เกิดระเบิดที่มาบตาพุดนั้นดีแล้ว..?

โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 11, 2012 เวลา 1:11 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1649

ข่าวเกิดเหตุระเบิดที่มาบตาพุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานั้น ผมรู้สึกว่ามันใกล้ชิดตัวเอง เพราะเป็นพื้นที่หนึ่งที่ผมลงไปทำงานอยู่ในปัจจุบัน บุคคล ชื่อชุมชน และสถานการณ์ในชุมชนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ก็เพราะเพิ่งลงสนามสัมภาษณ์ชาวบ้านรอบๆนิคมมาบตาพุดมา และมีแผนที่จะลงไปอีกในสัปดาห์นี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะชาวบ้านไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะมาพูดคุยกับเรา

มาบตาพุดเป็นนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีกลุ่มหนึ่งที่เขาติดต่อมาว่า เขาต้องการสนับสนุนชุมชนก้าวเข้ามาประมูลสินค้าและบริการที่กลุ่มปิโตรเคมีจัดซื้อปีละนับพันล้านบาท เงินจำนวนนี้เขาอยากให้ส่วนหนึ่งตกอยู่ในชุมชนรอบๆนิคม

หากจะกล่าวว่านี่เป็นนโยบายหนึ่งของ CSR ก็ใช่ เราเลยจับมือกับ NGO ใหญ่ลงสนามไปเก็บข้อมูลเพื่อนำมาเข้ากระบวนการ แล้วมองดูลู่ทางว่ามีแนวทางใดบ้างที่จะตอบโจทย์นั้นได้ ทีมงานและผมลงสนามมาบตาพุดมาแล้ว ตระเวนไปพบผู้นำชุมชน ผู้นำหน่วยงาน ชาวบ้าน ฯลฯ สัมภาษณ์ เก็บข้อมูลต่างๆตามแผนงานที่เรากำหนดขึ้นมา

ผมนั้นเป็นตัวประกอบในการเก็บข้อมูล แต่ผมมีประเด็นในใจและนิสัยที่อยากรู้เรื่องราวต่างๆที่มากไปกว่าแบบสัมภาษณ์ ทั้งเป็นแบบ Traditional และที่เป็น Key Question ตามหลักการแล้ว ผมก็ปล่อยให้ทีมงานทำไป ผมเองเห็นใครอยู่นอกเป้าหมายของ Key Informants ก็จะเข้าไปจับเข่าคุยด้วยตามสไตล์ของผมที่นิยม Dialogue มากกว่า

ที่ชุมชนหนึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ผมพบ “ป๊ะ” ท่านอายุ 80 เศษแล้ว แต่แข็งแรงผมเข้าไปคุยด้วย คุยไปคุยมาผมทึ่งกับท่านมากเพราะท่านเป็นผู้สูงอายุที่มีความคิดกว้างไกล และออกวิชาการมาก ทราบว่าท่านเป็นผู้นำศาสนาในจังหวัดระยองด้วย ระหว่าวที่เรานั่งคุยกัน ทีมที่สัมภาษณ์เป็นทางการนั้นออกปากเชิญ ป๊ะ ไปคุยด้วยเพื่อขอทราบข้อมูลต่างๆ ป๊ะมีท่าทีไม่อยากไป แต่ลูกเขยท่านชักชวนให้ไปร่วมด้วย ท่านก็ไป แต่เพียงไม่กี่คำถามท่านก็ผละออกมาคุยกับผมต่อ เพราะท่านไปสวนคำถามฉบับๆๆๆๆ แบบว่า ไม่อยากให้ข้อมูล ไม่มีประโยชน์ มีทีมงานต่างๆมาคุยหลายต่อหลายชุด แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้นเลย

ท่านลงมาคุยกับผมต่อเฉยเลย ผมนึกเข้าข้างตัวเองว่า เพราะผมใช้ Dialoque และทักษะการคุยกับชาวบ้านนั้นเราผ่านมามากแล้ว รู้ว่าควรจะคุยแบบไหน อย่างไร … ยิ่งคุยยิ่งทึ่งกับท่าน ป๊ะ ท่านมีความคิดที่สด ทันสมัย มีหลักการ วิชาการ ผมเห็นด้วยกับท่านหลายเรื่อง…..

ผมจากท่านมาด้วยความชื่นชมเป็นการส่วนตัว…จนข่าวโรงงานในนิคมมาบตาพุดเกิดการระเมิด ผมติดตามข่าว ก็ได้ยินผู้นำบ้านนั้นบ้านนี้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างๆ ล้วนเป็นผู้นำที่ผมไปสัมผัสมาแล้ว แล้วเมื่อสองวันก่อน หน่วยงานเรามีการประชุมสรุปงานเบื้องต้นกัน เพื่อนร่วมงานกล่าวกับผมว่า ..ช่วยโทรไปคุยกับป๊ะหน่อย ทราบว่า ทั้งชุมชนเขาโยกย้ายออกไปจากพื้นที่เพราะได้รับควันพิษเต็มๆ แต่ป๊ะไม่ยอมออกจากบ้าน..?? ผมรับปาก

ผมโทรไปหาป๊ะ…ทำไมไม่ออกไปจากบ้านหล่ะครับ ใครต่อใครเขาอพยพไปตามข้อเสนอของทางการ ป๊ะบอกว่า ไม่ไปหรอก อยู่ที่นี่มาชั่วชีวิตแล้ว จะตายก็ขอตายตรงนี้… เราคุยกันพักใหญ่ คำหนึ่งที่ผมทึ่งในความคิดของป๊ะคือ

..ผมว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ดีนะ…. อะไรนะ..ผมถามซ้ำ ป๊ะก็ย้ำว่า เกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ดีนะ.. ผมงง งง ผมฟังผิดไปหรือเปล่า…. ผมถามต่อ มันดีอย่างไรครับ ป๊ะ.. ป๊ะตอบทันควันเลยว่า…อ้าว มันก็ทำให้ราชการ หน่วยงานได้คุยกัน ตื่นตัวหามาตรการต่างๆออกมาใช้ ชาวบ้านอย่างเราก็หันหน้ามาคุยกัน

โอโฮ….แหลมคมจริงๆป๊ะ ท่านยังวิเคราะห์เหตุการณ์ครั้งนี้ในฐานะที่ท่านเป็นคนในพื้นที่ ใกล้ชิดกับคนงานและผ่านเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับโรงงานมาตั้งแต่โรงงานต่างๆมาเริ่มตั้งใหม่ๆ

ป๊ะกล่าวว่า…มันประมาท ทั้งหมดนั่นแหละประมาท มันเป็นช่วงหยุดงาน ทำความสะอาดเครื่องเพื่อเปลี่ยนจ๊อปใหม่ เจ้านายก็ไม่อยู่ ผู้คุมก็ไม่อยู่ คนทำความสะอาดก็ประมาท เพราะทุกคนคิดว่าไม่มีอะไร นี่มันเป็นอย่างนี้ เรื่องนี้มันเกี่ยวกับสามส่วน ป๊ะ วิเคราะห์ต่อว่า หนึ่ง คนงานที่ทำความสะอาดและผู้คุมทั้งหลาย สองบริษัทผู้มาลงทุน และสามชาวบ้านอย่างเรานี่ …ป๊ะ วิเคราะห์ยาวไปเลย อย่างนักวิชาการ หรือผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์….

เป็นโทรศัพท์ที่ผมพูดนานที่สุดครั้งหนึ่ง แต่ก็ยินดีที่ได้คุยกับป๊ะ ผู้เฒ่าที่อายุเป็นเพียงตัวเลข ฟังเสียงป๊ะแล้วผมหลับตาเห็นอากัปกิริยาป๊ะได้ ท่านเป็นคนตรง แข็ง ใครมาผิดหูผิดตาก็ฟันเละไปเลยเชียวหละ

ลูกเขยป๊ะ ก็ หนึ่งในตองอูคนหนึ่ง เราเห็นฝีปากมาแล้วในการประชุมสองครั้ง ใครๆก็สะดุ้งโหย๋งหากลูกเขยป๊ะคนนี้พูด ไม่ใครก็ใครโดดอัดแน่ๆ ทั้งนี้เพราะเขามีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับกลุ่มปิโตรเคมีมานาน ซ้ำซาก…

ผมนึกไปถึงประสบการณ์ที่แม่เมาะ มันช่างคล้ายกันในหลายเรื่อง เห็นใจชาวบ้านครับ และงานเกี่ยวกับชาวบ้านในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมนั้นมีงานที่แตกต่างไปจากชนบททั่วไป ยากกว่า เพราะโจทย์คนละชุดกัน

แต่สำหรับคนที่ทำงานกับคนมาขนาดผมนั้น

มันท้าทายดีครับ….

« « Prev : เรื่องเล่าจากดงหลวงจะตีพิมพ์

Next : 85 บาท.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 เวลา 19:49

    เราชอบล้อมคอกค่ะพี่บู๊ท และคนที่ถือไมค์เสียงดังที่สุด

    น่าเศร้าที่ทำไมเราถึงต้องให้เกิดความรุนแรงก่อนถึงจะดูแล และ ทำไมถึงคิดแค่มีค่าชดเชยให้ก็พอแล้ว พี่บู๊ทมองว่าท้าทาย มีการวางแผนในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆอย่างไรคะ และนำข้อมูลที่ได้ให้กับใคร น่าสนใจจริงๆค่ะ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 เวลา 22:58

    ฮั่นแน่….มาเคาะสนิมพี่เหรอ…ได้เลย…

    บังเอิญพี่ทำงานเกี่ยวกับชุมชนรอบนิคมอุกสาหกรรมทั้งที่ แม่เมาะ ลำปาง และที่มาบตาพุด ระยอง และที่หงสา ลาวที่เหมืองแร่กำลังขึ้น โรงไฟฟ้ากำลังขึ้น มีลักษณะโครงการเหมือนแม่เมาะ แต่ลักษณะปัญหาอาจจะไม่เหมือนกัน แต่กรณีแม่เมาะกับมาบตาพุดนั้น เสียงที่ชาวบ้านคุยกัยเรานั้นช่างตรงกันในหลายประเด็นจริงๆ ทั้งที่ แม่เมาะมีงานฝ่ายมวลชน มี NGO ใหญ่ที่เข้าไปทำงานเพื่อเป็น CSR ให้โรงไฟฟ้าทางอ้อม ที่มาบตาพุดก็มีฝ่าย CSR ทำงาน และแต่ละแห่งมีงบประมาณมากมายที่เรียก กองทุนรอบโรงไฟฟ้า และในรูปอื่นๆอีก เรียกว่า งบประมาณทำงานมากมาย แต่ เงินไม่สามารถครองใจชุมชนได้ เพราะอะไร….เป็นคำถามที่ ผู้บริหารต้องหาคำตอบ และรีบปรับเปลี่ยนการทำงานซะ

    บางหน่วยงาน เช่นที่แม่เมาะนั้น แก้ปัญหาหนึ่งกลับไปสร้างอีกปัญหาหนึ่ง

    ที่น่าทึ่ง คือ ชาวบ้านทั้งแม่เมาะและที่มาบตาพุดกล่าวว่า หน่วยงานไม่มีความจริงใจ….โฮ คำนี้ สำหรับเราคนทำงานชุมชนนั้นมันมีความหมายมาก แต่ฝ่ายบริหารซึ่งท่านพัวพันกับงานใหญ่มากๆ บริหารงบประมาณเป็นพันล้านหมื่นล้าน ดูแลพนักงานระดับมันสมองเป็นพันๆคน กับปัญหาชุมชนนั้น ท่านคิดว่ามันจิ๊บจ้อย โยนเงินไปเดี๋ยวก็เงียบ ซึ่งก็เงียบจริง แต่เงียบเพียงชั่วคราว มองแบบเราก็เห็นว่า แก้ปัญหาโดยใช้เงิน (ที่มีมากมาย) ซึ่งมันไม่ได้ใจชุมชน กลับหลายครั้งมองเป็นเรื่องดูถูกชุมชน

    ปัญหาที่ไม่ได้แก้อย่างจริงจังจริงใจนั้น มันไปสะสมในความรู้สึกของชาวบ้าน และพร้อมที่จะระเบิดออกมาหากมีใครไปยุแหย่ ใส่เชื้อเพลิงเข้าไป เขาก็พร้อมจะออกมา และการต่อต้าน ขัดแย้งก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จากการเดินขบวนอย่างเดียวก็ใช้รูปแบบปิดถนน ปิดสำนักงาน ซึ่งก่อความเดือดร้อนต่อสาธารณะชนทั่วไปที่ไม่รู้เรื่องด้วย

    โดยเฉพาะจุดอ่อนของโรงงานที่ไม่ได้แก้ไขอย่างจริงใจ เด็ดขาด ต่อเนื่อง นั้นกลายเป็นจุดอ่อนที่นักการเมืองท้องถิ่นหยิบมาใช้เพื่อหวังผลทางการเมือง เพียงใช้วาทะศิลป์ทางการพูด เท่านั้น โรงงานก็ต้องหย่อนงบประมาณลงไป ชั่วระยะหนึ่งก๋เอาอีก

    แต่ฝ่ายโรงงานเองก็ต้องรักษาการปล่อยมลภาวะอย่างจริงๆจังๆ ไม่ใช่เผลอก็ปล่อยออกมา หรือการควบคุมไม่ทั่วถึงก็เกิดมลภาวะออกมา ก็ไปตอกย้ำความผิดหวังต่อประชาชน

    ทุกครั้งโรงงานก็บอกว่า เครื่องวัดมลภาวะบอกว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เรื่องนี้พี่ตั้งคำถามกรณีที่แม่เมาะ โอเค เราเชื่อเครื่อมือตรวจมลภาวะ แต่ปรากฏว่าตัวครั่งตาย หรือลดลง หรือไม่สามารถขยายออแกไปได้อีก ทั้งที่ครั่งคือรายได้ของชาวบ้าน พี่ตั้งคำถามว่า มลภาวะที่ปนเปื้อนในอากาศนั้นอาจจะอยู่ในมาตรฐานของมนุษย์ แต่อาจจะสูงเกินไปสำหรับตัวครั่ง…. แล้วสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่เป็นความหลากหลายทางชีวภาพรอบโรงงานล่ะ ที่เป็นห่วงโซ่อาหาร ที่เราอาจจะยังไม่เข้าใจล่ะ มลภาวะที่ได้มาตรฐษนของมนุษย์ แต่อาจจะมากเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ตรงนี้ไม่มีอยู่ในเกณฑ์การวัดทาง EIA EHIA ……และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างที่ชาวบ้านเปรีบเทียบให้ฟังว่า สมัยก่อนมันไม่ปรากฏสิ่งเหล่านี้ แต่เมื่อมีโรงงานมันมีปรากฏการณ์เหล่านี้ แต่เครื่องมือวัดมลภาวะบอกว่าอยู่ในมาตรฐาน…? สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องคับข้องใจของชาวบ้าน สะสมอยู่ข้างใน นักวิชาการก็เอาแต่ตัวเลขบนเครื่อวมือตรวจวัดมาตอบ แต่ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านเผชิญได้ ถามทีไรก็อ้างอยู่ในเกณฑ์ ชาวบ้านอึดอัด สะสม เลยไปถึงคั่งแค้น

    ยิ่งโรงงานบอกว่า มีโรงงานจะเกิดผลดีต่อท้องถิ่น รับคนงาน ชาวบ้านมีงานทำ ก็จริง ชาวบ้านได้งานทำมากขึ้น แต่เป็นแรงงานขั้นต่ำ ส่วนเด็กที่จบปริญญาตรี โทมากลับไม่สามารถทำงานได้ ชาวบ้านบอกว่า โรงงานตั้งเกณฑ์ไว้สูง เช่น เด็กต้องมีค่าคะแนนภาษาอังกฤษ โทอิค เท่านั้นเท่านี้ คือตั้งเกณฑ์สูงไป ลูกชาวบ้านที่ไหนจะเอาคะแนนนั้นมาให้ได้ …. โฮยมากมาย พี่เชื่อว่า โรงงานมีคำอธิบาย แต่ชาวบ้านนั้น ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ….

    ฝ่าย CSR ไปส่งเสริมทำของกินของใช้ในครัวเรือน แต่ขายไม่ได้ ก็เอามาใช้ในครัวเรือน และมาซื้อเหมือนกัน แต่ปีละ 1-2 ครั้ง กิจกรรมเหล่านั้นก็ล้มหายตายซากไป
    ……เอ้าฝอยซะยาวเลย

    การเข้าถึงข้อมูลหรือครับ ก็อิงระบบ หลักการ PRA นั้นแหละ คือใช้ Focus group บ้าง ใช้ group interview บ้าง ใช้ gender บ้าง ใช้การกระจายตัว มีเยาวชนบ้าง และใช้ Key informants ต่างๆ สิ่งเหล่านี้ เป็นไปตามหลัก ซึ่งคนทั่วไปใช้กันเป็นประจำ

    แต่เรามีหลักอีกหลักหนึ่งครับ เบิร์ด ชุมชนมีโครงสร้างซ้อนกัน คือโครงสร้างทางราชการ ที่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มต่างๆ อบต. ประธานชุมชน ฯลฯ….. แต่อีกโครงสร้างคือ Key informants ที่ไม่เป็นทางการ เช่น เฒ๋าจ้ำ หมอยา หมอเหยา พรานป่า นางเทียม เจ้าโคตร ฯลฯ…โครงสร้างเหล่านี้ คนทั่วไปคิดไม่ถึง ไม่ได้คิด ไม่รู้จัก แน่นอนอาจจะไปซ้ำกับผู้นำที่เป็นทางการก็ได้ พี่ชอบควานหาคนเหล่านี้แล้วไปคุยด้วย ปกติคนเหล่านี้มีเรื่องราวมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตท่าน เพราะท่านทำหน้าที่ตามที่ท่านดำรงอยู่แบบไม่เป็นทางการนั้น แต่คนในชุมชนรู้จักและพึ่งพาท่านเหล่านั้น

    ข้อมูลที่ได้ ก็เอาไปกองร่วมกันกับข้อมูลที่ทีมงานชุดอื่นๆเก็บมา เอามาตรวจสอบ เชคกันผสมผสานกัน หากขัดแย้งกันก็ตรวจสอบใหม่ได้ แต่เราได้ข้อมูลรอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเราเองจะเข้าใจชุมชน เรื่องราวได้มากกว่าคนอื่นๆเพราะเรามีข้อมูลมากกว่าคนอื่น

    ปกติพี่จะเขียนบันทึกพิเศษขึ้นมาเป็นส่วนตัว แต่สามารถเอาไปผนวกกับข้อมูลชุดอื่นๆได้ แต่เราจะบันทึกเชิงสอดแทรกความเห็น การวิเคราะห์ ข้อคิด ข้อเสนอแนะไปด้วย ลงสนามทุกวันก็เขียนบันทึกทุกวัน เอาทักษะการเขียนบันทึกของเราใช้ให้เกิดประโยชน์ครับน้องเบิร์ด


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.17812013626099 sec
Sidebar: 0.041079998016357 sec