เครื่องผลักดันน้ำ
เครื่องผลักดันน้ำนั้น เป็นเครื่องมือเร่งความเร็วของน้ำไหล เพื่อผลักเอาน้ำจากพื้นที่ตรงที่เครื่องตั้งอยู่ ให้ไหลไปยังพื้นที่อื่นอย่างรวดเร็ว เมื่อมีน้ำมากและไม่สามารถกักเก็บไว้ได้ ก็ต้องพยายามนำน้ำไปไว้ที่อื่นเพื่อเป็นการบรรเทาอุทกภัย
การผลักดันน้ำนั้น ต้องพยายามควบคุมไม่ให้ปริมาณน้ำที่ไหลไป เกินความจุของลำน้ำ ทั้งนี้เพราะหากปริมาณน้ำเกินจากความจุของลำน้ำ น้ำก็จะยกตัวขึ้นล้นตลิ่ง กลายเป็นน้ำท่วมที่ปลายน้ำ กล่าวคือย้ายอุทกภัยจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
กลับมาเรื่องเครื่องผลักดันน้ำนั้น มองในแง่ฟิสิกส์แล้ว ก็เป็นการใส่พลังงานลงไป โดยใช้เครื่องกลเปลี่ยนพลังงานที่รับเข้ามา ให้เป็นพลังงานจลน์ของน้ำ โดยน้ำจะไหลไปตามความลาดเอียงเร็วขึ้น
ดูง่ายๆ ตัวเครื่องกล มีใบพัดซึ่งใช้กำลังจากเครื่องยนต์ ทำให้น้ำไหลผ่านเครื่องผลักดันน้ำได้เร็วขึ้น (ด้วยต้นทุนของพลังงานที่ใส่ลงไป) มีส่วนที่ชาวบ้านทำเอง ที่ใช้เครื่องและใบเรือหางยาวทำก็เป็นลักษณะเดียวกัน ถึงประสิทธิภาพน้อยจะหน่อย แต่ก็ยังทำเองได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอก ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ หรือว่าจะมาหรือไม่
เรื่องอย่างนี้ ไม่ต้องรอให้น้ำท่วมเสียก่อน ก็ทำล่วงหน้าได้ ทำที่ปลายน้ำอย่างกรุงเทพก็ได้ เพราะหากน้ำไหลออกไปเร็วขึ้น น้ำเหนือก็ไหลลงมาได้เร็วขึ้น เป็นการช่วยบรรเทาอุทกภัยได้ส่วนหนึ่ง — แต่เครื่องผลักดันน้ำ ไม่มีกำลังพอจะสู้กับ “น้ำขึ้น” ไหว ถ้าน้ำทะเลขึ้นสูง ก็ต้องหยุดไว้ก่อนนะครับ
สบเมย แม่ฮ่องสอน
อ่าน: 4130ขณะนี้เกิดอุทกภัยขึ้นทางภาคเหนือเป็นวงกว้าง ทีมอาสาสมัครกำลังเดินทางไปสบเมย แม่ฮ่องสอน (มีข้อมูลและรูปความเสียหาย)
จากการที่ได้คุยกับอาสาสมัครและคนในพื้นที่ประสบภัย บ้านปู่ทา อ.สบเมย แม่ฮ่องสอน มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า
- เกิดดินถล่ม อาการหนักกว่าเขาพนม กระบี่
- ไม่มีน้ำ (ประปาภูเขาพังหมด)
- ไม่มีไฟฟ้า (โซล่าร์เซลพังเช่นกัน เดิมทีไฟฟ้าจากสายส่งก็ไม่มีอยู่แล้ว)
- บ.ปู่ทา มีบ้านพังเกลี้ยงหมด 11 หลัง — ส่วนบ้านที่ยังไม่พัง ก็ถูกโคลนท่วม 40 หลัง ไม่สามารถล้างบ้านได้ จึงอยู่อาศัยไม่ได้
- เสื้อผ้าหายไปกับน้ำและโคลน
- เด็กเล็กไม่มีนมกิน
- แม้ไม่เกิดภัยพิบัติ ชาวบ้านก็ลำบากอยู่แล้ว จึงแสวงเครื่องเป็น แต่พื้นที่เพาะปลูกเสียหาย ยุ้งฉางเสียหายหมด ไม่มีข้าว
- ขาดอาหารแห้ง: ข้าว มาม่า ปลากระป๋อง ฯลฯ
- ขาดอุปกรณ์ซ่อมบ้าน: ฆ้อน ตะปู ปูน กระเบื้อง ท่อ
- ขาดอุปกรณ์เปิดทาง: เลื่อย ขวาน
ความต้องการของพื้นที่ประสบภัยแต่ละที่ ไม่เหมือนกันเลย เมื่อเราช่วย ก็ช่วยให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ ช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถผ่านช่วงเวลายากลำบากไปได้ และมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาใหม่อีกครั้งเถิดครับ
เขื่อนพลาสติก
กำแพงกั้นน้ำนั้น เป็นหลักการถ่ายเทแรงดันของน้ำลงสู่ดิน
ด้านที่มีน้ำสูงกว่าจะดันกำแพงออกไป ถ้ากำแพงถ่ายแรงลงดินได้ไม่ดีพอ กำแพงก็จะพัง ดังนั้นกำแพงกั้นน้ำชั่วคราว เช่นกำแพงกระสอบทราย ก็จะมีน้ำหนักมากครับ แล้วยิ่งกว่านั้นยังต้องมีฐานกว้างอีก นอกจากเป็นแรงเสียดทานระหว่างชั้นแล้ว ยังเป็นการกระจายแรงออกไปด้วย
เพื่อที่จะหาวิธีสร้างเขื่อนกันน้ำ ผมไปเจอคลิปที่ US Army Corps of Engineering (USACE) ทดสอบระบบป้องกันน้ำท่วม เป็นการทดสอบผลิตภัณฑ์สามอย่างคือ
USACE ทดสอบเขื่อนชั่วคราวพวกนี้ ก็เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ไปใช้ป้องกันภัยพิบัติในประเทศ และใช้สำหรับงานก่อสร้างต่างๆ ด้วยครับ เค้าเลือก RDFW ซึ่งก็น่าสนใจจริงๆ ผมค้นต่อ พบว่ามีสิทธิบัตรด้วย (แต่ถ้าเค้าไม่ได้มาจดสิทธิบัตรในเมืองไทยด้วย สงสัยว่าจะไม่คุ้มครองในเมืองไทยนะครับ)
การจราจรหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร
อ่าน: 3654คงพอรู้กันบ้าง มูลนิธิโอเพ่นแคร์เปิดบัญชีรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ที่มูลนิธิเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการรักษาและเบิกจ่ายเงินบริจาค ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประสบภัยจริงๆ — ผมไม่อยากพูดมากหรอกครับ แต่มีบางกรณีที่เงินบริจาครั่วไหลไปโดยไม่มีใครตรวจสอบ — ความเคลื่อนไหวของบัญชีนั้น ใช้วิธีถ่ายรูปสมุดคู่ฝากของธนาคาร ซึ่งธนาคารเป็นผู้พิมพ์ วิธีนี้จะเห็นความเคลื่อนไหวของเงินบริจาคทั้งขาเข้าและขาออก และใช้ใบโอนเงินของธนาคารเป็นหลักฐานการจ่ายเงิน
ในส่วนของเงินออก ก็สั่งจ่ายแก่ผู้ประสบภัยโดยตรง ทีนี้ในพื้นที่ประสบภัย เป็นเรื่องลำบากเหมือนกันว่าจะให้ผู้ประสบภัยไปเบิกเงินจากธนาคาร ดังนั้นมีหลายกรณีที่มูลนิธิบริจาคเงินต่อให้กับอาสาสมัคร ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างตรงไปตรงมา มีใบเสร็จมาแสดงว่าใช้เงินไปอย่างไร (แต่ใบเสร็จเหล่านี้ ไม่ใช่ส่วนของมูลนิธิแล้ว เนื่องจากได้บริจาคเงินต่อไปผ่านธนาคารไปก่อนแล้ว และใช้ใบนำฝากเป็นหลักฐานทางบัญชี) อย่างไรก็ตาม มูลนิธิตรวจสอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ว่าไม่มีรายการที่ผิดปกติพิกลพิการ เพื่อที่ว่าผู้บริจาคจะได้สบายใจ ว่าได้ส่งต่อเงินบริจาคไปแล้วตามวัตถุประสงค์ของการบริจาค
บัญชีรับบริจาคนั้น ใช้บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นทรัลพลาซาแจ้งวัฒนะ เลขที่ 402-177853-3 แต่การสั่งจ่ายนั้น แล้วแต่ว่าผู้รับใช้บัญชีของธนาคารอะไร อันนี้ทำให้ผมต้องถอนจากไทยพาณิชย์ไปฝากยังธนาคารอื่น ซึ่งก็ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน และเปิดถึงค่ำทุกวัน ไม่เว้นเสาร์-อาทิตย์ และมีโอกาสได้เปรียบเทียบบริการหน้าเคาน์เตอร์ของธนาคารต่างๆ ทั้งนี้ผมไม่สามารถใช้ตู้เบิกถอนอัตโนมัติ หรือใช้ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ได้ ต้องทำรายการหน้าเคาน์เตอร์เท่านั้น เนื่องจากบัญชีของมูลนิธิเป็นบัญชีนิติบุคคล และไม่สามารถทำการฝากผ่านตู้รับฝากอัตโนมัติได้ เนื่องจากต้องการใบนำฝากตัวจริงมาเป็นหลักฐานทางบัญชี
เครื่องมือรายงานสถานการณ์
อ่าน: 3450วันนี้ไปประชุมแถวๆ รังสิต แต่ประชุมไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกครับ
มีกรรมการท่านหนึ่ง พยายามจะพูดตลอดเวลา ไม่ค่อยฟังผู้ที่มาเสนอขอทุนวิจัย ผมว่ากรรมการมีสิทธิ์จะได้ความกระจ่างนะครับ แต่เวลาเค้าอธิบายก็ไม่ฟังเสียอีก พิลึกจริงๆ
ระหว่างรอให้พูดจบอย่างไม่ค่อยมีประเด็น ผมคิดไปถึงโปรแกรมง่ายๆ ที่จะนำข้อมูลจากพื้นที่ประสบภัย กลับเข้ามายังแนวหลัง เพื่อเตรียมการช่วยเหลือให้ได้อย่างตรงประเด็น ผมก็เลยโหลดโปรแกรมถ่ายภาพที่มี geotagging สำหรับแอนดรอยด์มาลองหลายตัว ตัวที่ชอบใจชื่อ GeoCam ของ SITIS ซึี่งมีรายละเอียดตามลิงก์นี้ โปรแกรมนี้ฟรีครับ
ที่ชอบเพราะโปรแกรมอ่านค่าพิกัด (ได้ทั้งค่าพิกัดหยาบๆ จากสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรือ MAC address ของ Wifi (coarse) และพิกัดที่อ่านได้จาก GPS (fine)) ถึงปิด GPS ได้ค่าพิกัดหยาบๆ ก็ยังไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยเรารู้ว่าอยู่บริเวณไหน
ว่าวปั่นไฟฟ้า
อ่าน: 3780ช่วงนี้งานเข้าครับ เอาอันนี้มาฝากก็แล้วกัน ดูไปเพลินๆ ดี
เค้าเอาว่าว ผูกโยงไว้กับพื้น แล้วใช้คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กบนตัวว่าวบังคับให้ว่าวบินเป็นวงกลม อาการที่เกิดขึ้นที่ปีก ก็เหมือนอาการที่เกิดขึ้นที่ปลายใบพัดของกังหันลม โดย Makani Power
คลิปข้างล่าง โหลดครั้งแรกจะนานหน่อย แต่มันจะเล่นเองเมื่อโหลดจนหมดแล้ว — คลิกที่ลูกศรเพื่อเลื่อนไปดูสไลด์ต่อไปหรือก่อนหน้า
เรือสำหรับพื้นที่ประสบภัย
คงเป็นเรื่องประจวบเหมาะที่เมื่อเขียนบันทึก [ใกล้แต่หาผิดที่] เมื่อวานนี้แล้ว มีข้อมูลเข้ามาหลายทางว่าเกิดการตื่นตัว จัดหาเรือกันยกใหญ่
ได้ฟังอย่างนี้แล้ว ก็ดีใจนะครับที่แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ เริ่มหันไปมองทางด้านป้องกันและเตรียมการเอาไว้บ้าง แทนที่จะรอลุ้นว่าจะเกิดภัยหรือไม่ ถ้าไม่เกิดก็รอดตัวไป แต่ถ้าเกิดกลับช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย เป็นอาการเหมือนเล่นหวย… เรียกได้ว่าบันทึกได้ทำหน้าที่ของมันตามวัตถุประสงค์แล้ว แม้ไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูปอะไรเลย
เรือแบบไหนที่มีความเหมาะสม?
เรื่องนี้ ไม่มีคำตอบให้เหมือนกันครับ ไม่มีเรือแบบไหนที่จะเหมาะกับสถานการณ์ทุกอย่าง ถ้าเป็นน้ำท่วมขัง น้ำนิ่ง หรือไหลเอื่อยๆ แบบนี้แพหรือเรือพาย ก็เป็นพาหนะที่เหมาะสมดี
แต่ถ้าขนของเยอะ หรือน้ำไหลเชี่ยว หรือว่าต้องใช้เดินทางระยะไกล ก็คงต้องหาเรือที่แข็งแรง น้ำหนักเบา และพึ่งกำลังของเครื่องยนต์นะครับ
เรือแบบนี้ มักจะออกไปทางเรือไฟเบอร์กลาส หรือเรือเหล็ก ซึ่งมีราคา “แพง” (คำว่าแพงนั้นเป็นอัตตวิสัย)
ใกล้แต่หาผิดที่
ผมคิดว่าทั้งสาธารณชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าใจคำว่าการจัดการภัยพิบัติไขว้เขวไป
การจัดการภัยพิบัติไม่ใช่การนำความช่วยเหลือไปให้ผู้ประสบภัย เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว จะมีความเสียหายเสมอ ไม่ว่าจะเยียวยา หรือแจกถุงยังชีพอย่างไร ก็ไม่เหมือนก่อนเกิดภัย — การบรรเทาทุกข์อย่างที่ทำกันโดยแพร่หลาย เป็นเพียงส่วนจำเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการภัยพิบัติเท่านั้น
การจัดการภัยพิบัติเป็นกระบวนการต่อเนื่อง มีสองส่วน คือการจัดการความเสี่ยง (ครึ่งซ้ายในรูปข้างล่าง) กับการแก้ไขสถานการณ์ (ครึ่งขวา) เป็นกระบวนการที่ใช้ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนการยอมรับความจริง เป็นส่วนผสมหลัก ส่วนกำลังเป็นเรื่องรองลงไปครับ
กระบวนการจัดการภัยพิบัติตามรูปทางขวา มีอยู่หลายขั้นตอน แต่สิ่งที่เราทำกันคือไปอัดกันอยู่ในช่วงสีแดง แถมยังไม่มีการประสานกันเสียอีก จึงเกิดความอลหม่านขึ้น เกิดเป็นกระแส แย่งกันทำ แย่งกันช่วย ซ้ำซ้อน ทำไปโดยความไม่รู้
ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยหรอกนะครับ… ช่วงที่ผู้คนทุกข์ยาก ก็ต้องช่วยกันให้ผ่านไปได้ไม่ว่าจะทุลักทุเลขนาดไหน… แต่ถ้าหากต้องการจะช่วยจริงๆ แล้ว ไม่ต้องรอให้เกิดเป็นกระแสขึ้นมาก่อนได้หรือไม่ หาความรู้ พิจารณาล่วงหน้าก่อนดีไหมครับ ว่าจะช่วยอย่างไรดี
คลิกบนรูปทางขวาเพื่อขยาย — เมื่อเกิดภัยขึ้น ส่วนของการบรรเทาทุกข์ก็จะต้องทำโดยความเร่งด่วน ซึ่งคำว่าเร่งด่วนหมายถึงช่วยให้ผู้ประสบภัยปลอดภัย และดำรงชีวิตผ่านช่วงวิกฤตไปได้ ความปลอดภัยและปัจจัยสี่ต้องพร้อม
จะเป็นถุงยังชีพหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำไปเถิดครับ ขออนุโมทนาด้วย แต่จะส่งอะไรลงไปยังพื้นที่นั้น ควรจะรู้หรือประเมินล่วงหน้าได้ก่อน ว่าผู้ประสบภัยในพื้นที่ต้องการอะไรเป็นลำดับก่อนหลัง แม้จะฟังดูโหด (ภัยพิบัติเป็นเรื่องโหดร้ายอยู่ดี) แต่การส่งของที่ไม่เป็นที่ต้องการลงไปในพื้นที่ (หรือเรียกว่าองค์ทานไม่มีประโยชน์ต่อปฏิคาหก) กลับจะเป็นภาระต่อผู้ประสบภัย ผู้แจกจ่าย และการขนส่ง ต้องไม่ลืมวัตถุประสงค์ว่าเราต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ใช่เพียงช่วยให้ตัวเองรู้สึกดีว่าได้ทำอะไรบางอย่างแล้ว
คันดิน
เมื่อตอนบ่าย มีโทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องน้ำท่วมหนองคาย
แห่งหนึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยมีน้ำท่วมแต่คราวนี้ท่วม อีกแห่งหนึ่งเป็นเขตชุมชนใกล้แม่น้ำโขงซึ่งน้ำแรงเอ่อล้นตลิ่ง ทั้งสองที่แบนแต๊ดแต๋ เมื่อน้ำท่วมแล้ว ชาวบ้านไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ขึ้นไปอาศัยอยู่บนถนนหลวงซึ่งเป็นที่สูงที่สุดในบริเวณนั้น [แผนที่] รถยนต์เข้าออกไม่ได้แล้ว ซึ่งหมายความว่าอพยพออกไปไม่ได้ ความช่วยเหลือก็เข้ามาได้ยากลำบากเนื่องจากน้ำเริ่มท่วมสูง จะทำอย่างไรดี
เรื่องนี้ลำบากครับ เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้น จะเกินกำลังของท้องถิ่นที่จะจัดการเสมอ ไม่อย่างนั้นก็ไม่เรียกว่าภัยพิบัติ แต่ถ้าเตรียมการล่วงหน้า ยังพอประทังได้ ซึ่งนั่นก็เป็นความสำคัญของการเตือนภัย ซึ่งไม่ใช่เตือนเพื่อให้รอลุ้น หรือตกใจจนเกิดเหตุ แต่เพื่อให้ทำอะไรบางอย่างที่เหมาะสมล่วงหน้า เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ตามความจำเป็นของพื้นที่