สันติเสวนา…(3)
เมื่อพิจารณาเหตุของปัญหาแล้วเห็นว่ามันซับซ้อน เกี่ยวเนื่อง พัวพันกันไปหมด ทั้งตรงทั้งอ้อม ทั้งมากทั้งน้อย….
แล้วทำไง?
สามารถแบ่งเป็นสองส่วนคือ ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขป้องกันระยะยาว การแก้ไขระยะยาวนั้น มีข้อน่าพิจารณาดังนี้….
- ฟื้นฟูระบบสังคมคุณธรรม: หรือคุณค่าความเอื้อเฟื้อ อาทรแก่กัน แล้วทำอย่างไร สาธยายกันยาวเหยียด ค่อยว่ากัน
- กิจกรรมทางสังคมแบบเดิมๆที่เป็นกิจกรรมสะสมทุนทางสังคม หน่วยงานต้องฟื้นสาระนี้ขึ้นมา มิใช่เพียงสร้างรูปแบบเอาไว้
- การเสริมสร้างทัศนคติต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม: ระบบการศึกษาที่เป็นเบ้าหลอมเด็กต้องปฏิวัติใหม่หมด
- การปรับปรุงกฎหมาย: ให้เหมาะสมสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ..
- ทบทวนหลักการเสรีประชาธิปไตย: น่าจะมีอะไรบกพร่องในรายละเอียดของหลักการนี้…
- อีกมากมาย มากมาย มากมาย ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ทั้งส่วนรวม ส่วนตัว ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ต้องกระทำกันเป็นกระบวนการ บูรณาการ เชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะระบบคุณค่าทางสังคมนั้นแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามพื้นวัฒนธรรมเดิม การเสริมสร้างฟื้นฟูมิใช่ทำแค่รูปแบบเท่านั้น แต่เน้นความเข้าใจ สืบต่อทางด้านสาระเป็นหลัก..
กรณีความขัดแย้งเฉพาะหน้า หรือปัจจุบันนั้น (กรณี ปัจจุบัน)
ทัศนคติส่วนตัว
- เห็นว่าความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่จุดที่ไม่สามารถเจรจากันได้ ต่างฝ่ายต่างขีดเส้นแบ่งไว้แล้ว และยึดมั่นว่าจะไม่ก้าวผ่านเส้นแบ่งนั้นไป และหาทางเผด็จศึกอีกฝ่ายด้วยวิธีการทั้งทางเปิดเผยและทางลับ ทั้งที่ถูกกฎหมายและทำไปแบบข้างๆคูๆ หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย
- หมดเวลาต่อการเรียกร้องเพียงวาจา ต่อให้ไพเราะแค่ไหนก็ทำไม่ได้แล้ว สถานการณ์พัฒนาขึ้นสู่ความขัดแย้งที่สูงแล้ว
- ตั้งเงื่อนไขไว้สูงที่จะบังคับให้อีกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม แล้วหาทางกดดันต่อไปด้วยวิธีการต่างๆ จากเบาไปหาหนัก
- สถานการณ์แบบนี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยสันติเสวนาตามปกติเสียแล้ว
ถามว่า: ไม่มีที่นั่งที่สามารถปักป้าย “สันติเจรจา” หรือ “สันติเสวนา” เลยหรือ
ตอบว่า: พอมีอยู่บ้าง
การแก้ไขแบบสันติทำอย่างไร
ต้องใช้อำนาจที่สาม หรือที่สี่ เข้ามา เช่น ฝ่ายทำเนียบเรียกร้องทหาร ก็หวังว่าทหารจะออกมาอยู่ข้างประชาชนเหมือนในตุรกี และอื่นๆ โดยไม่ใช้กำลัง ซึ่งขึ้นกับว่ารายละเอียดของอำนาจที่สามนี้จะยืนตรงไหน อย่างไร…. (แต่ก็หมิ่นเหม่มากๆต่อความรุนแรง) การกดดันเช่นนี้เป็นการบีบบังคับให้อีกฝ่ายต้องยอมเจรจาและยอมสูญเสียบางส่วนเพื่อรักษาบางส่วน
ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ อำนาจทางตุลาการต้องเข้มแข็ง ไม่โงนเงน อ่อนไหวไปตามกระแสทุนที่สามารถไหลบ่าเข้ามาอย่างท่วมท้น เอาหลักการตามกฎหมายมาจัดการผู้กระทำมิชอบอย่างตรงไปตรงมา
อีกหนทางหนึ่งคือ ผู้ที่มีบารมีสูงส่งก้าวมาเป็นผู้ใช้สันติเสวนา อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และทุกอย่างก็สงบลงได้จริงๆ ในปัจจุบันผู้มีบารมีสูงส่งที่เป็นสามัญชนธรรมดานั้นดูจะไม่มีทางที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้แล้ว
ทำไมปัจจุบันผู้มีบารมีในสังคมจึงไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้
- เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามาท่ามกลางความวิปริตของสังคมไทย เพราะเปลืองตัว หรือหาเรื่องเปล่าๆ
- เพราะไม่มีใครไว้ใจใครอีกต่อไปแล้ว แม้แต่คนกลาง ก็ไม่แน่ใจว่ากลางจริงหรือไม่ กลางของใคร ต่างเกรงว่าตัวเองจะเสียเปรียบ และถึงแก่ความพินาจ สูญเสียประโยชน์มหาศาล
(มีผู้อยู่วงในกล่าวว่า คนสี่เหลี่ยมมีเงินจริงๆถึงสามแสนล้าน และมีธุรกิจที่มีรายได้อีกมากมาย เช่นที่ประเทศจีน สมมุติว่าจะถูกกฎหมายไทยยึดทรัพย์สินหมดตามที่มีการฟ้องร้องกัน ก็อยู่ได้อย่างราชาเพราะมีรายได้ปีละหนึ่งหมื่นหกพันล้าน…ก็ฟังหูไว้หูก็แล้วกัน) เงินเป็นปัจจัยในการต่อสู้ที่สำคัญประการหนึ่ง แบ่งเงินมาปีละ ห้าพันล้าน ก็สู้กันไปอีกนาน หากฝ่ายตุลาการเข้มแข็งตลอด ผู้รักษากฎหมายเข้มแข็ง ทหารไม่ไหวเอน ประชนเข้าถึงความจริงทุกด้าน …. แม้ลึกๆจะเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ลุกขึ้นยืน แต่ก็เหนื่อยอ่อนเต็มที….
ท่ามกลางค่านิยมในสังคมเสรีประชาธิปไตยเช่นนี้…ท่ามกลางทัศนคติที่มุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายไว้ที่ “อำนาจ กับ ทุน เพื่อผลประโยชน์” ประชาชนอย่างเราต้องตั้งสติให้มั่นคง…
ทำให้นึกถึงเพลงหนึ่งที่ร้องกันในที่รโหฐานว่า
หยดฝนย้อย..จากฟ้า..มาสู่ดิน
ประมวลสินธุ..เป็นมหา..สาครใหญ่
แผดเสียงซัด..ปฐพี..อึ่งมี่ไป
พลังไหล..แรงรุด..สุดต้านทาน
อันประชาฯ..สามัคคี..ที่จัดตั้ง
เป็นพลัง..แกร่งกล้า..มหาศาล
แสนอาวุธ..แสนศัตรู..หมู่อันธพาล
มิอาจต้าน..แรงมหา..ประชาชน
สันติภาพจงเจริญ..
Next : รุ่นโตโจ… » »
7 ความคิดเห็น
เรื่องจริยธรรมนั้น น่าจะอบรมกันมาตั้งแต่เด็กครับ พ่อแม่เป็นจำนวนมาก มัวแต่ทำมาหากิน ละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตไป กว่าจะเข้าใจว่าตนสร้างอะไรออกมา ก็สายเกินไปซะแล้ว
พอเด็กเหล่านี้โตขึ้นเป็นพ่อเป็นแม่ จะสอนสิ่งที่ตนไม่เข้าใจให้กับลูกหลานได้อย่างไร เชิญชมโรงเรียนพ่อแม่ ภาค 1 ตอน 1+2 ครับ
เพลงพี่บางทรายเพราะกว่าเพลงที่กระหึ่มในใจเบิร์ดในช่วงที่ผ่านมาเยอะเลยค่ะ เพราะเพลงที่ดังในใจคือเพลงถามคนไทยที่คุณลุง สันติ ลุนเผ่เป็นผู้ขับร้องเพลงนี้ค่ะ
ถามคนไทย
สุรพล โทณวณิก(คำร้อง-ทำนอง) สันติ ลุนเผ่ ขับร้อง..
หัวใจถูกแทงกี่ขั้ว ตามตัวถูกฟันกี่แผล
ปู่ไทยตายไปกี่คนแน่ ไทยจึงได้แผ่มาถึงแหลมทอง
กระดูกไทยกระเด็นไปกี่ท่อน เชิงตะกอนเผาไปกี่หน
คอขาดกันไปกี่คน ไทยทุกคนจึงได้ไทยครอบครอง
เสียเลือดกันไปเท่าไหร่ เสียใจกันไปกี่ครั้ง
น้ำตาของไทยไหลหลั่ง ทุกๆครั้งที่ถูกเฉือนขวานทอง
เข่นฆ่ากันทำไม เราเป็นคนไทยด้วยกันทั้งผอง
ไทยฆ่าไทย ให้ชาติอื่นครอง
วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร
ไทยฆ่าไทยให้ชาติอื่นครอง
วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร
วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร!!
แหงะ สงสัยสมาธิสั้น เพราะกะว่าจะเขียนต่อไหงกดบันทึกไปได้ ^ ^
แนวทางที่พี่บางทรายเขียนมาสามตอนชัดและน่าสนใจมากค่ะ เห็นด้วยว่าจากท่าทางที่แสดงออกมาของทุกฝ่ายทำให้คาดกันว่าน่าจะเกินการเจรจา แต่ส่วนตัวก็ยังเห็นว่ามีทางที่จะทำให้กระตุกความคิดของสังคมได้แบบที่พี่บางทรายกล่าวมา เพราะดีกว่าจะปล่อยไปตามยถากรรมเนาะคะพี่บางทราย
มีพลังจากสองกลุ่มใหญ่ที่เห็นในตอนนี้คือ พระปกเกล้า+องค์กรสื่อสารมวลชน ( สององค์กรหลัก )+สภาพัฒนาการเมืองที่เปิดเวทีไปในวันนี้และได้ตัวแทนกลุ่ม ๘ คนเป็นคณะทำงานในการประสานกับสี่ฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ และลุงเอกของเราก็เป็นหนึ่งในแปดคนด้วยสิคะ
อีกพลังหนึ่งคือจากอ.มธ.+สนนช.ออก ๓ หยุด ซึ่งถ้าสื่อทุกชนิดให้พื้นที่กับพลังที่ออกมาเหล่านี้อย่างต่อเนื่องตามที่มีข้อตกลงกันจากเวทีของพระปกเกล้าที่องค์กรสื่อสารมวลชนทุกกลุ่มฝ่ายร่วมเป็นภาคีเครือข่ายแล้ว..เรามีหวังค่ะพี่บางทราย อยู่ที่เราจะกล้าหวังและร่วมลงมือทำกันอย่างจริงจังมั้ยเนาะคะ
นึกถึงคำถามของอิ่มที่ทิ้งไว้ในบันทึกเบิร์ดว่า ผีเสื้อกระพือปีก..ว่าแต่ กล้าที่จะกระพือปีกมั้ย? ..ขึ้นมาอีกแล้วล่ะค่ะ
Logos ครับ เห็นด้วยว่าเด็กควรผ่านกิจกรรมในชีวิตจริงเพื่อสร้างทุนทางสังคมดังกล่าว มิใช่เพียงมุ่ง “ความเป็นเลิศทางวิชาการ” แต่จริยศาสตร์ สอบตกหมด สอบตกก็ไม่เป็นไรแต่ให้หัวใจและความคิด สำนึกของเขาปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างโอบอ้อมอารี มิใช่เอารัดเอาเปรียบกัน
ซึ่งเป็นการยากในขณะที่สังคมใหม่ มีสิ่งแวดล้อมใหม่เข้ามา กฏเกณฑ์ของหน่วยงานกับสังคมชีวิตจริงขัดแย้งกัน การรีบรุดเพียงเพื่อให้ลงชื่อก่อนเส้นแดง หรือกดหัวแม่มือก่อนที่เวลา red line จะแสดงขึ้น ขณะที่ทางบ้านต้องมีเวลาดูแลครอบครัว หรือพ่อแม่ที่แก่เฒ่า…และรีบเดินทางไปทำงาน จึงต้องอาศัยความเร็วและการชิงให้ได้ก่อน….จึงบีบให้เขาต้องละเมิดความเป็นคนแบบนุ่มนวล นี่คือความซับซ้อนรูปแบบหนึ่ง และสังคมไทยจึงเป็นแบบชนบท และแบบเมือง ตามทฤษฎีสองโลกของวิถีชีวิตของสังคมประเทศกำลังพัฒนา
ตอนที่ร่วมมือกับ ดร.มณีมัย แห่ง มข.ประเมินผลโครงการ SIF ให้กับ WB นั้น ผลสรุปก็บอกว่า ทุนทางสังคมของเรายังเป็นเงื่อนไขที่น่าสนใจและมีคุณค่าต่อความอยู่รอดปลอดภัย WB จึงเอาแนวคิด SIF ไปขยายทำในประเทศทางอาฟริกา น่าเสียดายที่ไทยเรากล่าวถึงเล็กน้อยในแผนชาติ ของ สศช. แต่ทางปฏิบัติต่างก็มุ่งไปที่เมกกะโปรเจคเช่นเดิม…
น้องแก้มยุ้ยครับ
สันติ ลุนเผ่ เป็นนักร้องที่มีน้ำเสียงเยี่ยมยอดตลอดกาล และปลุกเร้าจิตใจได้ยิ่งยวด
เนื่องจากว่าเราอยู่วงนอก รายละเอียดเชิงลึกเราไม่ทราบ จึงเป็นไปได้ว่า การตั้งโต๊ะเจรจาอย่างสันตินั้นอาจจะมีลู่ทาง หรือทางสถาบันผู้ที่รับผิดชอบด้านนี้อาจจะมีเครื่อมือดีดีที่จะเอาขึ้นมาใช้ในกรณีเช่นนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
พี่เชื่อว่าคนเราไม่อยากที่จะรุนแรงเพราะมีแต่เสียกับเสีย แต่ด้วยเหตุหลายประการที่มักซ่อน ปิดลับ ทำให้ผู้มีอำนาจจำเป็นต้องใช้ แต่เราก็ภาวนาว่าไม่ให้ใช้ หากมีทางเจรจาได้ก็จะเป็นบุญของประเทศชาติ
หากสองฝ่ายเอาผลประโยชน์มาเป็นฐานในการเจรจา ผลสรุปที่ลงตัวคงยาก เพราะไม่เชื่อว่าสองฝ่ายที่อาจจะมานั่งโต๊ะเจรจาต่อหน้าคนกลางนั้นจะเอาเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างเท่านั้นมาแลกเปลี่ยนกัน แต่ที่เรารู้ๆกันว่ามีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังการยื้อยุดเช่นนี้ ฝ่าน พธม.ก็มีข้อเรียกร้องที่สูงส่ง ที่ไม่ลดลาวาสอก อีกฝ่ายก็มีชีวิตเป็นเดิมพัน และไม่ยอมสูญเสีย จึงมองเห็นความขัดแย้งที่ลงตัวยาก
อย่างไรก็ตามการเจรจาอย่างสันตินั้นมิใช่แต่เห็นอุปสรรคแล้วก็ล้มเลิกไป ต้องทำก่อน อาจจะสำเร็จก็ได้ เราสนับสนุนและให้กำลังใจเป็นอย่างยิ่งครับ
ตามมาอ่าน แล้วก็อยากถอนหายใจเฮือกๆๆๆ และคงต้องบอกตัวเองให้ประคองใจให้มั่น พยายามทำหน้าที่ในส่วนปลูกจิตสอนใจกันต่อไปท่ามกลางความแปรเปลี่ยนของวัฒนธรรม ความคิด ที่บ่าไหลมาจากทุกทาง บอกตัวเองให้มีความหวังด้วยค่ะ
ขอบคุณเรื่องราวที่ทำให้ได้รู้เพิ่มขึ้นนะคะพี่
น้องอึ่งครับ
อาจารย์เจิมเล่าให้ฟังว่า คนเราไม่รู้ว่าเงินสามแสนล้านนั้นมันมากแค่ไหน ท่านบอกว่า ก็ประมาณว่าเกิดมาแล้วได้เงินเดือนทันทีเดือนละ 1 แสนบาท ตลอดชีวิตสมมุติว่าตายเมื่อ 70 ปี โดยไม่ใช้จ่ายเงินเลยจะมีเงิน 84 ล้าน แล้วเกิดแล้วตาน 1000 ชาติก็ยังมีเงินไม่ถึงสามแสนล้านเลย แต่ทั้งหมดที่ได้มานั้น ส่วนใหญ่เป็นการคอรับชั่นทางนโยบายแล้วไปก่อเกิดประโยชน์แก่เขา เช่นการแปลงภาษีมือถือ ยี่ห้อหนึ่งเป็นสรรพสามิต แล้ว tot ต้องจ่ายเงินเข้ารัฐแทนเขาถึง 6 พันล้าน นี่แหละที่พนักงาน tot จึงใช้มือตบไล่… อีกมากมาย….
ดังนั้นเงินร้อยล้าน พันล้านที่จะจ่ายให้ใครต่อใครนั้นเหมือนเราจ่ายเงินสิบบาทยี่สิบบาท จะให้สังคมไม่ปั่นป่วนได้อย่างไรเล่า อุ้ยตาย…เอาซะหนักเชียว หยุดๆๆๆๆๆ แค่นี้ครับน้องอึ่ง เราได้พบได้เห็น ได้ยินได้ฟังก็ไว้หูหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ได้
เราเองก็ตั้งมั่นในความไม่ประมาทก็แล้วกัน ต่อให้โลกนี้เป็นของเขา แล้วเอาไปได้ไหมล่ะ..ก็แค่ธุลีผงกับความดีความชั่วเท่านั้น…