สรุปทริปเบิกโรงวัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ ลำพูน
เรื่องนี้ คงจะเริ่มต้นขึ้นที่คุณอมรา พวงชมพู กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามแฮนด์ จำกัด เจ้าของเสื้อแบรนด์ “แตงโม” ซึ่งเป็นนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ ๑ ได้เจอกับครูบา ในงานวันระพีเสวนาครั้งที่ 2/2552 ป้าจุ๋มก็อยู่ด้วย คุยไปคุยมาก็ไปถึงเรื่องอรรถประโยชน์ของต้นเอกมหาชัย คุณอมราอยากได้ไปปลูกที่วัดพระบาทห้วยต้ม สองพันต้น ก็เลยมีอันจะต้องไปดูสถานที่ บอกกล่าววิธีเตรียมหลุม ระยะห่าง การใส่ปุ๋ยเพื่อเตรียมหลุม ฯลฯ ซึ่งนั่นเป็นที่มาหลักของทริปนี้ครับ; เรื่องอื่นเป็นเรื่องรองทั้งนั้น ทั้งเส้นทางเถิน-ลี้ ทั้งดอยอินทนนท์ ทั้งร้านถนอมโภชนา ทั้งกิ๊ก (สองอันหลังนี่ หลุดออกมาทีหลัง ฮี่ฮี่ฮี่)
โรงงานเสื้อแตงโม
โรงงานเสื้อแตงโมนั้น กระจายอยู่ทั่วไป สร้างงานให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีโอกาส (เช่นที่นราธิวาส) เป็นโรงงานที่ไม่มีเวลาเข้างาน อยากจะมาทำตอนไหนก็มา ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย โดนใจผมมากครับ คนเราอยากได้อะไร ต้องหาเอา (earn) จะมัวนั่งรอสิ่งที่ต้องการไม่ได้ ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องทำไม่เหมือนเดิม กรีดยางแล้วมาเย็บเสื้อก็ยังได้ ดีกว่าอยู่กับบ้านเฉยๆ
กับการทำงานเป็นลำดับชั้นที่เราคิดกันว่า “เป็นระบบ” นั้น เป็นการเคารพความรู้ความชำนาญในตัวคนแค่ไหน การที่หัวหน้าใหญ่สั่งการบ้าๆบอๆ แถมบางทีทำเพื่อตัวเองนั้น ดีกับสังคมนั้นอย่างไร หากทุกๆคนในสังคมนั้น มีส่วนช่วยกันร่วมสร้างสังคมนั้นขึ้นมา มากบ้างน้อยบ้าง เขาแต่ละคนได้รับโอกาสอย่างยุติธรรมหรือไม่
หรือว่า “พอไม่โปรด ก็เลยแป็ก” เป็นเรื่องที่ยุติธรรมแล้ว