กรรมชิน 1
อ่าน: 3235หลายท่านอาจจะจำภาพนี้ได้ เมื่อเฮ 3 เราไปจัดกันที่อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เมื่อเดือน พ.ย. 2550 ครั้งนั้นมีโปรแกรมหนึ่งคือขึ้นไปบนภูเขาสูงเพื่อทานอาหารกลางวันและกราบพระอาจารย์นรินทร์ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำน้ำริน
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ผมขึ้นไปกราบท่านอีกครั้ง เพราะท่านขอความร่วมมือในการติดตามเรื่องของกรมป่าไม้ที่มาออกเอกสารวัดในป่าให้ท่าน แต่รายละเอียดผิดพลาดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผมติดตามเรื่องให้ท่าน จึงขึ้นไปส่งเอกสารคืนและเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ท่านทราบ
ถือโอกาสคุยกันไปหลายเรื่อง ท่านยังพูดถึงเฮ 3 ว่าญาติโยมมากันเยอะนะ ซึ่งท่านก็ยินดี ท่านพระอาจารย์ยังหนุ่มแน่นเป็นชาวสมุทรปราการ กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของพระอาจารย์สมชาย แห่งเขาสุกิม จันทรบุรีที่โด่งดัง เพราะพระอาจารย์สมชายท่านเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ใครๆที่สนใจพระเกจิอาจารย์ย่อมรู้จักท่านดี…
ผมขึ้นไปกราบท่านคนเดียว วันนั้นท่านก็อยู่รูปเดียว เลยสนทนากันนานกว่าสามชั่วโมง และผมใช้เวลาอีกกว่าสามชั่วโมงระหว่างทางไปถ้ำและลงจากถ้ำ เพราะผมแวะชื่นชมต้นไม้ ธรรมชาติกลางป่าคนเดียว มันเป็นความสุขแบบอธิบายไม่ได้ว่าการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติคนเดียวนั้นเป็นเช่นใด เสียงธรรมชาตินั้นไพเราะกว่าเพลงที่เพราะที่สุดในโลก สีสันธรรมชาตินั้นสวยกว่าภาพที่งามที่สุดในโลก ผมรักธรรมชาติ.
ผมกับพระอาจารย์คุยกันหลายเรื่อง ในที่สุดก็มาลงที่กลุ่มไทโซ่ ที่ท่านเดินลงเขาไปบิณฑบาตทุกวัน และได้อาศัยแรงงานมาช่วยก่อร่างสร้างสำนักสงฆ์ถ้ำน้ำรินแห่งนี้ด้วย ข้อสรุปของท่านคล้ายกับของผมมาก แต่ท่านใช้คำทางธรรมว่า ไทโซ่นั้นมีลักษณะ “กรรมชิน” ตอนแรกผมงง เอ๊ะ ท่านพูดภาษาเกาหลีหรือญี่ปุ่น ฟังไปๆ อ๋อ…เป็นคำที่ได้ยินเป็นครั้งแรกสำหรับศัพท์ตัวนี้
อาว์เปลี่ยน กับผมคลุกคลีกับพี่น้องไทโซ่มานาน และมีสำนึกน้อมนำความเป็นไทโซ่เข้ามาในตัวเราเอง ตามหลักของในหลวงที่กล่าวว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยเรามีความเชื่อพื้นฐานอยู่ก่อนแล้วว่า คนเราพัฒนาได้ แม้ว่าเขาจะเป็นคนป่าคนดง คนชายขอบ หรือจะอยู่ที่ไหนๆก็ตาม เพียงแต่การใช้เทคนิค การใช้เวลา การใช้กระบวนการ วิธีการ แนวทาง อุบาย ฯลฯ อาจจะแตกต่างจากกลุ่มคนอื่นๆบ้าง ก็ขึ้นกับ “การออกแบบ” ของเราผู้เข้าไปเรียนรู้เขานั่นเอง อาจะเรียกมุมนี้ของนักพัฒนาว่า เป็นวิศวกรสังคม หรือ สถาปนิคสังคมก็แล้วแต่
พระอาจารย์นรินทร์: โยม ครูบาอาจารย์ท่านผ่านกลุ่มคนเหล่านี้มาก่อนท่านเรียกว่า ไทยขาว ไทยดำ.. “ไทยขาวหมายถึงกลุ่มผู้ไท ไทยดำหมายถึงไทโซ่” พระอาจารย์ท่านสรุปลักษณะของสองกลุ่มนี้ว่า
ไทยขาวนั้น ขยัน เรียนหนังสือ อดทน รักความก้าวหน้า มีศรัทธาในศาสนา นิยมรักษาศีล เข้าวัดเข้าวามาก น้อมนำคำสอนของพระมากกว่า ผิวพรรณดี ปลูกยางพาราก่อน[(อาจารย์นรินทร์ยกกรณีนายวันชัย พ่ออามาตย์) วันหลังจะเขียนเรื่องนี้]
ส่วนไทยดำนั้น ชอบอยู่ป่า ติดการเข้าป่า พอเพียง ยึดติดประเพณี นิยมให้ทานมากกว่ารักษาศีล นับถือผี และ “กรรมชินหรือความเคยชิน” (ต่อตอนสองนะครับ)
Next : กรรมชิน 2 » »
ความคิดเห็นสำหรับ "กรรมชิน 1"