สะเมิง: เมื่อม้งเข้าห้องเรียน

โดย bangsai เมื่อ มกราคม 5, 2009 เวลา 14:19 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3584

โครงการที่ผมทำที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคแรกๆของ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เรียกว่า อพช. หรือ NGO ก็ได้ ทีมงานไม่ถึง 10 คน รับผิดชอบกันคนละตำบล และมีทีมงานกลาง 2 คนที่รับผิดชอบทุกตำบลเฉพาะด้าน ผมเองรับผิดชอบงานด้านสังคม เน้นการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์นั่นเอง

โครงการนี้สนับสนุนโดยมูลนิธิจากประเทศเยอรมันแห่งหนึ่ง โดยการชักชวนของ ส.ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษฝีปากกล้า พนักงานโครงการจึงถูกฝึกอบรมก่อนทำงานที่ โครงการบูรณชนบทแห่งประเทศไทย จังหวัดชัยนาท ที่มีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นประธาน ที่เรียกย่อๆว่า บชท. คือ Thailand Rural Reconstruction Movement (TRRM) ซึ่งจำลองหลักการมาจาก ดร. เจมส์ ซี เยน แห่งประเทศ ฟิลิปปินส์ ที่เรียกว่า PRRM หลักการของท่านเรียก Credo 10 ท่านที่สนใจเข้าไปที่กูเกิลครับ

สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้วหลักการพัฒนาชนบทของบ้านเรานั้นเรียกได้ว่านำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งนั้น ไม่ว่า คิบบุช โมชารป จากอิสราเอล เซมาเอิล อุลดอง จากเกาหลีใต้ ซาโวดายา จากศรีลังกา กรามินส์แบ้งค์ จากบังกาเทศ(ที่ได้รับรางวัลโนเบล) เครดิตยูเนี่ยน ที่ท่านคุณพ่อบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ แห่งสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยนำเข้ามาจากยุโรป ในปี 2509 ซึ่งมีต้นกำเนิดที่เยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เท่าที่ผมทบทวนดูสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า การมีส่วนร่วม การบูรณาการ ฯลฯ แต่มีคำว่า การยืนอยู่บนขาตนเอง การช่วยเหลือเขาให้เขาช่วยตัวเองได้ Top down-Bottom up และศัพท์แสงทางวิชาการก็เกิดมาภายหลังที่งานพัฒนาชนบท โดยองค์กรพัฒนาเอกชน กระจายไปทำงานทั่วประเทศ และพัฒนาประสบการณ์งานพัฒนาสังคมขึ้นมาเอง ผนวกกับกระแสงานพัฒนาสังคมทั่วโลกที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น เพราะ คนทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่ก้าวมาจากสถาบันการศึกษา ที่มีสำนึกทางการเมืองในยุคนั้น จึงนิยมสุมหัวคุยกัน เป็นประจำจนต่อมาก่อให้เกิด ศูนย์ประสานงานองค์กรพัฒนาสังคมเอกชนที่เรียก NGO-CORD หรือ พอช. ขึ้นทุกภูมิภาค

เดี๋ยวจะกลายเป็นเล่าพัฒนาการ NGO ในเมืองไทยไปซะ… วกเข้ามาที่ สะเมิง

เราไปจัดตั้งผู้นำชาวนาขึ้นทุกหมู่บ้าน สมัยนั้นสุ่มเสี่ยงมาก เพราะเป็นยุคที่รัฐต่อต้านแนวความคิดคอมมิวนิสต์ ชื่อผู้นำชาวนาจึงเป็นเป้ามองของสันติบาลว่า ทำอะไรกัน ทุกเดือนเราก็เอาผู้นำชาวนานี้มาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือ(บริเวณสำนักงานที่มีร้านอาหารชื่อกาแลตั้งอยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งมี ดร.ครุย บุญยสิงห์เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอยู่ คนสมัยนี้ไม่รู้จักท่านแล้ว ท่านก็คือสามีของอาจารย์เต็มศิริ บุญยสิงห์ นักอภิปรายทางทีวีตัวยงในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ดร.ครุยเอง ท่านจบมาจาก มหาวิทยาลัยคอแนล ที่มีชื่อเสียงของอเมริกา และท่านเป็นทีมงานศาสตราจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลในช่วงนั้นด้วย ..

ผู้นำชาวนาที่มาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมนั้นก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำมาหากิน การยกระดับผลผลิต การปรับปรุงพันธุ์พืช การพัฒนาการเกษตรโดยเอาพืชเศรษฐกิจใหม่ๆเข้าไป ตามยุคสมัยนั้น.. ปรากฏว่าเมื่อผู้นำชาวนากลับไปในหมู่บ้านเขา บางคนก็ไปเล่าความรู้ใหม่ๆให้ญาติพี่น้องฟัง ให้เพื่อนบ้านฟัง อันเนื่องมาจากสะเมิงเป็นเมืองค่อนข้างปิดดังกล่าว

ความรู้เหล่านี้เป็นที่สนใจของชาวบ้านที่ตื่นตัว อยากรู้มาก และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ผู้นำชาวเขาเผ่าม้งที่ตำบลยั้งเมิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไกลที่สุดของโครงการ ผู้นำม้งติดต่อโครงการขอมารับการฝึกอบรมด้วย เขาจึงได้มาเข้าร่วมเพิ่มพูนความรู้ทุกเดือน แต่เนื่องจากเขามีข้อจำกัด เพราะว่าม้งฟังภาษาไทยได้ แต่คำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการเขาจะไม่ค่อยรู้เรื่อง และที่สำคัญเขาไม่สามารถทำการบันทึกความรู้ได้ ใช้วิธีจำใส่หัวโตๆอย่างเดียว

ต่อมาผู้นำม้งขออนุญาตโครงการเอาลูกชายที่ผ่านระบบโรงเรียนของไทยมาแล้วเอามาด้วย เพื่อวัตถุประสงค์ทำการบันทึกความรู้โดยตรง….??? นี่คือความพยายามของเขาที่จะเรียนรู้ หรือพูดในภาษานักพัฒนาก็คือ มีความตื่นตัวในการรับเทคโนโลยี่ใหม่ๆ มีความตื่นตัวในการปรับตัวเองไปตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดีไม่ดี ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์


การอบรมครั้งหนึ่ง ที่ประชุมพูดถึงว่าพื้นที่สะเมิงนั้นล่อแหลมต่อการเป็นแหล่งผลิตฝิ่น ที่นำไปทำเป็นเฮโรอิน ซึ่งผิดกฎหมายไทย และมีผลร้ายแรงต่อคนที่เสพติด ผู้นำม้งท่านนั้นก็บอกว่า เป็นความจริงที่ ชาวเขาหลายเผ่าทำการปลูกฝิ่น โดยเฉพาะเผ่าม้ง ปลูกกันเป็นไหล่เขาเลย

แต่ผู้นำม้งกล่าวว่า เฮาปลูกฝิ่น แต่เฮาบ่กินฝิ่น คนไทยน่ะง่าว กินฝิ่นกันมากมาย…. ??? แปรความได้ว่า เราปลูกฝิ่นแต่เราไม่เสพฝิ่น คนไทยน่ะโง่ที่ไปเสพฝิ่น…???

แสบไหมล่ะพี่น้องที่ได้ยินคำนี้….โส..น้า..น่า..โค กิ ฝิ่.. อิอิ

« « Prev : สะเมิง: นายหวื่อ แซ่ย่าง

Next : “ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.1 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 มกราคม 2009 เวลา 14:58

    ฮาๆๆๆ ซะงั้น แต่ก็ง่าวจริงๆนะครับ

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มกราคม 2009 เวลา 18:35

    เห็นด้วยค่ะว่าลึกไบ๊ลึกง่าว (โง่จริงโง่จัง อิอิอิ) และติดใจมานานว่าการจัดการศึกษาสำหรับเด็กๆบนดอยนั้น อะไรที่ควรเป็นแก่นสำคัญสำหรับเค้า


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.38183498382568 sec
Sidebar: 0.32388615608215 sec