“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.3

โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2009 เวลา 23:20 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2520

มีอีกวลีหนึ่งที่คอนกล่าวในที่ประชุมนั้นและผมก็ชอบมากด้วย ที่ว่า ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย คำนี้บ่งบอกความหมายกว้างขวาง คอนได้ผ่านปัญหาอุปสรรคมามากทั้งหน้าที่การงาน การบริหารลูกน้อง และอื่นๆ แม้ว่าความรู้ในด้านต่างๆจะพัฒนามากมาย และมีวางขายในร้านหนังสือทั่วไป แต่เหล่านั้นเป็นเพียงหลักการ หลักคิด เงื่อนไขของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อหน้านั้นมันแตกต่างไปจากหลักการนั้นๆ ที่พูดเพียงกว้างๆ

ผมชอบที่ เฒ่าแก่ ส่งลูกของตัวเองที่อุตสาห์เรียนหนังสือจบเมืองนอกเมืองนา ให้ไปทำหน้าที่เสมียนระดับล่างก่อน เพราะต้องการให้รู้จักงาน รู้จักคน รู้จักรายละเอียดในงานที่เป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งของกิจการ แล้วค่อยยกระดับไปบริหารกิจการในท้ายที่สุดด้วยความรอบรู้แท้จริง เพราะสัมผัสมาด้วยตัวเองแล้ว

เฒ่าแก่ ก็จะมั่นใจว่า ลูกตัวเองเป็นผู้รู้จริงก็จะสามารถไว้ใจในการดำเนินกิจการต่อไปได้ แน่นอนระหว่างนั้นอาจจะผิดพลาด บกพร่องก็เป็นเรื่องมีประโยชน์ทั้งสิ้นเพราะลูกคนนั้นจะรู้ซึ้งถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเป็นต้น

ชีวิตไม่ใช่มีตัวเลือกให้หมดแล้ว หลายครั้งชีวิตต้องเผชิญอุปสรรค ปัญหาที่ไม่มีตัวเลือก แต่ต้องเดิน ผมยังชอบตัวแบบชีวิตที่ก้าวจากดินไปสู่ดาวของน้องรักคนหนึ่ง และผมชอบที่จะยกตัวอย่างเขาเสมอๆ เพราะชีวิตเขาเป็นอัตนัยทั้งหมด ไม่มีตัวเลือกเลย แต่การตั้งมั่นในความวิริยะอุตสาหะ และค่อยๆเดินไปนั้น เขาก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ ยากที่คนทำงานพัฒนาตัวเล็กๆคนหนึ่งจะก้าวไปถึงจุดยืนตรงนั้นได้ ขออนุญาตฉายซ้ำ

เพื่อนนักพัฒนารุ่นน้องที่ไปคว้าสาวชาวบ้านมาเป็นคู่ชีวิต เมื่อโครงการจบก็ตกงาน ไม่มีอะไรจะทำ จึงพากันลงไปกรุงเทพฯเอาลูกน้อยลงไปด้วยไปใช้ความรู้การทำน้ำเต้าหู้ขายตามริมถนน แต่ก็โดนตำรวจเทศกิจไล่จับเพราะไปกีดขวางทางเดินเท้า ต้องหิ้วหม้อน้ำเต้าหู้ร้อนๆ อุ้มลูกด้วย หนีตำรวจ เพราะหากถูกจับจะไม่มีค่าปรับ

แต่ก็อยู่ไม่ได้เพราะเทศกิจจ้องตลอด จึงขึ้นไปบ้านเชียงใหม่ ไปเช่าเครื่องทำสำเนารับจ้างตามริมถนน สามีไปทำงานโรงแรมเก่าๆ พอมีเวลาเหลือก็ไปรับจ้างทำสวนไม้ดอกตามหมู่บ้านจัดสรร และรีสอร์ทต่างๆที่กำลังก่อสร้างมากมายในเชียงใหม่สมัยนั้น

มีโชคเข้ามา เพราะคนญี่ปุ่นคู่หนึ่งเห็นเด็กหนุ่มสาวทำงานอย่างขยันขันแข็งเช่นนี้ จึงชวนไปทำงานส่งออกดอกไม้ประเภทหัวใต้ดิน เช่น ต้นแสงตะวัน โดยไปหาที่ดินและตระเวนเก็บสะสมหัวดอกทานตะวันจากที่ต่างๆทั่วประเทศ ตลอดจนต่างประเทศใกล้เคียง มาเพาะแล้วส่งออกไปญี่ปุ่น

งานหนักเอา เบาสู้ และใช้ความคิดพัฒนากิจการไปเรื่อยโดยที่ไม่มีตำราที่ไหนสอน คลำไปกันเอง หาความรู้เอง เรียนรู้เอง ลงมือทำเอง ไปแม่โจ้ ไปคณะเกษตร มช. ไปโครงการพระราชดำริ ไปทุกที่ที่จะมีความรู้มาพัฒนากิจการนี้ ตลอดจนไปเรียนรู้การทำ Tissue culture เพื่อมาขยายพันธุ์พืชที่ตระเวนสะสมไว้ในแปลงนั้น

จากไม้หัวไปสู้ไม้ใบ จากไม้ใบไปสู่ไม้ดอก จากการส่งไปญี่ปุ่นประเทศเดียวขยายไปออสเตรเลีย ยุโรป เปิดโรงงานทำน้ำสะอาดขาย และท้ายที่สุดทำน้ำสมุนไพรคาวตองขาย จากเด็กบ้านนอกในป่าสะเมิง จบเพียง ป.4 จากเด็กที่ผมขุดขึ้นมาจากหลังบ้านมาเป็นครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน และเมื่อก้าวมาสังคมใหญ่ เธอก็สร้างตัวเธอเองจนเป็นแม่เลี้ยงที่จังหวัดลำพูนในปัจจุบันนี้

ชีวิตเธอไม่ใช่มีทางเลือกใดๆเลย ทุกก้าวคือการคลำไปกับความมุมานะ กับสมองที่มุ่งหาความรู้เติมเข้ามา มันเป็นชีวิตที่เด็กบ้านนอกประสบผลสำเร็จที่น้อยคนนักจะทำได้

นี่คือตัวอย่าง ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย ที่หลับตาจิ้มเอา แต่ต้องค้นคว้า เรียนรู้ อดทน มุมานะ พยายาม ก่ออิฐชีวิตไปทีละแผ่น….

จากเด็กกะโปโล บ้านนอก มาเป็นผู้บรรยายให้แก่นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์หลายสถาบันที่เข้ามาเรียนรู้..!!

จากเด็กครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนมาเป็นนักธุรกิจส่งออก….!!!!

จากเด็ก ป. 4 กลายมาเป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ..!!!!!!????? ทั้ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรปบางประเทศ…!!!???

สักวันหนึ่งอยากจะพาเฮฮาศาสตร์ไปที่นั่นกัน เธอยินดีต้อนรับแม้จะไปกัน 100 คนเธอก็สู้ไหว

ผมหละแอบชื่นชมผลของการทำข้อสอบอัตนัยของเธอจริงๆ

« « Prev : “ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.2

Next : “ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.4 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มกราคม 2009 เวลา 23:48

    หึหึ นี่ล่ะครับถึงได้บอกว่าสงสารคนฟัง เพราะว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ในเรื่องราวมากมาย ประโยคเดียวตีความออกมาได้เป็นบันทึกยาวหนึ่งคืบ

    ขอบคุณครับพี่ ผมเริ่มจำไม่ได้แล้วว่าพูดอะไรไปบ้าง เพราะพูดสด แถมความจำสั้นด้วย อิอิ

    มี short note สำหรับแก่นชีวิตสำคัญที่สุดที่อยากจะฝากนักศึกษาไว้ แต่ว่าทิ้งอยู่ในรถ จะยังไม่เอามาเขียนหรอกนะครับ ปล่อยให้พี่ (และ อ.ต้อม) เขียนไปตามสบายก่อน

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 มกราคม 2009 เวลา 8:54

    อมยิ้มกับผลึกที่ร่วงเกรียวกราวจนคนตามอ่านสนุกสนานเหลือเกิน เบิร์ดเชื่อว่าแม้วันนั้นน้องๆอาจรับได้ไม่เต็มที่หรือยังย่อยไม่หมด แต่เมื่อผ่านการทำงาน ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเขาได้นะคะ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 มกราคม 2009 เวลา 11:49

    คอนครับ กว่าจะมาเป็นผลึกชิ้นหนึ่งนั้น บางผลึกใช้เวลาทั้งชีวิต แน่นอนบางผลึกใช้เวลาน้อยกว่ามาก

    แต่ทั้งหมดเป็นสัจธรรมที่โบราณกล่าวว่า “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” (น้ำร้อนนี้ไม่ใช่อาบอบนวดนะ อิอิ) คือผู้มีประสบการณ์ชีวิตมาก่อน แต่ละคนแตกต่างกันตามเส้นเดินของชีวิต แต่บทสรุปมักคล้ายๆกัน ผลึกของชีวิตมักคล้ายๆกัน

    หากเด็กคนไหนฉลาดที่จะเรียนรู้ ไปเป็นผู้รับใช้ผู้มีประสบการณ์
    เหมือนโบราณที่นิยมขอถวายตัวเป็นศิษย์รับใช้ในชีวิต แก่ผู้รู้ แก่ผู้ประเสริฐทั้งหลาย เจ้าสำนักตักษิลาทั้งหลาย แล้วผู้นั้นก็จะซึมซับผลึกเอาไปทั้งหมด เป็นการเรียนลัด ครับ มันได้อารมณ์ความรู้สึก มันได้น้ำใจ ได้ความสัมพันธ์ทางจิตใจมากมายกว่าระบบโรงเรียนด้วยครับ

    อีกอย่างหนึ่ง ผมชอบไปฟังเบื้องหลังการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาต่างๆ ว่ากว่าจะมาเป็นวิทยานิพนธ์ กว่าจะสรุปประโยคนี้มาได้นั้นมันมีที่มาอย่างไร ผมชอบมาก เพราะนั่นคือสาระเต็มๆที่เป็นรายละเอียดมากกว่าบทสรุป มากกว่าการนำเสนอวิทยานิพนธ์เฉยๆ

    สมัยก่อนที่ทีมอาจารย์เชียงใหม่ 5 ท่านจบปริญญาเอกมาใหม่ๆพร้อมๆกัน เขาเปิดเวทีอภิปรายเบื้องหลังวิทยานิพนธ์ โห..คนฮือฮากันมาก กล่าวกันว่า 5 ท่านที่จบมานั้นคือคลื่นลูกใหม่ของสังคมไทยทางด้านสังคมศาสตร์ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ท่านเหล่านั้นมีบทบาทมากในการผลักดันสิ่งต่างๆในสังคมเราโดยเฉพาะภาคเหนือ ทั้ง 5 ท่านสร้างทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่เอาบริบทสังคมไทยเป็นตัวตั้ง หนึ่งในนั้นคือ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ผู้ผลักดันหลักการ “ประชาคม” (civil society) ดร.ชยันต์ วรรฒนภูติ ผู้สร้างแนวคิด การผลิตซ้ำทางสังคม (Social reproduction) ดร.อุไรวรรณ ตัยกิมหยง ผู้ขุกรากเหง้าสังคมเหนือมาตีแผ่ในเรื่อง “ระบบเหมืองฝาย ระบบการจัดการของชุมชน เป็นชลประทานราษฎรไม่ใช่ชลประทานหลวง” ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ ผู้ชี้วัฏจักรประวัติศาสตร์สังคมทางภาคเหนือ…

    นั่นก็เป็นผลึกอีกแบบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ตนเอง สังคม และที่สำคัญรายละเอียดเหล่านั้นบ่งชี้ถึงวิถีชีวิตที่เป็นอัตนัยทั้งนั้นครับ

    การที่คอนมาพูดเช่นนี้ก็เป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ แม้ผู้ฟังจะรับได้มากได้น้อย ก็เป็นเรื่องที่ครูบาอาจารย์ต้องพัฒนากันต่อไป แต่การกระทำนั้นได้กระทำแล้ว เป็นเจตนาที่ดี เป็นเจตนาแห่งการให้ ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ แค่นี้ก็มหาศาลแล้วครับ

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 มกราคม 2009 เวลา 12:09

    เห็นด้วยกับน้องแก้มยุ้ยครับ

    เอาเถอะข้อจำกัดอาจจะมีหลายประการในการจัด แต่เพียงการได้ฟังผ่านหู ผ่านตา สาระเหล่านี้จะถูก recall กลับมาได้เมื่อเขาเดินไปข้างหน้าแล้วประสบประเด็นต่างๆของชีวิตขึ้นมา เขาจะนึกย้อนหลังว่าเคยได้ยินได้ฟังสิ่งเหล่านี้มาก่อนแล้วนี่นา ….

    แค่นี้ก็เป็นกุศลแล้วครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.20823097229004 sec
Sidebar: 0.10498285293579 sec