ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน (2)

อ่าน: 3928

ต่อจากตอนที่แล้ว ในบรรดาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้น ควรหรือไม่ควรจะใช้อะไร ขึ้นกับความเหมาะสมของพื้นที่

โลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ทุกวัน เป็นสิ่งที่ถึงไม่ร้องขอก็ได้มาอยู่ดี การพยายามเอาพลังงานเหล่านี้มาใช้ (ซึ่งธรรมชาติได้แปลงไปเป็นรูปแบบต่างๆ แล้ว) เรากลับไปเรียกว่าพลังงานทดแทน

ถึงจะมีต้นทุนในกระบวนการ (A) บ้าง แต่ในระยะยาว เมื่อ Input ได้มา “ฟรี” Output ก็ควรจะ “ถูก” — ซึ่งถ้าหาก output “ไม่ถูก” ก็ไม่รู้จะทำไปทำไมนะครับ

พลังงานจากดวงอาทิตย์ ตกกระทบโลกแล้วถูกเปลี่ยนเป็นหลายอย่าง ตกกระทบคลอโรฟิลเปลี่ยนแสงเป็นการเจริญเติบโตของพืช ตกกระทบน้ำเกิดเป็นวัฏจักรของน้ำและลมฟ้าอากาศ ตกกระทบดินเกิดวัฏจักรของลมและคาร์บอน ฯลฯ พลังงานแทบทั้งหมดที่เราใช้อยู่ (ยกเว้นนิวเคลียร์) ก็มีต้นทางมาจากแสงอาทิตย์

ที่เกิดเร็วที่สุดคือลม แต่ว่าควบคุมให้ลมมาพัดผ่านเครื่องดักจับพลังงานที่สร้างเอาไว้ได้ยาก ที่ได้รับความนิยมที่สุดก็เป็นพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งคือซากพืชซากสัตว์ ที่ผ่านการทับถมด้วยความร้อนและแรงกดดันเป็นเวลาเป็นล้านปี (เค้าว่าไว้ครับ ผมอายุไม่ถึง) แล้วกลั่นเป็นน้ำมันซึ่งขนส่งสะดวก ส่วน TDP (คร่าวๆ คือเปลี่ยนโพลีเมอร์ เช่นยาง ให้เป็นสารคล้ายน้ำมัน) ก็ยังใหม่ มีข้อโต้แย้งเยอะ

เหลือที่ดูว่าเหมาะอยู่สองอย่าง คือ solar thermal เป็นการรวมเอาพลังงานจากดวงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นความร้อน แล้วจึงเอาไปใช้งานต่ออีกที (เก็บไว้ก่อน) และ biomass คือเผาต้นไม้ครับ

เรื่องเผานี่ คนไทยท่าจะเก่ง ต้นไม้อายุสิบปี ตัดมาทำเป็นฟืน เผาได้ไม่ถึงชั่วโมง ก็หมดแล้ว; ต้นไม้สด ติดไฟยาก เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ประสิทธิภาพไม่ดี ทำให้สิ้นเปลืองไม้; ใบไม้ น้ำหนักเบาแต่ปริมาตรใหญ่โต ใส่เข้าไปในเตาแป๊บเดียว ก็ต้องเติมอีกแล้ว ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี

ก็มีวิธีง่ายๆ ที่จะแก้ปัญหาดังที่กล่าวมาครับ คือเอาเศษไม้สับหรือใบไม้ มาบดอัดเป็นก้อน เรียกว่าทำ wood pellet กัน — วิธีการก็เป็นการอัดเม็ดกันแบบธรรมดา เหมือนทำปุ๋ยเม็ด หรืออาหารสัตว์ที่เป็นเม็ด คือจะมีลูกกลิ้ง บด biomass ไม่ว่าจะเป็นเศษไม้หรือใบไม้ ผ่านรังผึ้งครับ ลูกกลิ้งก็ค่อยๆ บดเข้าไปในรูเรื่อยๆ เมื่อ biomass ถูกบดจะเกิดความร้อน ลิกนินละลายเชื่อมกันเป็นก้อน ไล่ความชื้นออกไป จึงทำให้ pellet แห้ง

เครื่องบดอัดไม้ ใช้เครื่องยนต์ต้นกำลังขนาด 2-4 แรงม้า แล้วแต่ว่าวัสดุที่เอามาบดเป็นอะไร หากเป็นใบไม้ก็ไม่ต้องใช้เครื่องแรงนัก แต่ถ้าเป็นกิ่งไม้สับ ขี้เลื่อย ต้นข้าวที่เกี่ยวแล้ว อ้อย อาจจะใช้เครื่องประมาณ 3-5 แรงม้า แทนที่จะปล่อยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้ย่อยสลายแล้วปล่อยก๊าซมีเทน เราเอามาทำ wood pellet เปลี่ยน biomass ซึ่งอ่อนนุ่ม ให้เป็นเชื้อเพลิงที่แห้งและแข็ง มีความหนาแน่นสูงขึ้น เวลาเอาไปเป็นเชื้อเพลิง จึงใช้เวลาเผานานขึ้น

แนวทางของ wood pellet ใช้วัตถุดิบเป็นเศษไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ สาหร่าย หญ้า ผักตบชวา พืชล้มลุกที่เก็บเกี่ยวแล้ว ปกติวัตถุดิบเหล่านี้ เป็นวัสดุเหลือใช้ที่ไม่มีค่าและเป็นปัญหาในการกำจัดอยู่แล้ว ก็นำมาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง biomass ได้ด้วยต้นทุนต่ำลงมากเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิง biomass แบบอื่น หากวัสดุเหล่านี้ใช้งานได้ประโยชน์กว่า ก็อย่างนำมาเผาเล่นนะครับ

« « Prev : ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน (1)

Next : ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน (3) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 May 2011 เวลา 17:33

    แท่งอัดนี้เอาไว้ใช้ในครัวเรือนสะดวกดีครับ แต่ถ้าใช้ในโรงจักรไอน้ำชุมชน ควรทำเป็นผงจะเหมาะกว่า แล้วพ่นเข้าไปเผาไหม้ จะทำให้เผาไหม้ได้เร็ว ได้ไฟแรงกว่าเป็นแท่ง ส่งผลต่อการได้ปสภ. ที่สูงขึ้นของโรงจักรด้วยครับ

    ว่าไปแล้วจะออกแบบเตาหุงต้มเพื่อให้ใช้ไม้ป่นก็ทำได้นะครับ พวกเตาแกลบทางเวียตนามและฟิลิปินส์ก็มีใช้อยู่ ของไทยเรามีใช้ในสมัยโบราณ ตอนนี้ไม่ค่อยใช้

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 May 2011 เวลา 19:49
    น่าคิดมากเลยครับ ถ้าเอา blower เป่าปรับส่วนผสมของอากาศ เร่งความร้อน อย่างนี้ก็ให้ blower ส่ง biomass ในสักษณะผงเข้าไปในเตาได้
  • #3 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 May 2011 เวลา 20:10

    อ่านถึงอิมพุตเอาพุดทำนองว่าของได้มาฟรีก็น่าจะถูก ทำให้นึกถึงน้ำดื่มใส่ขวดขาย ทำไมจึงแพง ก็รู้สึกขำๆ…
    อ่านถึงการทำถ่านใบไม้อัดแน่น ก็ทำให้นึกถึงที่วัด ใบไม้ที่วัดกวาดทุกวัน เมื่อก่อนเผาหรือฝังในวัด เดียวนี้ใส่ถังขยะเทศบาลมาเก็บ… เมื่อคิดว่าวัดยางทองทำเรื่องนี้ได้หรือไม่ ก็รู้สึกขำๆ อีกแล้ว เดียวนี้พระลูกวัดมีเครื่องซักผ้าไฟฟ้า (ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงอย่างอื่น) ญาติโยมนะแหละฝ่ายสนับสนุน บอกว่าให้ซื้อใช้จะสะดวก รูปหนึ่งญาติโยมถวาย รูปหนึ่งญาติโยมช่วยออกปัจจัยให้ครึ่งหนึ่ง อีกรูปหนึ่งเป็นหลวงตา ลูกสาวชื่อให้ใช้ (แต่สมภารไม่มีเครื่องซักผ้าใช้ ไม่มีใครคิดซื้อถวาย เพราะสมภารอ้างว่าไม่จำเป็น 5 5 5 )… สรุปว่า ประเด็นนี้ ถ่านใบไม้น่าจะยังทำไม่ได้ เพราะลูกวัดไม่อยากจะทำเรื่องยุ่งยาก สมภารพูดมากก็ไม่ได้ ประเดียวลูกวัดย้ายวัด ยิ่งไม่ค่อยมีพระลูกวัดอยู่ด้วย (…………..)

    ก็นึกถึงตอนหลังเกิดพายุ ขาดไฟขาดน้ำ คนก็ปรับตัวอยู่กันได้ ก็คิดเล่นๆ อีกครั้งว่า ถ้าขาดไฟขาดน้ำตลอด สิ่งริ่เริ่มใหม่ๆ คงจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เป็นชีวิตจริง…..

    เจริญพร

  • #4 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 May 2011 เวลา 20:15

    สาธุพระคุณเจ้า …ไม่ใช้น่ะดีแล้วขอรับ ซักด้วยมือ ไม่ยากนัก เพราะพระไม่ได้มีอะไรจะซักมากนักอยู่แล้ว นอกจากซักใจ อิอิ

    นมัสการ

  • #5 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 May 2011 เวลา 20:20

    การเผาถ่านหิน ก็ทำเป็นผงป่นเป็นส่วนใหญ่ครับ เรียกว่า pulverized coal combustion แต่บางที่ก็ทำเป็นก้อนเท่าหัวแม่โป้งแล้วทำ fluidized bed combusion ครับ วิธีหลังนี้กำลังวิจัยกันหนักหน่วง มีข้อดี ข้อเสียหลายอย่าง

    ผมเข้าใจว่าแม้ตอนนี้ รง. ไฟฟ้าพลังไม้ไทยเรา ก็ใช้วิธีทำป่นผงเป็นส่วนใหญ่ (เลียนแบบ pulverized coal)

  • #6 ลานซักล้าง » x ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 May 2011 เวลา 2:19

    [...] ต่อจากตอนที่แล้ว เอาอย่างนี้ก็แล้วกันครับ ผมอยากเขียนอะไรก็จะเขียน ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นมินิซีรี่ส์ เพียงแต่ใช้ชื่อเดียวกันเพื่อให้อยู่ด้วยกัน [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.14709210395813 sec
Sidebar: 0.26681303977966 sec