Project Impact Study
อ่าน: 1390เมื่อมีการปฏิบัติงานตามลักษณะของโครงการต่างๆนั้น โดยเฉพาะการใช้งบประมาณที่กู้มาจากต่างประเทศก็จะต้องมีระบบติดตามโครงการ (Project Monitoring) มีการประเมินผลครึ่งอายุโครงการ (Half Life Project Evaluation) และประเมินผลเมื่อสิ้นสุดโครงการ (Final Evaluation) ในระหว่างปฏิบัติงานก็จะมีรายงานประจำเดือน (Monthly Report) รายงานประจำคาบ (Quarterly Report) ประจำปี (Yearly Report) รายงานสิ้นสุดโครงการ (Final Report) และทุกกิจกรรมที่ดำเนินการก็จะมีสรุปผลการปฏิบัติงาน (Activities Report) และ…..
กิจกรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งก่อนสิ้นสุดโครงการคือการถ่ายโอน หรือส่งต่อกิจกรรมที่สำคัญให้กับหน่วยงานท้องถิ่นนำเข้าบรรจุในระบบปกติ รวมถึง อปท.ด้วย
นี่เป็นระบบคร่าวๆที่ปฏิบัติกันมา เมื่อมีการประเมินผลสิ้นสุดโครงการไปแล้วระบบปกติก็รับมาดำเนินงานต่อตามเงื่อนไขที่เอื้อให้ เพราะระบบโครงการพิเศษกับระบบราชการตามปกตินั้น มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ขึ้นกับผู้นำองค์กรนั้นๆจะให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน
อย่างไร…
ในฐานะที่ผู้บันทึกผ่านการทำงานกับโครงการพิเศษมาหลายแห่ง หลายแหล่งเงินทุน พบว่าส่วนใหญ่ผู้สนับสนุนเงินทุนจะจบสิ้นภารกิจเมื่อโครงการสิ้นสุดแล้ว เมื่อมีการประเมินผลสิ้นสุดโครงการแล้ว ก็จบกัน แต่มีบางแหล่งเงินทุนจะมีการติดตามผลภายหลังสิ้นสุดโครงการไปแล้ว เช่น CUSO (Canadian University Service Overseas) และ JICA (Japan International Cooperation Agency) ซึ่งอาจจะเรียกว่า การมาติดตามดู Impact ของโครงการก็ได้ เพราะ การประเมินผลเมื่อโครงการสิ้นสุดนั้น ผลการประเมินจะเป็นเงื่อนไขของการปฏิบัติงานของโครงการ หรืออาจจะเรียกว่า เป็นการประเมิน Project Output
แต่เมื่อโครงการสิ้นสุดไปแล้ว ไม่มีอิทธิพลของพนักงานโครงการแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือ ความรู้ ความคิด สำนึก ที่ประชาชนได้รับมาจากโครงการ จะทำกิจกรรมใดๆต่อหรือไม่อย่างไรนั้น ไม่มีพนักงานโครงการมากระตุ้น เหลือแต่สำนึกแท้ของประชาชน นั่นคือ Impact ของโครงการ นี่แหละคือของแท้จริงว่า โครงการได้สร้างสำนึกและแบบอย่างกิจกรรมดีดีให้ประชาชนทำต่อหรือไม่อย่างไร
แน่นอน กิจกรรมต่างๆอาจถูดกดัดแปลงไปตามสภาพ และเงื่อนไขของประชาชน โดยประสบการณ์ผมนั้น ทราบว่า กรณี CUSO นั้นมาสนับสนุนโครงการพัฒนาชายแดนไทยที่จังหวัดสุรินทร์ หลังที่ปิดโครงการไปแล้วมากกว่า 6 ปี ก็กลับมาศึกษาผลกระทบ เช่นเดียวกัน กรณี JICA นั้นมาสนับสนุนโครงการภายใต้ ส.ป.ก. ผมทราบว่าปิดโครงการไปแล้วเกือบสิบปี ยังกลับมาศึกษาผลกระทบ…
บทบาทของผมต่อไปนี้จะทำคล้ายๆการศึกษา Impact ในกรณีโครงการห้วยขาแข้ง (โครงการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง) แต่กรณี คฟป. (โครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเขตปฏิรูปที่ดิน ด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน) นั้นเป็นการจัดระบบข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อสรุปช่วงขยายโครงการและเตรียมข้อมูลไว้ให้หน่วยงานมาศึกษา Impact ในอนาคต
นี่คือดำริของท่านเลขาธิการ ส.ป.ก. คนปัจจุบัน ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์