมให้ทานมากกว่ารักษาศีล นับถือผี และ “กรรมชินหรือความเคยชิน”…
ไทโซ่นั้น อะไรอะไรก็ป่า ทั้งอาหารที่ถูกปาก เหมือนคนอีสานชอบหอยจูบ ได้สัตว์ป่ามานั้น เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ก็มันชอบอ่ะ ที่เราเรียกทางวิชาการว่าวัฒนธรรมการบริโภค เมื่อมีเวลาก็เข้าป่าไปหาอาหารที่ชอบ
ไปหาของป่ามาขายตามฤดูกาล ฤดูนี้สิ่งที่มีราคาคือ ผักหวานป่า วันนี้ราคาที่หมู่บ้าน ขีดละ 25 บาทครับ หากเป็นดอกผักหวานจะสูงถึง 40 บาทต่อขีด หอยหอม ปูภูเขา ตัวแลน ตัวอ้น ตัวบ่าง ล้วนเป็นอาหารเลิศรสและมีราคา
ได้กินแล้ว ได้ขายแล้วได้เงินมาแล้ว ก็สบายใจ เว้นวันสองวันขึ้นป่าอีก นี่คือความหมายพอเพียงที่พระอาจารย์พูดถึง หรือใครต่อใครพูดถึง ความพอเพียงนี้จึงมีความหมายเฉพาะ ไม่เหมือน หรือแตกต่างจากความพอเพียงที่ในหลวงท่านทรงพระราชทานมา
รายได้ที่มาจากของป่าจึงไม่มีความมั่นคงแน่นอน ทำไมไม่รู้จักเลี้ยง ปลูก ขยายในพื้นที่ดินของตัวเอง.. เป็นคำถามีที่เราถามตัวเอง และตั้งคำถามชาวไทโซ่มานาน ก็มีบางคนซึ่งเป็นส่วนน้อยที่ทำเช่นนั้น เช่นพ่อแสน หรือกลุ่มผู้นำในเครือข่ายไทบรูเป็นหลัก แต่ภาพรวมนั้นยังน้อยอยู่
เทคโนโลยี่ใหม่ๆที่เราเอาเข้ามาแนะนำเราก็พบว่า เราต้องทำหน้าที่เหมือนเลี้ยงเด็กเล็ก ดูแลอย่างใกล้ชิด อะไรที่ซับซ้อนก็ผิดพลาด และเรียนรู้ช้า หรือปฏิเสธไปเลย แล้วกลับไปทำแบบเดิมๆ ตรงนี้เองแตกต่างจากกลุ่มผู้ไทที่ปรับตัวได้ดีกว่า พยายามเรียนรู้และยกระดับตัวเองเสมอ สำหรับพ่อแสนนั้นเป็นกรณีพิเศษจริงๆของไทโซ่
เหล่านี้คือ กรรมชิน หรือความเคยชินของไทโซ่ที่พระอาจารย์นรินทร์ท่านสรุปเองซึ่งมาตรงกับข้อสรุปของพวกเรา
พระอาจารย์นรินทร์ ท่านสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า “มันเป็นจริตของเขานะ มันเป็นอุปนิสัยของเขานะ…..”
ในแง่ของงานพัฒนานั้น เราไม่ได้ท้อถอย หรือหยุดเพียงแค่นี้ ตรงข้าม เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องหาสิ่งที่คลิกกับกลุ่มไทโซ่ให้ได้ มันท้าทายคนทำงานพัฒนายิ่งนัก แต่ที่รำคาญหัวใจก็คือ เรามักจะขัดคอกับกลุ่มผู้บริหาร หรือคนที่นั่งอยู่ข้างบนเสมอ เพราะเขาไม่เข้าใจ และพยายามไม่เข้าใจ มองอย่างเดียวคือ output ทำไมไม่อย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้
อธิบายอย่างไรก็ “บ่หัวซา” อิอิ
« « Prev : กรรมชิน 1
Next : ใบไผ่.. » »
3 ความคิดเห็น
อ่านแล้วคิดถึงดงหลวง
ตอนที่ไปปลูกต้นไม้พระบาทห้วยต้ม พี่บางทรายจำชาวกระเหรี่ยงที่นั่นที่ปลูกต้นไม้เพียงให้พอกินนิดหน่อย ไม่สะสมอะไร ไม่กินเนื้อสัตว์ นั้นได้ไหมคะ
พอเพียงในนิยามแบบนั้น น่าจะหมายถึงความไม่สะสมจนเกิดความยุ่งยากในการจัดการ???
จำได้ครับน้องสร้อย ดังนั้น เวลาเราพูดถึงความพอเพียง ส่วนใหญ่เราหมายถึงหลักการของในหลวงที่ทรงพระราชทานมา แต่หากเราจะเสนอเป็นทางเลือกของชุมชนใดๆ ต้องคุยกันมากในมุมมองของเขา ในเงื่อนไขของเขา ในวัฒนธรรม วิถีของเขา แล้วจำลองภาพออกมาให้ชัดเจน หาข้อสรุปในมุมของเขาแล้วถกให้ถึงที่สุดว่า ความหมายของเขานั้น พอเพียงจึงหรือเปล่า หรือพอเพียงแต่ไม่ยั่งยืน พอเพียงที่ขึ้นกับธรรมชาติที่แปรปรวนตลอด พอเพียงแบบไหนกันแน่ หากเราไม่เข้าใจถ่องแท้แล้ว กิจกรรมที่เสนอเข้าสู่ชุมชนอาจจะผิดฝาผิดตัวไปก้ได้
ภาพแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า หลักการใดๆนั้น ไม่อาจนำไปใช้ได้ทั่วประเทศ ทุกภาค ทุกชุมชน ทุกชนเผ่า ฯลฯ หลักการจะต้องผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนให้ถึงที่สุดก่อน แต่โดยมากการทำงานตามระบบ ก็มักจะเอาของข้างนอกไปเสนอเขา แล้วให้เขาทำ นัยว่า ก็นี่เป็นมาตรฐานสากล.. นี่เป็น KPI นี่เป็นตัวชี้วัดที่ใครๆเขาก็ทำกันแบบนี้….
คนลงมือทำที่เห็นรายละเอียดของพื้นที่มักขัดๆกับกลุ่มหลักการเสมอ นี่คือความขัดแย้งประเภทหนึ่งนะครับ พี่จึงมักใช้ KM ในองคืกรช่วย คือพี่จะเขียนความคิดเห็นส่งให้กลุ่มเพื่ออนร่วมงานรวมทั้งฝ่ายบริหารทั้งราชการและกลุ่มที่ปรึกษา พยายามใช่สื่อที่มีประสิทธิภาพ เช่น Flowchart mindmap ฯลฯ ซึ่งช่วยได้ระดับหนึ่งครับ