ปีกบินตรวจการณ์

6 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 9 February 2011 เวลา 13:04 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, เทคโนโลยีชาวบ้าน #
อ่าน: 4538

เมื่อคืน คุยกับ @iwhale ก่อนเริ่มงาน Ignite Thailand++ หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเครื่องบินตรวจการณ์

ดูรูปทางขวาแล้ว ไม่แปลกใจที่ทำไมจังหวัดทางภาคเหนือ จึงได้มีปัญหาหมอกควัน คือพอเกิดไฟป่าแล้วเราไม่รู้ว่าเกิดตรงไหน นับประสาอะไรกับการเข้าไปดับไฟ

จุดแดง คือจุดที่เกิดไฟป่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

จะเห็นว่ามีจุดแดงอยู่นอกประเทศก็มาก ซึ่งเราคงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากพูดคุยกัน แต่ในเขตป่าของเมืองไทยก็มีเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ดาวเทียมเหมาะกับเรื่องแบบนี้ แต่เราดันไม่มีดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ก็ต้องไปซื้อภาพถ่ายจากดาวเทียมจากบริษัทต่างประเทศ ถึงมีเงินจะซื้อก็ตาม ดาวเทียมมีวงโคจร ไม่ได้ผ่านจุดต่างๆ ที่เราต้องการ ในเวลาที่เราต้องการ บางทีต้องรอสองสามวัน ซึ่งสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปแล้ว

ว่ากันที่จริงแล้ว สามารถใช้เครื่องบิน/เครื่องร่อนไร้คนขับ บินถ่ายภาพได้นะครับ

อ่านต่อ »


หลุมหลบภัย

อ่าน: 4409

ข่าวการสู้รบที่ชายแดนแสดงอาการไม่ค่อยดี มีพลเรือนได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

รูปทรงเรขาคณิตที่รับแรงได้ดีที่สุดคือทรงกลม ซึ่งสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันเคยใช้บังเกอร์ส่วนตัวเป็นรูปทรงกลม แต่บังเกอร์แบบนี้ก็มีปัญหาในตัวเอง คืออยู่ได้คนเดียว ไม่เหมาะสำหรับเป็นที่หลบภัยสำหรับพลเรือนจำนวนมาก

บังเกอร์ที่ตั้งอยู่บนพื้น จะเป็นเป้าหมายของกระสุน จึงควรลงไปหลบอยู่ใต้ดินมากกว่า โดยขุดดินลงไปให้กว้างพอ แต่ไม่ต้องลึกนัก เป็นลักษณะแบบสนามเพลาะ เอาไว้หลบอย่างเดียว

สนามเพลาะแบบเปิดด้านบน สร้างง่าย รวดเร็ว แต่ไม่สามารถจะกันสะเก็ดจากด้านบนได้ ระเบิดจากกระสุนปืนใหญ่ จรวด หรือระเบิดจากเครื่องบิน ระเบิดขึ้นด้านบน แต่ส่งแรงอัดไปยังดินด้วย แม้แรงส่วนใหญ่ (น่าจะ) ลงในแนวดิ่ง แต่ก็มีแรงที่ส่งออกทางด้านข้างด้วยเหมือนกัน

ดังนั้นหากใช้ท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 เมตร วางลงไปในสนามเพลาะที่ขุดขึ้น แล้วเอาดินกลบตรงกลางโดยเปิดหัว-ท้ายไว้ ก็จะเป็นบังเกอร์อย่างดี

อ่านต่อ »


วอลเปเปอร์ถุงขนมแก้หนาว

อ่าน: 4432

หนาวจนจะหมดหนาวอยู่แล้ว แต่ผมยังติดใจเรื่องผ้าห่มที่ทำจากหนังสือพิมพ์อยู่ครับ หมึกพิมพ์มีตะกั่ว จึงไม่เหมาะจะเอามาทำผ้าห่ม หรือปิดฝาบ้านกันลมเย็นจากรอยแยกในฝาบ้าน

แต่เมืองไทยนี้ มีวัฒนธรรมกินขนมแบบฉีกซองที่จริงจังมาก ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง หมึกพิมพ์บนซองขนมไม่เลอะเทอะ แถมซองก็ต้องทิ้งอยู่แล้ว ทำไมไม่เอามาต่อกันเป็นแผ่นใหญ่ๆ แปะฝาบ้านกันความเย็นจากภายนอก และรักษาความอบอุ่นไว้ภายใน

ไอเดียนี้ เริ่มมาจากที่มีคำแนะนำให้คนไม่มีที่อยู่ ที่อาศัยนอนตามถนนในเมืองที่มีอากาศหนาวจัด ใช้ผ้าห่มฉุกเฉินรักษาความอบอุ่นของร่างกาย… อืม แล้วจะไปเอาผ้าห่มมาจากไหน ก็เลยมีชาวบ้านแนะนำซ้อนขึ้นมาอีกทีหนึ่ง บอกว่าทำเองดิ

เอาถุงขนมห่อที่ทิ้งแล้ว มาล้างและตัดให้แผ่ออก จากนั้นก็ปะเทปผสานกันหลายๆ ถุง กลายเป็นผืนใหญ่… ดูไปก็ง่ายดีครับ ทำเป็นสุ่มไก่แทนเสื้อกันหนาวก็ไม่เลว


เตาจรวด

อ่าน: 5217

อันที่จริง เรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรหรอกครับ แต่นำมาเขียนอีกเพราะผมไม่คิดว่าการเผาฟืนในที่โล่งแจ้งเพื่อสร้างความอบอุ่น จะเป็นวิธีการที่ดี ควันไฟมีอันตรายต่อผู้ที่สูดดม แม้จะไม่เห็นผลในทันใด แต่ก็คล้ายกับการสูบบุหรี่ — แต่เวลามันหนาวจับขั้วหัวใจ จะบอกไม่ให้ก่อกองไฟแล้วดันไม่มีวิธีอื่นทดแทน อย่างนี้คงคุยกันไม่รู้เรื่อง

เตานี้เป็นเตาธรรมดา คล้ายเตาอั้งโล่นั่นแหละครับ เปิดช่องให้อากาศเข้าทางเดียว และให้ความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ออกทางเดียวคือทางปล่องด้านบน เรียกว่า rocket stove ใช้เศษกิ่งไม้เล็กๆ เป็นเชื้อเพลิง ไม่ต้องใช้ฟืนดุ้นใหญ่ ซึ่งต้องไปตัดต้นไม้ต้นใหญ่มาเพื่อที่จะติดไฟนานๆ

การทำปล่องเอาไว้ ทำให้เกิด stack effect [ปล่อง] เป็นแรงดูดเปลวไฟและลมร้อนออกทางด้านบน ทำให้เตาดูดอากาศเข้ามายังห้องเผาไหม้จากด้านล่าง เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ขึ้น (เปลี่ยนเชื่อเพลิงไปเป็นความร้อนได้ดีขึ้น) ควันน้อยหรือไม่มีควัน

สามารถสร้างได้ง่ายๆ โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น จะเป็นการก่อดินก็ได้ หรือจะใช้อิฐก่อ ก็แล้วแต่สะดวก

อ่านต่อ »


ถอดบทเรียนน้ำท่วมปลายปี 2553

1 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 24 January 2011 เวลา 9:31 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3291

ช่วงปลายปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยประสบภัยธรรมชาติต่อเนื่องกันหลายระลอก

ภัยธรรมชาติเกิดจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราทำลายธรรมชาติเองด้วยความต้องการพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ สภาพป่าทั่วประเทศลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสี่ของพื้นที่

เมื่อเกิดฝนตกหนัก เราไม่มีป่าเพียงพอที่จะชะลอหรือดูดซับน้ำไว้ได้มากเหมือนในอดีต สภาพดินที่ถูกถางจนเตียน ทำให้หน้าดินเปิดรับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ นอกจากแสงอาทิตย์จะทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว ยังทำให้ดินร้อนจัด อากาศเหนือพื้นดินก็ร้อนขึ้นตามไปด้วย ยังผลให้เมฆไม่สามารถก่อตัวเหนือพื้นดินได้ ดังนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์ที่เวลาแล้งก็แล้งจัด เวลาฝนตกหนัก การที่ไม่มีต้นไม้มาชะลอน้ำไว้ ทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนเทือกสวนไร่นา เกิดปัญหาเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก

ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่ภัยธรรมชาติจะเลื่อนสถานะเป็นภัยพิบัติตามนิยามของสหประชาชาติก็ต่อเมื่อเป็นสถานการณ์หรือเหตการณ์ที่เกินกำลังของคนในพื้นที่ที่จะจัดการเอง จำเป็นต้องร้องขอ ระดมความช่วยเหลือจากคนนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะจากในประเทศหรือระหว่างประเทศก็ตาม

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ.2553 เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม เกิดฝนตกหนักทางตอนเหนือของประเทศเป็นปริมาณมาก ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งต่ำมากจนใกล้ระดับวิกฤติ เนื่องจากเขื่อนขนาดใหญ่ปล่อยน้ำซึ่งก็มีไม่มากลงมาบรรเทาภัยแล้งมาตั้งแต่ต้นปี จนเมื่อฝนตกหนักทางเหนือ ร่องน้ำที่นำไปสู่เขื่อนก็เป็นโอกาสที่เขื่อนจะเก็บกักน้ำเอาไว้ได้ ชดเชยน้ำที่ปล่อยออกไปก่อนหน้า

แต่มีน้ำฝนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ตกเหนือเขื่อน น้ำฝนปริมาณมากไม่มีเขื่อนกักเก็บ ไม่มีป่าที่คอยชะลอน้ำไว้ จึงไหลบ่าลงท่วมพื้นที่สุโขทัยและพิษณุโลกมานาน ก่อนที่จะเกิดกรณีฝนตกหนักในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเกิดน้ำท่วมนครราชสีมาและลุ่มน้ำมูลในอีสานใต้ในเวลาต่อมา ต้นเดือนพฤศจิกายน เกิดพายุดีเพรสชั่นทางใต้ ทำให้ฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมและดินถล่มเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัด

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและวาตภัยทั่วประเทศประมาณ 9 ล้านคน — คิดเป็นกว่า 13% ของประชากร เกิดความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วนของสังคมไทยในการบรรเทาทุกข์ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถบรรเทาทุพภิกขภัยอันเกิดเป็นวงกว้างได้อย่างทั่วถึง ยังมีความล่าช้า ยังมีความรั่วไหลในกระบวนการบรรเทาทุกข์ มีความซ้ำซ้อน มีประสิทธิภาพที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก

อ่านต่อ »


เตากระป๋องแบบ down draft gasifier

อ่าน: 6783

เตาแบบนี้ก็ง่ายดีครับ ไม่ต้องเชื่อมด้วย เสียงบรรยายอู้อี้ไปหน่อย ดูแล้วเข้าใจดี แต่ก็ไม่รู้จะหากระป๋องขนาดเหมาะได้หรือเปล่า

อ่านต่อ »


ทดลอง gasifier กระป๋อง

อ่าน: 5930

จากบันทึก [แบบสำหรับสร้างเตา Gasification แบบ Updraft] อ.ทวิชให้ความเห็นว่า

…แต่ว่าเตานี้มี secondary air มาช่วยลด CO ลง (CO เป็นสารพิษในการเผาไหม้ บางทีมีมากบางทีมีน้อย และยังทำให้เตามีปสภ. ต่ำ ถ้าเอา 2nd air เข้ามาทำให้เป็น CO_2 ก็จะได้สองต่อคือ ลดมลพิษ และ เพิ่ม ปสภ.การเผาไหม้ครับ)

กะกะดูด้วยตา ผมยังเห็นว่า 2nd air อาจมากเกินจำเป็น ซึ่งจะมีข้อเสียคือ ทำให้เปลวไฟมีอุณหภูมิต่ำ ทำให้ลดปสภ.การหุงต้ม (ถ้านี่จะเอาไปใช้ในการหุงต้ม)…

เรื่องนี้น่าคิดครับ ถ้า secondary air มากเกินไป ก็จะเป็นอย่าง อ.ทวิชว่าไว้ ดังนั้นผมก็จะลองดัดแปลงแบบของเตาเสียใหม่ ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไรนะครับ

กระบอกใน (burn chamber) ใช้กระป๋องน้ำอัดลมเพื่อให้ผิวกระป๋องนำความร้อนจากภายใน ออกมาอุ่นอากาศที่อยู่ระหว่างผิวของกระป๋องทั้งสอง กระป๋องในเจาะรูขนาด 4 มม.รอบกระป๋องตามแบบเก่า

ส่วนกระป๋องนอกเป็นดินเหนียว เผอิญได้กระป๋องขนาดพอเหมาะ แต่ของข้างในยังไม่หมด ก็เลยเอากระดาษห่อ แล้วเอาดินเหนียวมาพอก จะได้เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดพอดี จากนั้นก็เอาดอกส่วนขนาด 13 มม. แทงทะลุดินเหนียว

อ่านต่อ »


ผนังที่เป็นฉนวน

อ่าน: 6200

เมื่อตอนเด็กๆ จำได้ว่าเคยมีการระดมทำผ้าห่ม โดยการเอากระดาษหนังสือพิมพ์ ทาแป้งเปียก มาต่อกัน เย็บขอบเป็นผืนใหญ่

หลักการก็คืออากาศ(นิ่ง) ระหว่างชั้นของหนังสือพิมพ์ กลายเป็นฉนวนความร้อน ป้องกันความเย็นจากภายนอก และรักษาความอบอุ่นของร่างกายไว้ภายใน แต่ผ้าห่มแบบนี้ ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากหมึกพิมพ์เลอะเทอะเสื้อผ้า ซักออกยาก แถมมีตะกั่วผสมอยู่ในหมึกพิมพ์อีกด้วย ในสมัยนั้น ผมก็ไม่รู้หรอกนะครับว่า เด็กในเมืองที่ครูสั่งให้หากระดาษหนังสือพิมพ์(เก่าๆ)ทำกันยังไง เพราะหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้มีมากมายเหมือนปัจจุบัน

แต่ผมยังคิดว่าหลักการของฉนวนอากาศ ยังใช้ได้อยู่ โดยแทนที่จะเอามาห่ม ก็ใช้แผ่นกระดาษปะฝาผนัง เพิ่มค่า R ให้ผนัง ซึ่งนอกจะป้องกันความเย็นจากนอกบ้าน เก็บรักษาความอบอุ่นไว้ในบ้านแล้ว ก็ยังกันลมเย็นจากรอยแยกตามช่องผนังไม้ (นึกถึงบ้านชาวเขา ซึ่งเป็นไม้ขัดกัน ฯลฯ) เวลาใช้กระดาษเป็นฉนวนติดผนังแล้ว ก็สามารถลดการสัมผัสผิวหนังลงไปได้ ช่วยป้องกันความหนาวเย็นแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะลงไปผิงไฟไม่ไหว

ตามโรงเรียน สามารถใช้กระดาษหลายชั้นปิดผนัง (ระวังน้ำหนัก) ปิดทับหน้าต่างกระจกซึ่งเป็นจุดที่ห้องสูญเสียความร้อนมาก

  • Plastic sheeting ฝรั่งใช้พลาสสิกแผ่นทำแบบเดียวกัน
  • Cold Climate Emergency Shelter Systems ที่พักฉุกเฉินสำหรับอากาศหนาว เป็นเหมือนเต้นท์แบบครึ่งทรงกระบอก ใช้ท่อพีวีซีขนาดเล็ก มางอให้โค้งเป็นครึ่งวงกลมใช้เป็นโครงหลังคา (งอได้ง่ายๆ) แล้วเอาผ้าเต้นท์ ไยไฟเบอร์ หรืออย่างกรณีไม่มีงบสร้างจริงๆ ก็ใช้กระดาษเก่าหลายชั้นคลุมเป็นหลังคาแทนได้

อ่านต่อ »


น้ำตาลลองกอง ได้หรือไม่

อ่าน: 3947

เมื่อปลายปี 2549 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ประกาศงานวิจัยเรื่องน้ำตาลลำไย [ผลไม้ราคาตกต่ำ (ลำไย)] เป็นการแปรรูปลำไยซึ่งขณะนั้นมีปริมาณล้นตลาด ไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงขึ้น

มีอีเมลแจ้งข่าวมาเมื่อคืน ว่าตอนนี้การฟื้นฟูจากอุทกภัยและวาตภัยทางใต้ยังไม่เสร็จสิ้น ชาวบ้านชายฝั่งที่ปัตตานีทำประมงไม่ได้มาสองเดือนกว่าแล้ว เพราะว่าเรือเสียหาย เมื่อไม่มีเรือ ก็ไม่มีรายได้มาซ่อมแซมบ้านซึ่งเสียหายเหมือนกัน ฝนก็ยังตกอยู่ ความช่วยเหลือก็เข้าไม่ถึง มีชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นหัวคะแนนเป็นจำนวนมาก ตกสำรวจได้เป็นเอกฉันท์ซะทุกครั้ง ชาวบ้านเครียดจัดเพราะไม่มีอะไรทำ ไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต แล้วก็อาจจะเกิดเป็นเงื่อนไขแบบที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นมา

ที่ปัตตานี มีการประกันราคาลองกอง โดยมีราคาประกัน เกรดเอ 24 บาท เกรดบี 16 บาท และเกรดซี 8 บาท/กก. ข่าวไม่ได้พูดถึงค่าเก็บซึ่งอยู่ที่ 3 บาท/กก. แบบนี้ชาวสวนที่มีลองกองเกรดต่ำก็คงไม่ได้อะไรเท่าไหร่หรอกนะครับ ตอนนี้ไม่ใช่หน้าลองกองเสียด้วยซิ

แต่ถึงอย่างไรก็ยังน่าคิด ว่าถ้าหากทดลองนำลองกองเกรดต่ำมา ปอกเปลือกลองกอง(เพราะมียาง) แล้วเอามาปั่นคั้นน้ำหวาน(ด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้) กรองกากออก(กากผสมน้ำแล้วคั้นเอาความหวานได้อีก) ไล่น้ำ ตกตะกอน ด้วย yield สัก 50% — ตัวเลขสมมุตินะครับ — ลองกอง 1 กก. ได้น้ำตาลลองกอง 0.5 กก. ดังนั้นน้ำตาลลองกอง จะมีต้นทุน 16 บาท/กก. ในขณะที่น้ำตาลขาดตลาดและมีราคาแพงกว่านั้น กำไรที่อาจจะได้มา ก็เอามาแบ่งให้ชาวบ้านอีกเด้งหนึ่ง นอกเหนือจากค่าแรงที่ได้ไปก่อน

อ่านต่อ »


แบบสำหรับสร้างเตา Gasification แบบ Updraft

3 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 11 January 2011 เวลา 4:50 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, เทคโนโลยีชาวบ้าน #
อ่าน: 6792

ไม่อยากเรียกว่าเป็นสูตรเลยนะครับ แต่เตา gasification หากปรับส่วนผสมของอากาศไม่ดี ก็จะเกิดการเผาใหม้ที่ไม่สมบูรณ์ มีควัน มีเขม่าได้ [ไต้ไม่มีควัน] [Biochar ปรับปรุงดินและลดโลกร้อน] [ก๊าซเชื้อเพลิงจากเศษไม้ ตอน 1-4]

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระบวนการ gasification เหลือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศเพียง 70 ppm จากปัจจุบัน 388.15 ppm — แต่มันมีเงื่อนไขสำคัญว่า (1) ใช้ไม้แห้งเป็นเชื้อเพลิง (2) ต้องมีพื้นที่ให้อากาศผสมกับก๊าซที่ออกมาจากกระบวนการ gasification และมีพื้นที่ให้เผาไหม้อย่างเพียงพอ เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ทีี่สมบูรณ์

เรื่องนี้ ว่ากันจริงๆ น่าจะขึ้นกับชนิดของไม้ที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงด้วยนะครับ ถ้าเป็นไม้เนื้อแข็งก็ผสมอากาศด้วยสัดส่วนหนึ่ง ถ้าไม้เนื้ออ่อนก็อีกสัดส่วนหนึ่ง

แต่ถ้าหากจะทำเพื่อทดลอง อาจจะยุ่งยากที่จะทำลิ้นปรับ secondary air ที่วิ่งระหว่างกระป๋องทั้งสองชั้น ดังนั้นก็เอาอย่างนี้ล่ะครับ

1. กระป๋องนอกพร้อมฝาปิด ใหญ่กว่าประป๋องในซึ่งไม่ต้องมีฝาปิด ประมาณ 1 ซม.
2. เมื่อเอากระป๋องใน ใส่ไปในกระป๋องนอก กระป๋องในจะเตี้ยกว่าประมาณ 1 ซม.
3. ถ้าเตี้ยเกินไป หากระป๋องในใหม่ ถ้าสูงเกินไป ตัดออกจนได้ระดับ
4. ฝาของกระป๋องนอก เจาะรูกลมขนาดครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลางของกระป๋องใน
5. ที่ขอบล่างของกระป๋องนอก เจาะรูขนาด 1.2-1.5 ซม. (ขนาด d ซม.) แล้วแต่ว่ามีดอกสว่านขนาดไหน
6. สำหรับกระป๋องใน ใช้ดอกส่วนขนาด 4 มม. เจาะที่ระยะ d+½เส้นผ่าศูนย์กลางของกระป๋องนอก เจาะรูให้เยอะเท่าที่จะเยอะได้ ให้รอบกระป๋อง
7. ใส่เศษไม้แห้ง จนห่างขอบบนของกระป๋องในเป็นระยะ d+½เส้นผ่าศูนย์กลางของกระป๋องนอก
8. จุดไฟจากด้านบน โดยใช้น้ำมันหรือแอลกอฮอล์สัก 1-2 ช้อนชา หรือว่าเทียนเล่มจิ๋ว พอช่วยให้เชื้อเพลิงไม้ติดไฟ
9. พอไฟติดแล้ว ปิดฝา
10. (ถ้าสองกระป๋องเลื่อนไปมา ไม่อยู่ตรงกลาง เจาะรูร้อยน๊อตที่ก้นกระป๋องได้)

อ่านต่อ »



Main: 0.12973403930664 sec
Sidebar: 0.18378090858459 sec