อุปสรรคของการพึ่งตนเองของชาวบ้าน..

โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 26, 2010 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3087

งานพัฒนาชนบทคือการพัฒนาคน ล้วนเป็นงานที่ยากยิ่งหากหวังคุณภาพ

การพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง เป็นประเด็นใหญ่ที่นับตั้งแต่มีพระราชดำริ หน่วยงานต่างๆก็ขานรับเอาไปปฏิบัติ หน่วยงานที่ทำงานอยู่ก็น้อมรับเอาแนวทางนี้มาปฏิบัติ และมีการติดตาม มีการประเมินผลโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เน้นให้เขาคิดเองกำหนดตัวชี้วัดเอง แม้ว่าเราจะมีกรอบความคิดที่ครอบคลุมมากกว่า แต่ก็ยอมรับการพัฒนาระบบคิดของเขาก่อน แล้วใช้ผลการประเมินสะท้อนกลับไปพัฒนาตัวชี้วัดในช่วงเวลาต่อไป ….การพัฒนาต้องใช้เวลา

เครือข่ายไทบรู ดงหลวง มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนคร เมื่อเราขอให้คณะกรรมการและสมาชิกประชุมเพื่อกำหนดตัวชี้วัดการพึ่งตนเองขึ้นมาก็ได้แบบฉบับของเขา


ที่ประชุมกำหนดตัวชี้วัดเป็น 4 ด้านหลัก และแบ่งเป็นรายละเอียดย่อยๆอีกเยอะแยะ ซึ่งที่ประชุมมีมาตรฐานการพึ่งตัวเองไว้เป็น “ธง” คณะกรรมการเครือข่ายก็สนับสนุนให้สมาชิกพยายามปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐาน เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ไปประเมินผลโดยใช้มาตรฐานของเขาเป็นตัวตั้ง โดยให้เขาเป็นผู้ถกเถียงกันให้ถึงที่สุดแล้วสรุปเอามาเป็นมติของที่ประชุม ซึ่งเรียกว่า Group Assessment


ผลการประเมินที่ออกมาเราพบว่า คณะกรรมการและสมาชิกมีการพึ่งตัวเองสูงกว่ามาตรฐานหรือบางประเด็นก็เท่ากับค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แม้ว่าจะมีสมาชิกบางส่วนที่มีบางตัวชี้วัดต่ำกว่ามาตรฐานที่เขากำหนด แต่ก็มีเหตุผลที่เรามักไม่ค่อยสืบสาวราวเรื่องมาตีแผ่กัน


ต่อไปนี้เป็นประเด็นหลักสองสามเรื่องที่น่าสนใจ

  • เมื่อเราใช้เทคนิคการประเมินตนเอง (Self Assessment) เมื่อเขาประเมินเสร็จ เอาผลไปให้เพื่อนๆพิจารณาพบว่า เกือบทั้งหมดประเมินตนเองต่ำ เพื่อนๆบอกว่าผลการปฏิบัติของเขาสูงกว่าที่เขาประเมินตนเอง…นี่คือชนเผ่าบรู… หากคนภายนอกควรที่จะเข้าใจความจริงข้อนี้ด้วยเพื่ออธิบายผลการทำการประเมินตนเอง
  • เรามีข้อสงสัยว่ามีสมาชิกหลายคน แม้กรรมการเครือข่ายหลายคน มีผลการปฏิบัติที่เราคิดว่าน่าจะสูงกว่าที่ผลการประเมินออกมา แม้ว่าจะอยู่สูงกว่าเกณฑ์ก็ตาม เราก็เลยถือโอกาสทำ Family profile คือเจาะลึกข้อมูลของครอบครัว แล้วเราก็พบคำตอบ
    • พบว่า ร้อยละ 80 ของสมาชิกเครือข่ายที่ทำการเกษตรผสมผสานและสร้างเงื่อนไขการพึ่งตนเองบนที่ดินที่ยังไม่ได้รับโอนมาจาก พ่อและแม่ ..อาจารย์ ผมยังไม่รู้ว่าพ่อแม่จะเอาที่ดินผืนนี้ที่ผมลงมือทำเกษตรผสมผสานนี้ให้ลูกคนไหน เรามีพี่น้องหลายคน เคยมีตัวอย่างแล้วที่ ลงมือทำเต็มที่ แต่ในที่สุดแม่เอาที่ดินตรงนั้นไปให้น้อง.. ประเด็นนี้สำคัญมากในมุมของชาวบ้าน เพราะไม่กล้าทำการเพาะปลูกเต็มที่ ทั้งที่คิดอยากจะปลูกนั่น นี่ …นี่คือเหตุที่ทำให้การประเมินผลออกมาไม่สูง เหมือนความคิดที่ยกระดับสูงไปนานแล้ว…นี่คือเรื่องใหญ่
    • พบว่า โครงการกองทุนเงินล้าน กองทุน กข.คจ. กองทุนปฏิรูปที่ดิน กองทุนสารพัด.. ที่รัฐบาลเองลงไปในหมู่บ้าน และบางส่วนมีหนี้นอกระบบ ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้สินมากมาย อย่างน่าเป็นห่วง ชาวบ้านแก้ปัญหาโดยการกู้กองทุนนี้ไปปิดหนี้กองทุนโน้น วนไปวนมา บางคนก็รอดพ้น แต่จำนวนมากมีแต่หนักขึ้นเพราะอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีอัตราเสี่ยงสูง ทั้งธรรมชาติและการใช้จ่ายในครอบครัว ค่านิยม และความจำเป็นอื่นๆ เช่น บางครอบครัวส่งลูกเรียนหนังสือมหาวิทยาลัยถึงสองคน ภาระหนี้สินไปกระทบวิถีชีวิต เมื่อถึงกำหนดส่งเงิน หลายคนต้องออกจากหมู่บ้านไปหาเงิน โดยการขายแรงงานทุกรูปแบบเพื่อเอาเงินมาใช้คืน…แน่นอนการอุทิศเวลาเพื่อทำเกษตรผสมผสาน เพื่อบรรลุมาตรฐานการพึ่งตนเองก็ด้อยลงไป ถามว่ามีจำนวนเท่าไหร่…มากกว่าร้อยละ 60 หนักเบาแตกต่างกันไป..

การพึ่งตนเองของชาวบ้านในบางกรณีนั้นเริ่มต้นที่ติดลบ

การทำงานของหน่วยงานเป็นการทำงานเฉพาะส่วน หนี้สินของชาวบ้านที่มีกับที่อื่นเป็นเรื่องของชาวบ้านหน่วยงานนี้ไม่เกี่ยว… เหมือนธนาคารที่ไม่สนใจว่าคุณมีภาระอะไร แต่หนี้ที่คุณมีต้องเอามาคืนเงื่อนไขต่างๆนั้นธนาคารไม่รับรู้..

แต่การทำงานพัฒนาชนบทแบบ “ทั้งครบ” นั้นต้องเอาปัญหาชาวบ้านทั้งหมดมาแบกด้วย ไม่แยกส่วน นี่แหละยาก

« « Prev : แกนนำ..

Next : รับแขก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 กรกฏาคม 2010 เวลา 8:42

    ประเด็น การประเมินตนเอง (Self Assessment) เป็นเครื่องมือที่ใช้กันมากและไ้ด้ผลดีในปัจจุบัน เพราะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ความตระหนักรู้”

    นั่นคือ เมื่อตระหนักรู้แล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน จึงจะนำไปสู่การเเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ได้อย่างยั่งยืน

    คงคล้ายกันกับ…ในศาสตร์ของการฝึกอบรม ที่น้องเรียน จะมีการทำการประเมินความจำเป็น(Need Assessment) ว่ามีความจำเป็นและเป็นความต้องการของผู้ที่จะเข้ามารับการอบรม/การพัฒนา/การเรียนรู้ขนาดไหน เท่าไหร่ อย่างไร แทนที่จะเป็นความต้องการ ของผู้จัดอบรมเท่านั้น

    พี่บางทรายพอจะทราบไหมคะว่า พ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว ยังเป็นผู้นำเครือข่ายอินแปง ที่สกลนคร หรือเปล่่าคะ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 กรกฏาคม 2010 เวลา 10:05

    ใช่แล้วครับ  เราทำ Training Need Assessment(TNA) เพื่อมาสร้างหลักสูตรการฝึกอบรม แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะระบบโครงการฯ (Development project) ก็มีธงของเขาอยู่ เราไม่ได้เข้าชนบทแบบมือเปล่าๆ หรือเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง Totally นี่คือข้อจำกัดการทำงานแบบโครงการ แต่ก็ดีกว่า ยืดหยุ่นกว่าระเบียบราชการมาก ดังนั้นคนทำงานจึงต้องใช้ฝีมือสร้างกระบวนการมากหน่อย

    และควบคู่ไปกับกระบวนการที่เป็นเชิงกึ่ง Formal นั้นการสนิทสนมกลมกลืน ร่วมกิน ร่วมทำงาน ร่วมรับรู้ ร่วมใช้ชีวิตกับเขา เราจึงมีเรื่องราว before and after Training process ซึ่งเมื่อเราทำเป็นปกติ ข้อมูลอีกส่วนที่ได้จึงมาจาก ส่วนนอกกระบวนการ และมักเป็นข้อมูลดีดี เพราะชาวบ้านไม่ได้เล่าข้อมูลทั้งหมดให้เรา หากไม่ถาม และหากคนทำงานไม่ sense ก็ไม่รู้จะถามอะไร จึงพลาดข้อมูลเหล่านี้ไปได้

    ชาวบ้านนั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะ ไทบรู มักไม่พูด ไม่กล้าพูด และเก็บตัวต่อหน้าสาธารณะ หรือเมื่อเข้ากระบวนการกึ่ง formal ดังนั้นเราจึงใช้ ความสนนิทสนมเก็บข้อมูลนอกกระบวนการมาก นั่นหมายถึงเราใช้เวลาเยอะกับชาวบ้านครับ

    พ่อเล็กท่านวางมือจากเครือข่ายอินแปงครับ ให้รุ่นหลังๆก้าวขึ้นมาแทนที่ แต่ท่านเองก็ยังรับเชิญไปเป็นวิทยากรที่นั่นที่นี่บ่อยๆครับ

  • #3 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 กรกฏาคม 2010 เวลา 10:25

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลเรื่องพ่อเล็ก และความรู้ที่พี่กรุณาแบ่งป้ันค่ะ
    ได้ประโยชน์และทำให้คิดต่อยอดสำหรับงานที่จะทำต่อไปไ้ด้อีกมากเลยค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.96386384963989 sec
Sidebar: 0.21326994895935 sec