เรื่องของมัน.. พัฒนาการ

โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 13, 2010 เวลา 23:00 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2388

ประมาณปีพ.ศ. 2525 ผมทำงานที่สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่าพระ ขอนแก่น สมัยนั้นในโครงการพัฒนาการเกษตรอาศัยน้ำฝน (NERAD=Northeastern Rainfed Agricultural Development) โดยมี USAID เป็นผู้ให้เงินทุน กับทีมผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัย Kentucky ผมเพิ่งก้าวข้ามมาจาก NGO มาร่วมงานเป็นผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมวิเทศสหการ ครั้งแรก ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมประจำโครงการ ตื่นเต้นซะ..

ในที่ทำงานเดียวกันช่วงนั้นมีโครงการคู่ขนานกันและใช้สำนักงานเดียวกันคือโครงการของกลุ่มประชาคมยุโรปเรื่อง “การลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง”.. ลำดับเรื่องนี้คือ หลังจากที่มีการปฏิวัติเขียว Green Revolution ที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาเรื่องการปลูกปอกระเจา เพื่อทำกระสอบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จึงมีการนำเข้าปอมาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2503 ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เพียงไม่กี่ปีวาทกรรมทางการเกษตรระเบิดเถิดเทิงก็เกิดขึ้นคือ “ปอมาป่าแตก” ชาวบ้านถากถางป่าเพื่อใช้ปลูกปอกันมากมาย พื้นที่ป่าลดลงมหาศาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การเก็บเกี่ยวปอต้องมีขั้นตอนมาก โดยเฉพาะอาศัยน้ำแช่ ซึ่งเกิดการเน่าส่งกลิ่นเหม็น ต้องเอามือมาลอกปอกเอาเปลือกออก มือไม้พังหมด และเพียงไม่กี่ปีราคาก็ตกต่ำ เพราะปอที่ใช้ทำกระสอบนั้นถูกพลาสติกที่เป็นผลผลิตของปิโตรเคมีตีแตก

ก็มาถึงยุคมัน ชาวบ้านเลิกปลูกปอ เริ่มมาปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นพืชปลูกง่ายให้เทวดาดูแลก็ได้ผลผลิต การหักล้างถางพงก็ระเบิดอีกครั้ง ป่าไม้ถูกทำลายอีกขนานใหญ่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ่อค้าเปิดลานมันและส่งออกไปยุโรปเป็นอาหารสัตว์ ผลผลิตมากมายจากบ้านเราตีตลาดการเกษตรเพื่ออาหารสัตว์ของกลุ่มประเทศยุโรปกระเจิดกระเจิง จนในที่สุดกลุ่มประชาคมยุโรปเจรจากับประเทศไทยเพื่อขอให้ลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเอาพืชอื่นมาทดแทน โดยใช้เงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศมาต่อรอง…

โครงการนี้เองที่ทำคู่ขนานกับช่วงที่ผมมาทำโครงการเกษตรอาศัยน้ำฝนที่ท่าพระ อยู่คนละตึก และเพียงสองปีที่ทำก็เกิด “โครงการอีสานเขียว” ตามมาอีก.. อย่างไรก็ตามโครงการลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทำอยู่ประมาณ 5 ปีก็สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ เพราะไม่สามารถลดพื้นที่ลงได้จริง เอาพืชอื่นมาทดแทนเช่น หม่อนไหม ไม้ผล ก็โดนไหมเวียตนามตีแตก โครงการไม้ผลก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มันสำปะหลังก็เป็นพืชควบคุมแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ชาวบ้านยังขยายพื้นที่ปลูกอย่างไร้ขอบเขต

ก่อนหน้านี้ในวงการพัฒนาชนบทมีการส่งเสริมแนวคิด “การพัฒนาเพื่อยืนอยู่บนขาตัวเอง” แนวคิดนี้องค์การสหประชาชาติประมวลแนวทางการพัฒนามาจากทั่วโลก จากการเติบโตมหาศาลของระบบทุน ผมจำได้ว่ามีตัวอย่างจากต่างประเทศมากมายที่เราเรียนรู้กัน ส่งข้าราชการไปดูงาน เช่น ซาโวดาย่าที่ประเทศศรีลังกา แซมาเอลอันดองที่เกาหลีใต้ คิบบุท และโมชาปที่อิสราเอล

ขณะที่ “ในหลวง” ของเราพัฒนา “โครงการหุบกระพง” มีนักวิชาการองค์การสหประชาชาติฝ่ายการพัฒนาเขียนหนังสือเล่มเล็กนิดเดียวชื่อ “การพัฒนาความด้อยพัฒนา” โดย อังเดร กุลเทอร์ แฟรงค์ โลกจึงแบ่งประเทศเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา อีเอฟ ชูเมกเกอร์เขียน “จิ๋วแต่แจ๋ว” ฟริจอบ คาปรา เขียนเต๋าออฟฟิสิกส์ เขียน “The Turning Point” หนังสือดีดีอีกมาก เช่น เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ฯลฯ

เป็นช่วงที่ NGO เติบโตในเมืองไทยมากที่สุดเพราะสงครามลาว เขมร เวียตนาม มีค่ายอพยพรอบชายแดนไทย International NGO เข้ามาทำงานมากมายและขยายมาทำงานพัฒนาชนบทไทยด้วย  วิพากย์งานพัฒนาของรัฐและชี้แนวทางการพัฒนาที่ควรจะเป็นไปที่สำคัญสุด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ท่านเอาแนวคิดของ ดร.เจมส์ ซี เยน จากประเทศฟิลิปปินส์มาใช้ในเมืองไทย ท่านไปตั้งโครงการบูรณชนบทขึ้นที่ชัยนาทที่ชื่อ Thailand Rural Reconstruction Movment โดยใช้หลัก Credo 10 ประการ แนวความคิดการการยืนอยู่บนขาตัวเองก็พัฒนามาเป็น “การพึ่งตัวเอง”เป็นครั้งแรกที่ใช้หลักการให้เคารพชาวบ้าน ไปหาชาวบ้าน ใกล้ชิดและเรียนรู้จากชาวบ้าน ร่วมคิดร่วมทำกับชาวบ้าน ไม่ใช่ไปสอนเขา ฯลฯ

ดร.ป๋วยอีกนั่นแหละที่จัดตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น ฝึกอบรมและส่งนักศึกษาลงชนบท กลับมาให้วุฒิบัตรติดตัวไป ส่งผลกระทบให้หลายมหาวิทยาลัยมีโครงการบัณฑิตอาสาสมัครมากมาย จนถึงทุกวันนี้ เกิดภาควิชาพัฒนาชุมชนขึ้นในหลายมหาวิทยาลัยจนปัจจุบัน…

แต่ละประเทศก็ทบทวนการพัฒนา และมองหาทางออก ขณะที่ทุนนิยมก็ฟุ้งกระจายสุดจะยับยั้งในวงการจึงเรียกว่า “การพัฒนากระแสหลัก”ชักจูงประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกสนับสนุนแนวคิดนี้ว่าอุตสาหกรรมจะโอมอุ้มคนยากจนได้ในที่สุดตลอดช่วงการพัฒนากระแสหลักนี้ก็คู่ขนานไปกับการเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมไปทั่วโลก เกิดสงครามไปทุกภาคของโลก

ในวงการพัฒนาก็โจมตีมันสำปะหลังว่าเป็นพืชเชิงเดี่ยว ที่พึ่งพาตลาดที่มีนักธุรกิจเกษตรกุมอำนาจราคาอยู่ ทางราชการที่เน้นงานพัฒนาเพื่อการพึ่งตัวเองก็ต่อต้านไม่แนะนำให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง โดยชี้จุดอ่อนของมันสำปะหลังที่กินดิน กินปุ๋ยทำให้ดินหมดความอุดมสมบูรณ์…ราคาต่ำ..

(ต่อตอนสอง…ให้การเท็จ)

« « Prev : ข้าหลวงกับดงหลวง

Next : ทายาทเกษตรกร » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 กรกฏาคม 2010 เวลา 23:12

    เรื่องที่พี่บางทรายเล่านี้ ควรบันทึกไว้เพื่อให้เป็นประวัติศาสตร์ของเกษตรกรไทยนะคะ
    รออ่านต่อค่ะ
    ขอบคุณค่ะ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 กรกฏาคม 2010 เวลา 23:18

    ขยายความช่วงนี้หน่อย
    เป็นช่วงที่วงการเกษตรก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี่การวิเคราะห์พื้นที่ การวางแผนการผลิตและองค์ความรู้ทางระบบนิเวศมากมาย เพราะฝรั่งนำเอาองค์ความรู้มาใช้ในเมืองไทย
    เกิด AEA คือ Agro-ecosystem Analysis ที่พัฒนาไปไกลเลยในปัจจุบัน
    เกิด RRA คือ Rapid Rural Appraisal ซึ่งต่อมาพัฒนาไปเป็น PRA คือ Participatory Rapid Appraisal เทคนิคนี้มาพัฒนาในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นนี่เองแล้วมีการประชุมนานาชาติครั้งแรกที่ขอนแก่น แล้วนำไปใช้ไปพัฒนากันทั่วโลกจนปัจจุบันในวงการการเกษตรและพัฒนาชนบททั่วโลกใช้เครื่องมือนี้
    เกิด GIS คือ Geografical Information System
    เกิด คอมพิวเตอร์ในวงการเกษตรขึ้นในประเทศไทย และนำเข้าโปรแกรมแผนที่แบบง่ายๆเข้ามาใช้
    ผมเองเริ่มใช้่คอมพิวเตอร์สมัย 8 บิท เพราะ ผู้เชี่ยวชาญ Kentucky เอามาให้ใช้ แต่เป็นผู้ใช้เพื่อทำรายงานมากกว่าจะมาเป็น programmer

  • #3 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 กรกฏาคม 2010 เวลา 6:54

    ตามอ่านค่ะพี่บางทราย
    เรื่องเหล่านี้รู้แบบไม่รู้ คือรู้ว่ามีข่าวในแต่ละช่วง แต่ไม่รู้ว่าผลมันมีเหตุอย่างไรและผลกระทบต่อเนื่องต่อประเทศเป็นอย่างไร

    ในความคิดนะคะ ..การติดยึดระบบผู้เชี่ยวชาญทำให้การเกษตร(และการอะไรต่อมิอะไร) ประกอบกับการไร้พลังอำนาจของคนในพื้นที่หรือ stalkholder (ทั้งเรื่องของเสียงที่ดังไม่พอเพราะขาดวุฒิในนิยามของผู้เชี่ยวชาญ) ก็ทำให้อะไรต่อมิอะไรปัดเป๋ไปจากสิ่งที่ควร

    แม้ปัจจุบันนี้เราบูมการพึ่งพาตัวเอง…ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าเป็นการพึ่งพาตัวเองบนความเชื่อลัทธิผู้เชี่ยวชาญเหมือนเดิม ….หรือเปล่า???

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 กรกฏาคม 2010 เวลา 7:10

    เรื่องนี้มันส์มาก ผมเป็นตัวเดินเรื่องในพื้นที่จริงเชียวแหละ นับตั้งแต่เอาปอกระเจามาปลูก
    แล้วเอามันมาปลูก มันเจ๊ง เอายูคามาปลูก เอายางพารามาปลูก แต่มันก็ไอ้แค่นั้นแหละ
    ตอนนี้อยู่ในระหว่างเอาใบไม้ กิ่งไม้ ท่อนไม้ มาตีความอธิบาย ว่าเกษตรกรรายย่อยควรจะแทรกเรื่องปลูกป่าไม้อย่างไร
    ประโยชน์อยู่ตรงไหน มันดีกว่าไม่ทำอย่างไร ที่แน่ๆ่เอาใบไม้มาเลี้ยงสัตว์น่าจะเป็นวิธีหนึ่งในการกอบกู้ชะตากรรมภาคเกษตร
    ผมยังโง่ คิดได้แค่นี้ ก็ทดลองแค่นี้ แต่เรื่องที่ท่านเขียนอยากให้รวบรวมเหมือนที่ชาวเราเชียร์ๆๆๆๆ
    อิอิ

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 กรกฏาคม 2010 เวลา 11:28

    ขออภัยทุกท่าน ขอส่งงานด่วนๆก่อนนะครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.11281108856201 sec
Sidebar: 0.036294937133789 sec