“350 ppm” ขีดปลอดภัยสำหรับมนุษยชาติ
บน Facebook คืนนี้ อ.วรภัทร์ โพสต์ลิงก์ไปที่บทความจากกรุงเทพธุรกิจ เป็นเรื่องที่ อ.อาจอง ชุมสาย อยุธยา บรรยายพิเศษในงาน สัมมนาโลกร้อน : ผลกระทบของชาวเชียงใหม่ ที่โรงเรียนพายัพเทคโนโลยีและบริหารธุรกิจ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
ข่าวนี้เป็นข่าวที่ผมกำลังหาอยู่พอดี นอกจากงานทางสังคมที่ทำอยู่แล้ว ก็มีความสนใจส่วนตัวอยู่ด้วย และมีข้อมูลเรื่องนี้อยู่พอสมควร ดูได้จากบันทึกเก่าๆ ที่เคยเขียนตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เมื่อมองในแง่ข้อมูลนะครับ ถึงแม้เป็นข้อมูลทุติยภูมิ ก็มีเหตุผลอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นน่าฟังและเข้าเค้า ส่วนเรื่องการทำนายเวลา อาจจะต้องอ้างอิงสถิติ ยังไม่น่าจะแม่น (สงครามเย็นเลิกไปโดยไม่ได้ทำลายโลกหรือเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม ปี 2000 Y2k โลกไม่แตก ปี 2012 ยังมาไม่ถึง ฯลฯ) แต่ถ้าถามว่ามีปัญหาโลกร้อนจริงหรือไม่ ผมเชื่อว่าจริงครับ เพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถึงระดับวินาศ จะมีผลรวดเร็วรุนแรงแค่ไหน แต่คงแรงแน่
เมื่อเชื่อแนวโน้มแล้ว ไม่ควรตั้งอยู่ในประมาท พยายามแก้ไข+เตรียมตัว ถ้าโลกไม่แตกก็ดีไป แก้ไขอัตราการทำลายโลกเสียวันนี้ ลูกหลานคงจะลำบากน้อยลง เรื่องอย่างนี้ ไม่มีประโยชน์ที่จะบอกว่าเสียใจซึ่งในตอนนั้นไม่มีใครอยู่ฟังแล้ว มีแต่ทำในตอนนี้หรือไม่ทำเท่านั้น
จากบันทึกเหลืออีกเท่าไหร่ ปริมาณน้ำจืดต่อหัวประชากรของโลก จะต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในปี 2025 อีก 15 ปีเท่านั้น พืชผักอาหารจะทำอย่างไรกัน แล้ววันนี้ทำอะไรกัน