ข้าน้อยขอสนองรับสั่ง…

โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2008 เวลา 16:22 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2009

บันทึกของท่านครูบาชื่อ จดหมายถึงลูกที่ http://lanpanya.com/sutthinun/?p=542 ผมอ่านแล้วก็ มีความรู้สึกเหมือนเพื่อนๆทุกคน ที่ทั้งตื้นตันใจแทนท่านครูบาและชาวเฮฮาศาสตร์ทุกท่าน ยากที่จะมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นโดยง่าย …ทำไมหรือ..

ตอบตัวเองอย่าง่ายๆตรงไปตรงมาก็คือ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านทรงโน้มกายลงมาสัมผัสชาวเราที่รวมตัวกันแบบหลวม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน แลกเปลี่ยนปัญญากัน ทำกิจกรรมต่างๆเท่าที่จะก่อเกิดได้ตามเงื่อนไข โอกาส แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ที่ค่อยๆก่อตัวจาก Cyber พัฒนาจนมาเป็นตัวเป็นตนและจะพัฒนาต่อๆไป… ทรงเห็นความสำคัญ และเสมือนท่านให้กำลังใจทำให้ก้าวหน้าต่อไป..

สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดเท่าที่ท่านครูบาพยายามถ่ายทอดให้เราทราบก็คือ….ท่านรับสั่งถามพ่อว่า อีสานนี่จะพัฒนายังไงดี ” …….

คำรับสั่งถามคำนี้แสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านต่อแผ่นดินนี้ ในฐานะที่พระองค์ท่านเสด็จมาอีสานก็ตั้งคำถามถึงอีสาน..

ผมมานั่งนึกในใจว่าหากพระองค์ท่านมาถามผม แบบทันทีทันใด ผมก็คงตื่นเต้นที่จะตอบคำถามที่ใหญ่โตเช่นนี้ แต่เรื่องนี้คล้ายๆกันกับที่ผมตั้งคำถามตัวเองเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ย้ายฐานการทำงานจากภาคเหนือมาอีสานว่า หากมาอีสานจะมาพัฒนาอะไร….

1. มันแล้วแต่มุมมองของผู้คนที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน นักการศึกษาก็เริ่มที่ต้องแก้การศึกษา แพทย์ก็กล่าวว่าเรื่องสุขภาพชุมชน นักเกษตรก็ว่าต้องพัฒนาการเกษตร นักป่าไม้ก็ว่าต้องฟื้นฟูป่า ตำรวจก็ว่าต้องจัดการเรื่องคนผิด ฯลฯ

2. แต่ทั้งหมดนั้นมันพัวพันอีรุงตุงนังแกะกันไม่ออก เกี่ยวเนื่องมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งนานวันความเกี่ยวเนื่องกันก็มีมากขึ้นตามลำดับ นักบริหารก็อาจจะกล่าวว่า เอาปัญหาทั้งหมดมาจัดลำดับความสำคัญซี….

3. คนที่ผ่านการ train มาบางด้านก็บอกว่าต้องเริ่มที่ area base อีสานเหนือกับอีสานใต้ก็ไม่เหมือนกัน อีสานลุ่มน้ำกับอีสานเชิงเขาก็ไม่เหมือนกัน หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบนิเวศวัฒนธรรมเกษตรแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน

4. ราชการก็เอาระบบฐานข้อมูลกลางมาเป็นตัวตั้ง คือ กชช 2 ค. หรือ จปฐ. หรือ ฯลฯ ก็มีคำถามว่า เชื่อมั่นฐานข้อมูลนั้นแค่ไหน

5. บ้างก็ว่าเริ่มอะไรก็ถูกทั้งนั้น แต่เราก็เริ่มการพัฒนามามากกว่า 50 ปีแล้ว จนเพื่อนบ้านใกล้เคียงวิ่งรุดหน้าไปไกลแล้ว ต่างก็บอกว่าเป็นเพราะเราไม่บูรณาการกัน

6. ครั้งหนึ่งเราบอกเกษตรกรว่าต้องเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการใช้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ต้องเปลี่ยนวิธีการทำนาเป็นการดำ ต้องใส่ปุ๋ย เมื่อเกิดโรคข้าวก็ใช้สารเคมี เฟื่องฟูมาจนเราส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง แต่มาวันนี้บอกให้ลดละเลิกสารเคมี เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพองค์รวม

7. เราเปิดประเทศและเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรและอื่นๆ จนภาคการเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แรงงานภาคเกษตรไหลเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม จนภาคเกษตรต้องไปจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำแล้ว

8. แล้ววันหนึ่งพระองค์ท่านผู้เป็นที่สุดของแผ่นดินทรงตรัสว่าเราต้องพอเพียง สภาพัฒน์ฯก็บรรจุหลักการนี้เข้าไปในแผนฯชาติ แต่ประเทศกำลังผ่านวิกฤติพลังงาน ราชการส่วนหนึ่งเอกชนอีกจำนวนมากก็เห่อปลูกพืชพลังงานกัน บางหน่วยงานกลับไม่ได้เน้นเรื่องพอเพียงตรงข้ามกลับเน้นพืชพลังงานกันใหญ่โต มิใส่ใจหลักการพอเพียงอย่างจริงจัง…

9. พรรคการเมืองก็หวังดีเอาเงินไปทุ่มที่หมู่บ้านท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่ไหลบ่าไปสู่ชนบทอย่างมิมีสิ่งใดฉุดรั้งหรือชะลอได้ มิใยจะมีมาตรการที่เหมาะสมในการใช้เงินก้อนนั้น ไม่ถึงสิบปีที่ Mobile phone เข้ามาเมืองไทย เครื่องมือชนิดนี้ก็ติดกายเด็กเลี้ยงควายกลางทุ่งนาเสียแล้ว

10. ฝ่ายปกครองก็บอกว่าชุมชนต้องเข้มแข็ง ตั้งโครงสร้างต่างๆขึ้นมาใหม่โดยไม่สนใจใยดีระบบชุมชนดั้งเดิมที่ function มาตลอดนับร้อยๆปี

11. ยิ่งทบทวนไปก็ยิ่งพบเห็นภาพเหล่านี้ ยิ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ยิ่งเห็นความผกผัน กระแสหนึ่งไหลไปแทนที่ของเดิม สิ่งใหม่และเก่ามีทั้งดีและด้อยปะปนกันไป แต่เราละทิ้งของเดิมแล้วถวิลหาแต่สิ่งใหม่ๆ

12. ผมมาอีสานก็บอกกับตัวเองว่าต้องรู้เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องชนเผ่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯ

13. พูดเรื่องกว้าง หากเราเป็นคนในหมู่บ้านก็ต้องเริ่มที่หมู่บ้าน วิเคราะห์ภาพของหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้าน หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน หมู่บ้านกับข้างนอก

14. หากเราเอา area base ผนวกกับ ความคิดเห็นของชาวบ้าน ผนวกกับภาพรวมที่กระทำต่อหมู่บ้าน ต่อยอดของเดิมที่มีดีดีอยู่แล้ว ฟื้นฟูของเดิมขึ้นมา ผนวกกับสิ่งใหม่ๆที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เดินไปด้วยกัน เกาะกลุ่มด้วยกัน โดยเฉพาะการผสมผสานสิ่งใหม่กับเก่าอย่างลงตัว ค่อยเป็นค่อยไป อาศัยเวลาและการปรับตัวขยับเส้นทางเดินไปตามช่วงจังหวะเวลา…ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องยึดหลักพอเพียงของพระองค์ท่าน

15. สิ่งที่กล่าวมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ตอกย้ำเส้นทางเดินของการพัฒนาอีสาน

สรุปทัศนะของผมคือ

· เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง

· เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง

· เอาวิชาการที่เหมาะสมเข้าไปผสามผสานอย่างลงตัว

· เอาภาพรวมประเทศเข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว

· พัฒนาคน พัฒนาจิตสำนึกเป็นเรื่องใหญ่

· ต่อยอดของเดิมที่ดี เติมสิ่งใหม่ที่เหมาะสม

· เน้นความพอเพียงเป็นฐานก่อน

· อิงโครงสร้างเก่าผสมผสานหลักการใหม่อย่างเหมาะสม

· ผสมผสาน บูรณาการจากจุดเล็กๆ แล้วขยายสู่ใหญ่

· พัฒนาทุนเดิมหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ดัดแปลงให้อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่

· ผนวก เด็ก เยาวชน สตรี พระ ผู้เฒ่า ฯลฯ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ

· ขับเคลื่อนภาพรวมอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตามสภาวะ เงื่อนไข

พูดง่ายทำยาก แต่เมื่อเริ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้ว ก็สร้างสายใยเกี่ยวเนื่องสิ่งอื่นๆตามไปอย่างบูรณาการ ใช้เวลาไม่เร่งรีบจนมีเพียงปริมาณโดยไม่มีคุณภาพ เนื้อในของชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก คนจากภายนอกเป็นเพียงผู้สนับสนุน

ข้าน้อยขอปลดปล่อยประสบการณ์บางส่วนออกมาบ้างเท่านั้น เพราะต้องการสนองรับสั่งของพระองค์ท่านด้วยวิสัยคนทำงานคนหนึ่ง..ที่เป็นข้ารองพระบาท…

« « Prev : คนมีเบอร์

Next : ปีวัวบ้า…2552… » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

13 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 16:36

    ทัศนะของพี่แนวนี้ เป็นหมู่บ้านเฮเลยนะครับเนี่ย

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 17:12

    อือ….พี่ก็ว่างั้นแหละ

  • #3 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 21:22

    แปลกแต่จริงคือ เราคิดว่าคนภูมิภาคแดนดินถิ่นอิสานมีปัญหา อยากไปช่วยเขาแก้ไขปัญหา แต่บางครั้งมองข้ามสิ่งที่ดีๆ ที่เคยมีอย่างมากมาย เช่นอารยะธรรมความเจริญรุ่งเรืองในอดีตกาล มีเทคโนโลยีที่สูงส่ง สามารถสร้างประสาทวิหารได้อย่างงดงามและยิ่งใหญ่ การใช้พื้นที่การเกษตรก็บริหารจัดการได้อย่างชาญฉลาด บริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังปรากฏร่องลอยอารยะธรรมความเจริญ ในรูปของเมืองโบราณ มี่การขุดคูคลองล้อมรอบตัวเมือง เพื่อเก็บเกี่ยวน้ำไว้ใช้( water harvest ) ทั้งในการอุปโภคในชุมชนในเมือง เพื่อการเกษตร เพื่อป้องกันภัยจากน้ำท่วม พอหน้าแล้งก็มีน้ำใช้เป็นแหล่งอาหาร จากแหล่งเก็บกักน้ำตามคูคลองอย่างเพียงพอ คำถามต่อมาแล้วทำไมเมืองโบราณเหล่านี้จึงสูญหายไป คงต้องมีการที่ละทิ้งถิ่นบ้านเมืองเนื่องจากสงครามบ้าง โรคระบาดบ้าง ภัยธรรมชาติบ้าง เมือโบราณจึงถูกธรรมชาติเก็บไว้ใต้ดินเป็นจำนวนมาก แต่จะไม่พูดถึงวิธีที่ธรรมชาติเก็บรักษาเมืองเหล่านี้ได้อย่างไร แต่มีทีมนักโบราณคดี นักมานุษวิยา นักธรณีวิทยา นักภูมิศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ ฯลฯ จากนานาประเทศเข้ามาขุดค้นหาชุมชนเมืองโบราณ ในแผ่นดินถิ่นอิสานมาแล้ว Lin Hui เคยได้รับการติดต่อจากกลุ่มคนเหล่านี้.ให้ร่วมทีมทำงาน เขารู้จักเราผ่านการติตามงานทางวิชาการของเรา โดยเฉพาะการใช้เทคโลยีสมัยใหม่ในการศึกษาเมืองโบราณ ขณะนั้น คือโครงการ GLOBESAR ของแคนนาดา การใช้เรด้าที่ติดตั้งบนเครื่องบิน บันทึกข้อมูลพื้นผิวโลกในภูมิภาคต่างๆ บนโลก เป็นโครงการทดลอง ก่อนที่ประเทศแคนนาดาส่งดาวเทียมสำรวจโลกด้วยคลื่นเรด้า ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ เพื่อทดลองนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆ Lin Hui เจอเมืองโบราณในพื้นที่ทดลองบันทึกข้อมูล จึงเสนอเป็นโครงการวิจัยใช้ข้อมูล GLOBESAR ในการศึกษาเมืองโบราณ หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จ ทำการตรวจสอบความถูกต้องของการวิเคราะห์ โดยการเข้าไปค้นหาในพื้นที่จริง ก็พบว่าเป็นเมืองโบราณ ชื่อเมืองหามหอก ที่ อ.บ้านเข้วา จ.ชัยภูมิ ที่มีรูปแบบ ลักษณะเมืองกลม โดยมี คูคลอง สองชั้นล้อมตัวเมืองอีกที ประตูเมืองก่อด้วยอิฐ หลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย เจอล่องรอยการขุดคุ้ยเอาของโบราณ ไปเกือบหมดแล้ว เป็นเมืองที่สร้างใน สมัยทวาราวดี มีเสมาหินทราย แท่นบูชาหินทรายขนาดใหญ่ และของใช้เครื่องปั้นดินเผาที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งหมดมีรายละเอียดในรายงานวิจัย ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ ในวารสาร GIS ของออสเตรเลีย ก็เริ่มศึกษาเรื่องทางด้านโบราณคดี จึงได้ข้อมูลมากมาย และได้รับการติดต่อจากทีมงานต่างประเทศ และขอข้อมูลแรกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สิ่งที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยขาดระเบียบวินัยด้านการจดบันทึก มีแค่เล่าขานต่อๆกันมา ข้อมูลจึงค่อยๆหายไปในที่สุด ต่างชาติเข้ามาศึกษาเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง ได้ข้อมูลมหาศาลทุกด้าน จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมชาติที่มีระบบจัดเก็บข้ออมูล จึงเป็นคลังข้อมูลของโลก และเป็นเจ้าของข้อมูลและมีอำนจเหนือชาติอื่น
    สรุปง่ายๆ คงหนีไม่พ้นการจัดการองค์ความรู้ การสำรวจตรวจตราจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นตัวเอง ในแต่ละด้านที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ การขาดการเรียนรู้จักตัวเอง ข้อดี ข้อด้อย ข้อได้เปรียบ จะคิดการใดก็ยากลำบาก ต้องให้นักวิชาการต่างถิ่นมาจัดการ ทำไมไม่ให้เขาจัดการโดยอยู่บนฐานความต้องการที่แท้จริง ที่เขาต้องการอย่างพอเพียง อย่าไปยัดเยียดของแปลกปลอมให้เขา เป็นการทำลายท้องถิ่น
    เห็นทีจะบ่นแค่นี้ก่อนนะ วันหน้าจะบ่นให้ฟังอีกถ้าไม่เบื่อเสียก่อน คนแก่ก็เป็นอย่างนี้แหละ โดยเฉพาะสว.อย่างพี่

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 22:16

    ดีครับ อยากให้อาจารย์บ่นบ่อยๆ อิอิ

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 22:48

    โห…โห…โห..พี่ใหญ่ของผม…ปลดปล่อยความรู้ ข้อมูลมหาศาลให้ผมได้ทราบ ให้เพื่อนฝูงที่แวะเวียนเข้ามาได้เรียนรู้ เรื่องที่ห่างไกลต่อหลายต่อหลายคนว่าใครเขาทำอะไรที่ไหนบ้างเกี่ยวกับบ้านเรา

    โดยเฉพาะเรื่องราวดีดีที่เป็นของบ้านเรา แต่ฝรั่งมังค่า ผู้มีวัสัยทัศน์ยาวไกลทะลุโลก ก้าวมาชี้ให้เราเห็นมรดกของชาติเรา วิเศษเหลือหลายครับท่านพี่

    คุณเปลี่ยน เขาก็เป็นผู้หนึ่งที่สนใจเรื่องราวของเมืองโบราณในพื้นที่ต่างๆ เพราะเขาเป็นนักดิน Soil science ยิ่งมาทำงานชนบทก็มีบริบทด้านสังคมเพราะเขามีใจอยู่แล้ว….

    ทุกครั้งที่เฮฮาศาสตร์จัดไปโน่น มานี่ โดยเฉพาะอะไรที่เป็นเรื่องราวของอดีตนั้น ผมหละหลงไหลที่จะมาศึกษาให้ทะลุปรุโปร่ง และเห็นค่ามหาศาล เห็นแนวทางที่โรงเรียนพาเด็กๆมาสัมผัส อดีตด้วยการเรียนรู้จากผู้รู้จริงๆด้วยคุณค่าของบรรพบุรุษ มากกว่าที่จะเรียนในห้อง หากจะเรียนกรุงศรีอยุธยาก็ยกห้องเรียนไปอยุธยา ไปสัมผัสอิฐ หิน ดิน ทรายของจริง ผ่านผู้เล่าที่มีทักษะในการกระตุ้นสำนึกแห่งอดีตที่ทำให้มีเราวันนี้

    อย่างที่ผมเคยเล่าในบันทึก g2k ว่าครั้งหนึ่งที่ผมมีโอกาสไปเดนมาร์ค เห็นเขาเรียนประวัติศาสาตร์ โดยการที่ครูและศิษย์ร่วมกันแสดงประวัติศาสตร์ แต่งตัวเป็นทหาร เป็นกษัตริย์ เป็นสารพัดจะเป็นแล้วเล่นเรื่องราวบางช่วงบางตอนกันเอง ดูกันเอง ครูก็เขียนพล๊อทเรื่องดีดีที่เน้นสำนึก สร้างบ้านแปงเมืองของบรรพบุรุษ การร่วมมือกัน สามัคคีกัน สร้างสรรค์สังคมร่วมกันรักใคร่กัน แล้วเด็กมันก็ได้อารมณ์ ได้ความรู้สึก ได้สำนึกแห่งชาติ…..ดีกว่าการประชาสัมพันธ์ปาวๆกันแค่ลมปาก… ดีกว่าที่เด็กจะจมอยู่ในห้องท่องบนเพียงเพื่อสอบเอาคะแนน การออกไปเต้นแร้งเต้นกาแบบนี้มันได้มากกว่าเสีย…..เด็กไม่มีหลับ และสนุก ถูกจริตเด็ก….

    ยิ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นยิ่งสำคัญ ดึงประวัติศาสตร์ออกมาให้เด็กรุ่นใหม่สัมผัส อย่าปล่อยให้เขาสัมผัสเฉพาะวัฒนาธรรมโลกาภิวัฒน์ที่เราไม่มีทางปกป้องเลย เพราะระบบนิเทศศาสตร์เรียนมาเพื่อตอบสนองระบบธุรกิจเท่านั้น ไปคิด “แก๊ก” ให้เขามอมเมาเยาวชนซื้อของเขา…. ทำไมระบบนิเทศศาสตร์จะหันมาใช้ “แก๊ก” เพื่อสร้างชาติสร้างสังคมบ้างเล่า

    เป็นความกรุณาของพี่ใหญ่มากครับที่เอาความรู้มาเผื่อแผ่พวกเรา

    เอาอีก เอาอีกครับพี่ครับ

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 22:49

    เห็นด้วยกับครูบาครับ พี่หลินบ่นบ่อยๆหน่อยครับ

  • #7 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 23:05

    อยากให้อาจารย์หลินบ่นบ่อยๆ น่าสนใจมาก อิอิ

  • #8 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 23:16

    เห็นไหมพี่หลิน แฟนๆเรียกร้องครับพี่

  • #9 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 23:29

    ที่เขียนเรื่องหมาไม่เห็นพวกเราสนใจเลย ความจริงแล้วจะมีอะไรที่แฝงอยู่ในบันทึก โดยเฉพาะโรคที่ปลาทองกำลังป่วยอยู่ แล้วจะมีอะไรดีเป็นผลตามมาเป็นกรณีศึกษา น้องๆงานวิจัยชิ้นหนึ่ง อยากรู้อะไรต้องรู้ให้ได้ เมื่อรู้แล้ว ก็ต้องพยายามปฏิบัติจริง ต้องทำให้ได้เสียก่อนจึงชี้แนะได้ สิ่งที่ยังไม่เคยทำไม่สามารถ ชี้แนะได้ค่ะ รู้แล้วชี้ไงค่ะ คือสโลแกนของพี่

  • #10 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 ธันวาคม 2008 เวลา 9:26

    แม่ยกขา แม่ยก เรื่องหมาน่ะคนก็สนใจ หากแต่ว่ามันเป็นความรู้เฉพาะที่รอหยิบไปใช้ก็ต่อเมื่อถึงเวลาของมันค่ะ มีเรื่องหมาๆที่อยากรู้อีก คือ วิธีอยู่อย่างไรที่ทำให้รวมหมู่รวมกลุ่มได้ อยู่กับแมวได้อย่างมีความสุข มีการจัดการอะไรที่สร้างเงื่อนไขขึ้นมาให้มันเรียนรู้ วิธีเหล่านี้ในมุมมองของน้อง น้องเชื่อว่าสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับสังคมคนได้ ด้วยว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมันมีธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานเดียวกัน สัญชาตญาณพื้นฐานป็นฐานเดียวกันอยู่แล้ว จึงเอามาใช้ได้ พื้นฐานสำคัญค่ะ

    เรื่องข้างบนที่พี่เล่ามันน่าสนใจในภาพกว้างของการถอดความรู้ว่ามีอะไรควรตื่นตัว ในเชิงป้องกัน…. อิอิ….นี่เป็นเรื่องวิธีคิดของคนที่คุ้นชินกับการวางแผนด้วยว่าคลุกอยู่กับงานแบบกว้างๆไม่เฉพาะอย่างน้องค่ะพี่….หากเป็นเรื่องอยากรู้ลึก….จะได้หาจุดเล็กๆบางจุดที่มองเห็นว่าสำคัญ….ลงมือทำวิจัยเพื่อเรียนรู้มัน…เป็นจุดที่เลือกมาด้วยว่าผลวิจัยยังส่งผลต่อภาพกว้างให้เคลื่อนตัวหมุนต่อได้อยู่…ไม่แยกส่วนกัน…ค่ะ

    มาลุ้นด้วยคน ว่าเล่าอีก เล่าอีก ใช่แต่แม่ยก อยากอ่านเรื่องเล่าของพี่บูธด้วยค่ะ…เอาอีก…เอาอีก…นะพี่นะ

    อ่านข้างบนนี้ ที่ตรงนี้ค่ะพี่บูธ

    “หากเราเอา area base ผนวกกับ ความคิดเห็นของชาวบ้าน ผนวกกับภาพรวมที่กระทำต่อหมู่บ้าน ต่อยอดของเดิมที่มีดีดีอยู่แล้ว ฟื้นฟูของเดิมขึ้นมา ผนวกกับสิ่งใหม่ๆที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เดินไปด้วยกัน เกาะกลุ่มด้วยกัน โดยเฉพาะการผสมผสานสิ่งใหม่กับเก่าอย่างลงตัว ค่อยเป็นค่อยไป อาศัยเวลาและการปรับตัวขยับเส้นทางเดินไปตามช่วงจังหวะเวลา…ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องยึดหลักพอเพียงของพระองค์ท่าน…”

    มันอะไรแวบเข้ามา เอ๊ะ! พี่คนนี้ ทำงานใช้หลักฐานคิด ฐานใจคล้ายๆเราแฮะ เลยคิดไกลไปว่า นี่กระมังที่เป็นพลังดึงดูดให้มาพบกันได้ เป็นเรื่องที่เสริมว่า ฐานคิดแม้ยิ่งใหญ่ หากไม่มีฐานใจ พลังมันไม่แรงพอ ให้ค้นพบพวกเดียวกันค่ะ

  • #11 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 ธันวาคม 2008 เวลา 9:36

    อยากบอกพี่หลินเพิ่ม เรื่องราวที่พี่เขียนไว้ สำหรับน้องนำเอาไปใช้เมื่อถึงตอน “เดินไปด้วยกัน เกาะกลุ่มด้วยกัน” แบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างพี่บูธเอ่ยไว้ ด้วยหากว่าคนจะเดินไปด้วยกันได้นั้น มันต้องสร้างสัมพันธภาพ หากว่าคนที่เดินด้วยสนใจเรื่องหมา ก็เอาเรื่องหมาไปคุยต่อ หากว่าคนที่เดินด้วยสนใจเรื่องต่างชาติ ก็เอาเรื่องต่างชาติไปคุยต่อ เรื่องราวที่น่ารู้จึงมากมายไปหมด รู้เพื่อไว้ใช้เลือกเป็นอาวุธสร้างสัมพันธภาพต่อกัน แล้วเมื่อสัมพันธภาพมันงอกยาวต่อ มันก็เป็นเรื่องของการเกาะกลุ่มด้วยกัน เมื่อสัมพันธภาพจูนกันจนเกิดความเข้าใจกันอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป ผลที่เกิดตอนนั้นมันได้ขยับทำให้สังคมเปลี่ยนไปแล้วด้วยค่ะพี่ สังคมดีๆที่คนพูดจากันได้ ขัดแย้งกันได้ เผชิญหน้าเพื่อพูดจาฉันเพื่อน มิใช่หาเรื่องราวีกันไม่เลิก สามารถใช้ความรู้พวกนี้ไปสร้างขึ้นมาได้ค่ะพี่

    ลุ้นๆๆๆๆๆสุดๆ ค่ะพี่หลินขา

  • #12 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 ธันวาคม 2008 เวลา 21:55

    พี่หลินครับ

    ผมอ่านของพี่อยู่ครับ แต่ไม่ได้แสดงตน
    ผมจะตระเวนอ่านของทุกคน เพราะก็มีไม่กี่คนหรอกในลานนี่น่ะครับ
    ไม่ได้แสดงตนทั้งหมด ซึ่งผมเองก็เชื่อว่าเพื่อนคนอื่นๆก็เช่นกัน

    การเข้าไปแสดงความเห็นนั้นมีหลายปัจจัย แล้วแต่ละคน..ครับ

    แต่ที่เสนอแกมร้องขอให้พี่หลินบันทึกเรื่องเหล่านี้เพราะ พี่เป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์เรื่องเหล่านี้จริงๆ การที่ผู้รู้เขียนเรื่องที่ท่านรู้นั้น มันลึกซึ้งมากกว่า ผมนั้นก็แค่ งูๆ ปลาๆ ครับพี่

    ขอบพระคุณครับพี่หลิน

  • #13 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 ธันวาคม 2008 เวลา 22:08

    น้องหมอตาครับ

    พี่เป็นเพียงคนทำงานคนหนึ่งเท่านั้น อยากเรียนรู้ อยากทำงาน ก็ไม่ได้เฉียบแหลมเปี๊ยบหรอกครับ ช่วงชีวิตที่ยังมีกำลังทำงานได้ก็ทำ อีกไม่นานก็คงปลดระวางตัวเอง ไปนั่งปลูกป่าปลูกไม้ไปตามประสา ลาน หรือ blog คือลมหายใจช่วงหนึ่งของชีวิต เห็นอะไร คิดอะไรก็เอามาวางไว้ที่นี่ ใครแวะเวีียนเข้ามาก็ยินดีตามวิสัยปุถุชน

    เอ แต่ว่า น้องหมอตาบอกว่า ทัศนคติคล้ายๆกัน และน่าที่จะมีส่วนที่เป็นสายใยสัมพันธ์แก่กัน พี่ก็ว่างั้น หินในน้ำย่อมกลิ้งไปจนได้เหลี่ยมได้มุมพอดีของเขาน่ะครับ เมื่อยังไม่ได้เหลี่ยมมุมเขาก็หมุนต่อไปด้วยแรงผลัก

    สุดแสนดีใจที่พี่สาวใหญ่เอาความรู้ท่านมาเผื่อแผ่น้องนุ่ง เราก็เลยออกหน้าออกตาขอพี่มากไปหน่อย อิอิ..

    ขอบคุณครับน้องหมอตา


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.33368396759033 sec
Sidebar: 0.095108985900879 sec