บันทึกของบางทราย..

โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 6, 2010 เวลา 22:58 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2117

ผมรับผิดชอบงานโครงการฯ ที่มุกดาหารมาหลายปีตั้งแต่ อาว์เปลี่ยนอยู่ พอจบ Phase แรกก็รับงานชั่วคราวของบริษัทที่ลาว และไม่นานก็ต่อโครงการฯ ซึ่งไม่เรียก Phase 2 เรียกระยะขยายเพราะยังใช้งบประมาณที่เหลือจาก Phase 1

ในช่วง Phase 1 นั้นผมเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆจากงานที่รับผิดชอบ ส่วนใหญ่เป็นแง่คิด มุมมองของผมเองแล้ว mail ไปให้เพื่อนร่วมงานที่อยู่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร ให้ได้รับรู้สิ่งที่ผมสื่อไป จริงๆหวังจะได้รับการ feed back กลับมา แต่แปลกครับ ไม่มีเลยซักฉบับเดียว

จริงๆการเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องงานนั้น ผมทำมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่อยู่โครงการ On Farm Water Management Project ของรัฐบาลฮอลแลนด์ ที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ตอนนั้นผมมีส่วนช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สนามและออกไปเยี่ยมสนาม น้องๆที่กระจายอยู่ตาม “ตอนส่งน้ำ” ของระบบส่งน้ำเขื่อนลำปาว มีเจ้าหน้าที่สนามเกือบ 30 คน

เนื่องจากเจ้าหน้าที่เป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบจากวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เรียกว่าเด็กใหม่ การฝึกอบรมก็ทำเต็มหลักสูตรซึ่งนานเป็นเดือน..!! ย้ำว่าเป็นเดือน เพราะต้องมี Session ของการฝึกจริงในสนาม หรืออาจะเรียกว่า OJT หรือ On the Job Training แล้วก็กลับเข้ามาห้องเรียน คุยกัน…

ผมทำหน้าที่ ออกเยี่ยมสนาม เยี่ยมน้องๆที่เป็นเด็กใหม่ หรือ มือใหม่ พบว่า เนื้อหาสาระที่เขาเรียนในห้องเรียนนั้น พอออกมาสนามจริง หลายเรื่องเขาทำได้ดี แต่ก็มีหลายเรื่อง “ไปไม่เป็นเลย” เมื่อผมเห็นก็เติมเต็มกันในสนามนั่นเลย แต่ก็คิดว่าน่าจะยังไม่พอ ผมจึงกลับมาเขียน สาระเรื่องราวต่างๆเพิ่มเติม ในลักษณะ Memo แล้วขออนุญาต Project Leader ใช้กระดาษ A 4 ทำสำเนาแจกให้น้องๆทุกคนในทุกสัปดาห์… นี่คือบันทึกครั้งแรก

แล้วผมก็เอามาใช้อีกในงานในปัจจุบัน

วันหนึ่งเราไปดูงานสวนโลกที่เชียงใหม่ น้องกาเหว่า(นศ.ปริญญาเอก มข.)มาบอกว่า พี่เขียนอย่างนี้ เอาไปลง Blog ดีกว่า.. ช่วงนั้นผมไม่รู้จัก Blog ด้วยซ้ำไป จึงศึกษาและเข้าไปเขียนจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ชื่อ เรื่องเล่าจากดงหลวงใน G2K และในลานดงหลวง ที่ Lanpanya นี่ พบว่าที่ทำงานไม่มีใครเข้าไปอ่านเลย มีเปลี่ยนคนเดียว นอกจากนี้ผมยังทำ www เฉพาะกลุ่มของโครงการที่  http://portal.in.th/alroproiad/ แต่พบว่าไม่ work เพราะไม่มีใครในโครงการเข้าไปใช้ประโยชน์ มีแต่ เอาข้อมูลใส่เข้าไป ใส่เข้าไป ผมก็เลยหยุด…ค้างคาไว้แค่นั้นเสียเวลาเปล่าๆ..??

ช่วงนั้น ผู้ประเมินผลโครงการจากญี่ปุ่นมาทำ Terminal Evaluation และทราบว่าผมเขียนบันทึกจึงศึกษาและสนับสนุนให้ผมทำต่อเนื่อง ทางโครงการจึงมอบตำแหน่ง KM expert ให้ในโครงการระยะขยายนี้ อิอิ จริงๆผมไม่ใช่ expert เลย ก็เป็นแค่คนพยายามเขียนความคิดเห็นของตัวเองออกมาเท่านั้น

เนื่องจากโครงการฯกำลังจะสิ้นสุด ท่านรองเลขาธิการ ส.ป.ก. mail ไปหาผมเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ให้รวบรวมบันทึกของผมทั้งหมด ตรวจสอบ ทบทวน ปรับปรุง แล้วพิจารณาพิมพ์….”

« « Prev : ด่วน..พบกองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่ดงหลวง

Next : จากหลักการสู่ปฏิบัติ…ไม่ง่ายเหมือนพูด.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

14 ความคิดเห็น

  • #1 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 9:52

    ยินดีกับพี่บางทรายและผู้ที่จะได้อ่าน “บันทึกของบางทราย” ด้วยค่ะ
    ส.ป.ก. นี่ ตาแหลมคมจริง ๆ

    ขออนุญาตพี่บางทรายแลกเปลี่ยน เพื่อการเรียนรู้ (ของตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่) 2 ประเด็นค่ะ

    ประเด็นแรก  เรื่องการฝึกนิสัยบันทึก การบันทึกประสบการณ์ ความคิด ความรู้ที่เกิดจากการทำงาน การเรียน การพบปะสังสรรค์ ไปจนถึงจากการได้ฟัง ได้อ่าน เป็นนิสัยที่เราควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นมาก ๆ  แต่ไหนแต่ไรมาวิทยาการต่าง ๆ มีการถ่ายทอดส่งต่อมาจนปัจจุบันก็ด้วย “การบันทึก” ชนชาติที่มีอารยธรรม เช่น กรีก โรมัน จีน อินเดีย และอีกหลายประเทศล้วนมีตัวอักษรและภาษาของตน จึงมีการบันทึกและได้ถ่ายทอดมรดกไว้จนเราสืบทอดพัฒนาต่อมาได้ และสังเกตเห็นเช่นกันก็คือ เพื่อนร่วมงานมักจะไม่ค่อยเข้ามาอ่านบันทึกเรื่องงานของเรา (เข้ามาทักทายและอ่านเรื่องทั่ว ๆ ไปมากกว่า)
    ด้วยเหตุนี้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในขอบเขตของงานจึงมักไม่ค่อยงอกงามนัก

    คำถามต่อไปคือ แล้วเราควรทำอย่างไร ให้เสริมสร้างนิสัยสุจิปุลิ(ดังที่คุณLogos เคยกล่าวไว้) ให้เกิดขึ้น

    ส่วนตัวคิดว่า ในบางประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วม คนจะร่วมมือร่วมใจ แต่ในประเด็นที่ขัดกับสิ่งที่ตนคิดหรือคาดว่าน่าจะได้ จะมี จะเป็นแล้ว ก็มักจะต่อต้าน ไม่สนใจ ใส่ใจ (อย่างมากที่สุดก็เฉย ๆ เสีย)  เราจึงน่าจะเริ่มจากจุดที่เป็นประโยชน์ร่วม ไม่ซีเรียส คร่ำเคร่งเกินไป แต่แอบสอดแทรก “สาระ” ที่เราอยากสื่อไว้ด้วย ในที่สุดก็ (อาจ) เกิดความกลมกลืนสอดคล้องและร่วมมือร่วมใจเรียนรู้กัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อันมหาศาลต่อตนและสังคม

    ประด็นที่สอง “บันทึกของบางทราย” จะเป็นประโยชน์ในการถอดบทเรียน (AAR) ให้แก่ผู้ได้อ่านทั้งที่เป็นคนทำงานในพื้นที่ (และไม่ได้ทำงานในพื้นที่ก็ตาม) โดยไม่ทำให้รู้สึกว่ากำลังอ่านงานวิจัย ทั้งที่ความจริงแล้วหนังสือนี้ก็คือ “งานวิจัย” เชิงคุณภาพ ที่ประมวลรวมวิธีการ เทคนิคการเก็บ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลอย่างดี
    บันทึกของพี่บางทรายเป็นงานที่มีเสน่ห์ เพราะสอดแทรกสาระ ข้อเท็จจริง ความคิดไว้อย่างแนบเนียนไปกับการเล่าเรื่องเบา ๆ สนุก ๆ …

    ดีใจที่จะได้อ่านหนังสือดี ๆ อีกเล่มหนึ่งในไม่ช้านี้ค่ะ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 13:17

    1. ประเด็นนี้พี่มาย้อนถามตัวเองว่า เราชอบบันทึกตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอบยากแต่พอลำดับพัฒนาการได้ดังนี้
    - ก็เหมือนคนทั่วไปที่ไม่ได้บันทึกอะไรเลยเป็นปกติ
    - มาช่วงเข้าทำงานพัฒนาชนบทที่สะเมิง เข้าไปใกล้ชิดชมรมคนถ่ายรูปที่เชียงใหม่ เลยชอบ และเก็บเงินซื้อกล้องถ่ายรูป พังไป 3 เครื่อง สมัยนั้นไม่มี digital ต้องล้าง อัด ออกมา หมดเงินไปเยอะ ขนาดลงทุนล้างอัดรูปเอง(ขาว ดำ) เสร็จแล้วก็ทำอาละบั้มรูปเต็มห้อง  วันดีคืนดีเอาอาละบั้มเก่าๆมาดู พบว่า ถามตัวเองก็จำไม่ได้ว่า เอรูปนี้ถ่ายที่ไหน เมื่อไหร่ เวลาอะไร เกี่ยวกับอะไร  จึงเกิดความคิดว่า เราน่าที่จะเขียนอะไรลงใต้รูป หลังรูป หรือเอารูปมาแปะกระดาษแล้วเขียนอะไรเกี่ยวกับรูปนั้นลงไป  จึงเกิดงานเขียนชิ้นแรกของตัวเอง เขียนแล้วอ่านเอง เก็บไว้เอง สนุกดี ชอบ และพัฒนาการมาเขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูป เช่นเรามีลูก ก็ถ่ายรูปลูกไว้เยอะ ก็คัดเอามาที่เราชอบ แปะสมุดสวยๆ แล้วเราก้เขียนอะไรลงไปเกี่ยวกับลูก เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดตัวเอง และความคาดหวัง ฯลฯ แล้วก็พิมพ์สวยๆ เก็บใส่แฟ้มไว้ เอาไว้ลูกโตก็ค่อยให้เขาดู อิอิ  จึงชอบเขียนมาตั้งแต่นั่น
    - แล้วก็มาทำงานวิจัยให้กับสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของท่านอาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนภูติ, ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวานิช ก็มีทักษะงานเชิงวิชาการ สมัยนั้นเขาเรียกนักวิจัยรุ่นใหม่ เกือบได้รับรางวัลดีเด่น อิอิ  

    อ้าว หมดเวลา เดี๋ยวค่อยมาต่อใหม่นะครับ

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 13:30

    และแล้ว..สวรรคก็มีตา
    ดีใจด้วยอย่างมหาศาล อิอิ

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 17:23

    Freemind ครับ ต่อ

    - ก่อนที่จะเขียนบันทึกลงใน blog ก็ตระเวนไปดูที่โน่นที่นี่ เยอะเหมือนกัน ก็พบว่า เรื่องราวของเราที่จะเขียนลงนั้นมันไม่อยู่ใน trend งานบันทึก เพราะงานของพี่เป็นงานเฉพาะเรื่องคือ พัฒนาชนบท มันเป็นงานของคนส่วนน้อยในสังคมนี้ แม้ว่าสาระเรื่องงานพัฒนาเป็นเรื่องกว้างๆที่ใครก็มีมุมมองได้ แต่เมื่อเราแสดงความเป็นเฉพาะลงไป หลายท่านก็ได้เข้ามาแค่อ่านครับ  ซึ่งเข้าใจ ยอมรับ และเดินหน้าต่อไป
    - เหตุผลที่สำคัญ คือ อยากให้ blog เราเป็นเหมือนรายการเจาะใจ รายการฅนค้นฅน หรืออะไรทำนองนี้ คือเราเป็นตัวกลางที่เอาชาวบ้านมาขึ้นเวทีนี้ ทั้งดี ทั้งไม่ดี และเอาความคิดเห็นส่วนตัวใส่ลงไปตามมุมมองของเรา ให้ชาวบ้านมีเวทีของเขาบ้าง เรื่องราวของเขาคือภาพสะท้อนสังคมชนบท หากเราเอามาส่องให้สาธารณะทราบ อาจจะมีเสี้ยวหนึ่งที่ใครเอาไปคิดต่อก้ดีไป หรือแค่บันทึกไว้ก็ดีมากแล้ว จึงตัดสินใจทำหน้าที่นี้โดยไม่หวังการให้ใครเข้ามา แลกเปลี่ยนมากมาย หากไม่มากก็เลิกไป ไม่ใช่ครับ เราอยากบันทึกเองโดยไม่หวังผล แค่เป็นดอกไม้ที่ผลิบานออกมา ส่วนจะมีแมลงมาชมเชยหรือไม่ไม่ใช่ประเด็นหลักครับ
    - เคยจูงน้องๆเข้ามาร่วมกิจกรรมเฮฮาศาสตร์ที่สวนป่า สามสาว มี 1 สาวที่กลับไปเขียนบันทึกต่อ ก็ทำได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้นเอง แล้วก็หายตัวไป ถามว่าเพื่อนร่วมงานมีคอมพ์ไหม  เดี๋ยวนี้ คอมพ์ก็คือปากกาด้ามหนึ่ง ที่ทุกคนต้องหามาครอบครองเพื่อใช้ทำงาน ยิ่งลักษณะงานที่พี่ทำนั้นภาระหลักอันหนึ่งคือ การเขียนรายงาน จึงต้องจัดหาคอมพ์มาเป็นเครื่องมือทำงาน แต่เขาไม่ก้าวข้ามมาใน blog  แค่เฉียดๆมาแล้วก็ไป เราเองจะไปบังคับก็ไม่ได้ มีแต่ อาว์เปลี่ยนคนหนึ่งที่ชอบมาก แค่ชวนเขาก็เข้ามาและเป็น blogger ตัวจริงไปเลย
    - สรุปว่าเป็นความชอบของคน เป็นความสนใจเฉพาะคน กระตุ้นก็แล้ว ลากก็แล้ว จูงก็แล้ว ยกเว้นการบังคับ ซึ่งก็ทำได้ไม่ดีเท่าความสนใจจริงๆน่ะครับ

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 17:37

    freemind ครับ

    ประเด็นที่สองนั้น จ๊ากสสส มิกล้า มิกล้า ข้าน้อยก็แค่คนอยากเขียนบันทึกคนหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีบารมี อาจหาญไปเป็นหนังสือที่คุณค่าทางวิจัยเชิงคุณภาพหรอกครับ ขอบคุณครับที่ขยับสาระให้ไปแนวทางนั้น แต่ข้าน้อยก็พึงพอใจที่จะพยายามเอางานชาวบ้านออกมาเท่าที่จะทำได้แค่นั้น หากวิเคราะห์ได้ ก็ทำ หากไม่มีเวลาก็แค่รายงานห้วนๆ หากง่วงนอนก็เบอะบะไปตามเรื่องก็บ่อยไปครับ

    หลายสาระเราประทับใจชาวบ้าน น้ำตาเราไหลหลั่งออกมาก็เคยเมื่อเขาระบายปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ เมื่อเทียบกับเรา เขาแบกภาระ แบกปัญหาที่ดูเหมือนมีทางออกแคบมากๆ แต่เขาก็ก้าวข้ามไปได้ หรือต้องการความช่วยเหลือจากเรา หากเราแค่เข้าไปชุมชน พูดๆๆๆๆ แล้วจากไป ก็ง่ายนิดเดียว แต่เราเข้าไปคลุกคลีกับเขามากกว่าการมาทัวร์ชนบท หลายเรื่องจึงออกมา หลายเรื่องเราก็รู้ เห็น ทราบ และทำงานได้ตรงเป้ามากขึ้น แต่ก็มีหลายเรื่องที่ไปไม่ถึงไหน… 

    หากเราพูดกันว่า ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ  หรือส่วนใหญ่ของสังคมคือชนบท ทำไมเรื่องราวในแต่ละวันจึงมีแต่เรื่องราวของเมือง คนในเมือง สาระของระบบเมือง ฯลฯ แต่เรื่องราวของชนบทมีน้อยมาก เราก็อยากทำหน้าที่เล็กๆตรงนี้บ้าง เท่าที่จะทำได้

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 17:41

    ขอบคุณครับพ่อครูบาฯครับ  หลังจากตรวจสอบ ทบทวน ปรับปรุง แล้วจะรบกวนพ่อครูช่วยเขียนถึงบันทึกดงหลวงให้ด้วยครับ ในมุมมองของพ่อครู ร่วมกับของท่านรองเลขาธิการ สปก.ครับ หากขัดเกลาเสร็จแล้วจะส่งฉบับก่อนพิมพ์มาให้ดูก่อนครับ..

  • #7 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 20:01

    พี่บางทรายคะ

    กลับมาอ่านเพื่อเรียนรู้และน้อมใจรับบทเรียนจากคนทำงานในชนบทที่หัวใจยิ่งใหญ่…

    ประสบการณ์ที่พี่กรุณาเล่าให้ได้อ่านนี้ เป็นบทพิสูจน์สำหรับที่เคยได้ยินมาว่า “ให้เลือกงานที่รักก่อน ความสำเร็จและความก้าวหน้า (รวมทั้งทรัพย์สินเงินทาง) จะตามมาเอง”

    เพราะจิตที่ใหญ่ ใจที่กว้าง คิดทำการก็เพื่อคนอื่นที่ด้อยโอกาสกว่า มุ่งให้ได้มี “พื้นที่”สำหรับคนดี ๆ แต่ไม่มีโอกาส ทำให้พี่กลายเป็นบล็อกเกอร์ที่ดี

    คำว่า “บล็อกเกอร์ที่ดี” มีคุณภาพคงไม่ได้หมายถึงการมีผู้อ่านมากมาย มีแฟนบล็อกล้นหลาม หรือได้รับรางวัลจากหน่วยงานหรือองค์กรใด แต่แก่นที่แท้คือ การสามารถทำตาม ”จุดหมาย” ในการเขียนบันทึกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่วนการมีเครือข่าย กัลยาณมิตรมากมาย ก็อาจถือเป็นเปลือกหรือกระพี้ที่จะช่วยให้ แก่น นั้นคงรูปและดำรงสาระประโยชน์ไว้ได้ต่อไป

    คารวะพี่บางทรายด้วยหัวใจ
    ขอบคุณค่ะ

  • #8 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 20:29

    freemind ครับ  ขอขอบคุณครับ ข้าน้อยขอน้อมรับน้ำใจที่มอบให้ครับ

  • #9 ป้าจุ๋ม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 21:24

    -เห็นด้วยกับน้องFreemindค่ะ บันทึกของคุณบางทรายนั้นเป็นบันทึกที่มีคุณค่ามากค่ะ  เพราะทุกอย่างตกผลึกจากประสบการณ์ตรงที่ได้จากการตั้งใจทำงานอย่างจริงจังมานานค่ะ  และเป็นข้อเท็จจริงด้วย น้อยคนที่จะบันทึกเชิงวิเคราะห์ไว้อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ และที่สำคัญลีลาการเขียนของคุณบางทรายนั้น…ก็ซู๊ดยอดค่ะ
    -ป้าจุ๋มก็จะรออ่านเช่นกันค่ะ

  • #10 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 22:06

    ขอบพระคุณครับป้าจุ๋ม ผมเขียนบันทึกลงในลานดงหลวงแล้วก็เลือกเอาเฉพาะเกี่ยวกับโครงการ mails ไปให้เจ้าหน้าที่โครงการทุกจังหวัดรวมทั้งส่งถึงข้าราชการที่ สปก.กรุงเทพฯ และรวมถึงท่านรองเลขาธิการด้วยครับ ท่านเลยติดตามงานเขียนของผมตลอด ครับท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์เลยให้พิจารณาสั่งพิมพ์ครับ

  • #11 ออต ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 22:49

    รอจัด art work ครับ

  • #12 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 เวลา 23:47

    ขอบคุณออตล่วงหน้าครับ

  • #13 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มิถุนายน 2010 เวลา 8:22

    อมยิ้มด้วยความชื่นชมยินดีค่ะพีบู๊ท มีความสุขที่เห็นสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับคนทำงานด้วยหัวใจนะคะ ความเต็มที่และใส่ใจในทุกรายละเอียดทำให้งานมีคุณค่า มีความหมายเสมอ

    เบิร์ดคิดว่าบล็อกก็เหมือนขวดโหล หน้าที่ของขวดโหลคือเก็บรักษาสิ่งที่อยู่ภายใน และโหลแก้ว บางใส สวยมักทำหน้าที่เป็นกล่องของขวัญแสนหวานแทนใจที่ระลึกถึง …ดังนั้นขวดโหลจึงเป็นทั้งการเก็บรักษา การแสดงความรัก การแบ่งปันความสุข ความชื่นชอบ ชื่นชมร่วมกัน

    น่ายินดีอย่างยิ่งที่การบันทึกได้ยืนยันถึงความสำคัญของหัวใจนักปราชญ์อีกครั้งหนึ่ง ย้าฮู้ …^ ^

  • #14 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มิถุนายน 2010 เวลา 15:16

    ขอบคุณครับน้องสาวเบิร์ด  ตอนแรกจะไปสกลนคร เปลี่ยนใจส่งน้องไปแทน พี่เข้ามุกดาหาร วันพฤหัส กับวันศุกร์มีประชุมชาวบ้าน ต้องมาเตรียมหน่อย

    เข้าใจเปรียบบล็อกเหมือนขวดโหลใสๆนะ มันเป็นความอยากของเราเอง หากเรียกว่ากิเลส ก็เป็นได้ หากเรียนมันเป็นการทำสิ่งสร้างสรรค์ ก็อาจจะเรียกได้ จริงๆ คนเราทำงานไม่ว่างานอะไร ส่วนใหน ระดับไหน มีรายละเอียดที่คนทั่วไปไม่รู้ไม่เข้าใจ มากมาย

    ตลอดเวลาการทำงานภาระกิจหลักอันหนึ่งคือการเขียนรายงาน ซึ่งมี Format มีตัวอย่าง มีวิธีปฏิบัติ เมื่อเรารวบรวมข้อมูลมากองลนโต๊ะแล้วย่อยออกมาในรูปใหม่ของรูปแบบรายงาน  เราพบว่า ข้อเท็จจริงหดหายไปมากทีเดียว มีปริมาณเยอะ ตัวเลขนั้นนี้ เปอร์เซนตืเท่านั้นเท่านี้ แต่คำพูดชาวบ้านล่ะ รูปธรรมที่เป็นจริงของชาวบ้านล่ะ หลุดไปหมด  format ไม่มีและไม่อนุญาติให้ทำ

    พี่จึงคิดว่า รายงานก็คือเอกสารที่ทำขึ้นเพื่อจัดเก็บไว้ในชั้นวางหนังสือเพื่ออ้างอิงเท่านั้น ไม่ได้มีผลมากนักต่อการบริหารงานจริงๆ แต่สำคัญจริงๆที่ต้องทำขึ้นมาตามไตรมาส

    บล็อกเป็นหนทางหนึ่งที่บันทึกไว้เป็นฐานข้อมูลและความคิดเห็นของผู้นั้น สว่นใครจะเอาไปใช้ มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ ใจอยากให้เอาไปใช้ หรือศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยน แต่คนทำงานกลับไม่คุ้นกับการใช้ช่องทางนี้สื่อสารกันครับ ไม่เป็นไร หวังว่าอนาคตอาจเกิดประโยชน์ก็ได้
    ขอบคุณครับน้องสาว


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.44250392913818 sec
Sidebar: 0.087521076202393 sec