เกิดอะไรขึ้นในท้องวัว

อ่าน: 9441

ฝรั่งว่าวัวตด/เรอ ปล่อยมีเทน ทำให้โลกร้อน ผมไม่อยากเถียงแทนวัวหรอกนะครับ เพราะไม่รู้ว่ายังไงกันแน่… แต่มีคำถามในใจ

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่สาม ให้ข้อมูลไว้ว่า

วัวควายที่กินหญ้าเพียงอย่างเดียวเป็นอาหาร  สามารถดำรงชีพและให้ผลิตผลได้  ทั้งนี้เพราะวัวควาย  มีกระเพาะแบบพิเศษผิดไปจากหมู หมา เป็ด ไก่ ซึ่งเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว (simple stomach) วัวควายเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีกระเพาะแบ่งเป็นหลายช่อง  เรียกว่า  กระเพาะรวม (compound  stomach) กระเพาะรวมนี้แบ่งได้เป็น ๔ ช่อง คือ ช่องแรก เรียกว่า กระเพาะรูเมน (rumen) หรือ กระเพาะขอบกระด้ง หรือ ผ้าขี้ริ้ว เป็นช่องที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นกระเพาะที่ทำให้วัวควาย เป็นสัตว์ที่มีความสามารถพิเศษ เพราะในกระเพาะนี้มีจุลินทรีย์อยู่มากมายหลายชนิด  ทำหน้าที่ในการช่วยย่อยหมักหญ้า และอาหารหยาบอื่น ๆ  ให้มีคุณค่าต่อร่างกายของวัวควายได้   ถ้าวัวควายปราศจากจุลินทรีย์ในกระเพาะรูเมนนี้  จะไม่สามารถดำรงชีพด้วยหญ้าเพียงอย่างเดียวได้  ช่องที่สอง เรียกว่า กระเพาะรวงผึ้ง (honey comb หรือ reticulum)  ช่องนี้เป็นช่องที่เล็กที่สุด ช่วยในการดูดซึมน้ำและโภชนะบางอย่าง ที่ได้จากการย่อยหมักหญ้าในช่องแรก ช่องที่สาม เรียกว่า กระเพาะสามสิบกลีบ (omasum) ทำหน้าที่ในการดูดซึมน้ำจากอาหาร และช่วยลดขนาดของอาหารที่มาจากช่องที่สองให้เล็กลง และยังเป็นทางผ่านของนมจากหลอดอาหารไปกระเพาะช่องสุดท้ายขณะวัวควายยังเล็ก อยู่ด้วย ช่องสุดท้าย เรียกว่า กระเพาะธรรมดา (abomasum) เทียบได้กับกระเพาะของสัตว์กระเพาะเดี่ยว เพราะในช่องนี้จะมีการสร้างน้ำย่อยมาย่อยอาหารอย่างแท้จริง ก่อนที่จะส่งไปย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายที่ลำไส้เล็กต่อไป

การที่วัวควายเติบโตและให้ผลิตผลได้   ด้วยการกินหญ้าเพียงอย่างเดียว เพราะมีกระเพาะรูเมนซึ่งเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ ที่ทำหน้าที่หมักและย่อยหญ้า และอาหารหยาบอื่น ๆ จนในที่สุดให้ผลพลอยได้จากกระบวนการนั้นเกิดขึ้น  ในรูปวิตามินบางชนิด  กรดอะมิโน และกรดไขมันบางชนิด อันจำเป็นต่อร่างกายวัวควาย

ตรงนี้ต่างหาก น่าสนใจ… ในเมื่อวัวควาย ใช้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ช่วยย่อยหมักหญ้าจน crack เซลลูโลสและปล่อยมีเทนออกมาได้ บางทีจุลินทรีย์นั้น น่าจะมีประโยชน์ในการเปลี่ยนหญ้า/วัชพืช ซึ่งมีอยู่มากมายในเมืองไทย ให้เป็นพลังงานได้

ฝรั่งอีกนั้นแหละ บอกว่าแบคทีเรียตัวนั้นชื่อ Moorella thermoacetica ซึ่งเปลี่ยนเซลลูโลสเป็นเอทิลอะซิเตท ซึ่งเปลี่ยนเป็นเอทานอลได้

วี๊ดวิ่ว เท่ไม่เบาแฮะ ฝรั่งเรียนรู้ แล้วหาประโยชน์; พี่ไทยรู้ไว้เพื่อสอบ สอบได้แล้วภูมิใจ แต่ทำไม่เป็น ซื้อเค้าอย่างเดียว

ทำไมไม่ลองเป็นผ้าขี้ริ้ว(ในวัว)ดูบ้างล่ะครับ


เมืองไทยทำธุรกรรมทางการเงินไม่ง่ายเลย

5 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 11 July 2009 เวลา 0:11 ในหมวดหมู่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม #
อ่าน: 4373

เมื่อสองวันก่อน ไปเบิกเงินทดรองจ่ายออกจากบัญชีออมทรัพย์ ให้อาสาสมัครของมูลนิธิเดินทางไปร่วมซ้อมการจัดการภัยพิบัติทางทะเลที่สงขลาครับ พบกับความประหลาดใจเป็นอย่างมาก…

ทางธนาคารบอกว่าจะต้องให้เจ้าของร่วมของบัญชีนิติบุคคล มาลงชื่อต่อหน้าจึงจะเบิกเงินได้ อันนี้ใช้บังคับกับบัญชีร่วม นัยว่าเป็นไปตามกฏหมายป้องกันการฟอกเงิน ทุกธนาคารใช้ระเบียบเดียวกันหมด — ทางมูลนิธิก็พยายามจะให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใส จึงใช้บัญชีร่วมซึ่งจะต้องให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เซ็นร่วมกันสองในสามคน มาเซ็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ธนาคาร

ผมเคยทำธุรกิจมา ก็ไม่เคยรู้ว่ามีกรณีอย่างนี้ด้วย ซักไปซักมาปรากฏว่าเป็นกรณีที่ธนาคารที่ใช้นั้น รู้จักบริษัทดี; ถ้าเป็นบัญชีร่วม แล้วมีการมอบอำนาจ หากจะทำให้ถูกต้อง ก็ต้องไปเซ็นเบิกเงินต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของธนาคาร แต่เพราะเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ธนาคารรู้จักดี จึงอลุ่มอล่วยให้ โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารเซ็นรับรองว่ามาเซ็นชื่อต่อหน้า ถ้าทำตรงไปตรงมา กลับติดขัดไปหมดเลย — ให้กรรมการไปเซ็นชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ธนาคารนั้น เป็นเหมือนให้อธิบดีไปธนาคารทุกครั้งที่มีการเบิกจ่ายครับ บ้าสิ้นดี

ในกรณีของมูลนิธิ ธนาคารแนะว่าให้เปิดบัญชีกระแสรายวัน แล้วเบิกเงินออกด้วยเช็ค (แต่การโอนจากบัญชีออมทรัพย์เข้าบัญชีกระแสรายวัน ก็ยังมีปัญหาเดิม) ในเมื่อเป็นกฏหมาย/เป็นกติกาสังคม ก็ต้องปฏิบัติตามครับ แต่สงสัยจริงๆ ว่าทำไมประเทศนี้ ถึงได้ลงโทษคนที่ตั้งใจจะทำถูกต้องด้วย พิลึกจริงๆ (บ่น)

IMD จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ มากว่ายี่สิบปี ปีนี้เมืองไทยเลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 27 มาเป็น 26 แต่ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเราเก่งขึ้น/แข่งขันได้ดีขึ้น แต่เป็นเพราะว่าประเทศอื่นๆ ย่ำแย่กันไปหมดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จึงมีอันดับที่ลดลง หลายประเทศลดลงถึง 10 อันดับ


Megalopolis

อ่าน: 5094

คำว่า Megalopolis (บางทีเรียก Megapolis) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลตรงๆ ว่าเมืองขนาดยักษ์ที่เชื่อมต่อกันเป็นแนวยาว

คำนี้ เป็นที่รู้จักกันเมื่อนักภูมิศาสตร์ชื่อ Jean Gottmann (1915-1994) ชาวฝรั่งเศส ทำการศึกษาเมืองในสหรัฐในช่วงทศวรรศที่ 1950s และได้เรียกเขตเมืองซึ่งติดกันไปเป็นพืดเป็นระยะ 500 ไมล์ ตั้งแต่บอสตันทางเหนือไปจรดวอชิงตัน ดีซี ทางใต้

ในอีกมุมหนึ่ง Megalopolis มีความสมบูรณ์ในตัวเองในแบบของคลัสเตอร์ ในแง่ที่จะเอาอะไรในห่วงโซ่คุณค่า Megalopolis ก็มีทั้งหมดอยู่ใกล้ๆ ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำลงมาก ยิ่งกว่านั้น การที่อุตสาหกรรมเดียวกัน ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ทำให้คนงานแม้จะตกงานจากที่หนึ่ง ก็มีโอกาสหางานได้ไม่ยากนัก และทำให้อุตสาหกรรมต่างต้องรักษาพนักงานที่มีค่าของตนไว้ ไม่ให้เสียไปให้กับคู่แข่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ก็จะช่วยให้คุณภาพของการจ้างงานดีขึ้นบ้าง

ทีนี้มาดูเมืองไทยบ้าง ถามว่ามีโอกาสไหม ก็ตอบว่ามีครับ แต่ว่ามันไม่เคยมีการวางแผน หรือการจัดการใดๆ

อ่านต่อ »


เช็ควาล์ว

อ่าน: 20585

เช็ควาล์วคือวาล์วที่ปล่อยให้น้ำไหลทางเดียว เป็นส่วนประกอบสำคัญของปัมป์น้ำแบบสูบมือ (Hand Pump) และแบบตะบันน้ำ (Hydraulic Ram)

หลักการของปัมป์ทั้งสองแบบ คือสร้างการเคลื่อนไหว ให้เกิดแรงดันของน้ำ; น้ำจะไหลผ่านเช็ควาล์ว จากที่ที่มีความดันสูง ไปสู่ที่ที่มีแรงดันต่ำ — เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวกลับทาง เช็ควาล์วจะปิด ทำให้น้ำไม่ไหลย้อนกลับ และเราส่งน้ำขึ้นไปได้เรื่อยๆ

หลักการนี้ มีให้เห็นตามขวดน้ำยาล้างมือ โลชั่น สบู่เหลวที่มีหัวปัมป์กดที่หัว เสปรย์น้ำหอมแบบกดที่หัวขวด

เมื่อกดหัวลง ลูกบอลลูกใหญ่ด้านล่าง ตกลงไปข้างล่าง ปิดทางไม่ให้ของเหลวไหลย้อนกลับลงขวดไป เมื่อปล่อยหัวให้คลายออก ช่องว่างตรงสปริงมีความดันต่ำ จึงสูบของเหลวจากในขวดขึ้นมาผ่านลูกบอลลูกใหญ่ด้านล่าง ทีนี้พอกดลงไปอีกที ลูกบอลลูกใหญ่ก็ลงไปปิด ทำให้ของเหลวในขวดค้างอยู่ตรงช่องสปริง แล้วเรื่องจากช่องนี้มีความดันสูงขึ้น จึงผลักลูกบอลลูกเล็กทางด้านบนให้ลอยขึ้น ถ่ายของเหลวที่สูบขึ้นมา ออกไปทางหัว

กล่าวคือ ด้วยเช็ควาล์วสองตัว เราสามารถสูบของเหลวจากที่ต่ำขึ้นมาสู่ที่สูงได้ ด้วยการกดและปล่อย

ปัมป์น้ำแบบใช้แรงคน มีความเหมาะสมในหลายอย่าง เช่นสูบน้ำเข้านาเข้าสวนในกรณีที่แหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับท้องร่อง สูบน้ำออกจากตู้ปลา ยิ่งกว่านั้น ในอัฟริกา และอินเดีย ใช้สูบน้ำจากบ่อลึก 50-100 เมตร (ใช้แรงคนจริงๆ)

วิดีโอชุดข้างล่างนี้ เป็นตัวอย่างของปัมป์แรงคน ที่เคลมว่าสูบน้ำได้ 5 แกลลอนใน 6 วินาที ดังนั้นจะสูบเต็มถัง 200 ลิตร ภายใน 70 วินาที หรือว่าสูบน้ำ 1 คิว (1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1,000 ลิตร) ในเวลา 5 นาทีเท่านั้น สร้างด้วยท่อ PVC ขนาด 4 นิ้ว ชาวบ้านสร้างและบำรุงรักษาได้เอง

อ่านต่อ »


SCG Paper ลงพื้นที่

อ่าน: 3828

หัวค่ำเมื่อวาน ได้นั่งฟัง Fa ของ SCG Paper สะท้อนสิ่งที่ได้ไปพบเห็นมาในการลงพื้นที่ในเวลาสั้นๆ

แต่ละกลุ่มต่างก็มีเรื่องน่าสนใจมานำเสนอเป็นที่สนุกสนาน เมื่อจบทั้งสี่กลุ่มแล้ว อ.ศักดิ์พงศ์ มาเล่าเรื่อง insight เกี่ยวกับนักสู้ชีวิตทั้งสี่ที่แบ่งให้แต่ละกลุ่มไปสัมภาษณ์มา ผมได้แต่หวังว่า Fa ฝึกหัดจะเข้าใจว่าต่อให้เป็นเรื่องที่เห็นประจักษ์อยู่ต่อหน้า ก็ยังมีเบื้องหลังอยู่เสมอ การหาคำตอบใดๆ ในงาน จะมองแค่เรื่องเฉพาะหน้า ตามเป้าหมาย ตาม KPI อาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป (ความเห็นของเราก็อาจผิดได้)

นักสู้ชีวิตทั้งสี่นี้ เคยมาเรียนที่สวนป่าแล้วทั้งนั้น

กลุ่ม 4 เป็นกลุ่มเดียวที่แจ้งว่ามีครูน้อยเป็นพี่เลี้ยง กลุ่มนี้ไปพบพ่ออุทัย อ.สตึก เป็นกลุ่มเดียวที่มี intro ที่ฟังรู้เรื่อง อันนี้ไม่ใช่ข้อติติงกลุ่มอื่น แต่เป็นข้อสังเกตว่ากลุ่มอื่นใช้ assumption (assume ว่าคนอื่นรู้แล้ว) มากกว่ากลุ่มนี้

อ่านต่อ »


มองบ้านพ่อไล

อ่าน: 5294

วันพฤหัสที่ 25 ตามกลุ่ม 1 ของ SCG Paper ไปดูบ้านพ่อไล ที่บ้านสนามชัย ใกล้สวนป่า (ห่าง 1.7 กม) เนื่องจากเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ต้องทำการบ้าน ผมจึงเดินชมนกชมไม้ไปเรื่อย มาพบมุมสงบหน้าที่ของพ่อไล ที่มีอุณหภูมิเย็นกว่าในร่ม และเย็นกว่าในบ้านสามสี่องศา

ที่ตรงนั้น เย็นได้เพราะลมครับ


ไม่ใช่พ่อไลถูกหวยหรอกนะครับ ภาพรถส่งหนังสือเจ้าเป็นไผ ๑ อิอิ

ลมเกิดขึ้นเพราะสภาพพื้นที่ มีบึงใหญ่อยู่อันหนึ่ง รอบๆ บึง ก็เป็นไร่นาของชาวบ้านที่ปลูกต้นไม้ใหญ่; หน้าที่ของพ่อไล ปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นแนว ซึ่งอยู่ติดกับบึงพอดี ดังนั้นหน้าบ้านของพ่อไล จึงมีสภาพเป็นช่องลมธรรมชาติ ลมที่พัดมา ควรจะเป็นลมร้อน แต่เนื่องจากพัดกรอกมาตามแนวต้นไม้ซึ่งมีร่มเงา จึงเป็นสายลมที่มีความเย็น

อ่านต่อ »


เครื่องทำความเย็นที่ไม่ใช้ไฟฟ้า

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 25 June 2009 เวลา 0:08 ในหมวดหมู่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม #
อ่าน: 4517

สิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ แต่สามารถใช้ถนอมอาหาร หรือพืชผลทางการเกษตรได้

หลักการคือใช้หม้อสองหม้อ ที่หม้อเล็กใส่ลงไปในหม้อใหญ่ได้ ระหว่างหม้อทั้งสองใส่ทรายเปียก ใช้ฝาปิดเป็นผ้าเปียก เมื่อน้ำระเหยออกไป ก็จะดึงเอาความร้อนออกไปด้วย ทำให้อุณหภูมิของทราย (และหม้อ) เย็นลง

ในสภาวะอากาศร้อนและแห้ง อาจลดอุณหภูมิลงได้ถึง 15-20°C อากาศบ้านเราร้อนชื้น คงไม่ได้อุณหภูมิที่แตกต่างขนาดนั้น แต่ถ้าได้เพียงครึ่งหนึ่ง ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย


รถไฟกับระบบเศรษฐกิจ

อ่าน: 4588

เรื่องรถไฟนี้ มีนักคิดวิจารณ์เอาไว้มาก แต่ก็มีประเด็นที่คิดว่ายังไม่มีการแตะต้องอีกครับ

เป็นที่แน่นอนว่ากิจการรถไฟ บริหารทรัพย์สินได้แย่มาก อยู่ในสภาวะที่กู้เพิ่มมาปรับปรุงกิจการไม่ได้ จึงมีแต่จะเสื่อมลงเรื่อยๆ แต่การหาเงินมาปรับปรุงกิจการไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังมีที่ดิน มีสิทธิในบริเวณสถานีอยู่ ตรงนี้ผมกลับคิดว่าเป็นโอกาสมากกว่าครับ จะได้ไม่ต้องสูญเสียไปกับภัยจากผู้มีอำนาจ

ในส่วนของทรัพย์สิน นอกจากที่ดินที่ทำได้ไม่ดีจนน่าสงสัยแล้ว การรถไฟยังมี

  • ราง ซึ่งเปิดให้เอกชนมาเช่าช่วงได้ เชื่อว่า utilization ของราง มีไม่ถึงร้อยละ 0.1 จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก แม้ว่าน่าจะตัดค่าเสื่อมราคาหมดแล้ว แต่การใช้งานทรัพย์สินหลักที่ต่ำมากขนาดนี้ ยากที่จะกอบกู้กิจการได้ — ให้เอกชนเดินรถเอง ลงทุนเอง ทำตลาดเอง การรถไฟ เก็บค่าต๋ง
  • การวางราง จะต้องระวังผลกระทบต่อการไหลของน้ำในธรรมชาติ และการผ่านเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติครับ
  • การขนส่งสินค้า เดิมทีตั้งแต่สมัยที่ยังมี องค์การ รสพ. กฏหมายกำหนดไว้ว่าสิทธิในการขนสินค้าขึ้น/ลงรถไฟ เป็นของ รสพ. แต่ผู้เดียว แต่ในปัจจุบัน รสพ. ยุบไปแล้ว (เอาที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ รสพ. กลางเมืองหลวง ไปสร้างเป็นโรงแรมที่นักการเมืองไปใช้บริการบ่อย) หากเพิ่มความถี่ในการเดินรถ/เพิ่ม utilization ของรางขึ้นได้ ก็สามารถใช้รถไฟขนพัสดุ/สินค้าระหว่างภูมิภาคได้ด้วยต้นทุนขนส่งที่ต่ำกว่า ลดภาระการซ่อมบำรุงรักษาถนนหลวง ลดอุบัติเหตุที่มีรถบรรทุกใหญ่มาเกี่ยวข้อง — ขอเงินสนับสนุนบางส่วนจาก กรมทางหลวงชนบท/สสส. (ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร)
  • ธุรกิจประกอบรถบัส แปลงเป็นธุรกิจสร้าง/บำรุงรักษาโบกี้รถไฟเอกชน
  • สร้างศูนย์กระจายสินค้า สร้างบนที่ดินของรถไฟสร้างได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า
  • รับขนส่งพัสดุไปรษณีย์ร่วมกับไปรษณีย์ไทย รุกเข้าธุรกิจโลจิสติกส์อย่างจริงจังเสียที
  • เส้นทางใหม่ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมจึงมองแต่การสร้างระบบขนส่งที่ใช้ราง ในกรุงเทพและปริมณฑล แทนที่จะลงทุนเส้นมุกดาหาร-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น-หล่มสัก-พิษณุโลก-ตาก-แม่สอด ซึ่งจะทำให้การเดินทางและขนส่งสินค้า สะดวกขึ้นมากครับ
    • เชื่อมโยงภาคอีสาน กับภาคเหนือ ที่พิษณุโลก
    • แม้เริ่มต้นเฟสแรก มุกดาหาร-ขอนแก่น ก็จะสามารถขนส่งสินค้าผ่านแดนให้- และขายสินค้าเข้าไปในลาว โดยเส้นทาง หนองคาย-อุดร-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร
    • การสำรวจเส้นทาง การก่อสร้างสถานี การวางราง/อุตสาหกรรมเหล็ก มีการจ้างงานรองรับคนตกงานทันที
    • อสังหาริมทรัพย์ใกล้สถานีรถไฟเติบโตขึ้น เพราะคนใช้รถไฟเข้าออกเมืองได้ ไม่ต้องไปอัดกันอยู่ในเมือง เด็กไปเรียนไกลๆ ก็ได้ประโยชน์ในทำนองเดียวกัน ไม่ต้องออกจากบ้านไปอยู่หอพัก
    • เกษตรกรตามเส้นทางรถไฟ มีช่องทางกระจายสินค้ามากขึ้น แทนที่จะรอนายทุนรายใหญ่ กว้านซื้อผลผลิตในราคาต่ำ
    • เกิดธุรกิจแท็กซี่/สองแถว/สามล้อ/เช่ารถ รอบๆ สถานีรถไฟ ซึ่งการรถไฟอาจมีผลประโยชน์จากการจัดการ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางไกลๆ

ผมไม่ค่อยตื่นเต้นกับรถไฟความเร็วสูงนักหรอกครับ ของนำเข้า จะบำรุงรักษาก็ยังต้องนำเข้าอีก


ภาษีซื้อมาขายไป

อ่าน: 4407

ธรรมดาผมไม่ค่อยเขียนเรื่องเฉพาะกาลหรอกนะครับ แต่คิดว่าบ้านเมืองเราออกอาการเข้าขั้นตรีฑูต มิใยว่ารัฐบาลจะออกมาตะโกนปาวๆ ว่ากำลังดีขึ้น (ซึ่งแปลว่ายังไม่ดี แต่แย่น้อยลง) แล้วฝ่ายนอมินีก็บอกว่าฝีมือเด็กๆ ทำบ้านเมืองย่อยยับ ทั้งที่ตัวเองก็รู้ว่าตัวมีส่วนสร้างความปั่นป่วนเป็นอย่างมาก บวกกับผลกระทบหนักหนาสาหัสจากต่างประเทศ

บ้านเมืองเรามีปัญหามากมาย เพราะอุปสงค์และอุปทาน ไม่สมดุลย์กัน แห่ผลิตไปตามๆ กันเพราะเห็นว่าราคาดีในปีที่แล้ว พอผลผลิตออกมามาก ราคาก็ตก ก็มาปิดถนนประท้วงต้องการให้ประกันราคา — แต่ที่หนักกว่านั้นคือมีเสือนอนกิน ทำธุรกิจซื้อมาขายไป เป็นคนกลาง มีสินค้าผ่านมือโดยไม่ได้เพิ่มมูลค่า แต่ชักกำไรไปฟรีๆ เฉยเลย เงาะ ข้าว กุ้ง ลิ้นจี่ ลำไย ทุเรียน ฯลฯ อาการเดียวกันทั้งนั้นครับ

อัตราเงินเฟ้อติดลบ ดูเผินๆ เหมือนจะดีเพราะสินค้ามีราคาถูกลง พอเศรษฐกิจไม่โต แต่เงินเฟ้อติดลบ ทำให้เศรษฐกิจไม่โต ก็ไม่มีการลงทุน+จ้างงาน ธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องต้องปิดตัวลง ทำให้คนตกงาน ที่จริงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหาได้ แต่เพราะคนส่วนใหญ่ประมาท ไม่ได้ปรับตัวมาก่อน จึงเตรียมตัวไม่ทัน พอตกงาน แถมสูญเสียความรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิต ทุกอย่างเคยซื้อเอาได้หมด พอเงินขาดมือ เลยงงเต็ก ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป

อ่านต่อ »


น้ำมันจากต้นไม้

อ่าน: 5768

วารสาร Technology Review ของ MIT รายงานว่าห้องปฏิบัติการแห่งชาติแปซิฟิคนอร์ธเวสต์ของสหรัฐ (PNL) ประสบความสำเร็จในการแปลงน้ำตาลฟรุคโตสหรือกลูโคส (ในพืช) ไปเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปแปลงอีกต่อหนึ่งเป็นโพลีเอสเตอร์ พลาสติก หรือแม้แต่น้ำมันไบโอดีเซล (ที่ไม่ใช่ดีเซลจากปิโตรเลียมผสมน้ำมันพืชใช้แล้ว) ด้วยการบวนการที่ง่าย และมีราคาถูก

สารเคมีดังกล่าวเรียกว่า hydroxymethylfurfural หรือ HMF ในสมการเคมีทางขวา

1 คือ fructopyranose
2 คือ fructofuranose
3,4 คือ สารประกอบในการบวนการ dehydration (ดึงเอาโมเลกุลของน้ำออก)
และ 5 คือ HMF

HMF สามารถแปลงเป็น 2,5-Dimethylfuran หรือ DMF ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในสภาพของเหลว และในหลายๆ กรณี มีคุณสมบัติดีกว่าเอธานอล

กระบวนการ dehydration ของ PNL ใช้คาตาลิสต์ (ซึ่ง Wikipedia ว่าเป็นโครเมียมคลอไรด์ แต่ Science Direct บอกว่าเป็น SO42−/ZrO2 และ SO42−/ZrO2–Al2O3) และเป็นกระบวนการแบบขั้นตอนเดียวซึ่งง่าย และมีราคาถูก — ZrO2 คือ เซอร์โคเนียมออกไซด์

ห้องปฏิบัติการแห่งชาติ PNL มีความชำนาญในกระบวนการเคมีโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น Chemicals from Biomass

มีคำยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรสำหรับ กระบวนการนี้ ซึ่งคำอธิบายกระบวนการผลิต เริ่มต้นที่หน้า 82 — ผมไม่ได้ยุให้ลอกหรอกนะครับ การนำสารประกอบอินทรีย์มาเพิ่มมูลค่า น่าสนใจกว่ากระบวนการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กระบวนการอันนี้ ใช้คาตาลิสต์กับความดัน ซึ่งมีความสิ้นเปลืองและมีของเสียในกระบวนการผลิตต่ำ น่าจะเป็นประเด็นที่นักวิจัยไทยควรจะให้ความสนใจ มากกว่าที่จะไปมุ่งเป็นเลิศในอะไรสักอย่าง แต่ไม่เกิดประโยชน์กับสังคมไทย



Main: 0.093477964401245 sec
Sidebar: 0.28544211387634 sec