สังคมและส่วนรวม
พระบรมราโชวาท เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้
พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
วันจันทร์ ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๙
ในวันนี้ได้มามอบปริญญาแก่นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ วิทยาเขตนี้ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มา คราวก่อนๆ นี้ก็ได้เคยไปมอบปริญญาที่ปัตตานีและเกิดปัญหาขึ้นมาว่า มหาวิทยาลัยนี้มีวิทยาเขตถึง ๒ แห่ง และเกิดความน้อยใจกันว่าทำไมไปมอบปริญญาที่แห่งเดียวไม่มา ณ ที่นี่ บัดนี้ก็ได้แก้ไขสถานการณ์แล้วได้มาที่นี่เมื่อปีที่แล้วที่ปัตตานีก็ได้พบกับนักศึกษาที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยเหมือนกัน และก็ได้แจ้งต่อเขาว่าในปีหน้า คือปีนี้จะมาที่หาดใหญ่ ก็ไม่มีข้อที่จะเกิดความเข้าใจผิดกัน อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เข้าในงานมอบปริญญาที่ไหนก็ตาม มีความรู้สึกว่ามีความยินดี เพราะเห็นผู้มีความรู้ คือผู้ที่ได้เล่าเรียนในวิชาการต่างๆ ได้สำเร็จการศึกษา และจะออกไปปฏิบัติงานตามความรู้ที่มี เป็นความรู้ที่มีความแตกต่างกันหลายสาขา รวมความที่เรียกว่าศิลปวิทยา
ศิลปวิทยานี้คือความรู้ในวิชาการ ความรู้ในวิชาการนี้แบ่งเป็นหลายชนิดด้วยกันและต้องใช้กันทั้งนั้น สำหรับให้สังคมและประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง คือประเทศเรามีอยู่ตั้งอยู่ และสังคมก็คือทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเป็นสังคม สังคมนี้อยู่ร่วมกันเพื่ออะไร ก็เพื่อให้อยู่ได้สบาย มีความผาสุก ความมั่นคง อนาคตแจ่มใส เพื่อการนี้ เราก็ต้องใช้ความรู้เพื่อที่จะทะนุบำรุงความมั่นคงนี้ ทะนุบำรุงและส่งเสริมให้ความเป็นอยู่ อยู่อย่างสบายขึ้นทุกที ให้อยู่สบายขึ้นนี้ก็ต้องมีหลายอย่างประกอบกัน สิ่งที่สำคัญก็คือต้องเห็นอกเห็นใจกัน และเกื้อหนุนสนับสนุนซึ่งกันและกัน ถ้าเกื้อหนุนสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วยวิชาการก็ยิ่งดี ถ้าพูดถึงวิชาการในการอยู่เป็นสังคมก็เรียกว่าสังคมศาสตร์ ก็ต้องใช้วิชาการของสังคมศาสตร์มาทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปโดยสวัสดิภาพ คือให้รู้ว่า คนเรามาอยู่เป็นสังคมจะต้องมีระเบียบการอย่างไร เมื่อพูดถึงเช่นนี้ก็หมายความต้องมีวิชาทางด้านนิติศาสตร์มาประกอบด้วย คือจะต้องมีระเบียบการ มีกฎหมาย มีระเบียบที่มั่นคง ถ้าพูดถึงระเบียบมีกฎหมายนั้นก็จะต้องรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ คือการปกครอง ปกครองนี้ไม่ใช่กดขี่ ปกครองคือให้ทุกคนมีการเป็นอยู่โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยส่งเสริมผู้อื่น อันนี้ก็จะต้องมีการจัดระเบียบปกครองให้ดี เพื่อไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน เพราะแต่ละคนถ้าลืมไปว่าอยู่ในสังคม ก็อาจจะอยากมีเสรีภาพมาก แต่ละคนที่อยากมีเสรีภาพก็อาจจะนึกว่า นั่งที่ใดที่นั้น เป็นของตน และข้างเคียงของตนก็เป็นของตนเหมือนกัน ลืมไปว่ามีคนอื่นอยู่ข้างๆ อย่างท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่อย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้ ถ้าเกิดลืมขึ้นมา เกิดหลับหูหลับตาแล้วก็นึกว่าไม่มีใครอยู่ข้างๆ ก็เกิดบิดขี้เกียจขึ้นมา บิดไปบิดมาก็ไปโดนคนอื่น คนอื่นเขาก็เคืองเอา การเคืองของคนอื่นนั้นอาจจะแสดงออกมาในรูปต่างๆ กัน อาจจะบอกอย่าเลย อย่าทำอย่างนี้เป็นการกวนกัน แต่ถ้าเกิดใจร้อน ไม่ยั้งสติ อาจทะเลาะกันเลย ก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ใดเลย ทำให้ทั้งหมดอลเวง และทำให้ไม่มีความผาสุกมั่นคง
ฉะนั้น การที่อยู่เป็นสังคมก็จะต้องมีระเบียบ และมีความรู้ในเสรีภาพของตนนอกจากนี้ นอกจากระเบียบ และความรู้ถึงเสรีภาพ ถึงขอบเขตของเสรีภาพ ซึ่งหมายความว่า แต่ละคนจะต้องมีความรู้ในธรรมะ คือรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรถึงจะมีความเจริญ มีความดี มีความผาสุก เราก็ย่อมอยากอยู่ดีขึ้นตลอดไป การอยู่ดีขึ้นตลอดไปนั้นจะต้องมีวิชาการอย่างตอนนี้ เรานั่งอยู่ ยืนอยู่ในที่นี้ ก็เคราะห์ดีที่เวลานี้ฝนไม่ตก แต่ถ้าตกก็ยังไม่มีความเดือดร้อนเท่าไหร่ ไม่มีความลำบากเท่าไหร่ เพราะว่ามีหลังคาอยู่ ไม่เหมือนที่ปัตตานีเมื่อปีที่แล้วที่เดือดร้อน เพราะว่าการชุมนุมดังนี้ แบบนี้ กระทำข้างนอก ฝกตกก็ต้องลำบาก ต้องย้ายที่ เพราะว่ากลัวเปียกกัน คราวนี้ ถ้าสมมุติว่าฝกตกก็ไม่ค่อยเปียกกันแต่สำหรับอย่างนี้ก็ต้องสร้างหลังคา ต้องสร้างอาคาร การสร้างอาคารต้องใช้หลักวิชาวิทยาการที่เหมาะสม มิฉะนั้นอาคารอาจจะไม่แข็งแรง ถ้ามีพายุฝนขึ้นมาก็อาจจะล้มลงมา เกิดความไม่เรียบร้อยเกิดอันตราย ฉะนั้น อยากอยู่ดี อยากให้มีความสบายขึ้นก็ต้องอาศัยวิทยาการ ในที่นี้ก็วิทยาการในด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ฉะนั้น การอยู่ดีกินดี ก็ต้องอาศัยวิชาการ ว่าถึงวิชาการทางวิศวกรรมทางเกษตรกรรม ทางอื่นๆ ทางการแพทย์ ทางการศึกษา ทั้งหมดนี่ก็เป็นวิชาการที่ทำให้เราอยู่ดีขึ้น ก็จะต้องช่วยกันให้ผู้ที่มีความสามารถที่จะเรียนในสาขาวิชาต่างๆ นี้ ได้เรียน ได้มีความรู้ เพื่อที่จะบริการ เพื่อที่ทำงานให้ส่วนรวมมีความก้าวหน้าได้ ถ้าแต่ละคนได้เรียนรู้มาดีแล้ว ก็สามารถที่จะปฏิบัติตามที่มีความตั้งใจในใจตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไปว่าอยากจะทำงานเพื่อส่วนรวม
วันนี้ ขอพูดถึงการทำงานเพื่อส่วนรวม รายงานของอธิการบดีเมื่อตะกี้ในพิธีมอบปริญญาบัตร ก็ได้กล่าวถึงการพัฒนาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้ทำร่วมกับทางการ และทางประชาชน เพื่อสร้างความก้าวหน้าแก่ประชาชน และส่วนรวม การออกไปปฏิบัตินั้นส่วนมากที่ปฏิบัติกันค่อนข้างจะปฏิบัติทางดิ่ง หรือที่เรียกว่าทางตั้ง คือผู้ที่มีความรู้ไปปฏิบัติในท้องที่ และพยายามไปให้ความรู้หรือช่วยเหลือคนในท้องที่โดยให้ความรู้ในวิชาการของตน นักศึกษาที่ออกไปก็ไปในวิชาการของตัว ทั้งอาจารย์ก็ไปให้การปรึกษา การปรึกษาในทางวิชานั้นๆ ประชาชนหรือชาวบ้านจะได้รับประโยชน์ ก็เข้าใจว่าจะได้ในทางนั้น แต่ลืมไปว่าการพัฒนานี้ การรู้จักกันน่าจะรู้จักกันทางนอน หรือทางราบด้วยเหมือนกัน คือวิชาเช่นออกไปปฏิบัติในทางวิศวกรรมศาสตร์ วิชาการทางวิศวกรรมศาสตร์นี้ ถ้าไปปฏิบัติก็จะต้องดูสภาพของสิ่งที่เราจะไปทำในท้องที่ ก็หมายความว่ามองลงไปสู่พื้นฐานแล้วก็มองขึ้นไปทางวิชาการชั้นสูง ก็คือตำหรับตำราของการวิศวกรรม อันนี้เป็นการมองทางดิ่ง ทางตั้ง แต่ว่าต้องไม่ลืมว่าที่ไปปฏิบัตินั้น ชาวบ้านมีปัญหาทางวิศวกรรม แต่ก็มีปัญหาทางอื่นด้วย ทางความเป็นอยู่ ทางด้านการเพาะปลูก ทางด้านความสบายไม่สบายของกาย ทางด้านทำมาหากินเลี้ยงชีพ คือทางเศรษฐกิจ วิชาเหล่านี้คือเศรษฐกิจ ทางการแพทย์หรือ ทางการค้า ทางการเกษตร ทั้งนั้น เป็นวิชาการที่ไม่ใช่วิศวกรรม แต่ว่าชาวบ้านทุกคนต้องอาศัยทั้งนั้น ที่จริงไม่ใช่ชาวบ้าน จะเรียกว่าชาวบ้านก็ได้ ทุกคนก็เป็นชาวบ้าน เพราะต้องมีบ้านอยู่ ท่านทั้งหลายผู้เป็นนักศึกษาก็เป็นชาวบ้าน ท่านทั้งหลายก็มีความจำเป็นที่จะอาศัยทุกวิชาการ เพราะว่าเป็นผู้ที่มีกาย มีกายแล้วก็จะต้องอาศัยอาหารก็ต้องอาศัยสิ่งที่มาจากเกษตรกรรม มาจากอุตสาหกรรม มาจากการค้า ทุกอย่างนี้มาแตะต้องกายท่านทั้งนั้น รวมทั้งเวลาไม่สบายก็ต้องหาหมอ หรือถ้าไม่หาหมอท่านทั้งหลายก็จะต้องใช้วิชาหมอของตนเองที่รักษาตัวเอง ไม่รักษาไม่ได้ ฉะนั้น แต่ละคนเรียกว่าชาวบ้านทุกคน จะต้องมีการอาศัยวิชาการทุกด้านไม่ใช่เฉพาะในด้านที่คณะออกไปพัฒนาจะต้องให้คณะที่ออกไปเช่นยกตัวอย่างตะกี้ว่า นักวิศวกรรมออกไปก็จะต้องสนใจในขั้นต่างๆ กับวิชาอื่น เช่นจะสร้างเครื่องก็จะต้องสนใจในทางกสิกรรม เพราะว่า เครื่องโดยมากก็จะไปสำหรับช่วยในทางความเป็นอยู่ของกสิกร หรือผู้ที่ใช้วัสดุที่มาจากการกสิกรรมต้องรู้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เพราะว่าวัตถุที่เป็นกสิกรรมเป็นวัตถุดิบ เราจะให้เครื่องที่สร้างด้วยวิชาวิศวกรรมมาสำหรับดัดแปลงให้วัตถุดิบนั้นมีคุณค่ามากขึ้น และทำให้ขายได้ดี ก็เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เศรษฐกิจนี้เราก็จะต้องทราบว่า วัตถุนั้นมีราคาดีหรือไม่ดี ในสภาพใด ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงดัดแปลงคุณภาพให้ดีขึ้น ให้เก็บรักษาไว้ได้นาน หรือให้มีความบริสุทธิ์มากขึ้น จะขายได้ดีกว่าอย่างแน่นอน ก็เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอันนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ออกไปไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่จะรับผลประโยชน์ ผู้ที่ออกไปนึกว่าจะไปพัฒนา คือไปให้ประโยชน์ต่อผู้อื่นก็จะต้องมีความรู้รอบด้าน และติดต่อกับผู้อื่นที่อยู่ในระดับเดียวกันของตัวให้สอดคล้องกัน หมายความว่าผู้ที่เป็นนักศึกษาที่จะออกไปพัฒนา ออกไปช่วยและในเวลาเดียวก็ได้ความรู้ ขอให้มีความสอดคล้อง มีความรู้จัก และปรึกษาหารือกับนักศึกษาเพื่อนนักศึกษาที่ศึกษาในแขนงอื่น วิชาการอื่นๆ ด้วย ปรึกษาหารือกันในกิจการที่กำลังทำ และในกิจการอื่นที่ไม่ใช่ว่ากำลังทำ แต่ว่าก็เกี่ยวข้องกับตัวเหมือนกัน ให้ปรึกษาหารือกัน รู้จักกันทุกคนในทางราบ หมายความว่า จำพวกผู้ที่มีความรู้พอๆ กัน และที่มีความคิดคล้ายๆ กัน ไม่ใช่ว่าได้รับคำสั่งให้ออกพัฒนาก็ไปพัฒนา ไปถามคนอื่นที่รับคำสั่งพัฒนาถามเขาว่า เขารับคำสั่งจากที่ไหน ถามเขาว่าเขามาพัฒนาอะไร แล้วก็แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นอันนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตนประโยชน์ต่อชาวบ้าน ผู้ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มเปี่ยม มิฉะนั้นผู้ที่ได้รับการพัฒนาจะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะว่า ต่างคนต่างเอาวิชาของตัวเป็นใหญ่มาให้ ซึ่งอาจจะไม่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน ถ้าประสานกันกับวิชาอื่น แนวอื่น สายอื่น ก็จะมีประโยชน์ได้เต็มที่เพราะว่าผู้ที่ไปพัฒนาก็สอดคล้องผู้ที่ได้รับการพัฒนาก็จะได้รับวิชาการ หรือได้รับบริการช่วยเหลือที่สอดคล้องเหมาะกับชีวิต เหมาะกับพื้นที่ ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่ไปช่วยให้การศึกษาก็จะต้องให้สอดคล้องกัน เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์ที่มีวิชาเฉพาะไปแล้วก็จะบังคับให้มีการพัฒนาในด้านวิชาเฉพาะก็จะต้องให้บรรดาคณาจารย์ต่างๆ ที่ไปช่วยให้การปรึกษา ให้ปรึกษาระหว่างกันเอง คือระหว่างวิชาการต่างๆ เพื่อให้การปรึกษานั้น สอดคล้องกันให้ดี การพูดดังนั้น คือ อยากให้ทุกด้าน ทุกคน มีโอกาสให้ประโยชน์แก่ทุกคน ชาวบ้านทุกคน ดังนี้ จะทำให้การพัฒนาของผู้ที่มีความรู้เป็นประโยชน์ยิ่ง และสำหรับนักศึกษาที่ออกไปพัฒนาจะเกิดความรู้เช่นเดียวกัน เกิดความสามารถเช่นเดียวกัน เพื่อที่จะไปปฏิบัติต่อไปในอนาคตเมื่อศึกษาเสร็จแล้ว ดังที่ผู้ที่ได้รับปริญญาในวันนี้ก็ออกไปปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของตน เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง และให้สมกับที่ได้ปฏิญาณตนว่า จะทำประโยชน์ และอุ้มชูบ้านเมืองให้มีความมั่นคง ที่ปฏิญาณตนเช่นนั้นนะก็เป็นความฉลาดอย่างหนึ่งแล้ว เพราะว่าถ้าทำประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองแล้วก็เป็นประโยชน์แก่ตัวอย่างแน่นอน เพราะว่าชาติบ้านเมืองนี้เป็นที่อยู่อาศัยของเรา เรามีชาติบ้านเมืองเราก็ต้องอุ้มชู เราต้องรักษาชาติบ้านเมืองเช่นเดียวกับเรามีบ้านช่องอยู่ เราไม่ได้ไปทุบให้พัง ถ้าทุบให้พังฝนตกก็รั่ว แดดออกก็เผา เพราะฉะนั้นผู้ที่ปฏิญาณตนว่า จะใช้วิธีความรู้ปกป้องบ้านเมืองให้อยู่ดี ก็เท่ากับสร้างที่อยู่ที่อาศัยปกป้องหัวตัวเองไม่ให้แตก ไม่ให้ปวด ไม่ให้ตาย
ฉะนั้น มาถึงขั้นนี้ที่นักศึกษาทั้งหลายที่กำลังศึกษาอยู่ นั่งอยู่ ณ ที่นี้ ได้มาเป็นกำลังใจ เป็นพยานต่อการมอบปริญญารับปริญญา ก็ขอให้หนึ่งเมื่อเป็นผู้ที่มาเป็นพยานต่อผู้รับที่ปริญญา ก็ให้กำลังใจกับผู้ที่ได้รับปริญญาแล้ว ให้สามารถทำตามที่ได้ปฏิญาณตนและสำหรับตัวเองก็นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ขอให้เป็นกำลังใจต่อตัวเอง คือให้ผู้ที่ได้สำเร็จการศึกษาเป็นตัวอย่าง เป็นกำลังใจให้พวกเราทั้งหลายสามารถที่จะเรียนรู้ เพื่อที่จะได้ปริญญาคือความสำเร็จ ไม่ใช่รับปริญญาเป็นสิ่งที่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ความสำเร็จ คือได้ความรู้พร้อมที่จะไปใช้ ต้องมีกำลังใจมากที่จะเรียนถึงได้ปริญญา ก็ขอให้มีกำลังใจดูรุ่นพี่เป็นตัวอย่าง และเตรียมตัวตั้งแต่บัดนี้ที่จะปฏิญาณตนว่า จะทำประโยชน์ต่อบ้านเมือง ยังไม่ต้องปฏิญาณตนก็ทำประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้แล้วนับแต่บัดนี้ คำปฏิญาณนั้นเป็นการยืนยันเท่านั้นเอง เป็นคำที่พูดออกมา ความจริงทุกคนก็ควรจะปฏิญาณตนด้วยตนเอง กับตัวเองแล้ว ได้พูดมาตั้งแต่เรื่องออกไปพัฒนาทั้งด้านความรู้สูง คือให้มีความรู้สูงนี้ให้เป็นประโยชน์ถึงชาวบ้านได้อย่างไร แล้วก็เข้าใจว่าคงเห็นว่าความรู้นี้ก็เป็นความสำคัญความสามัคคีก็เป็นความสำคัญ การสอดคล้องกันในวิชาก็เป็นของสำคัญ การตั้งจิตที่จะทำงานทำการเพื่อส่วนรวมก็เป็นของสำคัญ เพราะว่าจะทำให้มีบ้านมีหลังคาปกป้องหัวไว้
ฉะนั้น ก็เข้าใจว่าท่านทั้งหลายจะต้องมีกำลังใจให้มาก ก็ขอให้มีกำลังใจ ไม่ได้ขอที่จะให้พร ไม่ได้ขอพรอะไรเลย ก็ไม่ต้องให้พร เพราะว่าถ้าแต่ละคนมีกำลังใจในทางที่ถูก ที่การตั้งใจที่จะทำอะไรที่ถูกย่อมมีพรอยู่แล้วกับตัวตลอด ไม่ต้องให้ คือผู้ที่ตั้งใจดีมีความคิดสุจริตบริสุทธิ์เป็นพรอยู่แล้ว ถ้าเอาความคิดบริสุทธิ์สุจริตนี้มาเพ่งอะไรก็ตาม จะมาคิดจะเรียนดีๆ ก็เรียนได้ดี เพราะมีความตั้งใจที่จะเรียนไม่วอกแวกไปที่ไหน เมื่อเรียนดีแล้วจะสอบไล่ หรือไม่สอบไล่ ไม่ได้หมายความว่าจะยุไม่ให้สอบไล่ แต่ว่าถ้ามีการสอบไล่ หรือไม่มีการสอบไล่ก็ตาม เราได้เล่าเรียน ได้ศึกษาดีแล้ว เรามีความรู้ ความรู้นี้เมื่อมีความตั้งใจบริสุทธิ์แล้ว จะเอาไปใช้ก็เอาไปใช้ได้ดี ฉะนั้นก็ไม่ต้องพร เพียงแต่พูดว่าให้ไปดูกำลังของตัว ความตั้งใจของตัวว่า จะมีดีหรือไม่มีดี ถ้าผู้ใดทักท้วงว่าไม่ได้ขอพรแต่ก็ขอพรอยู่ดี ผู้ใดที่ต้องการพรไปเพ่งดูในความตั้งใจของตนว่า ดีหรือไม่ดี บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เหมือนไปเปิดตู้ดูในตู้นั้น จะเห็นว่ามีห่อหนึ่งเขียนว่า พร เปิดห่อนั้นจะมีพรอยู่ในนั้น และจะมีวิธีที่จะปฏิบัติให้ได้ความสำเร็จทั้งในการเรียน ถึงการสอบไล่ได้ หรือในกรณีที่ไม่มีการสอบจะได้ความรู้ที่ดีที่มั่นคง จะได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้มีความรู้ดี และเมื่อออกไปทำงาน จะมีความสำเร็จ มีบุคคลอื่น คือผู้อื่นจะยกย่องชมเชย เราจะมีความสำเร็จความพอใจทุกประการ ก็ขอให้โชคดีทุกคน.
« « Prev : นอกเหตุเหนือผล - อำนาจเป็นใหญ่ในโลก
Next : ทิศไหน » »
ความคิดเห็นสำหรับ "สังคมและส่วนรวม"