ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน (1)
เมื่อดูแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานแล้ว ก็รู้สึกหนักใจ
แผนนั้นเริ่มจากความเป็นจริงในปัจจุบัน แล้วขยายด้วยประมาณการการใช้ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งก็เชื่อได้ว่าไตร่ตรอง+สอบทานมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าการผลิตไฟฟ้าของเมืองไทยนั้น พึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 70 จริงอยู่ที่ก๊าซในอ่าวไทยยังมีอยู่ ซึ่งเราก็ใช้มาหลายสิบปีแล้ว แถมไม่ว่าจะเป็นก๊าซจากแหล่งใด ก็ขายเป็นสกุลดอลล่าร์สหรัฐเสมอ หากอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงไป ราคาไฟฟ้าก็จะผันผวนมาก กระทบต่อเศรษฐกิจ
ในเอกสารแนบของแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2553-2573 (PDP 2010) มีความพิลึกพิลั่นที่ทำให้ผมไม่สบายใจครับ
อันแรกก็คือ จากกำลังการจ่ายไฟฟ้า (ผลิตและซื้อ) ปี 2553 รวมทั้งสิ้น 23,249 MW เป็นพลังงานทดแทนเพียง 754 MW
อันที่สอง คือไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 754 MW นั้น แยกเป็น
- ชีวมวล 663 MW
- ก๊าซชีวภาพ 49 MW
- แสงอาทิตย์ 9 MW
- ขยะ 11 MW
- ลม 3 MW
- น้ำ 18 MW
ผมว่ามันพิลึกมากเลย ปรากฏว่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 754 MW นั้น มาจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ประเภทกิจการ — คือตั้งใจผลิตไฟฟ้าขาย (แปลว่ามีค่าใบอนุญาต) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กมาก (VSPP) — เป็นชาวบ้านทำเอง
พลังงานจากชีวมวล (biomass) ที่ใช้เป็นการเผาแกลบแล้วเอาความร้อนไปใช้เสียเยอะ ก็จริงอยู่ที่เราผลิตข้าวเยอะ เมื่อสีข้าวเยอะ ก็มีแกลบเยอะ แต่ว่าการเผาแกลบนั้น ปล่อยละอองออกมาในอากาศเป็นมลพิษครับ จะคิดแค่เผาแล้วนำเอาความร้อนไปใช้นั้นไม่ได้ — ชีวมวลนั้นดูจะเหมาะเนื่องจากมีเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งกำจัดโดยเปลี่ยนไปเป็นพลังงานนั้นก็เหมาะดีแล้ว แต่ว่ามีต้นทุนขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้อง
หมู่บ้านควรจะเป็น VSPP ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง เพราะว่าหากทำได้ นอกจากจะมีเงินมาพัฒนาหมู่บ้าน+ทำให้หมู่บ้านมีความมั่นคงทางพลังงานแล้ว ยังลดค่าขนส่งชีวมวลไปยังโรงไฟฟ้าอีกด้วย ถ้าหากหมู่บ้านจะเป็น VSPP ได้นั้น กระทรวงพลังงานคงจะต้องทำบางอย่างเพิ่มเติม เช่น
- ทำ grid-tied inverter ปั่นไฟฟ้ากระแสตรงไปเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ โดยล็อคเฟส ความถี่ และแรงดันให้ตรงกับไฟฟ้าในระบบจ่ายไฟ โดยเปิดซอร์สฮาร์ดแวร์ ใครอยากสร้าง ใครอยากผลิตตามแบบ ก็เอาไปทำได้เลย เมื่อทำแล้วส่งเครื่องมาตรวจสอบความถี่ ฮาร์โมนิก ฯลฯ ตามมาตรฐานของระบบจ่ายไฟ ให้การไฟฟ้ารับรองคุณภาพก่อนที่จะยอมให้เชื่อมระบบ
- ออกแบบเครื่องปั่นไฟแบบแม่เหล็กถาวรราคาถูก (ควรรีบทำด้วยเพราะ neodyndium ซึ่งเป็นธาตุที่นำมาทำแม่เหล็กกำลังสูง กำลังจะหมดลง ประกอบกับจีนซึ่งมีธาตุนี้มาก หันมาทำเรื่องพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง ซึ่งจีนก็ต้องการแม่เหล็กกำลังสูงไว้ใช้เองด้วย)
- ค่าส่วนเพิ่ม (adder) สำหรับชีวมวล อาจจะไม่ต้องมากถึงขนาดนี้ ถ้าไม่คุ้ม คนเขาก็ไม่ทำเองล่ะครับ แล้วเมื่อการไฟฟ้าไม่ต้องแบกค่า adder การไฟฟ้าก็ไม่ต้องคิดค่าส่งไฟฟ้าผ่านระบบสายส่ง แต่การให้ค่า adder แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นการให้การไฟฟ้าไปอุดหนุน SPP ที่จ่ายค่าใบอนุญาตหรือเปล่า? ถ้า adder สำหรับชีวมวลเป็นศูนย์ VSPP ผลิตไฟฟ้าออกมาใช้เอง ถ้าเหลือใช้จึงขายเข้าระบบ เป็นการที่ท้องถิ่นดูแลตัวเอง
- กิจการขนาดใหญ่ที่ใช้ไฟฟ้าเกินเดือนละหมื่นหน่วย ควรจะต้องรับผิดชอบเรื่องการผลิตไฟฟ้าบ้าง ควรจะผลิตมาทดแทนอย่างน้อยก็สัก 10% ของกำลังไฟฟ้าที่ใช้ไปด้วยค่า adder เป็นศูนย์ สร้างงานในชนบท ไม่ใช่ว่ามีเงินจ่ายก็ใช้ได้ หากไม่ผลิตไฟฟ้ามาชดเชย ก็ควรจะจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาพรีเมียม
« « Prev : กราบส่งคุณแม่สาคร ช่วงฉ่ำ
Next : ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน (2) » »
7 ความคิดเห็น
ไฟฟ้าเรา ผมเดาว่า 80% ผลิตขึ้นมาเพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่างชาติ (ทั้งโดยตรงและอ้อม) ราคาถูกที่สุดในโลกอีกต่างหาก เพื่อดึงดูดนักลงทุน
ส่วนคนไทย รับผลพวงกันไปทั้งโดยตรงและโดยอ้อม กระเทือนไปถึงวัฒนธรรมประจำถิ่น พ่อแม่ทิ้งลูกเต้าไปเช่าห้องอยู่ริมนิคมอุตสาหกรรมริมทะเล ซึ่งก็ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกมหันต์
การผลิตไฟฟ้า มันยากอยู่ vspp มองในภาพรวมแล้วผมว่าไม่น่าคุ้ม (economy of scale) ผมเคยเสนอผู้บริหาร กฟผ. ไปแล้วว่า ควรทำในระดับ “จังหวัด” ครับ กระจายไปให้ทั่วประเทศ …ขนส่งชีวมวลภายในจังหวัด ยังคุ้มทุนอยู่ ..มีการวิจัยกันแล้วว่า ภายในระยะทาง 200 กม. ยังคุ้มทุน แล้วจังหวัดในประเทศไทยเรามันไม่มีที่ไหนกว้างยาวเกิน 200 กม.อยู่แล้ว ..แต่อดีตที่ผ่านมา มันขนกันจากกาฬสินธิ์ ไปป้อนโรงงานที่แปดริ้ว …ดัดแปลงรถบรรทุกแบบผิดกฎหมายและอันตรายอีกต่างหาก
ผมคำนวณมาได้ 2 ปีแล้วว่า กระทรวงพลังงานไทย ประเมินศักยภาพพลังงานลมไทยผิดไป 4 เท่า เพราะไม่คำนึงถึงสภาพลมที่เป็นลม มรสุม แรง นิ่ง แรง นิ่ง (แถมสลับทิศ)
พอไปเอาคณิตศาสตร์สถิติ แบบ Wiebull มาจับ ก็เลยหลงทิศ
ยุทธศาสตร์กังหันลมไทย ต่างจากโลกเขาทั้งหลาย แต่คงไม่มีใครตระหนักหรอกครับ มีแต่พวกหลอกเจี๊ยะเต็มประเทศ
VSPP เป็นทางหนึ่งในการทำให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งตัวเองได้เรื่องพลังงาน สร้างงาน กระจายรายได้… ประชานิยมทำให้คนเสียนิสัย กลายเป็นพวกข่มขู่เรียกร้องต้องการโดยไม่ทำอะไร ไม่ควรจะมีใครได้อะไรหากไม่ยอมทำอะไร เมื่อมีพลังงานในท้องถิ่น ก็จะสามารถช่วยให้ท้องถิ่นเติบโตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ข้อมูลของกรมการปกครอง บอกว่าเมืองไทยมีประมาณ 75,000 หมู่บ้าน ถ้าแต่ละหมู่บ้านมีหม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูงตัวเดียว กำลังไฟฟ้าที่ใช้ในหมู่บ้านนั้น ก็ไม่น่าจะเกิน 50 kW นะครับ ความสูญเสียในสายส่งไฟฟ้าที่ส่งไฟให้หมู่บ้านต่างๆ แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็บานเบอะแล้ว (การไฟฟ้าเก็บเงินไม่ได้ ก็เอามาเฉลี่ยเป็นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่รู้จักกันในชื่อของค่า FT)
แต่สมมุติ 20% ของหมู่บ้าน ปั่นไฟฟ้าเองไม่เกิน 50 kW เป็นระดับ VSPP ก็จะได้ไฟฟ้ารวม 750 MW พอๆ กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดย่อมๆ เลยนะครับ — ถ้า adder ไม่เป็นศูนย์ จะมีกำไรมาโปะกองทุนหมู่บ้านด้วย ถ้า adder เป็นศูนย์ ชาวบ้านก็มีเสถียรภาพทางไฟฟ้าดีขึ้น การไฟฟ้าลดการสูญเสียในสายส่งได้ (หวังว่าค่า FT จะลดลง)… ทีนี้ตอนเริ่มต้น จะมีเงินลงทุนบ้าง ก็ไปขอจากผู้ที่ใช้ไฟเยอะๆ
สัดส่วนของไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของเมืองไทยนั้น มีแค่ 3.25% สัดส่วนนี้ ถ้าน้อยก็แปลว่าห่วย ยิ่งมากยิ่งดีแล้วเอาคาร์บอนเครดิตไปขายผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเขาเอาไปขายประเทศที่พัฒนาแล้วอีกที ชุมชนจะได้มากหรือได้น้อย ก็ได้อยู่ดี มีพลังงานเป็นของตัวเอง เหลือใช้ก็ขายการไฟฟ้าได้ พอหมู่บ้านมีพลังงานแล้ว ก็มีกำลังในการพัฒนาหมู่บ้านมากขึ้น หนุ่มสาวโรงงานกลับบ้านมาก็มีอะไรทำแล้ว
ส่วนจะทำอย่างไรนั้น ก็ต้องหาวิธีที่ใช้เทคโนโลยีชาวบ้าน สร้างและดูแลได้เอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผู้มีความรู้ควรจะช่วยกันหาทางออกครับ แต่ละพื้นที่คงมีความเหมาะสมไม่เหมือนกัน บันทึกของผมในลานซักล้างนี้ ไม่ได้เป็นคำตอบสำเร็จรูป และปรับปรุงได้เสมอครับ
ระดับหมู่บ้านนั้นผมว่าทำไม่ได้แน่ครับ มันเล็กเกินไปจนไม่คุ้มทุน อย่างเล็กที่สุดน่าระดับตำบล แต่ผมว่าอำเภอจะดีกว่า ถ้าให้ดีต้องจังหวัดนะ เรื่องนี้ไม่มีใครทำวิจัยจริงๆ ผมได้แต่กะๆ เอา (แต่ผมกะอะไรมักไม่ผิด
gasification ผลิตไฟฟ้า คือเรื่องตลก แหกตา ไม่ต่างอะไรกับ สบู่ดำ
ดีที่สุดคือ เผาฟืน ต้มน้ำครับ ถ้าทำขนาดเล็ก มันจะได้ปสภ. ต่ำ อย่างมาก 20% แต่ถ้าทำขนาดใหญ่ จะได้ถึง 40% ต่างกันมากเลยครับ
นั่นคือเหตุผลที่ผมฟันธงว่า ทำไมต้องระดับอำเภอ จังหวัด ไม่เช่นนั้น เราต้องตัดป่าสองเท่านะครับ สู้เสียค่าขนส่งมาที่อำเภอดีกว่า คุ้มเกินคุ้มครับ
อ่านความเห็นของคุณโยมทั้งสองก็สะท้อนความเป็นประเทศไทยได้ดี….
เมื่อตอนเย็น มีน้องใกล้ๆวัด มาบ่นเรื่องการเมืองท้องถิ่นว่า ผู้บริหารควรจะหรือจะต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้…. ก็พยายามมีความเห็นแย้งว่า ผู้บริหารท่านอาจมีความจำเป็นอย่างนี้อย่างนั้น…
ตามความเห็นส่วนตัว ปัญหาท้องถิ่นกับปัญหาระดับชาติแบบไทยๆ มีรากเหง้ามาจากรูปแบบเดียวกัน …
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
เจริญพร
#5 สาธุ เมื่อมองจากคนละมุม ก็เห็นภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าใจกว้างหน่อยผมว่าเป็นเรื่องดีนะครับ จะได้มีคนเตือนประเด็นที่หลงลืมไปหรือคิดไม่ถึง แล้วลงมือทำในสิ่งที่ควรทำเสียที
[...] ต่อจากตอนที่แล้ว ในบรรดาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้น ควรหรือไม่ควรจะใช้อะไร ขึ้นกับความเหมาะสมของพื้นที่ [...]