วัฒนธรรมองค์กร…มุมมองของบางทราย 1

โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 14, 2008 เวลา 0:09 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4041

จำได้ว่าที่เฮฮา 3 ดงหลวง ท่านจอมป่วนนำเสนอเรื่อง Chaotic Organization อย่างน่าสนใจแต่ก็ไม่ได้มีการสานเรื่องนี้ต่อในที่ประชุม อาจจะมีการแลกเปลี่ยนส่วนตัวกันบ้าง (คาดการณ์เอง) แต่ก็เป็นเรื่องที่ผมสนใจส่วนตัว เพราะต้องทำงานกับองค์กรในหลายสถานะ โดยเฉพาะองค์กรชาวบ้านและที่เกี่ยวข้อง….

มีหลักการ มีทฤษฎีที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว แต่มักจะเป็นเรื่องราวจากตะวันตก ที่เป็นของตะวันออก หรือของสังคมไทยโดยตรงดูจะมีน้อยมาก มีความพยายามที่กล่าวถึงก็เป็นการกล่าวถึงบางแง่บางมุมเท่านั้น….

แต่ตรงข้ามเนื่องจากองค์กรธุรกิจต่างๆต่างขับเคี่ยวกันเป็น Top management หลักการพัฒนาองค์กรในระบบธุรกิจเข้ามาเรียนรู้และใช้กันมากมาย จนมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอกด้วยซ้ำไป หรือการจัด Learning Course ที่มีราคาแพงลิบลิ่วหากใครต้องการเข้าไปนั่งฟัง และแน่นอนต่างมุ่งหวังประสิทธิภาพในการบริหารคน องค์กร และ…..ท้ายที่สุดคือหวังผลกำไรของธุรกิจนั้นๆ

ผมอยากจะเรียกองค์กรแบบนี้ว่า องค์กรปิด” Close organization (CO) เพราะว่าเป็นองค์กรที่มีกฎระเบียบข้อบังคับ อ่อนลงมาก็เรียกข้อตกลง สัญญาใจ แรงที่สุดก็เรียกกฎหมาย แม้ว่าจะมีความพยายามให้พนักงานทุกแผนกมีส่วนร่วมในการสร้างองค์กรก็ตาม แต่ทั้งหมดก็เพื่อกำไรสูงสุดขององค์กรนั้น ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญองค์กรทางธุรกิจจึงไม่ทราบว่าก้าวไปถึงไหนแล้ว

องค์กรปิดอีกประเภทหนึ่งคือระบบราชการ ที่นับวันจะล้าหลังสุดจะสลัดหลุด(ภาพรวม) แม้จะปฏิรูปกันมานานนับทศวรรษแล้วก็ตาม มีการปรับเปลี่ยนบ้างแต่ก็ยังไม่ไปไหนเลย… จะเห็นได้ชัดเมื่อเราลงไปคลุกคลีกับชนบท คนยากจนที่สุด แม้ในสลัมในเมืองที่ระบบราชการเข้าไม่ถึงการแก้ปัญหาแบบรื้อสาเหตุ ล้มปัจจัยก่อเหตุ มีแต่ลูบหน้าปะจมูก เพราะข้อจำกัดมากมาย ทั้งที่มีคนดีดีอยู่ในระบบพะเรอะเกวียน

เพราะระบบปิดนั้นมี ชั้น มีอำนาจหน้าที่ มีการกำหนดความรับผิดชอบ มีการกำหนดผลตอบแทนที่เป็นกฎระเบียบตายตัว มีการสั่งการ และสร้างวัฒนธรรมของระบบขึ้นมา มีพรรคพวก มีขั้นที่จะก้าวขึ้นไป ระบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งจะไม่ขอกล่าว..

มีองค์กรอีกแบบหนึ่งที่เป็นแบบองค์กรแบบเปิด Open Organization (OO) หรือ Traditional Organization หรือ Cultural Organization เป็นองค์กรที่ไม่เป็นองค์กร แม้ว่าจะมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมของกลุ่มชน ความเชื่อ ความศรัทธา การเคารพนับถือ ที่ทุกคนในกลุ่มในชุมชนยอมรับกัน มีชั้นเหมือนไม่มีชั้น เพราะความเป็นชั้นเกือบไม่มีช่องว่างระหว่างชั้น หรือมีสภาพเหมือนกันโดยรวม มีบทบาทหน้าที่แต่ก็สามารถทดแทนกันได้อย่างลงตัว

ที่กล่าวมานั้นมิได้ต้องการจะเสนอให้พันธมิตรมาเดินขบวนขอยกเลิกองค์กร CO แล้วเชิดชู OO เพราะต่างก็มีจุดเด่น จุดด้อย ต่างก็เหมาะสมกับสภาพที่แตกต่างกัน แต่ผมกำลังมองว่า เราจะพัฒนาให้เกิดการผสมผสานกันได้อย่างไรที่เหมาะสมกับสังคมไทย และก็มิได้หมายความว่าจะต้องมีเพียงรูปแบบเดียวตายตัว

แต่เมื่อหักมุมมามองเฉพาะที่เฮฮาศาสตร์ ความคิดเห็นเบื้องต้นคงเป็นคร่าวๆเพราะต้องใช้เวลาพัฒนาตัวของเขาเองที่ผมเรียกว่า การปรับเปลี่ยนขององค์กร หรือการปรับตัวขององค์กรหรือ การขยับตัว เป็นเรื่องปกติที่จะต้องขยับตัวให้ทุก function ลงตัวมากที่สุด เหมือนคนขยับตัวในท่าที่สบายที่สุด เหมือนช้าง ม้า วัว ควาย ขยับตัวให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุดที่เขาชอบ องค์กรเปิดก็ต้องการการขยับตัวที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ผมชอบที่ คอนสรุปสาระไว้ จึงอยากทำเป็น diagram ดังนี้

ข้อคิดเบื้องต้นของบางทรายต่อเฮฮาศาสตร์ อยากจะมองอีกมุมหนึ่งดังนี้

มุมที่หนึ่ง เป็นองค์กร ที่เหมือนองค์กรทั่วไป ที่มีโครงสร้าง มีกฎระเบียบ มีสมาชิก มีกิจกรรม มีคณะกรรมการ ฯลฯ และสามารถจะพัฒนาไปสู่การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งมุมนี้อาจจะไม่เหมาะสมต่อ เฮฮาศาสตร์

มุมที่สอง เป็นองค์กรทางสังคมที่มีเนื้อในเชื่อมกันด้วยวัฒนธรรม(Social Cohesion) ที่ผสมผสานกันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเหมาะสม

ขอสรุปความเห็นเบื้องต้นไว้ดังนี้

ส่วนตัวผมเชื่อเรื่อง ความศรัทธา เป็นความศรัทธาที่มีเหตุมีผล มิใช่ศรัทธาแบบลุ่มหลง หรือคลั่งไคล้ เพราะความลุ่มหลงและคลั่งไคล้ นั้นอันตรายและไม่มั่นคง ความศรัทธานี้ต้องเป็นศรัทธาในคุณงามความดี คิดดี ทำดี

นี่เป็นความคิดเห็นต่อเนื่องจากที่ คอน ได้นำเสนอเรื่องนี้ไว้ ที่วัฒนธรรมเฮ http://lanpanya.com/wash/archives/489 และตั้งคำถามให้เราได้ลองแสดงความเห็นแก่กันครับ

« « Prev : AAR เฮหก…4 เชียงแสนกับบ่นปนสำนึก

Next : The nicest people money can buy…. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 ธันวาคม 2008 เวลา 0:26

    เส้นแบ่งระหว่างศรัทธา ลุ่มหลง คลั่งไคร้ งมงาย มันบางนิดเดียว เลยอาจจะทำให้แยกกันยากครับ

    องค์กรต่างๆก็มีภารกิจที่แตกต่างกันจึงมีความแตกต่างกัน แต่ที่สำคัญคือการรู้บทบาทตัวเอง (องค์กรรู้เช่นกันว่าเจ้าเป็นไผ๋) ยอมรับความแตกต่างกันทั้งบริบท ความคิด และวัฒนธรรม รัก เข้าใจกัน หมั่นพบปะพูดคุยกันและพร้อมที่จะทำงานร่วมกันแบบมีส่วนร่วม ก็คงจะพอเพียงที่จะทำให้สังคมนั้นๆอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 เวลา 19:14

    เบิร์ดชั่งใจอยู่นานค่ะพี่บางทรายตั้งแต่บันทึกของพ่อ พี่รอกอด พี่บางทราย พี่ตาและการเปิดประเด็นในลานเจ๊าะแจ๊ะของลุงเอกที่อยากให้ช่วยกันถกเฮฯ

    ที่ชั่งใจเพราะเบิร์ดยังไม่มีเวลาในการใคร่ครวญให้ชัดว่า”เห็นหรือพบอะไร” จนเดี๋ยวนี้ถึงพอจะขมวดออกมาได้ โดยไม่อิงกับคำถามของพี่รอกอดว่าเฮฯเป็นองค์กรหรือไม่นะคะเพราะไม่ชัดกับนิยามคำว่าองค์กรในความคิดของตัวเอง

    สิ่งที่พบเห็นคือ การรวมกันด้วยความศรัทธาในตัวผู้นำ ซึ่งเป็นศรัทธาในคุณความดีและประสบการณ์ความรู้ที่ท่านมี ไม่ใช่หลงตามๆกันมา ..คำว่าศรัทธาที่พี่บางทรายกล่าวถือเป็นหัวใจหลักของกลุ่มชนหรือสังคมนะคะ เพราะก่อให้เกิดความไว้วางใจในกันและกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้และเติบโตผ่านความสัมพันธ์ (Bonding)ไม่ใช่ความกลัว จึงเป็นอิสระในความสัมพันธ์บนพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

    เมื่อมีการรวมตัวกันจำเป็นอยู่นั่นเองที่จะมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะเรา “มีชีวิต”(Living Society)จึงมีการปะทะสังสรรค์ มีการแลกเปลี่ยนเติมใจกันและกันเพื่อปรับให้เกิดความสมดุลในทุกย่างก้าว ทำให้เกิดการพัฒนาระบบและการสนับสนุนให้สอดคล้องกับสมาชิก..รวมทั้งชีวิตที่เฮฮาศาสตร์มีเป็นชีวิตที่มีจุดมุ่งหมายคล้ายคลึงกันคือ “การให้” ทั้งให้ใจ ให้เวลา ให้ความรัก ให้ศรัทธา ให้ความเชื่อใจ ฯลฯ เพื่อให้สังคมเล็กๆนี้เป็น HOST (Human Oasis of Spiritual Transformation : โอเอซิส(ท่ามกลางความแล้งร้อน)แห่งการเติบโตทางจิตวิญญาณของมนุษย์) สำหรับทุกๆคน

    นอกจากการเป็น HOST แล้วยังมีจุดหมายในการสร้างชุดความรู้ขึ้นมาจากกิจกรรมหรือการดำเนินงานร่วมกันซึ่งเป็นได้ทั้งชุดความรู้ของแต่ละบุคคลและชุดความรู้รวม เช่นชุดความรู้ในการก่อเกิดเฮฮาศาสตร์ อิอิอิ

    การรวมตัวกันของคนที่มาจากหลายที่ หลายอาชีพ หลายความถนัดโดยมีความศรัทธา เวลา และการให้เป็นสะพานเชื่อม ก่อเกิดตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีและมีพลังนะคะ โดยมีเว็บไซต์ชื่อ”ลานปัญญา” เป็นสื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้..

    และเบิร์ดเชื่อว่าการรวมตัวกันโดยใช้ใจนำแบบเฮฮาศาสตร์นี้ได้สร้างระบบแรงจูงใจในการให้รูปแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งแตกต่างจากการให้รูปแบบเดิมๆที่มักนึกถึงการบริจาค จิตอาสาหรือการทำทาน ที่ว่าแตกต่างเช่นงานจิตอาสา(ตามสิ่งที่พบเห็น)ไม่ง่ายในการปฏิบัติสำหรับชีวิตประจำวันของคนทำงานมากนัก แต่ถ้าให้เวลา ให้ความรู้ในการเขียนหรือคุยกันผ่านบล็อกที่เป็นสื่อกลางในการนำเสนอดูจะเป็นไปได้มากกว่า หรือการรวมตัวกันเป็นระยะโดยจัดสรรเวลาให้ตรงกันเพื่อทำสิ่งดีร่วมกัน(ในอนาคต) ก็เป็นสิ่งที่ทำได้และเป็นการให้ในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงไปถึงชุมชนหรือผู้รับได้โดยตรง

    ดังนั้นในสายตาเบิร์ดจึงสรุปเฮฯได้ว่า
    - มีผู้นำ
    - มีการรวมตัวกันด้วยศรัทธา
    - มีการให้ ความไว้วางใจ การยอมรับและความรักเป็นสะพานเชื่อมใจ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติบโตจากภายในผ่านความสัมพันธ์(Bonding)ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ระดับลึก(Tacit Knowledge)ไม่ใช่ความรู้จากตำราหรือเอกสาร รวมทั้งเกิดพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้เติบโตตามรูปแบบของตนเองจึงเกิดเป็นระบบพัฒนาและสนับสนุนรูปแบบใหม่ที่จับต้องได้ โดยมีอารมณ์ขันเป็นกาวเหนียว อิอิอิ
    - มีการถอดชุดความรู้กันเป็นระยะๆ
    - มีเว็บไซต์เป็นสื่อกลาง
    - เกิดระบบแรงจูงใจในการให้แบบใหม่ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมและมีพลัง

    ผู้เยาว์ถอดเฮฯได้แค่นี้แหละค่ะท่านพี่ แหะ แหะ..

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 เวลา 19:57

    ยอดเยี่ยม น้องเบิร์ด

    เมื่อพูดถึงเรื่ององค์กรและวัฒนธรรมองค์กรแบบเฮฮาศาสตร์ นั้น ในทัศนะของพี่ดันไปนึกถึง ตัว อมีบา Amoeba

    Amoeba - อมีบาเป็นสัตว์เซลเดียวที่ไม่มีรูปทรงคงที่ : เฮฮาศาสตร์ไม่มีรูปทรงคงที่ แต่จะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ตามความเหมาะสม ตามความต้องการของสมาชิก และที่เรียกว่า ยืดหยุ่นสูง
    - อมีบาเป็นสัตว์เซลเดียวที่มีชีวิตที่มหัศจรรย์ : เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรไร้รูปแบบที่มีชีวิต เพราะขับเคลื่อนไปตลอดเวลา เมื่อถึงเวลารวมตัวก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ เรียนรู้กันและกัน เมื่อถึงเวลาก็แยกย้ายไปขับเคลื่อนงาน ภาระหน้าที่ของตัวเอง แต่เชื่อมกันด้วย lanpanya และอื่นๆ
    - อมีบาจะพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆตลอดการมีชีวิตอยู่ : เฮฮาศาสตร์มีพัฒนาการ เรื่อยๆ ย้อนไปพิจารณาตั้งแต่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก แม้หกครึ่ง โดยเฉพาะ การกระชับความสัมพันธ์แก่กันด้วยพลังศรัทธาและการกอด ที่เป็นเรื่องสามัญแห่งสำนึก ความใกล้ชิดสนิทสนมคือการปล่อยพลังงานที่มาหลอมสมาชิกเข้าด้วยกัน เป็น adhesion power

    องค์กรแบบนี้มีสองทัศนะ

    1. ท่านที่คุ้นเคยกับองค์กรแบบปิด จะชอบใจองค์กรแบบเฮฮาศาสตร์ที่ เปิดเผย ง่ายๆ ไม่มีข้อบังคับ ฯลฯ… แต่นานเข้าไปเขาท่านนั้นอาจจะอึดอัด เพราะไม่เดินไปตามกฏเกณฑ์ของระบบองค์กรที่เขาคุ้นเคย โโยเฉพาะท่านที่คาดหวังว่าจะเข้ามาแล้วได้อย่างนั้นอย่างนี้ ท่านแบบนี้อาจจะอึดอัดครับ

    2. คนแบบพี่ จะยิ้ม และสบายๆ ปล่อยให้อมีบาตัวนี้คืบคลานไปกระดืบๆทีละน้อยๆ แต่ปรับรูปทรงไปตลอดเวลาเพื่อการลงตัว สบายๆสำหรับส่วนใหญ่ คนแบบนี้จะชอบใจที่ปลดปล่อยพันทนาการของรูปแบบองค์กรปิดออกมาอยู่ในองค์กรแบบนี้ ที่เปิด ใช้เวลาพัฒนาตัวเอง พัฒนาสมาชิกจนกว่าจะลงตัวระดับหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งข้างหน้า

    นึกถึงมวยจีนท่าไอ้หมัดเมา..ที่ไร้กระบวนท่า แต่มีพลังซ่อนอยู่ข้างใน

    พี่เชื่อว่า พลังศรัทธานั้นยิ่งใหญ่ หากศรัทธาซึ่งกันและกันและมีพลังพัฒนาสูงมากขึ้น นี่คือความลงตัวในรูปแบบใหม่ ที่องค์กรแบบปิดไม่มี…

    พี่เห็นด้วยกับน้องเบิร์ดทั้งหมดแหละครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.2194139957428 sec
Sidebar: 0.056835174560547 sec