บ่ายหนึ่งกับ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น

อ่าน: 4483

บ่ายวันนี้ @iwhale เชิญ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น มาใน closed group meeting เพื่อมาบรรยายเกี่ยวกับภูมิอวกาศ (Space Weather) และข้อสังเกตเกี่ยวกับผลกระทบต่อโลก

ผมเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ฟังคำอธิบาย แม้ว่าจะเห็นข้อมูลบางส่วนแล้ว ก็เลยชวนผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือสองท่านไปฟังด้วย คือ @htk999 และ @romhiranpruk ไปเริ่มศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ต่อจากความสนใจส่วนตัวของ ดร.ก้องภพ

การบรรยายครั้งนี้ (ผม)ไม่ได้ถือเรื่องการทำนายเป็นสาระสำคัญ แต่พบว่าการตรวจวัดหลายอย่างที่เข้ามาจากอวกาศ ไกลกว่า magnetosphere ของโลก มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงบางอย่างบนโลก เช่นแผ่นดินไหว ลมฟ้าอากาศแปรปรวน ฯลฯ

เพื่อทดสอบสมมุติฐาน จึงมีการระบุวันให้สังเกต ซึ่งบางส่วนของผู้ที่ได้รับข้อมูล อาจเกิดการตีความว่าเป็นการทำนายภัยพิบัติ ซึ่งโดยนิยามแล้วไม่ใช่นะครับเนื่องจากไม่ได้ระบุสถานที่และเวลา — อย่างไรก็ตาม ที่ระบุวันล่วงหน้ามาก็ถูกมากกว่าผิด เมื่อศึกษาย้อนกลับไปในอดีต พบ correlation อย่างมีนัยสำคัญเหมือนกัน

อ่านต่อ »


บ้านกระสอบทราย

อ่าน: 7162

ก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณป้าจุ๋มสำหรับหมวกและผ้าพันคอครับ เมื่อปลายปี ลูกสาวป้าจุ๋มแวะมาจากอังกฤษ ป้าจุ๋มคิดจึงถักหมวกให้ แล้วยังเผื่อแผ่มาถึงผมซึ่งอายุเท่ากับน้องชายคนเล็กด้วย แกกล่องออกมาดู โอ้โห หมวกใหญ่โตมโหราฬจริงๆ แต่พอใส่ กลับพอดีอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนตัดหมวกมาเลย — จะไม่พอดียังไงล่ะครับ ก็คืนนั้นกลางเดือนตุลาคม ผมวัดหัวผม ส่ง dimension ไปให้นี่ครับ

พูดถึงอากาศหนาวแล้ว ผมคิดว่าวิธีที่สร้างที่หลบภัยหนาวที่กินแรงน้อยที่สุด คือขุดรูนอนครับ บันทึก [หลุมหลบภัยนิวเคลียร์] มี KAP (Kearny Air Pump) สำหรับระบายอากาศด้วย… แต่ก็นั่นล่ะครับ คนเคยอยู่บนบ้าน อยู่ดีๆ จะไปบอกให้ลงไปนอนกับพื้น ไม่รู้จะคิดอย่างไร

วันนี้จึงเสนอวิธีสร้างบ้านดินเป็นรูปโดม โดยใช้กระสอบทรายและลวดหนามครับ

กระสอบทราย เป็นเทคโนโลยีการสงครามจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เอามาสร้างที่พักพิงชั่วคราว ก็เหมาะไปอีกแบบหนึ่ง

ที่จริงเราสร้างบ้านดินรูปเหลี่ยมได้ไม่ยาก ถ้าเป็นโดมก็จะวุ่นวายหน่อย แต่ว่าโดมใช้ดินน้อยกว่า เพราะมันสอบเข้าในส่วนที่อยู่สูง ไม่ใช้ไม้ในการมุงและเสริมความแข็งแรงของหลังคา ทั้งสองแบบเก็บความร้อนและป้องกันลมเย็นบนเนินเขาได้ดี ที่สำคัญคือบ้านกระสอบทรายเหมาะสำหรับพื้นที่สูงที่หาน้ำได้ยากครับ

การที่โดมมีปริมาตรน้อยกว่าบ้านเหลี่ยม ทำให้ห้องความอบอุ่นได้เร็วกว่า

อ่านต่อ »


แสงแดดฆ่าเชื้อโรค

อ่าน: 7971

จากบันทึก [น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม] เมื่อสองเดือนก่อน เป็นโศกนาฏกรรมทีเดียว ที่มีน้ำเต็มไปหมด แต่กลับเอามาดื่มไม่ได้ ต้องขนน้ำดื่มจำนวนมากมาเป็นระยะทางเป็นร้อยกิโลเมตร

ในบันทึกนั้น มีข้อเสนอสร้างเครื่องกรองเซรามิค (ดินเผานั่นแหละครับ แต่เรียกให้เท่) แต่เค้าใช้ซิลเวอร์คอลลอยด์ทาที่ผิวให้ซึมลงไปในเนื้อของฟิลเตอร์ เพื่อไปฆ่าเชื้อโรค แต่วิธีนี้มีปัญหาในการเตรียมสารละลาย ทั้งความเข้่มข้น และการทดสอบ ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งควรทำให้ผ่านด้วย… ไม่ใช่เลี่ยงบาลี แบบที่พนักงานขายตรงบางคน ขายเครื่องกรองน้ำ แล้วบอกว่าลูกค้าเอาน้ำไปดื่มเอง ตัวเครื่องกรองน้ำไม่ใช่เครื่องกรองน้ำดื่ม แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีคำเตือนใดๆ ทั้งที่กล่อง ที่ตัวภาชนะ และในคู่มือ… เครื่องกรองน้ำแบบ RO ใช้ไม่ได้หากน้ำไม่มีแรงดันนะครับ

ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดสะอาดสำหรับบริโภค นับวันมีแต่จะรุนแรงขึ้น

นอกจากการกรองสีและสารแขวนลอยแล้ว ก่อนจะนำน้ำไปบริโภค ก็ต้องฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน

สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้ำแห่งชาติ สวิสเซอร์แลนด์ ได้คิดวิธีการง่ายๆ เรียกว่า SODIS (Solar Water Disinfection) โดยการเอาน้ำใส่ขวดใส ตากแดดไว้หกชั่วโมง ปล่อยให้รังสี UVA ในแสงแดดฆ่าเชื้อโรค

ง่ายๆ แค่นั้น!

อ่านต่อ »


สึนามิปี 2547 เกิดจากการระเบิดในอวกาศ?

อ่าน: 4601

เมื่อเวลา 0:58 UTC ของวันที่ 26 ธ.ค. 2547 เกิดสึนามิจากอภิมหาแผ่นดินไหว ความแรง M9.3 เริ่มต้นที่หัวเกาะสุมาตรา ไล่ขึ้นเหนือไป 1,200 กม. ทำให้คนตายไปสองแสนกว่าคน เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก และทำให้เกิดสึนามิที่มีความรุนแรง ทำลายล้างสูงที่สุดนับตั้งแต่ภูเขาไฟกรากะตัวระเบิดในปี 2426 แผ่นดินไหวครั้งนั้น รุนแรงกว่าแผ่นดินไหวครั้งใดๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า 25 ปีอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 เท่า

แต่ในเวลาเพียง 44.6 ชั่วโมงหลังจากเกิดสึนามิ 21:36 UTC วันที่ 27 ธ.ค.2547 ดาวเทียมตรวจวัดรังสีแกมมาหลายดวง ตรวจจับการแผ่รังสีแกมมาที่มีความรุนแรงได้จากการระเบิดในอวกาศได้ รังสีแกมมาที่วัดได้ในครั้งนั้น มีความรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้มา

การระเบิดของรังสีแกมมาที่ตรวจจับได้ในครั้งนั้น มีความรุนแรงกว่าที่สูงที่สุดที่เคยวัดได้มาถึง 100 เท่า เทียบได้กับแสงจันทร์เต็มดวง แต่ปล่อยพลังงานส่วนใหญ่ออกมาในช่วงความถี่ของรังสีแกมมา รังสีแกมมาที่วัดได้มีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ ส่งสัญญาณมาเป็น pulse ทุก 7.5 วินาที เหมือนกับหมุนไฟฉายไปรอบๆ ทุก 7.5 วินาที จะมีแสงกวาดมาเข้าตาเราแล้วก็หายไป อีก 7.5 วินาทีมาใหม่อีก — การระเบิดของรังสีแกมมาที่ตรวจจับได้ในครั้งนั้น ทำให้บรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียของโลก “เบี้ยว” ไป รบกวนคลื่นวิทยุในโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คลื่นยาว” มีรายงานปรากฏในสื่อประมาณเดือน ก.พ.2548 เช่น Space.com BBC NYTimes (ภายหลัง มีการแก้ไขตัวเลขต่างๆ ในข่าว เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น)

รังสีแกมมานี้ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์คาดว่าเกิดจากการระเบิดของดาวนิวตรอน SGR 1806-20 ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 กม. อยู่ห่างไป 20,000 ถึง 32,000 ปีแสง (ประมาณศูนย์กลางของกาแลกซี่) ปล่อยพลังงานออกมาใน 0.1 วินาที มากกว่าพลังงานที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาทุกทิศทางในแสนปี SGR 1806-20 หมุนรอบตัวเองทุก 7.5 วินาที ซึ่งตรงกับสัญญาณของการระเบิดของรังสีแกมมา (GRB) ว่ากันจริงๆ การระเบิดของรังสีแกมมาอื่นๆ ที่วัดได้ อาจจะมีความรุนแรงมากกว่านี้ แต่ว่าเพราะมันมาจากกาแลกซี่อื่น ซึ่งอยู่ห่างไกลมาก จึงมี “ความสว่าง” น้อยกว่าการระเบิดจาก SGR 1806-20 ซึ่งมองเห็นด้วยตาเปล่า และเกิดขึ้นภายในกาแลกซี่ทางช้างเผือกนี้เอง

อ่านต่อ »


รังสีคอสมิค

อ่าน: 4595

บันทึกนี้ เป็นเรื่องที่ผมไม่รู้และไม่มีข้อมูลละเอียด แต่ก็จะเขียนครับ เช่นเดียวกับบันทึกทั้งพันเรื่องในบล็อกนี้ ซึ่งไม่ได้เขียนให้เชื่อ แต่เขียนให้พิจารณาเอง

ใช้เวลาเขียนน๊าน…นาน ตั้งแต่บ่ายแล้ว ติดภาระกิจไปอัพเดตสมุดบัญชีธนาคาร เพื่อดูว่าเงินบริจาคสำหรับซื้อผ้าห่มแบบที่ทหารใช้ ไปบริจาคให้ผู้ประสบภัยตกสำรวจ มีพอหรือยัง (ตอนนี้ยังขาดอีกเยอะครับ) แล้วฝูงหมารอบบ้าน ก็เรียกร้อง เลยออกไปทักทายกับให้อาหารเสียอีก

ดวงอาทิตย์แผ่รังสีใส่โลกตลอดเวลา มากบ้าง น้อยบ้าง โลกมีสนามแม่เหล็กโลกปกป้องอยู่ มีบรรยากาศหนา 300 กม. มีชั้นโอโซน คอยลดทอนความรุนแรงของรังสีจากดวงอาทิตย์ — รังสีต่างๆ เป็นอนุภาคพลังงานสูง ส่วนใหญ่มีประจุ (มักเป็นโปรตอนของไฮโดรเจนหรือฮีเลียม) จึงเบี่ยงเบนได้ในสนามแม่เหล็ก แล้วเมื่ออนุภาคพลังงานสูงเหล่านี้เกิดหลุดเข้ามาในบรรยากาศของโลก ก็จะเกิดชนกับอากาศอุตลุด ลดความรุนแรงลงบ้าง พลังงานจากดวงอาทิตย์มาถึงสุดของของบรรยากาศโลก มีค่าประมาณ 1367 วัตต์/ตร.ม. และบรรยากาศหนา 300 กม.ของโลก ก็ดูดซับพลังงานไป เหลือตกลงมาถึงพื้นโลกเพียง 40% เท่านั้น

แสงเหนือ-แสงใต้ (Aurora)

แสงเหนือเกิดขึ้นเมื่ออะตอมของอากาศในบรรยากาศชั้นสูง ถูกอนุภาคที่มีพลังงานสูงชน ทำให้อะตอมเข้าสู่ excited state ซึ่งอยู่อย่างนั้นได้ชั่วขณะ เมื่ออะตอมจะกลับสู่สภาวะปกติ ก็จะคายโฟตอนออกมาเป็นแสงสว่าง

แสงเหนือ มักปรากฏแถวขั้วโลกมากกว่าที่ละติจูดต่ำๆ ทั้งนี้ก็เพราะโลกมีสนามแม่เหล็กโลกคอยปกป้อง เมื่ออนุภาคพลังงานสูงวิ่งมาจากดวงอาทิตย์ ก็จะถูกสนามแม่เห็กโลกเบี่ยงเบนออกไปทางขั้วโลก แต่ถ้าเบนไม่พ้น ก็อาจเฉียดไปกระทบบรรยากาศชั้นสูงแถวขั้วโลก (ที่ละติจูดสูงๆ)

โดยทั่วไป ชั้นล่างของแสงเหนือจะอยู่ที่ระดับ 100 กม.เหนือผิวโลก (เครื่องบินข้ามทวีป บินที่ความสูง 10 กม.) และระดับบนของแสงเหนืออาจอยู่ที่ระดับ 200-300 กม. [Aurora FAQ]

อ่านต่อ »


พลังงาน: เอาจริงแบบเล่นๆ

อ่าน: 3592

ปลายปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีไปโคเปนฮาเกน (ชาวยุโรปแถวนั้นเค้าออกเสียงอย่างกันนี้) ได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม UNFCCC 2009 ว่าเมืองไทยกำลังอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะ 15 ปี พ.ศ. 2551-2565 ว่าจะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 20% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ และจะเพิ่มพื้นที่ป่าจาก 30% ในพ.ศ. 2549 ไปเป็น 40% ในพ.ศ. 2563 (จาก 96.4 ล้านไร่ เป็น 128.5 ล้านไร่) ดังนั้นมาตรการทั้งสองจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก

สารภาพตรงๆ นะครับ ถึงตอนนี้ ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ถ้าหากจะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ถึง 20% ของพลังงานที่ใช้ทั้งประเทศ จะหวังให้รัฐทำเองทั้งหมดนั้น คงเลื่อนลอยมาก ทุกคน ทุกบ้าน ต้องช่วยกัน แต่ก็ยังไม่เห็นมาตรการอะไรของรัฐที่โดนใจเลย ค่า Adder [เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน] ที่ กฟภ.รับซื้อไฟฟ้าที่มีแหล่งกำเนิดจากพลังงานทดแทน เหมือนเป็นป้ายเชิญชวน ให้เดินไปสู่ประตูที่ปิดแล้วล็อคกุญแจไว้ ชาวบ้านเดินเข้าไปไม่ได้อยู่ดี ทำไมไม่ออกแบบ grid-tie inverter ที่ปั่นไฟฟ้าแล้ว sync กับไฟฟ้าของ กฟภ. มีฮาร์โมนิกต่ำ แก้ไข power factor ให้ต่ำ ทดสอบให้ผ่านมาตรฐาน แล้ว open source เปิดการออกแบบนี้ให้ใครก็เอาไปทำได้ล่ะครับ

เมื่อต้นปี 2537 ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีอินเทอร์เน็ตแบบที่เราใช้กันอยู่ ผมเคยโพสต์ประเด็นที่น่าสังเกตไว้ใน soc.culture.thai USENET newgroup ยกประเด็นว่าศูนย์การค้า 5 แห่งที่กำลังจะเปิด (ในเวลานั้น) คือ เสรีเซ็นเตอร์ ซีคอนสแควร์ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต อิมพีเรียลลาดพร้าว และแฟชั่นไอซ์แลนด์ ทั้ง 5 แห่งมีพื้นที่รวมกัน 1.835 ล้านตารางเมตร ถ้าใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ แสงสว่าง และการใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ตารางเมตรละ 250 วัตต์ โดยเปิดทำการวันละ 12 ชั่วโมง จะใช้พลังงานไฟฟ้าวันละ 5.505 GWh ซึ่งนั่นคิดเป็น 49% ของกำลังไฟฟ้าที่ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเพิ่มได้ ในช่วงปี 2535-2539 หมายความว่าศูนย์การค้า 5 แห่ง ใช้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศในช่วงนั้นไป 49% แล้ว กฟผ.จึงต้องแจ้นไปซื้อไฟฟ้าจากลาว

อ่านต่อ »


โลกที่ปราศจากอินเทอร์เน็ต

อ่าน: 4307

เมื่อวานอ่านรีวิวหนังสือ Armageddon Science: The Science of Mass Destruction ก็น่าตื่นเต้นดีครับ ผู้เขียน Brian Clegg เป็นนักฟิสิกส์ เขียนรายการออกมาหลายอย่างที่มีความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ (ในมุมมองของเขา) ว่าโลกแบบที่เรารู้จัก จะไปไม่รอด เช่น

  1. นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเฉลียวฉลาด แต่ขาดสามัญสำนึกเรื่องความปลอดภัย
  2. Large Hadron Collider (LHC) เครื่องเร่งอนุภาคความเร็วสูงที่พยายามจะจำลองสภาพการเกิดบิ๊กแบง เพื่อศึกษาอนุภาคพื้นฐาน อาจสร้างบิ๊กแบงหรือหลุมดำขนาดเล็กๆ ที่หลุดจากการควบคุมแล้วทำลายล้างทุกสิ่งรอบตัว หรือการระเบิดของซูเปอร์โนวาในอวกาศอันไกลโพ้น ซึ่งเรามองไม่เห็นเพราะแสงเดินทางมาเร็วเท่ากับความเร็วแสงเท่านั้น อันหลังนี่ ถ้าเจอเข้าก็เป็นแจ็คพอตแตกคือไม่รู้ตัวเลยล่ะครับ
  3. การทำลายล้างทางนิวเคลียร์
  4. สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง โลกร้อน ยุคน้ำแข็ง อากาศเป็นพิษ พายุรุนแรง แห้งแล้งยาวนาน ฯลฯ
  5. เชื้อโรคล้างโลก พื้นที่ที่มนุษย์ไม่เคยไป วันนี้กลับอยู่ไม่ “ไกล” เหมือนเคย เช่นป่าอเมซอนถูกบุกรุกเข้าไปเรื่อยๆ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ธารน้ำแข็งละลาย อากาศที่ถูกน้ำแข็งจับไว้หลายแสนปี ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศอีกครั้งหนึ่ง
  6. Gray Goo หุ่นยนต์จิ๋ว (nanobot) ที่สร้างตัวเองได้ หลุดจากการควบคุมแล้วไม่หยุดสร้างตัวเอง จนในที่สุดก็ทำลายทุกอย่างไร
  7. INFORMATION MELTDOWN

โดยรวมผมไม่ได้มองหนังสือนี้เป็นคำทำนาย แต่ก็น่าสังเกตว่าเกือบทั้งหมดนี้มนุษย์ทำ จะด้วยความไม่รู้ ความประมาท ความโง่ หรืออารมณ์ก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย อาจก่อให้เกิดผลใหญ่หลวง [Butterfly effect] [Tragedy of the anticommons] [การรับมือสิ่งท้าทายอุบัติใหม่] ผมมองเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เตือนว่าจุดใดเสี่ยง แล้วจะ “ทำ” อะไรกับมัน

บันทึกนี้ หยิบมาเฉพาะข้อ 7 นะครับ

อ่านต่อ »


บ่อน้ำทะเลร้อน

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 27 December 2010 เวลา 18:03 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, เทคโนโลยีชาวบ้าน #
อ่าน: 4386

เรื่องนี้เป็นเรื่องของ Solar pond ครับ เป็นบ่อเก็บกักความร้อนจากพลังานแสงอาทิตย์ มีประสิทธิภาพต่ำ แต่ว่าแทบไม่มีต้นทุนเลยเนื่องจากบ่อได้รับความร้อนมาจากแสงอาทิตย์ซึ่งไม่มีต้นทุน

น้ำทะเลนอกจากมีความเค็ม แล้วยังมีอีกลักษณะหนึ่งคือน้ำที่เค็มกว่า มีความหนาแน่นมากกว่า ก็จะจมลงข้างล่าง ในขณะที่น้ำที่จืดกว่าจะลอยอยู่ที่ผิวหน้า ดังนั้นเมื่อเอาน้ำทะเลใส่ลงในบ่อทิ้งไว้ ก็จะเกิดการแยกตัวเป็นชั้นๆ โดยความเค็มจะเพิ่มขึ้นตามความลึก

ถึงอย่างไรก็ตาม แม้น้ำทะเลจะมีเกลือและสิ่งเจือปนอื่นๆ ละลายอยู่ แต่ก็ยัง “ใส” พอที่ให้แสงแดดผ่านลงไปได้ เมื่อแสงผ่านลงไปกระทบน้ำหรือกระทบก้นบ่อ จะเกิดความร้อนขึ้น ตากไปตามมา น้ำก็ร้อนขึ้นมาก

พอน้ำร้อน มักจะลอยตัวขึ้นข้างบน ถ้าเป็นบ่อน้ำปกติ พอน้ำลอยขึ้นมาถึงผิวหน้า ก็จะปล่อยความร้อนให้อากาศ แล้วจมลงไปใหม่ แต่ในบ่อ solar pond น้ำทำอย่างนั้นไม่ได้เนื่องจากน้ำมีความเข้มข้นของเกลือละลายอยู่ จึงมีน้ำหนักมาก น้ำเกลือเข้มข้นจากก้นบ่อไม่สามารถจะลอยขึ้นมาถึงผิวหน้าเพื่อปล่อยความร้อนได้ ความร้อนจึงสะสมอยู่ที่ก้นบ่อเป็นจำนวนมาก — ถ้าน้ำพร่องไปจากการระเหยที่ผิวหน้าหรือรั่วซึมที่ขอบบ่อ ก็เติมนำทะเลลงไปครับ

ในกรณีที่แดดดีๆ น้ำที่ก้นบ่ออาจมีอุณณหภูมิถึง 80-90°C (ขึ้นกับความลึกของบ่อและความเค็มของน้ำเกลือ) — ในขณะที่น้ำที่เค็มน้อยกว่าที่ผิวหน้า สามารถปล่อยความร้อนให้อากาศได้ดี จึงมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า อาจจะสัก 30°C

อ่านต่อ »


ความมั่นคงสามแนวทาง เพื่อให้อยู่ได้

อ่าน: 4053

นอกเหนือจากปัจจัยสี่ (อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค) ซึ่งเป็นความจำเป็นขั้นต่ำสุดต่อการดำรงชีวิตแล้ว มีปัจจัยสำคัญสามอย่าง ที่จำเป็นต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือความมั่นคงสามแนวทางได้แก่ อาหาร น้ำ และพลังงาน ทั้งสามมีนัยสำคัญต่อ “สภาพ” ของสังคมมนุษย์ หากขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเกิดความวุ่นวายขนานใหญ่จนลุกลามเป็นสงครามได้

อาหาร

เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างพอเพียงต่อการเจริญเติบโต และครบถ้วน เมืองไทยมีดิน(บางส่วน)อุดมสมบูรณ์ จากน้ำท่วมที่ลุ่มภาคกลาง แต่ในพื้นที่อื่นๆ เรากลับทำลายดินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เริ่มด้วยการถางป่า ทำให้ดินถูกแดดเผา เร่งให้ความอุดมสมบูรณ์​ (humus) สลายไปหมด ซึ่งโดยธรรมชาติ มันก็ค่อยๆสลายที่อุณหภูมิสูงกว่า 25°C อยู่แล้ว เมื่อไม่มีร่มเงาของต้นไม้ ดินที่ถูกแดดเผา อาจมีอุณหภูมิสูงกว่า 70°C กลายเป็นดินทรายไปหมด ใส่ปุ๋ยเท่าไหร่ ความอุดมสมบูรณ์ก็ถูกทำลายไปอีกซ้ำซาก เพราะว่าไม่ได้แก้ที่สาเหตุ

ยิ่งทำการเกษตร ก็ยิ่งจน ที่ดินของปู่ย่าตายายก็รักษาไว้ไม่ได้ เห็นแก่เงินเฉพาะหน้า พอนายทุนมากว้านซื้อ ก็รีบขายไปหมด เมื่อไม่มีที่ทำกิน ก็ไปบุกรุกพื้นที่ป่า ทำลายต้นไม้หนักเข้าไปอีก เมื่อพื้นที่ป่าหายไปมากเข้า ความชื้นไม่มี ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ผลผลิตต่ำเป็นหนี้เป็นสิน เป็นวังวนไม่รู้จบสิ้น

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2542 โลกมีประชากรเกินหกพันล้านคน และจะมีเกินเจ็ดพันล้านคนในปี 2555… ถึงมีคนมากขึ้น แต่กลับมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง พื้นที่เพาะปลูกที่มีก็ไม่รู้จักบำรุงรักษา

โดยนิยาม ทรัพยากรเป็นสิ่งที่ทีค่า แต่มีอยู่อย่างจำกัด หากถลุงใช้กันตามสบายโดยเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งแล้ว ทรัพยากรมีแต่จะหมดไปอย่างรวดเร็วและเปล่าประโยชน์ [tragedy of the commons ] [tyranny of small decisions]

อ่านต่อ »


กิจกรรมบนดวงอาทิตย์ ทำลายโลกได้หรือไม่

อ่าน: 4766

คำถามแบบชื่อบันทึกนี้ ไม่อยากตอบเลยครับ…

การปฏิเสธว่า “ไม่” นั้น ไม่สมเหตุผลทั้งปวงเพราะว่าผมไม่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง; ส่วนการตอบว่า “ได้” ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ เท่าที่รู้ — แต่ว่าถ้าถามว่า ในห้าสิบปีที่ผ่านมา กิจกรรมบนดวงอาทิตย์ทำลายโลกหรือไม่ อันนี้ตอบได้ว่าไม่ เพราะผมมีชีวิตอยู่ตลอดช่วงเวลาในคำถาม ถ้าโลกถูกทำลายผมมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ อย่าคาดหวังคำตอบสั้นๆ ที่ฉาบฉวยว่าได้หรือไม่ได้เลยครับ อะไรๆ ที่ยังไม่เกิดก็เป็นไปได้ทั้งนั้นล่ะ ประเด็นมันอยู่ที่ว่าความเสี่ยงของสาเหตุแบบต่างๆ นั้น มีอยู่เท่าไหร่ต่างหาก

ดวงอาทิตย์อยู่ห่างโลก 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 93 ล้านไมล์ แต่ดวงอาทิตย์เช่นกัน เปล่งพลังงานมาหล่อเลี้ยงโลกมาตั้งแต่ต้น พลังงานของดวงอาทิตย์เกิดจากปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นที่แกนกลาง ก่อให้เกิดความร้อนมหาศาล ความร้อนภายในเนื้อของดวงอาทิตย์นี้ ถูกถ่ายเทจากแกนกลางออกมาสู่ผิวหน้า วนเวียนไปมาช้าๆ ในรูปของพลาสมา (ก๊าซร้อนยิ่งยวด) แผ่เป็นพลังงานหล่อเลี้ยงโลกมาตั้งแต่กำเนิด

ไม่แต่รังสีความร้อน กระบวนการไหลของพลาสมาในพื้นผิวของดวงอาทิตย์ เกิดการปะทุปล่อยก๊าซร้อนยิ่งยวดออกสู่อวกาศ สร้างสนามแม่เหล็กความเข้มข้นสูง เกิดลมสุริยะ (ถ้ารุนแรง เรียกพายุสุริยะ) เกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์ ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่ากิจกรรมของดวงอาทิตย์​ซึ่งนักดาราศาสตร์เฝ้าศึกษามา 400 ปี พบว่ากิจกรรมบนดวงอาทิตย์ เกิดเป็นช่วงๆ บางปีสงบ-บางปีอลหม่าน ในปีที่อลหม่าน (Solar Maximum) ก็จะมีการเกิดจุดดับมากผิดปกติ มีการปะทุที่ผิวปล่อยสนามแม่เหล็กและลมพายุสุริยะมากผิดปกติ

อ่านต่อ »



Main: 0.11194109916687 sec
Sidebar: 0.21560406684875 sec