จากหลักการสู่ปฏิบัติ…ไม่ง่ายเหมือนพูด..

โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 9, 2010 เวลา 1:43 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2260

“หลักการสนับสนุนให้มีการพึ่งตนเอง” นั้น มีพัฒนาการมานานแล้ว สมัยที่ทำงานพัฒนาชนบทที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ปี 2518 นั้น เราใช้คำว่า “ยืนอยู่บนขาของตัวเอง” เมื่อเวลาผ่านไปก็พัฒนาแนวคิดและรายละเอียดเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งหลักการดังกล่าวมีที่มาที่ไปอันเดียวกัน


ความสำคัญอยู่ที่การนำแนวคิดลงสู่การปฏิบัติให้เป็นจริง ซึ่งไม่ใช่งานปอกกล้วยเข้าปาก เพราะเงื่อนไขของความสำเร็จนั้นมีมากมาย เราลองผิดลองถูกกันมานานแม้จะมีการสรุปบทเรียน แต่ประเด็นใหม่ๆที่น่าคิดก็เกิดขึ้นมาเสมอ อาจเรียกได้ว่า โจทย์เปลี่ยนไปเรื่อย ตามความแตกต่างของท้องถิ่น ชนเผ่า ภูมิภาค ฯลฯ แต่เราสรุปร่วมกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การยืนอยู่บนขาของตัวเองไม่สำเร็จ หรือล้มเหลวนั่นเองนั้นมาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกคืออิทธิพลของกระแสหลัก ปัจจัยภายในคือทุนทางสังคมและความล่มสลายของสำนึกแห่งสติ

กระแสหลัก คือ กระแสทุนนิยมเสรี ซึ่งปัจจุบันนักวิชาการส่วนหนึ่งเรียก ทุนนิยมสามานย์

ทุกครั้งที่เราลงไปชนบท ชาวบ้านก็มีคำถาม มีข้อแลกเปลี่ยน มีประเด็นปลีกย่อยที่ไม่เกิดขึ้นในช่วงการจัดการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน หากไม่มี Follow up ก็จะไม่เกิดการแลกเปลี่ยนหลังการฝึกอบรม ก็ไม่มีการเติมเต็ม ก็ไม่มีโอกาสติดตามการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ แต่ไม่ง่ายนะครับ เพราะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้งบประมาณ หรือมีต้นทุนการทำงาน ซึ่งระบบราชการทำยาก แต่โครงการพิเศษมีโอกาสทำได้มากกว่า

ทุกครั้งที่เราไปพูดคุยกับชาวบ้าน เราก็จะได้เรียนรู้อีกมากมาย

แนวคิดที่สำคัญหนึ่งในปัจจุบันของการพึ่งตัวเองคือ “การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” คือพยายามทำของใช้เองในครัวเรือน คือ ทำสบู่ ทำยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ และเชิงวัฒนธรรมก็มีเช่นฟื้นฟูการใช้แรงงานร่วมกัน เช่น “การเอามื้อเอาแรงกัน” หรือ “วัฒนธรรมการลงแขกทำงาน” ก็ใครสร้างบ้านก็ไม่ต้องจ้างกัน ไหว้วานแรงงานมาช่วยกัน ใครเก่งช่างไม้ ช่างเหล็ก ต่างก็มาใช้ความถนัดของตัวเองช่วยเพื่อนบ้าน หรือลงมือเกี่ยวข้าว แทนที่จะจ้างก็นัดกันไปเกี่ยวนายทักษิณ ก่อน แล้วนายทักษิณก็มาเกี่ยวข้าวแปลงของนายสุเทพบ้าง

วันหนึ่งผมไปคุยกับชาวบ้านยากจน ประเภทไม่มีที่ดินทำกิน และถือว่าเป็นคนชายขอบในชุมชน ต้องอาศัยญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน แต่เขาเป็นคนดี เขาคุยกับเราว่า….อาจารย์จะให้ผมไปเอามื้อเอาแรงกัน ผมก็เห็นด้วย แต่ผมก็จะไม่มีรายได้น่ะซีครับ เพราะผมมีชีวิตที่มีรายได้มาจากการรับจ้างเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านก็เข้าใจ มักเรียกผมไปให้ทำโน่นทำนี่แล้วก็ให้ค่าแรงผม ก็เอามาใช้จ่ายในครัวเรือน ผมมีเมีย มีลูกต้องกินต้องใช้เหมือนทุกคนที่มีที่ดินทำกิน….


ผมสะอึก…. บางทีหลักการดีดีของเรามันไม่ดีกับบางคนในชุมชน.. ถามว่ามีคนกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ โดยประมาณการจะมีประมาณร้อยละ 2-5 ของจำนวนครัวเรือนทั้งชุมชน

อีกกรณี เราเห็นว่าในแต่ละชุมชนมีตลาดนัดทุกสัปดาห์ และทั้งหมดเป็นพ่อค้าเร่ที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่หมุนเวียนกันเอาสินค้ามาวางขาย ซึ่งชาวบ้านก็มักไปอุดหนุนดีมาก จึงเกิดตลาดนัดแบบนี้หลายแห่ง หลายเจ้า หลายกลุ่ม มาจากหลายจังหวัด เมื่อพิจารณาก็เห็นว่าสินค้าหลายชนิดก็จำเป็น แต่จำนวนมากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และประการสำคัญเป็นการจับจ่ายที่เงินไหลออกจากชุมชนแต่ละสัปดาห์เป็นเงินจำนวนมาก นับหมื่นนับแสนบาท

เราจึงสนับสนุนตลาดของชาวบ้านเอง เอาของมาขายเอง ผลิตเอง เงินหมุนเวียนภายในหมู่บ้านไม่ไหลออกไป และเรายังสามารถบริหารจัดการตลาดให้เน้นอาหารปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ โดยประสานงานกับอนามัยตำบล สาธารณสุขอำเภอให้มาช่วยแนะนำ เชิญเกษตรตำบลมาแนะนำการปลุกพืชแบบปลอดสารพิษ เชิญกรมวิชาการมา เชิญพัฒนาชุมชนมา เชิญ…..แบบบูรณาการกัน พบว่าตลาดชุมชนที่ดงหลวงก้าวหน้าไปมาก แนวคิดนี้จะสนับสนุนจุดเริ่มต้นหนึ่งของการพึ่งตนเองระดับชุมชน

ในโครงการมีตลาดชุมชนเกิดขึ้นในทุกจังหวัด มีกรณีหนึ่งที่ขอนแก่นเจ้าหน้าที่ที่นั่นเล่าให้ฟังว่ามีชาวบ้านที่เป็นแม่ค้ามาบอกว่า “…อาจารย์ ฉันน่ะไม่เคยเป็นแม่ค้าเลยพอมีตลาดฉันก็มาเป็นแม่ค้า ก็ดี ชอบเพราะได้เงินทองใช้ ได้ให้ลูกหลานไปโรงเรียน ผักบางชนิดขายดี ฉันก็ผลิตมากขึ้น วันหนึ่งญาติมาขอผักไปกิน ฉันก็บอกว่า “มาเอาไปเถอะ แต่วันหลังฉันวางขายที่ตลาดชุมชนของบ้านเรานั้นนะ” ความหมายก็คือ วันนี้ให้กิน แต่วันหน้าต้องไปซื้อเอานะ… “ฉันมาคิดทีหลังก็ละอาย แต่ก่อนบ้านเราไม่มีใครซื้อขายพืชผัก อยากกินก็มาขอกัน ฉันขอเธอ เธอขอฉัน แต่มาวันนี้ต้องเป็นเงินทองไปหมดแล้ว เอ..มันยังไงอยู่นา….”

ประเด็น:

  • การพึ่งตัวเองนั้นทุกคนต้องปลูกเองกินเองทุกอย่างเลยหรือ(แนวคิดนี้กลายไปเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ)
  • แต่ก่อนขอกันกินมาวันนี้สิ่งที่เคยขอกันต้องมาซื้อกินซะแล้ว มันพึ่งตัวเองบนวัฒนธรรมชุมชนอย่างไรกันหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้
  • เกษตรกรคนหนึ่งกล่าวว่า…ผมนั้นทำเกษตรทุกอย่างเกือบไม่ต้องซื้อกินเลย แถมได้ขายด้วย แต่รายได้นั้นก็พอได้ใช้จ่าย แต่หากต้องใช้จ่ายจำนวนมาก เช่นค่าเทอมลูกที่เรียนมหาวิทยาลัย เราไม่มีปัญญาหาเงินจำนวนมากมาได้ ก็จำเป็นต้อง วิ่งหาเงินตามช่องทางที่คนชนบทเขาทำกัน ในที่สุดก็เลยจูงให้เราหลุดจากการพึ่งตัวเองไปอีก เงื่อนไขเช่นนี้จะมีโครงสร้างการพึ่งตัวเองอย่างไร ? ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ก็เจ้ง..
  • เกษตรกรอีกรายที่กล่าวว่า… หากเอามื้อเอาแรงกันตามหลักการทางวัฒนธรรมชุมชน แล้วผมก็จะขาดรายได้ที่เคยได้จากการรับจ้างเพื่อนบ้าน เงื่อนไขเช่นนี้ โครงสร้างการพึ่งตัวเองคืออย่างไร..?
  • หลักการพัฒนาชุมชนนั้นเราพยายามฟื้นฟูทุนทางสังคมเดิม ตามจังหวะโอกาส และชนิดของกิจกรรม แต่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่ากิจกรรมตลาดชุมชนจะพาเรามาเผชิญมุมคิดเช่นนี้….

การแปลงหลักการไปสู่การปฏิบัตินั้น เราเผชิญรายละเอียดที่ใครไม่ลงไปสัมผัสก็จะไม่ทราบ.. คนทำนั้นเมื่อลงไปก็รู้ร้อนรู้หนาว แต่คนที่นั่งบริหารข้างบน อยากได้ตัวเลข อยากเห็นความสำเร็จ สั่งเอาสั่งเอา อิอิ อย่างนั้นต้องเสร็จ อย่างนี้ต้องได้เท่านั้นเท่านี้..ใช้เวลากันไม่น้อยกว่าจะพูดจากันรู้เรื่อง

นี่ดีนะที่พอรู้เรื่อง หากไม่รู้เรื่อง ต้องใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก… อย่าง “เสธ.ไก่อู” ประกาศ ห้า ห้า ห้า..

« « Prev : บันทึกของบางทราย..

Next : สิ่งเหนือธรรมชาติกับการทำงานพัฒนาชนบท » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 เวลา 6:35

    อีกวิธีที่ชอบทำกันนักคือ หาคนต้นแบบ
    น้องคิดว่าพี่คงมีประสบการณ์กับประเด็นอย่างนี้มาก …เล่าสู่กันฟังนะคะพี่ว่า เจอกับอะไรบ้าง

    สำหรับประสบการณ์ของน้องแล้ว…ถ้าชุมชนหาต้นแบบอย่างธรรมชาติคือไม่ต้องมีใบประกาศ …เขาก็คารวะกันในที มีอะไรก็ปรึกษาและฟัง ดู สัมผัส เชื่อกัน

    แต่พอมีต้นแบบเลือกจากทางการ หรือให้เลือกชื่อไปประกวดทีไร…ชุมชนแตกสามัคคีเรื่อยเลย

    เริ่มความพอเพียง คงต้องเลิกให้ทางราชการหรือหน่วยงานที่คิดแบบ แข่งขัน ต้องการผลงาน หรือพวกทุนสนิยมสามานย์ในคราบเจ้าพนักงานของรัฐ หรือ NGO กระหายทรัพย์ เข้าไปยุ่งกับชุมชน ล่ะ ..ปฏิบัติได้เนียนและธรรมชาติกว่าเยอะค่ะ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 มิถุนายน 2010 เวลา 15:57

    อีกวิธีที่ชอบทำกันนักคือ หาคนต้นแบบ
    น้องคิดว่าพี่คงมีประสบการณ์กับประเด็นอย่างนี้มาก …เล่าสู่กันฟังนะคะพี่ว่า เจอกับอะไรบ้าง

    โห สงสัยต้องเขียนเป็นบันทึกยาวๆสำหรับเรื่องต้นแบบ เอาสั้นๆก่อนนะครับ
    - เป็นแนวคิดที่ดี เพราะเราจะไปสร้างคนทุกคนให้ได้ตามหลักการนั้นไม่มีทาง จะทำได้คือสร้างคนที่มีศักยภาพขึ้นมาให้เป็น “ต้นแบบ” อาจจะเรียกแตกต่างกันไป เช่น “ศูนย์เรียนรู้” “ปราชญ์ชาวบ้าน” “ผู้นำดีเด่นเรื่องนั้นเรื่องนี้” หลายแห่งประสบผลสำเร็จ และสามารถกระจายความรู้ไปได้จริงๆตามหลักการครคับ
    - เป็นแนวคิดที่ดี แต่ทางปฏิบัติไปสร้างปัญหา โดยเฉพาะคนที่ไปส่งเสริม หน่วยงานที่ไปสนับสนุนเองนั่นแหละ เอาแต่หลักการไปแล้วไปปฏิบัติแบบราชการที่มีเงื่อนไขหลายประการไม่สอดคล้องกับวิถีเขา  ยิ่งราชการบางหน่วย อย่าง สปก.ที่พี่ทำงานด้วยนี่แหละไปสร้าง “สองมาตรฐาน” เช่น โครงการเดียวกันที่ สกลนครราชการมีเงินสนับสนุนให้ศูนย์เรียนรู้ 5000 บาทเพื่อไปสร้างความพร้อมให้เกิดขึ้นเพื่อรองรับกระบวนการเรียนรู้ แต่โครงการเดียวกันนี้ ที่มุกดาหารไม่มีเงิน 5000 บาทให้(ความจริงมีแต่…….. อะ อิ อุ พูดไม่ออก…) แต่ชาวบ้านคนที่ได้รับเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้เขาถึงกันกับชาวบ้านที่สกลนครที่เป็นศูนย์เรียนรู้ อ้าว  ก็เกิดการเปรียบเทียบ  ในที่สุดชาวบ้านที่มุกดาหารก็ถอยออกห่างออกไป ก็ล้มเหลว..ในที่สุด

    อนึ่ง ราชการที่ทำดีดีก็มีเยอะนะครับ เดี๋ยวจะมองว่าพี่ทัศนคติร้ายกับระบบราชการ อิอิ

  • #3 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มิถุนายน 2010 เวลา 11:04

    เจอประเด็นตรงใจค่ะ

    ประเด็นเรื่องกระแสหลัก หรือ ทุนนิยม (สามานย์) คงต้องคุยในโอกาสต่อไป….สนุก ๆ ๆ

    ส่วนประเด็นเรื่อง การพึ่งตนเอง ที่พี่ยกมา(จากพื้นที่)ไว้เป็นประเด็นน่าสนใจมากค่ะ 
         
    การพึ่งตัวเองนั้นทุกคนต้องปลูกเองกินเองทุกอย่างเลยหรือ(แนวคิดนี้กลายไปเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ)

    ความคิดส่วนตัว : ไม่น่าจะต้องปลูกเองทุกอย่าง แม้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ท่านก็ไม่ได้กำหนดไว้เช่นนั้น แต่การปลูกสิ่งที่กิน กินสิ่งที่ปลูก เหลือก็แบ่งปันหรือขาย ในท้องถิ่นที่ไม่ไกลจากพื้นที่ของตน จนต้องอาศัยระบบขนส่ง(ที่สร้างต้นทุนให้สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น) เป็นทางเลือกที่ท่านเสนอไว้ให้ 

    แต่ก่อนขอกันกินมาวันนี้สิ่งที่เคยขอกันต้องมาซื้อกินซะแล้ว มันพึ่งตัวเองบนวัฒนธรรมชุมชนอย่างไรกันหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้

    ความคิดส่วนตัว : การแบ่งปันกันตามหลักมนุษยธรรมยังคงงดงามและใช้ได้ในสังคมไทย หากทุกคนไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาเปรียบ ก็จะรู้จักการระมัดระวังในการที่จะขอจะปันและตอบแทนกัน โดยมี “สามัญสำนึก” เป็นพื้นฐาน ขอปันคนอื่นมา ก็ต้องแบ่งของตนให้คนอื่นด้วย หากเห็นควรต้องซื้อขาย ก็พิจารณาไปตามบริบทเป็นราย ๆ ไป


    เกษตรกรคนหนึ่งกล่าวว่า…ผมนั้นทำเกษตรทุกอย่างเกือบไม่ต้องซื้อกินเลย แถมได้ขายด้วย แต่รายได้นั้นก็พอได้ใช้จ่าย แต่หากต้องใช้จ่ายจำนวนมาก เช่นค่าเทอมลูกที่เรียนมหาวิทยาลัย เราไม่มีปัญญาหาเงินจำนวนมากมาได้ ก็จำเป็นต้อง วิ่งหาเงินตามช่องทางที่คนชนบทเขาทำกัน ในที่สุดก็เลยจูงให้เราหลุดจากการพึ่งตัวเองไปอีก เงื่อนไขเช่นนี้จะมีโครงสร้างการพึ่งตัวเองอย่างไร ? ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ก็เจ้ง..

    ความคิดส่วนตัว : มีระบบออมทรัพย์ สัจจะออมทรัยพ์หลายแห่งในหลายภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จ หากมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว อาจช่วยในส่วนนี้ได้


    เกษตรกรอีกรายที่กล่าวว่า… หากเอามื้อเอาแรงกันตามหลักการทางวัฒนธรรมชุมชน แล้วผมก็จะขาดรายได้ที่เคยได้จากการรับจ้างเพื่อนบ้าน เงื่อนไขเช่นนี้ โครงสร้างการพึ่งตัวเองคืออย่างไร..?

    ความคิดส่วนตัว :  สำหรับคนที่ไม่มีที่ทำกิน ชาวบ้านก็น่าจะพิจารณาให้ “ค่าแรง” ตามสมควรแก่เหตุที่ทำ จนกระทั่งเขาสามารถพึ่งตนเองได้


    หลักการพัฒนาชุมชนนั้นเราพยายามฟื้นฟูทุนทางสังคมเดิม ตามจังหวะโอกาส และชนิดของกิจกรรม แต่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่ากิจกรรมตลาดชุมชนจะพาเรามาเผชิญมุมคิดเช่นนี้….

    ความคิดส่วนตัว : น้องมีความรู้ทางพัฒนาชุมชนไม่มากและไม่ลึกซึ้ง แต่คิดตามหลัก มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์โดยทั่วไป คำว่า “การฟื้นฟูทุนทางสังคม” อาจไม่ต้องยึดติดกับบริบทเดิม ๆ เพราะโลกเป็นพลวัตร มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา “ต้นทุนทางสังคมเดิม” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องพลวัตรไปด้วยเช่นกัน

    กล่าวโดยรวม คงไม่ง่ายอย่างที่คิด ดังที่พี่บางทรายกล่าวไว้จริง ๆ แต่โจทย์ที่เปลี่ยนไปก็ทำให้เราเกิดมุมมองและได้วิธีคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนา น่าจะต้องพัฒนาโดยเน้น “บริบท” ของชุมชนนั้น ซึ่งต่างมีความเป็นปัจเจก ไม่มีบทสรุปตายตัวสำเร็จรูปสำหรับทุกชุมชน การพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนโดยมีพัฒนากรช่วยประสานกิจกรรมต่าง ๆ จะทำให้สมาชิกในชุมชนซึ่งตระหนักและรู้ปัญหาของตนดีที่สุด…ค้นพบทางออกได้ค่ะ

    ต้องไปก่อนค่ะ แล้วจะมาคุยใหม่หากมีโอกาสค่ะ
    ;)

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มิถุนายน 2010 เวลา 16:25

    ขออภัย หายหน้าไปหลายวัน ยุ่งกับงานและการเดินทางครับ

    - การพึ่งตัวเอง นั้นทุกคนต้องปลูกเองกินเองทุกอย่างเลยหรือ(แนวคิดนี้กลายไปเป็นตัวชี้วัด ความสำเร็จ)

    เรื่องนี้หลายแห่งกำหนดไว้ในตัวชี้วัดครับว่าต้องปลูกพืช 5 อย่าง 8 อย่างเป็นอย่างต่ำ อะไรทำนองนั้น แต่ในชนบทมันมีเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือ อีสานนั้น หากบ้านเราขาดอะไรก็ขอเพื่อนบ้านกินได้ เขาไม่หวง หรือหวงแต่คุณค่าทางวัฒนธรรมจะกำกับว่าควรจะให้เพื่อนบ้านเขามาเอาไปกินได้

    มองในมุมเชิงวัฒนธรรมและความเป็นจริงนั้น ในชุมชนแต่ละบ้านมีองค์ประกอบที่ไม่เหมือนกันหมด เช่น แรงงาน สถานที่เหมาะสมในการปลูกพืชต่างกัน แหล่งน้ำ ฯลฯ จึงมีพืชที่ปลุกไม่เหมือนกันทั้งหมด และหากจะตั้งใจปลุกก็ไม่สามารถทำได้เหมือนกันหมดทุกครัวเรือน แต่ทำไมนักวิชาการจึงเอามาเป็นเกณฑ์ตัวชี้วัดความสำเร็จ…?

    - เรื่องกลุ่มออมทรัพย์ นั้น เป็นประเด็นละเอียด พี่เองมีประสบการตรงเรื่องนี้เพราะทำเรื่องนี้มาโดยตรง ที่สะเมิง เดี๋ยวนี้มีเงินมากกว่า 20 ล้านบาท ที่สุรินทร์ ชายแดนแถว กาบเชิง สังขะ บัวเชด ก็มีเงินนับสิบล้าน ที่นครสวรรค์ ชายแดนกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง ไม่ทราบว่าปัจจุบันไปถึงไหน ไม่ได้ติดตาม แต่ก็มีเครือข่ายออมทรัพย์ที่พี่ไปสนับสนุนตั้งไว้

    แต่แปลกที่ดงหลวง สหกรณ์พังเพราะปัญหาความไม่โปร่งใสในอดีตหลังลงมาจากป่า พอเราไปเสนอการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ทุกคนส่ายหัวว่า กลัวจะไปไม่ถึงไหน ยกเว้นบางหมู่บ้านมีกลุ่มเล้กๆของตัวเองในหมู่บ้านที่นำโดยสตรีชาวบ้าน กลับเติบโตได้ แต่เป็นภายในหมู่บ้านเท่านั้น

    ส่วนที่เป็นปัญหาที่บ้านพังแดงมีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งกระทบต่อการบริหารจัดการกลุ่ม คือเรื่องความเชื่อ ปอบ (พี่กำลังเขียนบันทึกนี้)

    - เรื่องการเอามื้อเอาแรงกันนั้น ยังมีอยู่ในกลุ่มเครือญาติ แต่หากไม่ใช่กลุ่มเครือญาติก็ต้องว่าจ้างกันไป หรือหากเป็นสมาชิดเครือข่ายก็ยังเอามือเอาแรงกันอยู่หากมีการร้องขอจากกรรมการเครือข่าย เพียงแต่พี่สะท้อนให้เห็นว่า หากใครพูดถึงเรื่องนี้ มันก็มีรายละเอียดเฉพาะพื้นที่ของมันอยู่ ต้องเข้าใจและคุยกันให้ชัดครับ

    - เรื่องตลาดชุมชน ก็เป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เราเห็นรายละเอียดของกิจกรรมนี้ว่า มันไปสะดุดเอาอะไรบ้างที่เป็นทุนทางสังคม เรายอมรับการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงของสังคม แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องสมดุลกันระหว่างกิจกรรมใหม่กับคุณค่าที่ควรเข้าใจในการปรับไป ซึ่งชุมชนจะต้องคุยกันให้มาก มิใช่ผลักดันให้เกิดรายได้มากๆเข้าหมู่บ้านแต่ ความเป็นพี่น้อง ความเอื้ออาทรกันกลับหดหายไปสิ้น เป็นเรื่องใหญ่ที่หาความลงตัวยากในความเป็นจริง ชุมชนต้องเฝ้าระวังและรู้เท่าทันมากๆ เพื่อร่วมกันประคับประคองความพอดีให้ดำรงอยู่..
    - งานพัฒนานั้นมีรายละเอียดเฉพาะเยอะ หลักการดีดีทั้งนั้น แต่คนปฏิบัติต้องเอาหลักการไปมองบนฐานของความมีอยู่ของชุมชนนั้นๆ

    ขอบคุณครับที่มาแลกเปลี่ยนดีดีครับ

  • #5 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 15:25

    อาม่ายอมรับและเคารพธรรมชาติ เข้าใจความหลากหลายคนและปัญาหา ซึ่งมีทั้งเชิงเดี่ยว และเชิงซ้อน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วเราจะรู้ว่าเขาคิดอย่างไร แผนการพัฒนาชุมชนที่ดี ควรมีการปรับแผนให้ทันกับการแปรเปลี่ยนของปัญหา บนฐานของความจริงใจ และติดตามสม่ำเสมอจึงจะได้ผล เราไม่สามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ภายในเวลาสั้นได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าเจอปราชญ์ชาวบ้านผู้ทรงภูมิปัญญา คนเดินดินธรรมดา ไม่เคยผ่านระบบการศึกษาในระบบก็มี แต่ท่านเหล่านี้คือปราชยญ์ และเป็นครูบาอาจารย์ โดยเนื้อแท้ พร้อมเป็นผู้ให้ คุยกับปราชญ์ หนึ่งเพลา ดีกว่าไปท่องตำราเป็นสิบปี จะช่วยย่ยย่อระยะทาง และเวลาในการแก้ปัญหา และฟื้นฟูความยากจนในชนบทได้ค่ะ อาม่าและหมียักษ์ เข้ามาช่วยันขยายผลสร้างเครือข่าย เกษตรประณีต 1ไร่ ให้ได้ 1 ล้านครอบครัว เพื่อแก้จนคนอีสานค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.0061130523682 sec
Sidebar: 0.23098802566528 sec