ธรรมดานี่แหละยากที่สุด

5 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 6 September 2008 เวลา 0:15 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3087

เมื่อสัปดาห์ก่อน ไปหาหมอที่โรงพยาบาล ก็พบหนังสือ(เก่า)เล่มหนึ่ง ชื่อวิถีแห่งปราชญ์ ที่ร้านหนังสือในโรงพยาบาล แต่ไม่ได้ซื้อมาเพราะติว่าปกหนังสือเก่าไปหน่อย ความจริงเวลาอ่านหนังสือ ผมก็ไม่ได้มองปกอยู่แล้ว แต่เวลาจะซื้อ ทำไมเรื่องไม่สำคัญกลับสำคัญก็ไม่รู้ซิ

อย่างไรก็ตาม วันนี้ไปร้านหนังสืออีกแห่งหนึ่ง (ที่เคยซื้อหิโตปเทศมา) ปรากฏว่ายังเหลืออยู่หลายเล่ม ดีใจมากเพราะว่าเคยบุกไปที่ร้านสาขาของเครือที่จัดจำหน่าย ปรากฏว่าหมดเกลี้ยงไปนานแล้ว

วิถีแห่งปราชญ์ เป็นปฏิปทา จริยาวัตร ของ พระพรหมคุณาภรณ์​ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๙๒.
ธรรมดานี่แหละยากที่สุด

ท่านเจ้าคุณ​ฯ​เคยพูดถึงเรื่อง ‘ธรรมดา’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า

ธรรมดานี่แหละยากที่สุด พุทธศาสนาเป็นเรื่องของธรรมดา และให้เข้าถึงธรรมดาเท่านั้นเอง แต่ใครเข้าถึงธรรมดานี่แหละ คือสำเร็จ ไม่มีอะไรยากไปกว่าเรื่องธรรมดา ใครถึงธรรมดา คนนั้นสมบูรณ์เลย

เราต้องรู้เรื่องธรรมดา เพราะว่าเมื่อเรารู้ความจริงที่เป็นธรรมดานั้นแล้ว เราจะได้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้อง เหมือนรู้ความจริงของไฟแล้ว ก็ปฏิบัติต่อไฟให้ถูกต้อง และเอาไฟมาใช้ประโยชน์ได้

อ่านต่อ »


ระงับโกรธ

3 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 4 September 2008 เวลา 0:18 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 4123

หนังสือ มนต์คลายโกรธ โดยฑูตใจ เสนอวิธีคลายโกรธไว้หกวิธี

  1. พิจารณาโทษของความโกรธ ว่าเป็นพิษต่อร่างกาย
  2. อย่าใส่ใจ อย่านึกถึงเรื่องราวหรือบุคคลที่ทำให้โกรธ
  3. เปลี่ยนเรื่องคิด คิดถึงเรื่องที่ไม่ทำให้โกรธ
  4. หางานทำเพื่อให้เพลิดเพลินจนลืมความโกรธ
  5. ค้นหาสาเหตุของความโกรธ ถ้าพบรากเง่า ก็จะระงับความโกรธได้ไม่ยาก
  6. ระบายความโกรธทิ้งไป

มีการสุ่มตัวอย่างนิสิต นักศึกษา และนักเรียนจำนวน 1,592 คน 50.1% ของผู้อ่านบอกว่าหนังสือช่วยระงับความโกรธได้ดี อีก 49.2% บอกว่าช่วยระงับได้บ้าง มีอีก 0.7% บอกว่าหนังสือนี้ช่วยระงับความโกรธไม่ได้เลย

อ่านต่อ »


คุณค่าของความเป็นมนุษย์

อ่าน: 4283

พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

คุณค่าของความเป็นมนุษย์

มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวไว้แปลความว่า “ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก” เมื่อ ได้รับทราบความดังนี้แล้ว อย่าเพียงเข้าใจตื้นๆ แต่พึงพิจารณาด้วยดี ให้พร้อมด้วยสติและ ปัญญา ให้ลึกซึ้ง เพื่อจักได้ประโยชน์จากความหมายของพุทธภาษิตนี้อย่างสมบูรณ์ ปรกติ สิ่งใดที่ได้ยากท่านถือว่าเป็นของมีค่า ควรถนอมรักษาอย่างยิ่ง การได้เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นการยาก เปรียบดังได้เพชรน้ำงามเม็ดใหญ่หาค่ามิได้ไว้ในมือ เราย่อมต้องรักษาเพชรนั้นยิ่งกว่าได้เศษกระเบื้องและไม่มีราคา การรักษาค่าของความเป็นมนุษย์ก็คือ การรักษาคุณสมบัติ ของมนุษย์ไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด เช่นเดียวกับการรักษาเพชรนั่นเอง การรักษาเพชรนั้นไม่เพียงรักษาไม่ให้สูญหายเท่านั้น แต่ต้องรักษาไม่ให้แตกร้าว ไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนแม้เท่าขนแมว เพราะนั่นจะเป็นเหตุให้ความงามของเพชรลดลง เป็นเหตุให้ค่าของเพชรลดลง เป็นเหตุให้ ราคาของเพชรต่ำลง

“ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก” ก็คือยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ ที่เห็นเป็น มนุษย์กันอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองมากขึ้นทุกวัน จนถึงกับเกิดการตกใจกลัวมนุษย์จะล้นโลก นั้น มิใช่จะเป็นเครื่องแสดงข้อคัดค้านพุทธภาษิตดังกล่าว เพราะแม้มนุษย์จะมากมายเพียงไร แต่แม้ลองเปรียบกับสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ก็จะมีจำนวนน้อยนัก สัตว์ใหญ่สัตว์น้อยสัตว์ปีก สัตว์ไม่มีปีก รวมทั้งมดปลวกยุงแมลงในโลกเรานี้มีจำนวนมากมายเกินกว่าจะสำรวจได้ แต่มนุษย์ยังสำรวจจำนวนได้ ซึ่งก็เป็นเครื่องแสดงความเกิดได้ยากของมนุษย์   ยืนยันพุทธภาษิตว่า “ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก”

การรักษาความเป็นมนุษย์ก็เช่นกัน ไม่ควรเพียงเพื่อรักษาชีวิตไว้ให้อยู่ยืนยาวเท่านั้น แต่ต้องรักษาคุณค่าของมนุษย์ไว้ให้สมบูรณ์ มนุษย์ก็คือคน คุณค่าของมนุษย์หรือของ คนที่สำคัญที่สุดคือความไม่เป็นสัตว์ ไม่ใช่สัตว์ เมื่อพูดถึงความเป็นสัตว์ ทุกคนย่อมรู้สึกถึง ความแตกต่างของตนเองกับสัตว์อย่างชัดเจน ทุกคนย่อมยินดีอย่างยิ่งที่ตนไม่เกิดเป็นสัตว์ ยินดีที่ตนไม่ใช่สัตว์ แม้เพียงถูกเปรียบว่าเป็นสัตว์ หรือเพียงเหมือนสัตว์ ก็ย่อมไม่พอใจอย่างยิ่ง นั่นก็เพราะทุกคนเห็นความห่างไกลระหว่างคุณค่าของคนกับของสัตว์ ค่าของคน เป็นค่าที่สูงกว่าค่าของสัตว์ ดังนั้นคุณค่าของมนุษย์จึงแตกต่างกับสัตว์ ผู้เป็นมนุษย์จึงจำเป็นต้องถนอมรักษาคุณค่าของตนไว้มิให้เสียความเป็นมนุษย์

อ่านต่อ »


สังคมและส่วนรวม

อ่าน: 3066

พระบรมราโชวาท เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้
พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
วันจันทร์ ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๙

ในวันนี้ได้มามอบปริญญาแก่นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ วิทยาเขตนี้ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มา คราวก่อนๆ นี้ก็ได้เคยไปมอบปริญญาที่ปัตตานีและเกิดปัญหาขึ้นมาว่า มหาวิทยาลัยนี้มีวิทยาเขตถึง ๒ แห่ง และเกิดความน้อยใจกันว่าทำไมไปมอบปริญญาที่แห่งเดียวไม่มา ณ ที่นี่ บัดนี้ก็ได้แก้ไขสถานการณ์แล้วได้มาที่นี่เมื่อปีที่แล้วที่ปัตตานีก็ได้พบกับนักศึกษาที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยเหมือนกัน และก็ได้แจ้งต่อเขาว่าในปีหน้า คือปีนี้จะมาที่หาดใหญ่ ก็ไม่มีข้อที่จะเกิดความเข้าใจผิดกัน อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เข้าในงานมอบปริญญาที่ไหนก็ตาม มีความรู้สึกว่ามีความยินดี เพราะเห็นผู้มีความรู้ คือผู้ที่ได้เล่าเรียนในวิชาการต่างๆ ได้สำเร็จการศึกษา และจะออกไปปฏิบัติงานตามความรู้ที่มี เป็นความรู้ที่มีความแตกต่างกันหลายสาขา รวมความที่เรียกว่าศิลปวิทยา

ศิลปวิทยานี้คือความรู้ในวิชาการ ความรู้ในวิชาการนี้แบ่งเป็นหลายชนิดด้วยกันและต้องใช้กันทั้งนั้น สำหรับให้สังคมและประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง คือประเทศเรามีอยู่ตั้งอยู่ และสังคมก็คือทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเป็นสังคม สังคมนี้อยู่ร่วมกันเพื่ออะไร ก็เพื่อให้อยู่ได้สบาย มีความผาสุก ความมั่นคง อนาคตแจ่มใส เพื่อการนี้ เราก็ต้องใช้ความรู้เพื่อที่จะทะนุบำรุงความมั่นคงนี้ ทะนุบำรุงและส่งเสริมให้ความเป็นอยู่ อยู่อย่างสบายขึ้นทุกที ให้อยู่สบายขึ้นนี้ก็ต้องมีหลายอย่างประกอบกัน สิ่งที่สำคัญก็คือต้องเห็นอกเห็นใจกัน และเกื้อหนุนสนับสนุนซึ่งกันและกัน ถ้าเกื้อหนุนสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วยวิชาการก็ยิ่งดี ถ้าพูดถึงวิชาการในการอยู่เป็นสังคมก็เรียกว่าสังคมศาสตร์ ก็ต้องใช้วิชาการของสังคมศาสตร์มาทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปโดยสวัสดิภาพ คือให้รู้ว่า คนเรามาอยู่เป็นสังคมจะต้องมีระเบียบการอย่างไร เมื่อพูดถึงเช่นนี้ก็หมายความต้องมีวิชาทางด้านนิติศาสตร์มาประกอบด้วย คือจะต้องมีระเบียบการ มีกฎหมาย มีระเบียบที่มั่นคง ถ้าพูดถึงระเบียบมีกฎหมายนั้นก็จะต้องรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ คือการปกครอง ปกครองนี้ไม่ใช่กดขี่ ปกครองคือให้ทุกคนมีการเป็นอยู่โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยส่งเสริมผู้อื่น อันนี้ก็จะต้องมีการจัดระเบียบปกครองให้ดี เพื่อไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน เพราะแต่ละคนถ้าลืมไปว่าอยู่ในสังคม ก็อาจจะอยากมีเสรีภาพมาก แต่ละคนที่อยากมีเสรีภาพก็อาจจะนึกว่า นั่งที่ใดที่นั้น เป็นของตน และข้างเคียงของตนก็เป็นของตนเหมือนกัน ลืมไปว่ามีคนอื่นอยู่ข้างๆ อย่างท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่อย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้ ถ้าเกิดลืมขึ้นมา เกิดหลับหูหลับตาแล้วก็นึกว่าไม่มีใครอยู่ข้างๆ ก็เกิดบิดขี้เกียจขึ้นมา บิดไปบิดมาก็ไปโดนคนอื่น คนอื่นเขาก็เคืองเอา การเคืองของคนอื่นนั้นอาจจะแสดงออกมาในรูปต่างๆ กัน อาจจะบอกอย่าเลย อย่าทำอย่างนี้เป็นการกวนกัน แต่ถ้าเกิดใจร้อน ไม่ยั้งสติ อาจทะเลาะกันเลย ก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ใดเลย ทำให้ทั้งหมดอลเวง และทำให้ไม่มีความผาสุกมั่นคง

ฉะนั้น การที่อยู่เป็นสังคมก็จะต้องมีระเบียบ และมีความรู้ในเสรีภาพของตนนอกจากนี้ นอกจากระเบียบ และความรู้ถึงเสรีภาพ ถึงขอบเขตของเสรีภาพ ซึ่งหมายความว่า แต่ละคนจะต้องมีความรู้ในธรรมะ คือรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรถึงจะมีความเจริญ มีความดี มีความผาสุก เราก็ย่อมอยากอยู่ดีขึ้นตลอดไป การอยู่ดีขึ้นตลอดไปนั้นจะต้องมีวิชาการอย่างตอนนี้ เรานั่งอยู่ ยืนอยู่ในที่นี้ ก็เคราะห์ดีที่เวลานี้ฝนไม่ตก แต่ถ้าตกก็ยังไม่มีความเดือดร้อนเท่าไหร่ ไม่มีความลำบากเท่าไหร่ เพราะว่ามีหลังคาอยู่ ไม่เหมือนที่ปัตตานีเมื่อปีที่แล้วที่เดือดร้อน เพราะว่าการชุมนุมดังนี้ แบบนี้ กระทำข้างนอก ฝกตกก็ต้องลำบาก ต้องย้ายที่ เพราะว่ากลัวเปียกกัน คราวนี้ ถ้าสมมุติว่าฝกตกก็ไม่ค่อยเปียกกันแต่สำหรับอย่างนี้ก็ต้องสร้างหลังคา ต้องสร้างอาคาร การสร้างอาคารต้องใช้หลักวิชาวิทยาการที่เหมาะสม มิฉะนั้นอาคารอาจจะไม่แข็งแรง ถ้ามีพายุฝนขึ้นมาก็อาจจะล้มลงมา เกิดความไม่เรียบร้อยเกิดอันตราย ฉะนั้น อยากอยู่ดี อยากให้มีความสบายขึ้นก็ต้องอาศัยวิทยาการ ในที่นี้ก็วิทยาการในด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ฉะนั้น การอยู่ดีกินดี ก็ต้องอาศัยวิชาการ ว่าถึงวิชาการทางวิศวกรรมทางเกษตรกรรม ทางอื่นๆ ทางการแพทย์ ทางการศึกษา ทั้งหมดนี่ก็เป็นวิชาการที่ทำให้เราอยู่ดีขึ้น ก็จะต้องช่วยกันให้ผู้ที่มีความสามารถที่จะเรียนในสาขาวิชาต่างๆ นี้ ได้เรียน ได้มีความรู้ เพื่อที่จะบริการ เพื่อที่ทำงานให้ส่วนรวมมีความก้าวหน้าได้ ถ้าแต่ละคนได้เรียนรู้มาดีแล้ว ก็สามารถที่จะปฏิบัติตามที่มีความตั้งใจในใจตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไปว่าอยากจะทำงานเพื่อส่วนรวม

อ่านต่อ »


นอกเหตุเหนือผล - อำนาจเป็นใหญ่ในโลก

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 1 September 2008 เวลา 5:24 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 4725

นอกเหตุเหนือผล

ทุกท่านที่มีความสนใจในธรรมะ โดยเฉพาะธรรมะของหลวงปู่ชาจะต้องเคยพบหนังสือที่มีชื่อว่า “นอกเหตุเหนือผล” ซึ่งยากที่จะเข้าใจ แต่ถ้าได้อ่านหนังสือธรรมะเล่มเล็กๆ ของท่านที่อธิบายเรื่องนี้ไว้ ก็ทำให้เกิดความเข้าใจได้ไม่ยากนัก

หลวงปู่ชา ได้ยกเรื่องประสบการณ์ของท่านนำมาเล่าให้ฟังว่า

สมัยหนึ่ง ท่านได้นำพระเณรซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านไปปฏิบัติธรรม ณ ​วัดที่ห่างไกลความเจริญแห่งหนึ่งซึ่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ในตอนเช้ามืดวันหนึ่ง พระลูกศิษย์ของท่านรูปหนึ่งได้ลุกไปห้องน้ำเพื่อทำธุระเตรียมตัวออกไปบิณฑบาต  จึงยังไม่ได้เก็บที่หลับที่นอน พระอีกรูปหนึ่งลุกขึ้นจะเดินไปห้องน้ำเช่นกัน และเพราะความที่ยังมืดอยู่จึงเดินไปเตะเอาหมอนซึ่งทำด้วยไม้ของรูปที่ลุกไปก่อน ท่านได้กล่าวตำหนิรูปแรกว่า

“เป็นพระเป็นเจ้าอะไรไม่มีระเบียบวินัย ลุกขึ้นไปแล้วแทนที่จะเก็บที่หลับที่นอนให้เรียบร้อย กลับไม่ทำ”

“ก็ถ้าท่านมีสติ มีการสำรวม ท่านจะเตะหรือ?” รูปที่เป็นเจ้าของหมอนย้อนตอบ

หลวงปู่ชาสอนว่า

ตราบใดที่ยังเอาเหตุเอาผลเข้าหากันอยู่ เรื่องมันจบไม่ได้หรอก เรื่องจะจบได้จะต้อง :

“อยู่นอกเหตุเหนือผล”

อ่านต่อ »


ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ

อ่าน: 5048

“ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ (จุดบรรจบ: รัฐศาสตร์ กับ นิติศาสตร์)” เป็นหนังสือที่บันทึกแง่คิด มุมมอง ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ที่เมตตาตอบศิษยานุศิษย์เมื่อต้นปี 2549

ผมนำหนังสือเล่มนี้ มาให้อ่านกันอีกครั้งหนึ่ง แต่อยากขอร้องท่านผู้อ่าน ว่าอย่าด่วนสรุปอะไรก่อนจะอ่านจบ เพราะว่าความฉาบฉวย คิดเอาง่ายๆ ความยึดมั่นถือมั่น อัตตา อคติ การติดกับรูปแบบมากกว่าเนื้อหา ได้ทำร้ายสังคมไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก

หนังสือนี้ลึกซึ้งแต่ไม่ซับซ้อน และไม่ใช่เรื่องเฉพาะกาลที่นำมาเพื่อตำหนิฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่อยากให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาเรื่องราวจากหลายๆ มุมมอง อย่าตัดสินอะไรโดยที่ไม่เข้าใจบริบทของเรื่องทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองจากอีกฝั่งหนึ่ง

คำปรารภ

คนไม่น้อย พูดกันบ่อยว่า ให้เอาวิกฤตเป็นโอกาส แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นจริง ก็มักลืมคตินี้ไป หาได้ประโยชน์จากวิกฤตนั้นไม่

หลักพระพุทธศาสนาสอนว่า บรรดาการสูญเสียทั้งหลาย การสูญเสียที่เลวร้ายที่สุด คือการสูญเสียทางปัญญา และในทางตรงข้าม บรรดาการได้เพิ่มขึ้นมา การได้เพิ่มขึ้นซึ่งปัญญา เป็นการได้ที่เลิศสุด (เอตทคฺคํ ภิกฺขเว วุฑฺฒีนํ ยทิทํ ปญฺญาวุฑฺฒิ - องฺ.เอก.๒๐/๓๗/๑๗)

โดยนัยนี้ บรรดาประโยชน์ทั้งหลายที่จะได้จากโอกาสแห่งวิกฤตไม่มีประโยชน์ใดยิ่งใหญ่กว่าการได้ปัญญา

สภาพวิกฤตนั้นเองเป็นโอกาสอันเยี่ยม ซึ่งมีข้อมูลและแบบฝึกหัดมากมายในการเรียนรู้ให้เจริญปัญญา และปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้นั้น แม้อาจจะมิต้องใช้ประโยชน์ในยามวิกฤตเอง ก็มีความสำคัญยิ่งกว่านั้นที่จะเป็นประโยชน์ยั่งยืนนานในกาลระยะยาวเบื้องหน้า

ไม่ว่าคนจะได้ประโยชน์อื่นใดหรือไม่ หรือแม้จะเกิดการสูญเสียใดๆ เมื่อรู้จักคิดพิจารณา มนุษย์ย่อมอาจถือเอาประโยชน์ทางปัญญาได้ทุกโอกาส

เพื่อประโยชน์ทางปัญญาดังว่านี้ จึงร่วมใจให้มีการพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นมา

หลังจากมีผู้ศรัทธามากท่านขอพิมพ์หนังสือนี้เมื่อสิบวันก่อน ได้ทราบว่าหนังสือหมดไปอย่างรวดเร็ว หลายท่านขอพิมพ์ครั้งใหม่ จึงถือโอกาสเพิ่มเติมเล็กน้อยสำหรับการพิมพ์ครั้งปัจจุบัน อันเป็นวาระที่ ๒

ในโอกาสนี้ ขอร่วมตั้งใจปรารถนาดี ให้ทุกท่านตั้งอยู่ในธรรม และประสบประโยชน์สุขจากการดำ เนินตามธรรม และให้ผู้ร่วมสังคมเห็นทางนำประเทศชาติให้ดำ เนินสู่ความสงบสุขโดยธรรม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
๒๒ มีนาคม ๒๕๔๙

อ่านต่อ »


มหาสมุทรแห่งความอยาก

1 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 30 August 2008 เวลา 4:06 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 4144

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ป.ธ.​๙) ตั้งคำถามเรื่องการแข่งขันและชัยชนะไว้อย่างน่าสนใจ

เราถาม

นักกีฬาทุกประเภทย่อมจะเล่นกีฬาตามกติกา ถ้าเล่นผิดกติกาก็จะถูกปรับแพ้ หรือหมดโอกาสเจริญก้าวหน้า ส่วนคนที่เล่นกีฬาตามกติกาอย่างสัตย์ซื่อและด้วยใจเป็นธรรม ย่อมประสบผลสำเร็จตามสมควร การเป็นคนอยู่ในโลกก็ไม่ต่างอะไรกับการเกิดมาเล่นกีฬาโลก เพราะชีวิตมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่แข่งกับตนเองก็ต้องแข่งกัคนอื่น หรือบางทีก็แข่งกับชาวโลก มีคนเป็นจำนวนมากทีาหลงเล่นกีฬาโลกโดยไม่รู้กติกา พยายามเป็นผู้ชนะตลอดเวลาแต่ดูเหมือนว่า ยิ่งอยากครอบครองชัยชนะให้มากที่สุด เขาเหล่านั้นก็กลับพาตัวเองเข้าสู่ภาวะทุกข์มากที่สุดเช่นกัน กติกาของโลกนอกจากเรื่องโลกธรรม ๘ แล้ว ยังมีกติกาอื่นอีกหรือไม่ที่นักกีฬาโลกทั้งหลายควรจะรู้

ซึ่งมีคำตอบ ธัมมุทเทส ๔ อยู่ในพระไตรปิฎก

อ่านต่อ »


นิทานในนิทาน

1 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 29 August 2008 เวลา 6:51 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3338

๙๗ ผู้โง่เขลา ไม่รู้แจ้งข้อสำคัญของเรื่อง เอาแต่อำนาจ ความโกรธ, แต่ต้องเดือดร้อนเหมือนพราหมณ์จากพังพอน.

๙๙{…ผู้โง่เขลา ไม่รู้แจ้งข้อสำคัญของเรื่อง…} กาม ๑​ โกรธ​ ๑​ โลภ ๑​ ริษยา ๑​ ถือตัว ๑ มัวเมา ๑ เมื่อบุคคลละเสียซึ่งพวกหกนี้ก็มีสุข.

๑๐๓คนชั่ว เหมือนหม้อดิน แตกสลายจ่าย{ง่าย?} และซ่อมยาก; แต่คนดี เปรียบเหมือนหม้อทอง ยากที่จะแตก แต่ประสานง่าย.

๑๐๔ชนโง่ อันบุคคลทำให้ชอบใจง่าย, ชนมีความรู้ดี อันบุคคลทำให้ชอบใจยิ่งง่ายขึ้น; แต่คนที่ฟุ้งซ่านด้วยความรู้อันเล็กน้อย ต่อให้พระพรหม ก็ทำให้ชอบใจไม่ได้….

๑๕๐​ {๑๐๕?}เหล่าชนที่ประพฤติดี อันโลกเห็นด้วยตาไม่ได้ในที่ทั้งปวง บุคคลพึงอนุมานตามการที่เขาทำ; เพราะฉะนั้น พึงรู้แจ้งกิจการของผู้ประพฤติซึ่งมองไม่เห็นด้วยผลทั้งหลายนี้.”

๑๐๘พึงยึดใจคนโลภ ด้วยทรัพย์สิน, คนกระด้าง ด้วยอัญชลีกรรม, คนโง่ ด้วยตามใจ, บัณฑิต ด้วยความตามเป็นจริง.

๑๐๔พึงปราบเพื่อน ด้วยความดี, ญาติ ด้วยความเอื้อเฟื้อ, สตรีและข้า ด้วยรางวัลและเกียรติยศ, คนอื่นๆ ด้วยความเคารพ.

หิโตปเทศ ๔ สนธิ ความสงบ


รู้รักสามัคคี - Our loss is our gain

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 28 August 2008 เวลา 0:09 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 6560

พระราชดำรัส ที่ทรงเรียบเรียงและปรับปรุงขึ้นจากที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
วันพุธ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

ขอขอบใจท่านนายก ฯ (นายอานันท์ ปันยารชุน) ที่ได้อำนวยพรในนามของทุกๆ ท่านที่ได้มาในวันนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะว่าแต่ก่อนนั้น เวลามีโอกาสเช่นนี้ เมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อน แม้จะมีผู้เข้าพบจำนวนมากพอใช้ ก็ได้ทักทายทุกคณะ เป็นอันว่า แต่ละคนๆ เขาได้ให้พร. แต่เดี๋ยวนี้ โดยที่จำนวนทวีขึ้นมาก ถ้าทำเช่นนั้น ก็ไม่มีทางที่จะเสร็จได้ภายในวันนี้. แต่ก่อนนี้ หลังจากพิธีในวัง ก็ได้มาพบกับท่านที่มาให้พร. โดยมาก ก็ไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน เพราะว่าต้องรับแขกตั้งแต่เที่ยงจนถึงบ่ายสี่โมง แล้วบ่ายสี่โมงครึ่ง ก็ต้องไปงานพิธีในวังอีก.

อย่างในวันนี้ถ้านับดู หากไม่มีนายก ฯ มาบรรเทาความเดือดร้อน ก็จะทำให้ต้องเสียเวลามากมายเพราะว่าเวลาพบคณะหนึ่งก็จะต้องรับพร. ถ้าเขาเริ่มต้นด้วยคำ “ขอเดชะ…” คูณด้วย ๓๐๐ คณะ ก็จะใช้เวลา ๑๕ นาที เฉพาะสำหรับ “ขอเดชะ….” แล้วต่อไปเขาก็จะต้องว่า “ข้าพระพุทธเจ้า…ชื่อนั้นๆๆ…ขอถวายพระพร.” ชื่อนั้นๆๆ…ก็กินเวลาอีกประมาณ ๑๕ นาที. แล้วต่อไป ก็จะต้องว่า “ขอถวายพระพรให้ทรงพระเจริญ” แล้วบางทีเขาก็พูดติดลมต่อไปอีกมากมาย. และต่อจากนั้นเขาจะต้องว่า “ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ” ก็กินเวลาไปอีก ๑๐ นาที. ตอนที่เขาพูดเสร็จแล้ว เราก็จะต้องมีอัธยาศัยไมตรี. อย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องบอก “ขอบใจ”. คำว่า “ขอบใจ” นี้จะใช้เวลาไปอีกประมาณ ๑๐ นาที คือ “ขอบใจ” ๓๐๐ ครั้งก็ ๑๐ นาที. นอกจากนั้น เราก็ควรมีอัธยาศัยไมตรีมากกว่านั้นเพราะว่าเมื่อเจอคนโน้นคนนี้ ก็จะต้องทักทายกันบ้าง. “โอ้ไม่ได้พบมานานคุณเสนาะ (นายเสนาะ อูนากูล รองนายกรัฐมนตรี) สบายดีหรือ” อะไรอย่างนี้ ก็จะต้องใช้เวลาไปอีก. รวมแล้ว เวลาจะล่วงไปอย่างน้อยที่สุด ๑ ชั่วโมงครึ่งในการทักทายปราศรัย ไม่นับเวลาเดินด้วย มิฉะนั้นงานอาจไม่เกิดอัธยาศัยไมตรี. การพูดว่า “ขอบใจ” เฉยๆ อาจไม่พอ ก็จะต้องพูดจาอะไรมากกว่านั้น.

อ่านต่อ »


“ถูกต้อง”

อ่าน: 4099

ในเวลาที่มีพิธีกรเกมโชว์ใช้คำว่า “ถูกต้องนะคร้าาาาบบบ” เป็นที่ฮิตกันไปทั่วเมือง แม้ทางฝั่งการบ้านการเมือง การแสดงความคิดเห็น ก็ยังยืนยันว่า ฝ่ายของตนนั้นถูกต้อง และอีกฝ่ายหนึ่งไม่ถูกต้อง ผมค้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน… เชื่อไหมครับ ว่าไม่พบคำว่า “ถูกต้อง” !

ถูก ๑
ก. โดน, แตะต้อง, สัมผัส, เช่น ถูกเนื้อถูกตัว; เหมาะกัน, เข้ากัน, เช่น ถูกนิสัย; ตรงกันกับ เช่น ถูกกฎหมาย ถูกลอตเตอรี่; เป็นกริยาช่วย แสดงว่าประธานของประโยคเป็นผู้ถูกทํา (มักใช้ในข้อความที่ทําให้ผู้ถูกทําเดือดร้อนหรือไม่พอใจ) เช่น ถูกเฆี่ยน ถูกลงโทษ. ถูกกระทำ ก. ถูกทำให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ โดยวิธีใช้เวทมนตร์เป็นต้น. ถูกกัน ก. เข้ากันได้, ชอบพอกัน. ถูกขา ก. เข้ากันได้, รู้ชั้นเชิงกัน, (มักใช้ในการพนันและการเล่นกีฬา). ถูกคอ ก. ชอบพอ, ถูกอัธยาศัยกัน, มีรสนิยมเข้ากันได้. ถูกคู่ ก. เข้าคู่กันได้. ถูกใจ ก. ชอบ, ต้องใจ, ถูกอกถูกใจ ก็ว่า. ถูกโฉลก ก. ถูกตามตำรับนับโฉลก, ถูกชะตากัน, เป็นมงคล. ถูกชะตา ก. ถูกใจกันแต่แรกเห็น. ถูกตา ว. งาม, น่าดู, ต้องตา. ถูกน้อย (โบ) ก. ถูกลักษณะอย่างวิ่งน้อย เป็นอาการของม้าวิ่งเรียบ ๆ ช้า ๆ. (อิเหนา). ถูกปาก ว. อร่อย. ถูกส่วน ว. ได้สัดส่วน, สมส่วน. ถูกเส้น (ปาก) ว. เข้ากันได้, ชอบพอกัน, ถูกอกถูกใจ. ถูกใหญ่ (โบ) ก. ถูกลักษณะอย่างวิ่งใหญ่ เป็นอาการของม้าวิ่งอย่างเร็ว. ถูกอกถูกใจ ก. ชอบ, ต้องใจ, ถูกใจ ก็ว่า.
ถูก ๒
ว. จริง, ชอบ เช่น ถูกใจ, เหมาะสม, ไม่ผิด เช่น คิดถูก ทําถูก; มีราคาตํ่า, ไม่แพง.

เป็นไปได้หรือนี่ ที่ไม่มีการนิยามความหมายของคำว่าถูกต้องเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของกริยา วิเศษณ์ หรือนาม (ความถูกต้อง) เอาไว้

อ่านต่อ »



Main: 0.62795400619507 sec
Sidebar: 0.6020770072937 sec