เวลาของการพัฒนา..

โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 16, 2010 เวลา 8:59 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1913

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเราก็เชิญเกษตรกรที่เข้าร่วมการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังมาสรุปบทเรียนกัน ห้องประชุมของ อบต.ติดงานประชาสังคมแผนงานประจำปี เราก็ใช้ข้างบ้านผู้นำนั่นแหละเป็นสถานที่คุยกัน


แต่น้องๆเอาป้ายชื่อเกษตรกรมาติดหน้าอก เหมือนประชุมกันในโรงแรมใหญ่ในเมือง ขัดตาอย่างไรไม่รู้ แต่ก็ไม่เสียหายอะไร สถานที่ตรงนี้คือเกษตรกรชาวนาชาวสวนที่ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย ถึงสองคน ต้องปั่นเงินค่าเทอมให้ลูกจนจบจนได้ แต่ก็เห็นความยากลำบากของเขา เห็นการดิ้นรนของพ่อบ้านที่เอาทุกอย่างเพื่อลูก สภาพบ้านพักปกติชาวบ้านก็เดาได้ว่า ไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่สะอาด กรณีครอบครัวนี้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ พ่อบ้านวิ่งวุ่นไปกับการหาเงินให้ลูกใช้ทุกเดือน แม่บ้านก็มีลูกน้อย ใครมีครอบครัวเดาสภาพออกนะครับว่ามันวุ่นแค่ไหน หากประคับประคองใจไม่ได้ดีละก็ ทะเลาะกันบ้านแตก


เจ้าหน้าที่โครงการออกไปนำการพูดคุย เอากระบวนการทำการเกษตร เทคนิค รายจ่ายที่เกิดขึ้น ผลที่ได้มา ฯลฯ แลกเปลี่ยนผลกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ เกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมนี้พึงพอใจและเห็นว่าการปลูกมันสำปะหลังคราวต่อต่อไปนั้นจะเพิ่มผลผลิตทำได้อย่างไร

เกษตรกรผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างมองเห็นจุดบกพร่องของการทดลองครั้งแรก และเห็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นแต่แสดงความมั่นใจ ว่าหากใส่ใจและเอาวิชาการเข้าไปอีกเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้

ถามว่าอนาคตเป็นเช่นไรต่อมันสำปะหลัง และทำไมเราจึงเลือกมันสำปะหลังทั้งที่เรารู้ดีว่าพืชตัวนี้ครั้งหนึ่งในอดีตรัฐบาลทำแผนระดับชาติเพื่อลดพื้นที่การปลูก และเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่เราเองรังเกียจมาในระยะเวลาหนึ่ง

เรามีเหตุผลสองสามข้อที่สนับสนุนการทดลองครั้งนี้คือ

หนึ่ง เป็นพืชที่เกษตรกรปลูกอยู่แล้ว มีความคุ้นชิน ง่ายและปลูกได้ในพื้นที่ที่พืชอื่นๆปลูกไม่ได้

สอง จากการศึกษาเราพบว่ามันสำปะหลังเป็นพืชเกษตรกรปลูกคู่ไปกับข้าว เพราะเป็นหลักประกันการมีข้าวกิน เพราะหากปีใดข้าวไม่ได้ผลผลิตเพียงพอ เขาสามารถขุดมันขายแล้วเอาเงินมาซื้อข้าวกิน เป็นการดิ้นรนสร้างหลักประกันการมีข้าวกินของเขาเอง


สาม มันสำปะหลังกลายเป็นพืชพลังงานไปแล้ว ในอนาคตอาจจะพัฒนามันสำปะหลังในพื้นที่แปลงเป็นพลังงานได้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่า เอามันสำปะหลังไปหมักเมื่อได้แก๊ส ก็เอาแก๊สไปผ่านกระบวนการเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าได้และการทดลองของมหาวิทยาลัยประสพผลสำเร็จกำลังขยายจากห้องทดลองไปสู่ระดับชุมชน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ อาจจะมีส่วนที่ดีในอนาคตต่อเรื่องนี้ด้วย


เราพบว่าส่วนบุคคลนั้นประสพผลสำเร็จ แต่เมื่อเราถามเกษตรกรว่าความรู้ หรือประสบการณ์ครั้งนี้เอาไปเผยแพร่ให้เกษตรกรในหมู่บ้านได้ไหม..? ต่างร้องโอย..กล่าวว่า

อาจารย์ เขาไม่ฟังผมหรอก… ต่างก็บอกว่า ต้องจัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ทุกช่วงการผลิตจริง ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ช่วงเวลานี้การปลูกมันสำปะหลังก็ทำไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าไม่มีเกษตรกรคนไหนทำตามเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทดลองเลย ยังใช้วิธีการเดิมๆ ใช้ต้นพันธุ์ตัดสั้น ปลูกถี่เกินไป ไม่ปรับปรุงบำรุงดิน ฯลฯ ล้วนมีเหตุผลอธิบายเมื่อเราสอบถาม… การขยายผลนั้นไม่ง่ายเลยนะ

ผมนึกย้อนไปที่ “พิลา” พนักงานขับรถของเราที่เขาแอบเอาความรู้ที่เราแนะนำชาวบ้านในโครงการเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยใช้วิธีอินทรีย์ไปทดลองทำเองโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ฉี่วัว และอื่นๆ และพบว่าประสพผลสำเร็จ ก็ไม่มีเพื่อนบ้านเอาอย่าง แม้พี่ชายของเขาเองที่ใกล้ชิดสนิทสนม แม้จะบอกว่าการปลูกข้าวแบบอินทรีย์นั้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และประหยัดมากกว่าแบบใช้ปุ๋ยเคมีก็ตาม

แต่…แต่ มาปีที่สาม พี่ชายหันมาทำตามแล้ว…

เรานึกย้อนเข้าไปในพื้นที่..คิดไปว่า เออ อีกปี สองปี เกษตรกรในพื้นที่อาจจะหันมาทำตามเกษตรกรที่เข้าร่วมทดลองการเพิ่มผลผลิตของเรานะ

อือ.. การเปลี่ยนแปลงนั้นใช้เวลา ไม่ใช่ข้ามคืนนะ

« « Prev : เรื่องของโจ้ย..

Next : พบอาวุธแดงเพียบ.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 ออต ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 เวลา 11:00

    เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ทุกเรื่องต้องใช้เวลา
    จะเอามาบ่มให้สุกก็ไม่หวานเท่ามันได้เวลาของมันจริง ๆ
    หอม หวาน ยั่งยืน


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.1117467880249 sec
Sidebar: 0.082950115203857 sec