คุณค่าของความเป็นมนุษย์

โดย Logos เมื่อ 3 September 2008 เวลา 13:22 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4295

พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

คุณค่าของความเป็นมนุษย์

มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวไว้แปลความว่า “ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก” เมื่อ ได้รับทราบความดังนี้แล้ว อย่าเพียงเข้าใจตื้นๆ แต่พึงพิจารณาด้วยดี ให้พร้อมด้วยสติและ ปัญญา ให้ลึกซึ้ง เพื่อจักได้ประโยชน์จากความหมายของพุทธภาษิตนี้อย่างสมบูรณ์ ปรกติ สิ่งใดที่ได้ยากท่านถือว่าเป็นของมีค่า ควรถนอมรักษาอย่างยิ่ง การได้เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นการยาก เปรียบดังได้เพชรน้ำงามเม็ดใหญ่หาค่ามิได้ไว้ในมือ เราย่อมต้องรักษาเพชรนั้นยิ่งกว่าได้เศษกระเบื้องและไม่มีราคา การรักษาค่าของความเป็นมนุษย์ก็คือ การรักษาคุณสมบัติ ของมนุษย์ไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด เช่นเดียวกับการรักษาเพชรนั่นเอง การรักษาเพชรนั้นไม่เพียงรักษาไม่ให้สูญหายเท่านั้น แต่ต้องรักษาไม่ให้แตกร้าว ไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนแม้เท่าขนแมว เพราะนั่นจะเป็นเหตุให้ความงามของเพชรลดลง เป็นเหตุให้ค่าของเพชรลดลง เป็นเหตุให้ ราคาของเพชรต่ำลง

“ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก” ก็คือยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ ที่เห็นเป็น มนุษย์กันอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองมากขึ้นทุกวัน จนถึงกับเกิดการตกใจกลัวมนุษย์จะล้นโลก นั้น มิใช่จะเป็นเครื่องแสดงข้อคัดค้านพุทธภาษิตดังกล่าว เพราะแม้มนุษย์จะมากมายเพียงไร แต่แม้ลองเปรียบกับสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ก็จะมีจำนวนน้อยนัก สัตว์ใหญ่สัตว์น้อยสัตว์ปีก สัตว์ไม่มีปีก รวมทั้งมดปลวกยุงแมลงในโลกเรานี้มีจำนวนมากมายเกินกว่าจะสำรวจได้ แต่มนุษย์ยังสำรวจจำนวนได้ ซึ่งก็เป็นเครื่องแสดงความเกิดได้ยากของมนุษย์   ยืนยันพุทธภาษิตว่า “ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก”

การรักษาความเป็นมนุษย์ก็เช่นกัน ไม่ควรเพียงเพื่อรักษาชีวิตไว้ให้อยู่ยืนยาวเท่านั้น แต่ต้องรักษาคุณค่าของมนุษย์ไว้ให้สมบูรณ์ มนุษย์ก็คือคน คุณค่าของมนุษย์หรือของ คนที่สำคัญที่สุดคือความไม่เป็นสัตว์ ไม่ใช่สัตว์ เมื่อพูดถึงความเป็นสัตว์ ทุกคนย่อมรู้สึกถึง ความแตกต่างของตนเองกับสัตว์อย่างชัดเจน ทุกคนย่อมยินดีอย่างยิ่งที่ตนไม่เกิดเป็นสัตว์ ยินดีที่ตนไม่ใช่สัตว์ แม้เพียงถูกเปรียบว่าเป็นสัตว์ หรือเพียงเหมือนสัตว์ ก็ย่อมไม่พอใจอย่างยิ่ง นั่นก็เพราะทุกคนเห็นความห่างไกลระหว่างคุณค่าของคนกับของสัตว์ ค่าของคน เป็นค่าที่สูงกว่าค่าของสัตว์ ดังนั้นคุณค่าของมนุษย์จึงแตกต่างกับสัตว์ ผู้เป็นมนุษย์จึงจำเป็นต้องถนอมรักษาคุณค่าของตนไว้มิให้เสียความเป็นมนุษย์

คุณค่าสำคัญของมนุษย์ซึ่งแตกต่างกับสัตว์ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น สัตว์ไม่รู้จักเหตุผล ไม่มีเหตุผล นั่นคือสัตว์ไม่มีปัญญาของมนุษย์ ปัญญาของสัตว์มีเพียงรู้จักหาอาหารกินเมื่อหิว จะรู้จักสะสมอาหารไว้ก็เพียงสัตว์บางชนิดเท่านั้น ปัญญาที่ยิ่งกว่านั้นหลายอย่างที่มนุษย์ มี สัตว์ไม่มี สัตว์ไม่รู้ถูกรู้ผิด ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีเหมือนมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์จึงต้องรักษา ปัญญาที่รู้จักผิดชอบชั่วดีไว้ สัตว์ไม่มีเมตตากรุณาเพราะไม่รู้จักว่าความเมตตากรุณาเป็น อย่างไร มีคุณเพียงไร มนุษย์ต้องอบรมเมตตากรุณาให้มาก ต้องมีเมตตากรุณาให้มาก เพราะมนุษย์มีปัญญารู้ว่าเมตตากรุณาเป็นความดี เป็นคุณค่าสำคัญของมนุษย์ ขาดคุณค่า สำคัญนี้ความเป็นมนุษย์ย่อมไม่สมบูรณ์ คงจะเคยได้ยินคำประนามผู้ไม่มีเมตตากรุณาว่าไม่ เหมือนมนุษย์ นั่นแหละคือคำรับรองยืนยันว่าเมตตากรุณาเป็นสมบัติเป็นคุณลักษณะของ มนุษย์ สัตว์ไม่รู้ว่าการเบียดเบียนเป็นอย่างไร มีคุณหรือมีโทษอย่างไร แต่มนุษย์รู้ว่าการ เบียดเบียนไม่ดี เป็นโทษ มนุษย์จึงควรต้องไม่เบียดเบียนเพื่อรักษาคุณสมบัติของมนุษย์ ประการนี้ไว้ สัตว์แม้จะมีกตัญญูกตเวที เช่นหมาแมวที่รักและมีกตัญญูต่อเจ้าของ แต่ก็เป็น เพียงในระดับของสัตว์ คือในระดับที่สติปัญญาของสัตว์จะรู้ได้ทำได้ มนุษย์มีปัญญารู้ได้ทำ ได้มีปัญญาเข้าใจว่าความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่ดี ที่ประเสริฐ ดังนั้นมนุษย์จึงควรใช้ สติปัญญารักษาความสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมนี้ของมนุษย์ไว้ เพื่อให้ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ไม่บกพร่อง มนุษย์ต้องไม่ทำลายคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ด้วยการไม่กตัญญู หรือด้วย อกตัญญูไม่ตอบแทนพระคุณที่ท่านทำแล้ว อันความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จริงนั้น ไม่เพียงแต่จะกตัญญูกตเวทีต่อผู้ทำคุณแก่ตนโดยตรงเท่านั้น แม้ผู้ทำคุณทางอ้อม เช่น เป็นผู้ประพฤติ ดีปฏิบัติชอบ มนุษย์ที่มีคุณค่าของมนุษย์สมบูรณ์จริงก็ยังกตัญญูต่อผู้นั้น เพราะมีปัญญารู้ได้ว่าผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบคือผู้มีคุณต่อส่วนรวม จึงเป็นผู้มีคุณแก่ตนด้วย ควรได้รับ ความกตัญญูกตเวทีของตนด้วย ปัญญาที่สมบูรณ์ของมนุษย์จะทำให้สามารถเห็นความจริงได้เช่นนี้

คุณธรรมที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นคุณธรรมส่วนใหญ่ เป็นหลักสำคัญของมนุษย์ ยังมีคุณธรรมของมนุษย์หรือคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ปลีกย่อยออกไปอีกเป็นอันมาก เมื่อได้สิ่งที่ได้ด้วยยากคือได้ความเป็นมนุษย์แล้ว มนุษย์ทุกคนผู้รู้เดียงสาแล้ว ก็พึงสนใจที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ของตนให้ดีที่สุด ให้ถือความเป็นมนุษย์ของตนเหมือน เพชรหาค่ามิได้ จักทุ่มเทจิตใจระวังรักษาความเป็นมนุษย์ของตนให้เพียงนั้น มนุษย์ที่ขาด คุณสมบัติของมนุษย์ก็เหมือนเพชรงามที่แตกร้าว เป็นเพชรที่แตกร้าวย่อมไม่เหลือราคา ของเพชร ย่อมเป็นเหมือนเศษกระเบื้องและหาราคาไม่ได้ฉันใด เป็นมนุษย์ที่ไม่รักษาคุณ ค่าไว้ ปล่อยให้เสื่อมสลายบกพร่อง ก็ย่อมเป็นคนหาราคาไม่ได้ ฉันนั้น พึงคำนึงถึงความ จริงนี้ด้วย จักเกิดกำลังใจปฏิบัติรักษาคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์เต็มสติปัญญา ความสามารถ

สัปปุริสธรรม ธรรมของสัปบุรุษหรือคนดี หรือธรรมของมนุษย์ผู้มีความเป็นมนุษย์ สมบูรณ์ มี ๗ ประการ ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ แล้วปฏิบัติให้ได้ ก็จักสามารถรักษาคุณค่าแห่ง ความเป็นมนุษย์ทุกประการได้ สัปปุริสธรรม ๗ ประการคือ ๑. รู้จักเหตุ ๒. รู้จักผล ๓. รู้จักตน ๔. รู้จักประมาณ ๕. รู้จักกาล ๖. รู้จักประชุมชน ๗. รู้จักบุคคล

รู้จักเหตุก็คือรู้จักพิจารณาให้รู้ว่าเหตุใดจักให้เกิดผลใด ไม่ด่วนทำอะไรก็ตามโดยไม่พิจารณาให้รู้เสียก่อนว่าเมื่อทำแล้วผลที่เกิดจะเป็นเช่นไร ก่อนจะทำการทุกอย่างต้องรู้ว่า เป็นการทำที่เป็นเหตุดีหรือไม่ดี คือจะก่อให้เกิดผลดีหรือไม่ดี

รู้จักผลคือรู้จักว่าภาวะหรือฐานะหรือสิ่งที่ตนกำลังได้รับได้ประสบนั้น เกิดจากเหตุใด เป็นผลอันเกิดจากการกระทำอย่างไร ไม่ด่วนเข้าใจว่าผลดีที่กำลังได้รับอยู่เช่นเงินทอง ของมีค่าที่ลักขโมยคดโกงเขามานั้นเกิดจากเหตุดีคือการลักขโมย แต่ต้องเข้าใจว่าความ ร้อนใจที่กำลังได้รับเพราะเกรงอาญาต่างๆ นั้นแหละเป็นผลของการลักขโมยคือต้องรู้ว่าผล ดีที่กำลังได้รับเกิดจากเหตุดีอย่างไร ผลร้ายที่กำลังได้รับเกิดจากเหตุร้ายอย่างไร ผลร้าย ต้องอย่าเข้าใจว่าเป็นผลดีอย่าเข้าใจว่าเป็นผลร้าย

รู้จักตน คือรู้จักตัวเองว่าเป็นใคร อยู่ในภาวะและฐานะอย่างไร การรู้จักตนนี้จำเป็น มาก สำคัญมากเพราะมีความหมายลึกลงไปถึงว่าเมื่อรู้จักตัวเองว่าเป็นใคร มีภาวะและ ฐานะอย่างใดแล้ว จะต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับภาวะและฐานะของตน จะได้รักษาความ มีค่าของตัวไว้ได้ ผู้ปฏิบัติไม่เหมาะสมกับภาวะและฐานะจักเสื่อมจากค่าของความเป็น มนุษย์ที่ตนเป็นอยู่

รู้จักประมาณ คือรู้จักประมาณว่าควรทำสิ่งใดเพียงใดที่เป็นการพอเหมาะพอควรแก่ ภาวะและฐานะของตน พอเหมาะพอควรแก่ผู้เกี่ยวข้อง พอเหมาะพอควรแก่เรื่องราว มีพุทธ ภาษิตกล่าวไว้ว่า “ความรู้จักประมาณยังประโยชน์ให้สำเร็จทุกเมื่อ”

รู้จักกาล คือรู้จักเวลา รู้ว่าเวลาใดควรทำหรือไม่ควรทำอะไร การทำผิดเวลาย่อมไม่ เกิดผลสำเร็จ ย่อมไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร

รู้จักประชุมชน คือรู้จักภาวะและฐานะนิสัยใจคอบุคคลนั้นๆ ให้ถูกต้อง เพื่อว่าจะได้ ปฏิบัติตนที่เกี่ยวข้องด้วยให้เหมาะให้ควรแก่ประชุมชนนั้น

รู้จักบุคคล คือรู้จักภาวะและฐานะนิสัยใจคอของบุคคลนั้นๆ ให้ถูกต้อง เพื่อว่าจะได้ ปฏิบัติตนที่เกี่ยวข้องด้วยให้เหมาะให้ควร รู้จักว่าเขาเป็นพาลจักได้หลีก รู้จักว่าเขาเป็น บัณฑิตคือคนดีจักได้เข้าใกล้ ให้เหมาะแก่แต่ละบุคคลไป ภาษิตที่ว่า “คบคนพาล พาลพา ไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” จักเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรู้จักบุคคลนี้แหละ

สัปปุริสธรรม ๗ ประการดังวิสัชนามานี้แหละจักทำให้ผู้รู้แม้พอสมควรทุกคนแล้ว ปฏิบัติด้วยดี จักสามารถรักษาค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของตนไว้ได้ด้วยดีแล

« « Prev : ทิศไหน

Next : ระงับโกรธ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.36038017272949 sec
Sidebar: 0.36477088928223 sec