ให้น้ำที่ปลายราก
คำว่าแล้งนั้น นักอุตุนิยมวิทยาให้นิยามไว้ว่ามีฝนไม่เกิน 0.25 มม. ในรอบ 15 วัน
พูดง่ายๆ ก็คือฝนไม่ตกน่ะครับ ถ้าฝนไม่ตกแล้วมีเมฆบ้าง ก็ยังพอบรรเทาไปได้ แต่บ้านเราแดดจัดมาก ถ้าไม่มีเมฆมาบังแสงแดดอีก ดินถูกแดดเผาก็จะทำให้น้ำระเหยออกไปมาก จนดินแห้ง แตกระแหง แถมปุ๋ยอินทรีย์ก็สลายตัว จุลินทรีย์ในดินมีชีวิตอยู่ได้ลำบากหากอุณหภูมิของดินสูงขึ้นมาก หลายเด้งเหลือเกิน แต่ปัญหาใหญ่คือพืชพันธุ์ธัญหารเสียหาย จากการที่ระบบรากทำงานไม่ได้เนื่องจากน้ำใต้ดินหายไป
เรียนกันมาตั้งแต่เด็กว่ารากทำงานโดยกระบวนการออสโมซิส ตอบข้อสอบได้ก็โอเคแล้ว ที่เราไม่ค่อยคิดกันต่อคือออสโมซิสอะไร จริงอยู่ที่คำตอบตามตำราก็จะออกไปในทำนองที่ว่า ออสโมซิสคือกระบวนการดูดซึมสารละลายที่มีความหนาแน่นต่ำ ผ่านเนื้อเยื่อไปสู่ที่ที่มีความหนาแน่นสูง กระบวนการนี้ทำงานที่ปลายราก พืชต้องการน้ำใต้ดินไปละลายสารอาหารที่อยู่ในดิน เพื่อที่ปลายรากซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อน จะดูดซึมผ่านราก-ลำต้น-กิ่ง ส่งไปที่ใบเพื่อสังเคราะห์แสง
แต่ความหมายที่ไม่ค่อยคิดกันคือ เวลารดน้ำต้นไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ต้องประหยัดน้ำ ก็ควรจะส่งน้ำไปที่ปลายรากครับ ไม่ใช่รดใบ รดโคนต้น หรือรดไปเรื่อยๆ เพียงเพื่อจะได้สบายใจว่ารดน้ำต้นไม้แล้ว
ที่เป็นปลายรากเพราะปลายรากเป็นเนื้อเยื่ออ่อน สารอาหารของพืชที่ละลายอยู่ในน้ำพอจะซึมผ่านได้ แต่ถ้าเป็นกลางราก น้ำซึมผ่านไม่ได้ครับ
แต่มันก็มีปัญหาใหญ่ คือรากอยู่ใต้ดิน แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่าปลายรากอยู่ตรงไหนล่ะ? ตอบตรงๆ ว่าไม่รู้เหมือนกันครับ อันนี้อาจพอกะได้เหมือนกัน แต่ก็ขึ้นกับว่าจริงๆ แล้ว เรารู้จักต้นไม้ที่ปลูกมากแค่ไหน