ตอก….(2)
อ่าน: 4303ผมคุ้นชินกับตอกมัดข้าว เพราะในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม เลยไปจนถึงเดือนหน้าคือ พฤศจิกายน อีสานจะเห็นการจักตอกมัดข้าวกันทั่วไป และเห็นชาวบ้านเอาตอกกมาตากแดดกันที่ลานหน้าบ้านกัน เรามีความรู้เรื่องตอกมัดข้าวแค่ไหน… และปัจจุบันมันกลายเป็นธุรกิจชาวบ้าน หรือตัวทำเงินของชาวบ้านไปแล้ว (ผมเองก็เพิ่งทราบ) และจะเกี่ยวเนื่องกับอะไรหลายอย่างทีเดียว ลองพิจารณาดูกันนะครับ
· ท่านทราบไหมว่าตอกสั้นกับตอกยาวนั้นมีขนาดความยาวเท่าไหร่ : ตอกสั้นนั้นมีขนาด 80 เซนติเมตรครับ ส่วนตอกยาวมีขนาด 1.10 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร 10 เซนต์
· ทำไมเป็น 80 และ 110 เซนติเมตร : ไม่จำเป็นต้องเท่านี้หรอก แล้วแต่ความต้องการของชาวนาคนนั้นๆ แต่โดยค่าเฉลี่ยทั่วไปที่นิยมกันเป็นขนาดดังกล่าวนี้
· ทำไมต้องมีสองขนาดความยาว : ขนาดสั้นเหมาะสำหรับมืออาชีพ ชาวนาที่จัดเจนในการมัดข้าว ส่วนตอกขนาดยาวสำหรับมัดข้าวสองรอบ ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่นิยมใช้ขนาดยาวเพราะสร้างความมั่นใจว่ามัดแล้วแน่นหนา ไม่หลุดง่ายซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหาย
· ไผ่อะไรที่ดีที่สุดในการทำตอกมัดข้าว : ชาวนาหลายคนบอกว่าไผ่บง เพราะมีความเหนียว แต่หลายคนก็บอกว่า ไผ่ป่า และไผ่บ้าน
· ไผ่อายุขนาดไหนที่เหมาะแก่การทำตอก : ใช้วิธีดูเนื้อไม้ไผ่ ที่ไม่แก่เกินไปและไม่อ่อนเกินไป หากแก่เกินไปความเหนียวจะลดลง หากอ่อนเกินไป ก็ขาดง่าย ชาวนาที่จัดเจนเท่านั้นจะเป็นผู้รู้ว่าไผ่ลำไหนมีความเหมาะสม
· ตอกที่ทำเป็นเส้นแล้วทำไมต้องเอาไปตากแดด : เพราะต้องการทำให้แห้ง สนิท มิเช่นนั้นจะขึ้นรา หรือเชื้อราจะมาเกาะกินทำให้เสียคุณภาพไป
· การตากแดดที่มีความเหมาะสม ควรเป็นอย่างไร : ไม่แห้งเกินไป ไม่สดเกินไป ควรตากแดดประมาณ 4 แดด ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณแดด และความจัดเจนของชาวนาที่ทำตอก
· ตอกที่ตากแดดครบ 4 แดดแล้วเวลาใช้ต้องทำอะไรบ้าง : เวลาเอาตอกเหล่านี้ไปใช้ต้องพรมน้ำก่อน หรือจุ่มลงน้ำพอเปียกแล้วมาสลัดให้น้ำหลุดออกไป ทั้งนี้เพื่อฟื้นเนื้อไผ่ให้มีปริมาณน้ำติดเนื้อไผ่บ้างซึ่งน้ำจะทำให้เกิดความนุ่มและเหนียวตอนมัดข้าว ซึ่งหากเอาไปใช้ก็จะแตก หัก
ผมพยายามลองสอบถามปริมาณตอกที่ใช้ว่า นา 1 ไร่ต้องใช้ตอกจำนวนเท่าไหร่ หมายถึงกี่มัด กี่เส้น ผมไม่ได้คำตอบ แต่นายอภิชาต วังคะฮาต หนุ่มรูปบนสุดนั้น เขาคำนวณให้ดูว่า นาที่ผลิตข้าวเปลือกได้จำนวน 200 ถุงปุ๋ยนั้น จะต้องใช้ “ตอกเส้น” จำนวน 6,000 เส้น หากต้องซื้อจะคิดเป็นเงินประมาณ 600-700 บาท
จากปรากฏการณ์ที่ผมพบเห็นผมคิดไปหลายเรื่องคือ
· เดี๋ยวนี้การจักตอกกลายเป็นธุรกิจชาวบ้านที่ทำเงินไปแล้ว
· กรณีนางบัวเรือน ผิวขำ บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี ต้องจ่ายเงินสดไปเป็นจำนวนเกือบแสนบาท(กู้มาจาก ธกส.ห้าหมื่นบาท) สั่งตอกมาตุนไว้ขาย และความจริงเธอขายผ้านวมและถ้วยชามด้วย ในทุกวันพฤหัสบดีจะเอาไปขายที่ตลาดนัดหน้าอำเภอคำชะอี (ผมไม่มีเวลาตามไปสังเกตการณ์)
· แหล่งผลิตตอกมัดข้าวอยู่ที่ อ.นาเหนือ จ.ลำปางและเพชรบูรณ์ และน่าที่จะมีที่อื่นอีกที่มีป่าไผ่ เช่นจังหวัดเลย นครราชสีมา ชัยภูมิ ฯลฯ ไม่แน่ใจว่าจะมีอาชีพนี้หรือไม่…
· แหล่งผลิตเหล่านั้นมีปัญหาเรื่องการตัดไผ่บงมากเกินไปหรือเปล่า เมื่อเป็นธุรกิจ ไผ่บงที่ปลูกอาจเติบโตไม่ทัน ต้องเอามาจากป่า แล้วป่าบงถูกทำลายไป วงจรชีวิตอื่นๆจะเป็นอย่างไรบ้าง ห่วงโซ่อาหารได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างต่อระบบนิเวศท้องถิ่นที่ไผ่ลดน้อยลงและจะหมดไป คนที่ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ทราบดีว่ามักจะไปเอาเชื้ออินทรีย์ธรรมชาติมาจากขุยโคนไผ่ในป่า
· แสดงว่าไผ่บงในอีสานมีน้อยลงมาก จึงไม่เพียงพอต่อการทำตอก
· ทำไมชาวนาต้องซื้อตอก ทำไมไม่ทำเอง อาจเป็นเพราะหลายเหตุผล อะไรคือเหตุผลหลัก
· ราชการ เช่น กรมป่าไม้ อบต. อำเภอ จังหวัด เข้ามามีส่วนรับรู้และคิดอ่านเรื่องนี้อย่างไรบ้าง…..
· หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทำไมต้องมีการสั่งซื้อข้ามภาคให้เปลืองพลังงานและราคาก็น่าจะสูงกว่าหากมีการผลิตภายในภาค หากไม่มีไผ่บง อบต.ทำแผนงานปลูกไผ่บง และไผ่อื่นๆ ในระยะยาวเพื่อทำธุรกิจนี้ได้ไหม
· คนข้างกายบอกว่า ตอก เป็นสินค้านำเข้ามาจากฝั่งลาว ราคา 1000 เส้นละ 45 บาท และทำมาจาก “ไผ่พุง” เข้าที่อุบลราชธานี (น่าจะหลายช่องทาง หรือน่าจะเป็นตลอดแนวไทยลาวด้วยเช่นกัน) ราคาตอกนำเข้าจากลาวถูกกว่าราคาตอกที่มาจากลำปางเกือบเท่าตัว
· ฯลฯ
นี่คือวิถีชุมชน ชาวบ้านก็ดิ้นรนไปตามจังหวะชีวิต เมื่อใครเห็นลู่ทางอะไรอย่างไร ก็ดิ้นรนกันไป
มีหน่วยงานใดบ้างที่ก้าวเข้าไปให้ความรู้ในเรื่องการจัดการ ศึกษาผลกระทบต่อป่า ต่อวิถีวงจรชีวิตที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในเรื่องนี้ ให้ความรู้ในสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่ชาวบ้านผู้เกี่ยวข้องเรื่องเหล่านี้
มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กเกินไปสำหรับรัฐบาล กระทรวงทบวงกรมต่างๆ มันอาจจะไม่น่าสนใจต่อนักวิชาการมหาวิทยาลัย ที่สนใจเรื่องใหญ่ๆ
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเกิดมานานแล้ว แต่ผมเพิ่มจะรู้ ในทัศนะผม ไม่ใช่เรื่องเล็ก และเป็นรูปธรรมของการพึ่งธรรมชาติของอาชีพชาวนา จึงต้องตั้งประเด็นขึ้นในโครงการแล้วหละครับ….
« « Prev : ตอก….(1)
8 ความคิดเห็น
ตามมาอ่านต่อจากตอนที่แล้ว ราณีว่าไผ่ที่ดีนั้น คงขึ้นอยู่ที่คนใช้กับคนทำ เพราะทำง่ายหรือยากด้วยมั้ง หรืออาจหาไผ่นั้นๆ ได้ง่ายหรือยากด้วย แล้วแต่เนาะ เพราะไม่กล้าฟันทิ้งเอ๊ยฟันธง อิอิ แต่ก็ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ เพิ่งรู้ ว่าประโยชน์ของตอกมากมาย แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่จุดเล็กๆ หลายๆ จุด ก็สามารถลากหากันเป็นภาพได้นะคะ
ขอบคุณมากคะ
ตามอ่านมาเงียบๆจนครบสองตอน ไม่แน่ใจว่าตอกที่ได้จากลำปางนั้นมีความเกี่ยวพันกับอีกอาชีพหนึ่งของลำปางด้วยหรือไม่นะคะ
อาชีพที่ว่าคือการทำ ” ไพคา ” ค่ะ ..การทำตับหญ้าคาไงคะ ที่นำมามุงหลังคาต่างๆ เป็นอาชีพที่ทำเงินมากของเขตนิคมสร้างตนเองกิ่วลม ลำปางค่ะ
ที่สงสัยเพราะการทำไพคาจะมีอาวุธสำคัญคือตอก ซึ่งเค้าทำมาจากไผ่บงน่ะค่ะ และไพคาที่ได้บอกได้เลยว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย ทำให้ที่ว่างๆที่มีอยู่เค้าก็ลงมือปลูกหญ้าคากันเป็นล่ำเป็นสันเชียวค่ะ เพราะตลาดใหญ่อยู่ที่เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ และพะเยา…ใครจะนึกว่าหญ้าคาที่เป็นที่รังเกียจหนักหนาของคนทั่วไปจะเป็นเงินเป็นทองได้ขนาดนี้ และตลาดไม่มีคู่แข่งรวมทั้งไม่ตันด้วยนะคะ..ทุกอย่างอยู่ที่วิธีคิดและมุมมองแบบที่พี่บางทรายช่างสังเกตนี่แหละค่ะ
เห็นด้วยว่าไผ่บงน่าสนใจในการนำมาจักตอก ยังมีอีกไผ่และเบิร์ดชอบมากคือไผ่โปก ที่เอามาทำเฟอร์นิเจอร์ ไม่ค่อยเห็นการสนับสนุนมากนักทั้งๆที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก เมื่อร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ไม่ใช้ตะปูแต่ใช้เจาะรู แล้วมัดด้วยเส้นหวายก็เท่มากเชียวค่ะ ที่แม่สายมีกลุ่มอุ๊ยที่รวมตัวกันทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยค่ะ ถ้าพี่บางทรายไม่สนใจการซื้อของ ในขณะที่เค้าช็อปกันจะไปแวะดูก็ได้นะคะ
น้องราณีครับ “ไผ่” “ตอก” ฯลฯ พี่คลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก เคยช่วยพ่อ แม่ตัดไผ่เป็นกอๆ เพื่อเอาทำรั้วบ้าน (ภาคกลาง) เอามาทำกระโด้ง ตะกร้า กระจาด กระบุง ปุ้งกี๋ เมื่อมีวัสดุอื่นในท้องตลาด ไผ่ก็ลดบทบาทลงมา
สมันนั้นทุกบ้านต้องปลูกไผ่ไว้ที่ไร่ ที่สวนของตัวเองเพื่อเอาไว้ใช้สอยต่างๆ ต่อมาก็หมดไม่มีใครสนใจแล้ว เพราะสิ่งอื่นมาทดแทนหมด
นอกจากปลูกไว้กินหน่อ ซึ่งก็จะเลือกชนิดไผ่ที่กินหน่อเท่านั้น เช่น “ไผ่ตง” ครับ
เมื่อสังคม หมู่บ้านเป็นเมืองมากขึ้น ไผ่ก็หมดบดบาทลงไปในสภาพหมู่บ้านเช่นนั้น แต่ในชนบทและท้องถิ่นอื่นๆ เช่นอีสาน ไผ่ยังมีบทบาทมากจริงๆครับ
น้องแก้มยุ้ย
ตอกที่คำชะอีมาจาก นาเหนือ ลำปาง และไพคาที่แก้มยุ้ยกล่าว และตอกที่ตลอดริมโขงมาจากฝั่งลาว ทำให้พี่นึกถึงรายการ “กบนอกกะลา” ที่น่าจะไปทำเส้นทางเดินของตอกนี้ครับ
นึกเล่นๆ สนุกๆ ไปว่า เอออาชีพนี้ต้องสงวนไว้ให้กับชาวนาไทย อิอิ
พี่เห็นด้วยว่า ตอกที่ใช้ไพคาก็ต้องใช้เป็นจำนวนมากด้วย น่าจะมีการคำนวนกันว่า คาที่ไพแล้วนั้นใช้ตอกเท่าไหร่ แปลงเป็นไม้ไผ่กี่ลำหรือเศษส่วนเท่าไหร่ของต้นไผ่ ที่เอามามัดข้าวก้เช่นกัน เพื่อดูปริมาณไผ่ที่ต้องใช้แต่ละปีว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน น่าจะคำนวนได้ เดี๋ยวให้ทีมงานช่วยเรื่องนี้หน่อย
ใครจะไปรู้ว่า ต้นไผ่ที่เอามาทำตอก ไม่ว่าไพคา หรือมัดข้าว หรือมัดอื่นๆนั้นเป็นพืชป่าเศรษฐกิจ ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำไปแล้ว
ถ้าเช่นนั้น ดงหลวงของพี่เป็นแหล่งปลูกที่ดีในการผลิตไม้บง เพื่อทำเป็น ตอกเมื่อถึงฤดูกาลเกี่ยวข้าว พื้นที่อื่นๆที่เหมาะสมก็เช่นกัน เพิ่มปริมาณไผ่ในพื้นที่ป่าชุมชน ป่าหัวไร่ปลายนา ริมห้วย หนองคลองบึง ได้กินหน่อ ได้ใช้ไม้ ช่วยลดภาวะโลกร้อน ฯลฯ
กรณีที่สั่งนำเข้ามาจากลาว ก็น่าคิดว่า ลาวคงไปเอา่ไม้บงมาจากป่า คงไม่ได้ปลูกเอง นั่นคือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินความสมดุลหรือเปล่า….?
คา หญ้าคา พืชที่คนรังเกียจ แต่อยู่บนหัวเรา อิอิ เพราะเอามาทำหลังคาจะมีอายุ 2-3 ปีเปลี่ยนทีหนึ่ง จึงจำเป็นต้องใช้จำนวนมากในการทำหลังคาบ้าน เมื่อเดือนมกราคมที่พี่ไปฝั่งลาวครั้งที่ไปล่องโขง ขึ้นไปสำรวจหมู่บ้านริมโขง ก็เห็นสาวๆเก็บคามาไพเพื่อเปลี่ยนหลังคาบ้านครับ
สำหรับชนบท หญ้าคา ไผ่บง ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพึ่งตนเอง การลดรายจ่าย แต่การใช้เพื่อครอบครัวคงไม่เท่าไหร่ แต่ทำเพื่อขาย เพื่อธุรกิจนี้ ต้องใช้ความรู้จัดการหน่อย ส่วน หญ้าคานั้นก็เช่นกัน แต่ไม่กระทบมากเท่าไผ่
แต่หญ้าคามีหลายชนิดใช่ไหมน้องแก้มยุ้ย… เห็นเขาเอามากลั่นเอาน้ำมันไปใช้ประโยชน์
และที่พี่เองทึ่งหญ้าคา เมื่อ เปลี่ยน เขาเล่าให้ฟังว่า โคตรเหง้าของเปลี่ยนนั้นเป็น “เจ้า” อพยพมาจากเชียงตุง คุณย่าของเปลี่ยนมีมรดกชิ้นหนึ่งติดตัวมาและมอบ หรือส่งต่อมาถึงพ่อของเปลี่ยน และมาถึงเปลี่ยน นั่นก็คือ ผ้าไหมโบราณ ซึ่งเก็บไว้ในกล่องไม้เล็กๆกระทัดรัดปิดฝาอย่างดี เปลี่ยนเขาประหลาดใจมากเพราะผ้าผืนนี้อายุเกินร้อยปี แต่คุณภาพเหมือนใหม่เอี่ยม เขาพบว่า ในกล่องไม้นั้นมี “รากหญ้าคา” ใส่อยู่ด้วย นี่เองที่เป็นตัวรักษาเนื้อผ้า นี่เองคือภูมิปัญญาคนโบราณ ที่น้อยคนในปัจจุบันจะทราบ แต่น่าจะเป็นหญ้าคาชนิดใดชนิดหนึ่งนะครับ
ทำไมไม่มีสถาบันการศึกษา ลงมาศึกษาเรื่องนี้ให้ทะลุ แล้วขยายการผลิตให้เป็นร่ำเป็นสันโดยชาวบ้านเอง เพื่อผลิตน้ำยารักษาเนื้อผ้าราคาแพงๆทั้งหลาย
น่าสนใจนะน้องแก้มยุ้ย..
ขอบคุณครับที่มาต่อยอดความรู้ ประเด็น
ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะมีการเพิ่มมูลค่าจากหญ้าคาอีกนะคะ โดยการนำมาทำไม้อัด
หญ้าคา
กระบวนการอัดหญ้าคาให้เป็นแผ่นสามารถทำได้ 2 วิธีค่ะ
1.อัดด้วยเครื่องอัดอุตสาหกรรม 2.อัดด้วยตนเอง ซึ่งทั้ง 2 แบบ ก็จะแตกต่างกันตรงที่ การอัดด้วยเครื่องอัดอุตสาหกรรม จะได้แผ่นไม้ที่แข็งแรงกว่า ส่วนการอัดด้วยตนเองแผ่นอัดอาจจะไม่แข็งแรงเท่า แต่ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้และสะดวกในการทำ เพราะกระบวนการทำก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากนัก
วัสดุอุปกรณ์คือ ชิ้นใบหญ้าคา กาวลาเท็กซ์ กะละมังผสม ถาดสี่เหลี่ยม แผ่นพลาสติก แผ่นไม้สำหรับกั้นขนาดความหนา แผ่นไม้สำหรับกด ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำชิ้นใบหญ้าคามาผสมกาวลาเท็กซ์ เมื่อผสมกันได้ที่แล้ว นำส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงในถาดและวางแผ่นไม้กำหนดความหนาของแผ่น วางแผ่นไม้แล้วกดทับด้วยของหนัก นำแผ่นที่อัดเรียบร้อยแล้วตากแดดประมาณ 7 วัน ก็จะได้แผ่นหญ้าคาอัด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ต่อไป เพื่อให้ตัวแผ่นอัดแข็งแรงและสวยงามคงทนขึ้นก็ทาเคลือบด้วยแล็กเกอร์ แต่แผ่นอัดที่ได้ไม่เหมาะที่จะไปทำสิ่งของที่ต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักมากๆค่ะ เหมาะกับการทำกรอบรูป ของที่ระลึกต่างๆเช่นที่เจ้าของผลงานเค้านำมาทำคือตู้หนังสือจำลองลายรดน้ำโบราณ ก็สวยดีนะคะ
ไม่แน่อีกไม่นานเราจะมีผลิตภัณฑ์จากหญ้าคา ออกมาลบคำสบประมาทของใครหลายๆ คนว่า เป็นได้แค่เพียงไพรหญ้ามุงหลังคา และวัชพืชสร้างความยุ่งยากให้เกษตรกรก็ได้ค่ะ และถ้าหากผู้ใดสนใจการอัดแผ่นหญ้าคาและอยากจะทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณศรีราวรรณ วงษ์โท หมายเลขโทรศัพท์ (086) 644-8329 นะคะ ( ไม่รู้ว่าน้องเค้าเปลี่ยนเบอร์หนีแล้วหรือยัง อิอิอิ )…ที่เคยเห็นอีกก็คือไม้อัดจากตะไคร้หอม+หญ้าคาค่ะรู้สึกจะเป็นงานวิจัยจาก บ.ที่ผลิต ผลิตภัณฑ์จากชีวมวลต่างๆที่ส่งเข้าประกวดผลงานวิจัยปี 2550 กับสกว.มั้งคะ
เอาอีกเรื่องคือความเชื่อว่าหญ้าคาเป็นของสูงค่ะพี่บางทราย เพราะเคยเห็นพระพุทธรูปปางรับหญ้าคา พระสงฆ์ท่านก็ใช้หญ้าคาในการพรมน้ำมนต์เหมือนกัน รวมทั้งในตอนที่พระพุทธเจ้าท่านประทับนั่งโคนต้นโพธิ์ก่อนตรัสรู้ก็ใช้หญ้าคาปู ทำให้หญ้าคาเป็นของสูงไม่ใช่เพียงวัชพืชที่ไม่น่ารักอย่างที่เข้าใจ
มีผ่านตาแว้บๆในเรื่องโครงงานผลิตน้ำมันจากหญ้าคา แต่จำไม่ได้ว่าอ่านจากไหน เค้าใช้ชีวมวลจากหญ้าคานี่แหละค่ะนำมาผ่านกระบวนการไพโรไลซิส แต่ไม่ทราบว่าได้ผลอย่างไรเพราะตอนที่อ่านน่าจะเป็นแค่โครงการเท่านั้น
ยังมีเรื่องการทำน้ำตาลจากหญ้าคาอีกนะคะ เอามาฝากอิอิอิ
การทำน้ำหวานจากหญ้าคาจะต้องเลือกบริเวณที่มีหญ้าคาขึ้นหนาแน่นและแตกใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม โดยขุดดินเป็น
ร่องให้ลึกประมาณ 2 – 3 ฟุต กว้างประมาณ 1 – 2 ฟุต ยาวตามความพอใจ ตัดใบทิ้งครึ่งหนึ่งแล้วทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน เมื่อรากงอก
ออกมาในบริเวณที่ขุดไว้ก็รวบรากเป็นกำๆ กำละ 10 – 15 ราก ให้เป็นแนวจากนั้นใช้กระดานหรือไม้กลมๆ ทับให้ต้นหญ้าราบลงกับ
พื้น ใช้เท้าเหยียบย่ำเช้าและเย็นประมาณ 4 – 7 วัน ใช้มีดคมๆ ปาดรากหญ้าคาอย่างปาดงวงตาล จะมีน้ำหวานไหลออกมา ใช้ภาชนะ
รองเอาน้ำหวานไปทำน้ำตาลต่อไป การทำน้ำตาลหญ้าคานี้ เคยมีทำ (พ.ศ. 2512) เฉพาะในภาคใต้บางท้องถิ่นเท่านั้น คือ บ้านทุ่งนุ้ย
อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล และบ้านเขาพระ ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัติภูมิ จังหวัดสงขลา (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่มที่ 3
หน้า 1272) ปัจจุบันคงไม่มีทำแล้วมั้งคะ
ไปที่บ้าน อ.แปลกที่แม่จันก็เห็นกระดุมทองที่ใช้ควบคุมหญ้าคาตามธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้สารเคมีเพราะเค้าแพ้กัน ..ธรรมชาตินี่น่าทึ่งนะคะ
น้องสาวแก้มยุ้ย
เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากเลย พี่คิดไปไกลว่าหากโครงการขยายไประยะที่สองคงหยิบงานด้านนี้มาเล่นให้หนักเลย เพราะชุมชนมีโอกาสมาก เพียงแต่เรายังไม่ได้พัฒนาศักยภาพเขาเต็มที่เท่านั้นเอง และไม่ใช่เรื่องไกลเกินตัว หรือเป็นเทคโนโลยี่สุดขั้วอะไร ไม่ใช่ เทคโนโลยีนาโน นาแน อะไรเน๊าะ
น้องแก้มยุ้ยมาจุดประกายความคิดเรื่องนี้ ขอบคุณมากครับ หากเราสามารถยกระดับชุมชนจากการเกษตรกรรมอย่างเดียวมาเป็นเกษตรกรรมและการปลูกพืชท้องถิ่นที่พัฒนาเแปรรูปเป็นผลผลิตที่สามารถพึ่งตนเองได้ ปลอดภัย ก็น่าที่จะช่วยให้ท้องถิ่นเติบโต และน่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกอีกหลายประการตามมา…
ปัจจุบันงานพัฒนาชุมชนต้องยอมรับว่ายังทำกิจกรรมพื้นฐานมากๆ และไปได้ไม่ไกลเท่าไหร่เพราะไปติดปัจจัยธรรมชาติและแรงกระตุ้นทางการตลาดที่ชาวบ้านไม่มีความจัดเจนในเรื่องนี้
หากเรามองตลาดเป็นตลาดสุขภาพที่นับวันมีการเติบโตมากขึ้นจนมีนักอุตสาหกรรมขนาดกลางและใหญ่ไหวตัวมาเล่นด้านนี้มากขึ้น เราคิดว่าน่าจะพัฒนาชุมชนให้ก้าวไปสู่จุดนี้ได้
1. มองจากศักยภาพท้องถิ่นที่เปิดโอกาส
2. เริ่มจากสิ่งที่เขามีพื้นฐาน
3. พัฒนาเทคโนโลยี่อย่างง่ายที่เรียกว่า Intermediate technology ผสมผสานกับการผลิต แปรรูปผลิตภัณฑ์ออกมาด้านสุขภาพ ป้อน สปา ร้านขายอาหารและเครื่องบำรุงสุขภาพที่เติบโตเร็วมาก หรือด้านอื่นๆที่มีโอกาส
4. การรวมตัวของเกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์หรือกลุ่มนิติบุคคล หรือที่เหมาะสม
5. ประสานงานกับวิชาการต่างๆเพื่อรับการสนับสนุน เชื่อมต่อกระบวนการผลิต
6. สร้างบุคลากรภายนอกและภายในชุมชนให้มีความรู้เรื่องการตลาด
7. มองหาและสร้างปัจจัยที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน
เอ้า คิดเร็วๆคร่าวๆมาเป็นแนวทางนี้ อิอิ ได้โครงการใหญ่โครงการหนึ่งแล้ว
พี่เพิ่งทราบเรื่องน้ำตาลจากหญ้าคา แผ่นกระดาษอัดจากหญ้าคา
โห…อีกกี่เรื่องเนี๊ยะที่พี่ไม่รู้ อิอิ
เรียนไม่จบสักกะที
ขอบคุณมากครับเด็กแก้มยุ้ย
แว๊บ ๆ ๆ ๆ เอ๊ะ น้ำเต้า ตะพาบ ตอก ปั่นรถถีบ หมา แมว นกยูง นกแก้ว ฯลฯ อะไรๆก็เอามาเขียนบันทึกได้
ขำๆๆๆๆ ไม่รู้จะเขียนอะไร ?
แล้วจะรวบรวมเป็นหมวด เป็นหมู่ ค้นง่ายๆได้อย่างไร อุ๊ยจั๋นตา ?
เห็นอะไรสดุดตาก็เขียนแล้วหละครับ
คิดไปก็มีประโยชน์นะครับ
ใครมีอะไรก็เขียนมาเถอะ
ชมรมจักยานน่ะเป็นการออกกำลังกายที่คนนิยมเยอะ มีเทคนิคมากมาย เอามาเล่าสู่กันฟังบ้างซี
ว่าขี่ไป กม.ลดไปกี่แครอรี่ พุงยุบไปกี่เซนต์ เดี๋ยวผมจะเอาจักยานฮ้างข้างบ้านไปซ่อมเอามาขี่ใหม่บ้าง อิอิ (อยู่ในหมวกกีฬาฮาเฮ อิอิ)