“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.4
อ่าน: 2093
สังคมเราผิดพลาดที่ตรงไหน จึงทำให้เด็กมีลักษณะ “คิดเองไม่เป็น” คำอธิบายคงหลากหลายแต่ส่วนใหญ่คงไปลงที่ระบบการศึกษา บางคนก็ว่าเพราะครอบครัวอบรมมาไม่ดี บางคนไปไกลถึงว่าวัฒนธรรมสังคมของไทยเรามีส่วนทำให้เกิดเช่นนั้น
ผลึกของคอนอีกสำนวนหนึ่งคือ “ให้อิสระทางความคิด ดีกว่าการสั่ง” ภาพคร่าวๆที่ผมทราบคือ คอนต้องบริหารพนักงานในบริษัทที่มีมากถึง 200 คนเศษ โดยปกติคนเป็นนายนั้นก็ต้องใช้คำสั่งแก่พนักงานทั้งหลายเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ผู้บริหารสั่งเพื่อให้การเคลื่อนตัวขององค์กรเข้าสู่เป้าหมาย..
ความเข้าใจนี้ไม่ผิด แต่เป็นแบบเก่าแล้ว การบริหารสมัยใหม่นั้น ได้หยิบข้อบกพร่องจากอดีตมาแก้ไข และพบว่า การเปิดบรรยากาศแห่งความมีอิสระทางความคิดที่จะสร้างสรรค์ภารกิจออกมานั้น จะก่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพมากกว่าหลายเท่าตัวนัก
ปรัชญาบนพื้นฐานความคิดที่ว่า “ให้อิสระทางความคิด ดีกว่าการสั่ง” มาจากความเชื่อว่า คนเราแต่ละนั้นมีศักยภาพภายใน เมื่อเราเชื่อเช่นนั้น เราก็เพียงให้โจทย์เขาไปแล้วเขาไปสร้างความสำเร็จเอง ซึ่งจะพบว่ามีเรื่องทึ่งเกิดขึ้นมากมาย เพราะ ศักยภาพของพนักงานที่เป็นพลังภายในของเขาถูกปลดปล่อยออกมา…. และมักพบว่ามีคุณค่าในหลายๆด้ายเหลือเกิน เช่น
- พนักงานผู้คิดค้นและสร้างสรรค์งานชิ้นนั้นออกมานั้นมีความภูมิใจในงานชิ้นนั้น
- ผู้บริหารได้พบเพชรงามในองค์กรมากขึ้น
- พบว่างานที่สร้างสรรค์นั้นดีกว่าที่ผู้บริหารคิดไว้ตั้งแต่แรกอีก
- ส่งผลสะเทือนไปถึงเพื่อนร่วมงานอื่นๆที่ต้องหันมาใช้ความคิดมากขึ้นกว่าการเพียงรอรับคำสั่ง
- โดยรวมเกิดบรรยากาศที่ดี ที่สร้างสรรค์ เพราะพนักงานมีความผูกพันกับองค์กร เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทและมีความสำคัญ ที่เราเรียกว่าเป็นหุ้นส่วน (Partnership)
- องค์กรใดที่มีบรรยากาศเช่นนี้ มีผลกระทบในทางที่ดีในระยะยาวต่อเนื่องไป เพราะพนักงานจะไม่หยุดคิดสร้างสรรค์เมื่องานชิ้นนั้นจบลง เขาจะคิดต่อเนื่องต่อไปอีกในอนาคต โดยที่นายไม่ต้องสั่ง เขาจะคิดต่อไปโดยอัตโนมัติว่าจะพัฒนาสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไรได้อีก ..ฯลฯ…
นี่เป็นผลของการเข้าใจความเป็นมนุษย์ ศักยภาพของคน และการรู้จักบริหารจัดการที่เหมาะสม ก็จะได้ Output, Outcome จนถึง Impact ขององค์กรที่สุดยอดได้ไม่ยาก
แน่นอนครับองค์กรของเรามิอาจมีพนักงานที่มีศักยภาพซ่อนอยู่เต็มตัวไปทุกคน บางคนก็เล็ดลอดเข้ามาจากการ Screen ที่บกพร่อง หละหลวม โดยการสอบ สัมภาษณ์ และกระบวนการอื่นๆที่คัดพนักงานเข้ามา เมื่อผู้บริหารเห็นก็ต้องค้นหากระบวนการสร้างเขาขึ้นใหม่ ให้โอกาสเขาพัฒนาขึ้นมา ซึ่งมีหนทางมากมาย ทุกท่านก็แสวงหาสิ่งนี้อยู่แล้ว น้องคนดอย.. เฮียตุ๋ย…. เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี
เรื่อง “ให้อิสระทางความคิด ดีกว่าการสั่ง” และความเชื่อขั้นพื้นฐานที่ว่า “..คนเราแต่ละนั้นมีศักยภาพภายใน” ผมพบความจริงนี้ตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนในทุกระดับ เช่นที่ พ่อบัวไล หรือสหายธีระ http://gotoknow.org/blog/dongluang/86222 พ่อแสน วงษ์กะโซ่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/174821 และที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/171970
ไม่เชื่อท่านลองหันกลับไปพิจารณาดูคนในองค์กรของท่านซิ
มีศักยภาพซ่อนอยู่แน่ๆเลยครับ…
« « Prev : “ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.3
10 ความคิดเห็น
เรื่องนี้อย่างที่ท่านบางทรายกล่าวไว้โดยนัย คือไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับทุกอย่างครับ
อิสระทางความคิดมาคู่กับความรับผิดชอบครับ จะให้มีหรือเรียกร้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ แล้วยังขึ้นกับองค์ประกอบขององค์กรด้วย
การใช้การสั่งการแต่อย่างเดียว กลายเป็นผู้ออกคำสั่งรู้ดีที่สุด ทำทุกอย่างเป็นหมด มีข้อเท็จจริงอย่างละเอียด และรู้ข้อจำกัดทั้งหมดทุกสถานการณ์ จึงไม่จำเป็นต้องมีองค์กรขนาดใหญ่เลย เพราะคนสั่งทำเป็นไปซะหมด; เหมือนนั่งมองจากยอดตึกสามสิบชั้นสูงร้อยเมตร แต่มองใบไม้ที่ตกอยู่กับพื้นได้ชัดกว่าคนที่ยืนอยู่บนพื้นดินครับ
ผมเชื่อว่าเมื่อให้อิสระแบบมีความรับผิดชอบกำกับอยู่แล้ว จะให้ผลดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่มี knowledge worker ทำงานอยู่; ผู้บริหารเล่นบทบาทของตัวเอง ทำให้ทิศทางชัดเจน ให้ทั้งองค์กรมุ่งไปทางเดียวกัน เกิดการรวมพลัง แก้ปัญหาอุปสรรคของคนทำงาน empower เขาให้เขาทำงานได้ ที่สำคัญคืออย่าไปแย่งงานลูกน้องทำครับ เชื่อใจเขาบ้าง จะเอาอะไรก็บอกให้ชัดว่าจะขับเคลื่อนองค์กรไปไหน (บางทีเรียกว่าวิสัยทัศน์); ถ้าผู้บริหารไปทำงานของลูกน้องแล้ว จะไปเป็นผู้บริหารทำไม แล้วจะมีลูกน้องไปทำไม
บันทึกน่าอ่านและน่าให้ความเห็น…อิอิ
เห็นด้วยค่ะพี่บางทราย การให้อิสระความคิดสามารถนำไปใช้ในหลายกิจกรรมและไม่จำกัดเฉพาะในการทำงานขององค์กร …ในแง่ของสตรีนิยม..การให้อิสระทางความคิดและทางเลือก (freedom of choice) และการหาวิธีร่วมกัน (participate) ในการดำเนินการจัดการร่วมกันกับเรื่องราวใด ถือเป็นหัวใจหนึ่งของการงานด้านสุขภาพสตรีเลยค่ะ
ประสบการณ์ที่ได้นำหลักการนี้ไปใช้ในการบริหารจัดการเรื่องการฝึกปฏิบัติของนักศึกษา พบว่าได้เรียนรู้วิธีคิดของนักศึกษาและวิธีการหาทางแก้ปัญหาของเขาค่ะ…และเห็นว่า การไม่บีบคั้นปิดกั้นความคิดของนักศึกษาทำให้เขาเกิดการพัฒนาได้มากและมีความสุขด้วย เป็นการ empower ที่ดีเลยค่ะ
พี่บางทรายเขียนผลึกอีกนะคะ…รออ่านอีกค่ะ
คอนครับ
ศาสตร์แห่งการบริหารคนในองค์กรนั้น เพื่อเดินเข้าสู่เป้าหมายนั้น ปัจจุบันก้าวหน้าไปมากมาย โดยเฉพาะองค์กรทางธุรกิจก้าวไปสุดกู่แล้วขณะที่องค์กรในระบบราชการ หรือรัฐวิสาหกิจบางแห่งยังเป็นเต่าล้านปี… แม้จะมีความพยายามปฏิรูปมานานแสนนานแล้วนะ..
ความไม่มีสูตรตายตัว แต่ผู้บริหารยืดหยุ่นเพื่อให้เพื่อนร่วมงาน(ลูกน้อง)ได้มีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งต่างๆตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดขึ้นไว้นั้น องค์กรเมื่อตัดสินใจเห็นชอบก็ขยับ ปรับตามแนวความคิดนั้นๆ ทำให้ความอ่อนตัวขององค์กรกลายเป็นผลดีที่ให้ขับเคลื่อนไปได้เต็มความสามารถของพนักงานทั้งหมดที่ empower ขึ้นมา
ศาสตร์ทางด้านต่างๆในภาคธุรกิจนั้นพัฒนาไปทุกๆไตรมาส เมื่อเดินเข้าร้านหนังสือ ก็จะเห็น เล่มใหม่ล่าสุดวางเด่นตระหง่านท้าทายให้คนกระหายความรู้ได้เสียสตางค์ครอบครององค์ความรู้นั้นๆ
มากไปกว่านั้นมี Special speaker ที่ทันสมัยล่าสุดของโลกมาพูด ซึ่งบริษัทธุรกิจเป็นผู้จัด เก็บค่านั่งฟังแพงลิบลิ่ว แต่คนล้นห้องเพราะยอมเสียเงินเพื่อรับฟังสิ่งใหม่ๆที่โลกก้าวไปแล้วหรือกำลังจะมาถึง
พี่ยังมีโอกาสได้รับทราบ Dr. Edward Demming ผู้เสนอระบบ QC โดยวงจร PDCA ที่ถูกพัฒนาต่อมามากมายในปัจจุบันเช่น TQM, JIT, PJC ท่านที่อยู่ในวงการธุรกิจ หรือเรียนมาทางบริหารย่อมซึ้งกับชื่อเสียงท่านนี้ดี ท่านที่ไม่รู้จักDemming ดูฉบับย่อได้ที่ http://www.geocities.com/muegaohudkub/EdwardDemming.html
คนทำงานพัฒนาชนบทอย่างพี่คงไม่มีโอกาสรู้จัดอีตา Demming หากไม่ได้ทำงานกับโครงการที่มีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาประจำ พี่ก็เรียนรู้จากเขา และบางท่านก็ใจดีสร้างเราไปด้วย พี่จึงรู้จัก Demming เมื่อสัก 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นแรงกระตุ้นให้หาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเขามาศึกษาต่อเนื่องหลายต่อหลายเล่ม ซึ่งล้วนเป็นหลักการทางธุรกิจ
พี่ศึกษาเพราะอยากรู้ว่าระบบธุรกิจคิดอะไร ทำอะไร ทำไมต้องทำอย่างนั้น และมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร โดยเฉพาะชนบทที่พี่ทำงานอยู่
ทำให้พี่ทึ่งกับกระบวนการพัฒนาของ Demming ที่เป็นชาวอเมริกันที่ไปทำให้ประเทศญี่ปุ่นที่แพ้สงครามกลายมาเป็นญี่ปุ่นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจต่อโลกใบนี้….และก้าวหน้ามากกว่าอเมริกา ประเทศแม่ของเขาเสียอีก กว่าอเมริกาจะรู้ว่าญี่ปุ่นที่ตัวเองไปทิ้งระเบิดนั้นเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้แซงหน้าอเมริกาเพราะคนอเมริกันเอง ที่ชื่อ Dr. Demming ก็มีอายุปาเข้าไป 90 กว่าแล้วและเสียชีวิตอีกไม่กี่ปีที่เขากลับไปอเมริกา… เลคเชอร์ของเขาจึงมีค่ามาก….(ใครไม่เคยฟังไปหามาฟังซะ…)
แต่ที่มากไปกว่านั้นพี่ทึ่งคนญี่ปุ่นมากกว่า เพราะศาสตร์ PDCA ทำไมเข้าได้ดีกับความเป็นคนญี่ปุ่น แต่ทำไมคนไทยจึงไม่ไปไหน…??
ภาษาเหนือเรียกว่า …งืด… (ฮางืดนะบ่ะ อิอิ)
น้องสร้อยครับ
สิ่งที่น้องสร้อยคิดและทำนั้นน่ะ พี่คิดว่าสุดยอดแล้ว อยู่บนพื้นฐานการยอมรับความมีศักดิ์ศรีของคน ศักยภาพของคน โอกาสของคน สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของระบบงานใดๆก็ตาม ยกเว้นทหารในสมรภูมิมั๊ง ที่ต้องทำตามคำสั่งอย่างเดียวไม่เช่นนั้น ตายเพราะถูกยิงทิ้งฐานไม่ฟังและไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง..
บ้านเมืองเราจะเจริญเติบโตได้เพราะกระบวนการสร้างคนนี่แหละ…
ซึ่งเราหวังว่าเราทุกภาคส่วนจะค่อยๆดัดแปลงในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบให้ค่อยๆเปลี่ยน ไปหวังให้พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินนั้นไม่ได้แล้ว…
สิ่งที่ติดใจคือสังคมไทยผิดพลาดอะไรในการเสริมสร้างลักษณะการเรียนรู้
อืม นั่นน่ะสิคะ ถ้าดูกระบวนการเรียนรู้จะประกอบไปด้วยหลักใหญ่ๆคือความสมบูรณ์ของประสาทสัมผัสและการประมวลผลของสมอง
และอุปสรรคในการเรียนรู้มี 2 อย่างคือ ไม่ได้เรียนรู้ ขาดการกระตุ้น และเรียนรู้ผิดทำให้สร้างวงจรผิด เราเป็นแบบนั้นหรือเปล่าน้อ
บางทีเราไม่อยากหาความผิดพลาด แต่อยากจะมองไปข้างหน้า
แต่หากเราไม่ศึกษาให้รู้ว่าจุดอ่อน จุดบกพร่องคืออะไร แล้วเราจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
ทุกอย่างที่กล่าวมานั้นพี่สนับสนุนครับ
หากยกตัวเองไปเป็นใหญ่เป็นโต มีอำนาจวาสนา เราจะแก้ปัญหานี้ตรงไหน อย่างไร
จับอะไรก็ถูกไปหมด เพราะมันซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องกัน
นักการเมือง(บางคน)ก็จับตรงที่เห็นผลไวชัดเจนและใช้งบประมาณเพราะอาจมีช่องทางเบียดบังได้ (อิอิ)
นักการศึกษาก็มีทาง…….
หากเราเป็นหน่วยเล็กๆในหมู่บ้านเราจะเริ่มตรงไหน
พี่คิดว่าเริ่มทุกอย่างแล้วมองเรื่องการบูรณาการในระดับเล็กๆ
จำเป็นต้องเรียนรู้อะไร ร่างหลักสูตร หรือโครงการการศึกษาเพื่อชุมชนขึ้นมา เราก็เป็นคล้ายๆ Informal education trainer
ขาดการกระตุ้นอะไร สร้างกิจกรรม เงื่อนไขและใช้ทุกโอกาสกระตุ้น เราก็เป็น Facilitator
แต่น้องเอ๋ย ความซับซ้อนของสังคมนั้นทำให้กระบวนการต่างๆยากขึ้น
คนที่เป็นสหายเก่าใส่เสื้อแดงกันเต็มไปหมด พี่มิได้ความหมายว่าเขาจะต้องมาใส่เสื้อเหลือง แต่เขาแยกแยะไม่ออกว่าอะไรคืออะไร หากจะสร้างกระบวนการมาเพื่อสร้างความเข้าใจสิ่งที่เป็นจริง แค่นี้ก็แทบกระอักเลือดแล้ว
ครกที่เข็นขึ้นไปสู่ยอดเขามันกลิ้งลงมาตีนเขาอีกแล้ว พี่ต้องวิ่งลงมาเข็นขึ้นไปใหม่ อิอิ
แต่ก็ต้องทำ….
สิ่งที่ทำคือ ใจเย็นๆ เมื่อปะทะกับพี่น้องชาวบ้านที่ชอบสีแดง ปล่อยเขาสาธยายไป แล้วค่อยใช้ความสนิทสนมค่อยๆแกะความจริงออกมาทีละส่วน น้องจ๋า เดาสิว่าต้องใช้เวลาและความพยายามแค่ไหน แล้วคนในหมู่บ้านมีกี่คน หากเราต้องการคุณภาพก็ทำเช่นนี้ แต่หากเอาปริมาณ ไม่มีทาง เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครฟังใคร…
สังคมหมุนไป ภาพใหญ่มีอิทธิพลมากจริงๆต่อสังคมย่อย การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ มีผลมากจริงๆ ตำแหน่งหน้าที่การงานมีพลังมากสมควรต่อการให้เหตุผลของเขาและชาวบ้านรับฟัง แต่การสะสมบารมีให้ชาวบ้านยอมรับและใช้เงื่อนไขนี้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเขานั้น ต้องใช้เวลา เงื่อนไข พลังและปัจจัยต่างๆมากมาย
เราก็คิดและทำกันต่อไปครับ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆคับ
ด้วยความยินดีครับ แหวนเพชร
ตามมาเก็บผลึกความคิดค่ะ ในองค์กรเล็กๆ ที่อยู่ บางครั้งต้องเริ่มตั้งแต่ ให้คนเชื่อมั่นว่าตนเองคิดได้ ทำได้
บางตน บางกล่มทำอะไรดีๆ ตั้งเยอะ แต่นำเสนอไม่เป็น จึงมีเรื่องให้เรียนรู้อีกมากมายทั้งฝ่ายบริหารและทีมงานค่ะ
น้องอึ่งครับ
ลองพิจารณาปรับเอาไปใช้ดูนะครับ