ขึ้นรอบปีที่ห้าของลานปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 2 July 2012 เวลา 2:18 ในหมวดหมู่ ลานปัญญา #
อ่าน: 4888

ลานปัญญาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2551 ดังนั้นในวันที่ 4 ก.ค. นี้ก็จะมีอายุครบสี่ปีบริบูรณ์ และขึ้นรอบปีที่ห้าต่อไป

บันทึกนี้เขียนไม่ตรงกับวันเกิด แต่ผมไม่ถือหรอกนะครับ ก็แค่อีกวันหนึ่งเท่านั้นเอง

ถ้าเทียบกับเด็กอายุสี่ขวบ สังคมลานปัญญาก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่รับผิดชอบตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว ตลอดปีที่ผ่านมา เสถียรภาพของระบบจัดว่าดี แม้ไม่เท่าปีก่อนหน้านั้น แต่ก็ไม่มี major outage ให้ปวดหัว จะเรียกดูเมื่อไหร่ก็ดูได้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลระบบ ผมก็ไม่ได้ประมาทหรอกครับ เราทำหนังสือเจ้าเป็นไผ ขึ้นมาสองเล่ม ใช้ระดมทุนเข้ากองทุนชาวเฮ เมื่อปีที่แล้วตั้งใจว่าจะนำเงินไปซื้อเซอร์เวอร์ใหม่เพื่อเสถียรภาพของระบบ แต่ไม่มีโอกาสเนื่องจากเกิดภัยพิบัติขึ้นในประเทศหลายครั้ง ยาวนาน และเกิดในหลายภูมิภาค หลังจากภัยพิบัติผ่านไป ยังมีเรื่องของการฟื้นฟูผู้ประสบภัยอีก ดังนั้นผมก็ไม่มีเวลาว่างพอที่จะปรับปรุงระบบหรอกนะครับ หวังว่าสมาชิกทุกท่านคงไม่ว่าอะไร

เงินในกองทุนชาวเฮมีพอสำหรับซื้อเซอร์เวอร์ทดแทนเครื่องเก่าซึ่งมีอายุมากแล้ว เปิดใช้งานมาตลอดหลายปีโดยไม่เคยปิดเลย นอกจากนี้ก็อยากจะอัพเกรดซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมลานปัญญา งานนี้เป็นงานชุดใหญ่ แต่จะทำให้การเขียนบันทึกง่ายขึ้นมาก การอัพโหลดรูปสะดวกสบาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังอาจจะเปลี่ยนไอเอสพีอีกด้วย

ในปีที่ผ่านมา มีสมาชิกเป็นจำนวนมากที่ย้ายไปเขียนบนเฟสบุ๊ค ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิทธิ์ครับ ไม่ว่าอะไรหรอก บันทึกที่เคยเขียนไว้ ตลอดจนบัญชีชื่อสมาชิก/รหัสผ่าน ก็ยังเก็บไว้เหมือนเดิม ซึ่งถ้าหากเจ้าตัวจะลบบันทึกและรูปออก ก็ไม่ว่าอะไรเหมือนกันครับ; มีสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่มเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ไม่สามารถจะผ่าน learning curve ไปได้ — หลายปีก่อน ผมเคยถามสมาชิกว่ามีตรงไหนที่ควรปรับปรุง ก็ไม่มีข้อเสนอแนะอะไร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนที่ใช้เป็น ก็ใช้เป็น แทบทุกอย่างที่ต้องการใช้ง่ายไปหมด คล่องไปหมด ส่วนคนที่ใช้ไม่เป็น มันยาก ไม่คุ้นเคย ทำอะไรไม่ถูกอยู่ดี แม้มีคู่มือให้ ก็เอาแต่อ่านโดยไม่ลงมือทำ — การทำไปตามคู่มือทีละขั้น รอดทุกราย แต่ถ้าอ่านแล้วพยายามจะทำความเข้าใจทั้งหมด มักไม่รอดหรอกครับ เพราะนึกภาพจอที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ออก

อ่านต่อ »


ถอดบทเรียนการทำหนังสือ โมเดลบุรีรัมย์

อ่าน: 10751

เมื่อวาน ส่งต้นฉบับไปโรงพิมพ์และสั่งพิมพ์แล้ว ก็เป็นอันว่ากระบวนการทำหนังสือโมเดลบุรีรัมย์เล่มนี้ จบลงเพราะทำอะไรอีกไม่ได้แล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ 4 ที่ผมทำทั้งกระบวนการ เขียน-เลือก-รวบรวม-ทำปก-จัดรูปเล่ม-แต่งรูปประกอบ-เรียงพิมพ์-ตรวจ-แก้-ส่งโรงพิมพ์ หนังสือคงจะพิมพ์เสร็จและจัดโดยส่งมาที่ VBAC ได้ในวันที่ 3 ก.ค. หนึ่งวันก่อนการเปิดตัวในงานอะไรสักอย่างของสภาการศึกษา ที่ทำเนียบรัฐบาล

เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำหนังสือแบบของผมเอง ดูได้จากบันทึกเก่าครับ — ควรอ่านทั้งสองบันทึกก่อนอ่านบันทึกนี้ต่อไป

อันนี้แถม

ที่จริงเมื่อวานซืน ไปส่งต้นฉบับที่โรงพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ว่าเนื่องจากก่อนไปส่ง มีการแก้ไขที่ฉุกละหุกมาก แล้วมีจำนวนสั่งพิมพ์ที่มากพอสมควร ผมจึงไม่แน่ใจว่าต้นฉบับนั้นจะมีคุณภาพที่จะพิมพ์ได้ แม้ว่าเวลาจะกระชั้นชิดมาก แต่ก็นัดแนะกับโรงพิมพ์ว่าวานนี้ จะต้องขอตรวจปรู๊ฟก่อน แม้จะเสียเวลา โรงพิมพ์พูดไม่ออก ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเวลาไม่มีแล้ว

ดังนั้นเมื่อกลับมาบ้านเมื่อวานซืน จึงลงมือตรวจต้นฉบับอีกครั้งหนึ่งร่วมกับคณะบรรณาธิการ คือครูปู หมอเบิร์ด และฝน ถ้าตรวจแก้ได้เมื่อคืนทั้งหมด เช้าขึ้น เอาต้นฉบับอันใหม่ไปให้โรงพิมพ์แล้วสั่งพิมพ์เลย จะประหยัดเวลาได้มากกว่าไปตรวจปรู๊ฟที่โรงพิมพ์แล้วแก้ไข

ในการตรวจแก้ขั้นสุดท้าย มีรายการส่งมาแก้ไขตลอดช่วงค่ำ แต่เวลาสำคัญคือตั้งแต่ช่วงห้าทุ่มจนแปดโมงเช้า ผมมีโอกาสอีกรอบหนึ่งที่ได้แก้ไขเรื่องการแบ่งคำทางขอบขวาของหน้า และการจัดรูปประโยคใหม่ทั้งเล่ม โปรแกรมเรียงพิมพ์ตัดคำได้ดีครับ แต่ตัดประโยคไม่ดี ต้องมาไล่ปรับเองทั้งเล่ม

ผมตรวจแก้มาทั้งคืน คิดว่าโอเคแล้ว แปดโมงเช้าจึงเตรียมดิสก์เพื่อส่งโรงพิมพ์ เจอรายการแก้ไขหมอเบิร์ดสุดละเอียดอีก ก็เลยแก้อีกครับ

แก้ไปจน 9 โมง มีความเห็นร่วมกันว่าพอแล้ว ต้องเตรียมดิสก์ไปส่งโรงพิมพ์แล้ว ถ้าทำจนสมบูรณ์แบบ จะเป็นการผิดปกติ ความสมบูรณ์แบบไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าส่งงานไม่ได้ แต่เชื่อว่าด้วยความทุ่มเทของคณะบรรณาธิการที่ทำอย่างเต็มที ทำให้หนังสือนี้ มีคุณภาพดีเกินพอที่จะตีพิมพ์แล้ว

ผมได้อ่านหนังสือนี้หลายรอบมากๆ ชอบทั้งเนื้อหา ชอบทั้งความไหลลื่นของเรื่อง (คนเรียงเรื่องเก่ง) ชอบรูปประกอบ (คนถ่ายรูปเก่ง และคนเลือกรูปมาใช้เก่งมาก) อ่านไปทุกรอบ สะดุดใจประเด็นความรู้ใหม่ทุกรอบ

อ่านต่อ »


จะเอาผลแต่รดน้ำเฉพาะกิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 12 June 2012 เวลา 17:31 ในหมวดหมู่ เทคโนโลยีชาวบ้าน #
อ่าน: 4787

มีคนบ่นว่าบ้านเราดีแต่ขายแรงงานราคาถูก ไม่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ขายในระดับนานาชาติได้เอง ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นระดับ 0.3% ของจีดีพี ซึ่งต่ำต้อยด้อยพัฒนาซะเหลือเกิน ประเทศที่พัฒนาแล้วมีตัวเลขนี้สูงกว่าเราสักสิบเท่า จึงหนีไม่รอดที่จะนำเข้าการออกแบบ นำเข้าวัตถุดิบมาผสมกับแรงงานราคาถูก แล้วขายออกไปสู่ตลาดโลกในราคาถูก กำไรที่เกิดขึ้น บริษัทข้ามชาติก็นำกลับไปหมด เหลือเป็นเพียงค่าแรงและเศษภาษีถูกๆ ให้กับคนไทย (เผลอๆ ได้ BOI ไม่เสียภาษีอีกด้วยซ้ำไป)

แต่วันนี้ค่าแรงของเราไม่ได้ถูกอีกต่อไปแล้ว ทั้งสังคมไม่ได้ขวนขวายที่จะพยายามทำอะไรด้วยตัวเอง ติดแหงกอยู่กับความสะดวกสบาย เคยมีอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีให้ความเห็นไว้ว่าซื้อเอาง่ายกว่า คุ้มกว่าทำเอง (ซึ่งถูกต้องเมื่อมองเฉพาะเรื่องราคา แต่ไม่ถูกเมื่อมองเรื่องความยั่งยืน) การศึกษาถูกบังคับด้วยหลักสูตรและ “มาตรฐานการศึกษา” ซึ่งรับประกันว่าเป็นความรู้แห้งๆ ทำอะไรไม่เป็น เด็กส่วนหนึ่งจะเข้ามหาวิทยาลัยและเรียนต่อไปได้ ซึ่งเป็นการเลื่อนเวลาการตกงานออกไปในอนาคต

เหมือนกับที่จั่วหัวเรื่องไว้ ผมคิดว่าอาการอย่างนี้ เป็นเหมือนความต้องการที่จะเอาผล แต่ไปรดน้ำเฉพาะตรงกิ่ง แทนที่จะบำรุงทั้งต้นโดยเริ่มตั้งแต่ราก ไม่ว่าจะปฏิรูปการศึกษามากี่หน ก็ไม่เคยคิดว่าบางทีปัญหาจะอยู่ที่ตัวคนปฏิรูปเอง ปฏิรูปไปกี่ครั้งก็เหมือนเดิม เช่นเดียวกับการทำรัฐประหาร และการเลือกตั้ง

อ่านต่อ »


บ่อปลาและแปลงผักในป่าคอนกรีต

อ่าน: 7102

หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไม่ดีทั่วโลก บ้านเรารับข่าวสารแต่มักจะไม่เข้าใจเนื้อแท้ของข่าวว่ามีอะไรซ่อนอยู่บ้าง

เศรฐกิจโลกไม่ดีมาหลายปีแล้วครับ อัตราคนว่างงานในสหรัฐไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่เข้าใจกัน เนื่องจากปลายช่วงรัฐบาลบุชผู้ลูก มีการเปลี่ยนแปลงการนับจำนวนผู้ว่างงานเป็นจำนวนผู้รับสวัสดิการการว่างงานจากรัฐ แต่ว่ารัฐจ่ายสวัสดิการนี้เพียงปีเดียว ถ้าในหนึ่งปียังหางานไม่ได้ ก็จะไม่นับเป็นผู้ว่างงานอีกต่อไปเนื่องจากไม่ได้รับสวัสดิการการว่างงานจากรัฐอีกแล้ว สหรัฐพิมพ์ธนบัตรเท่าไรก็ได้ เอาไปซื้อน้ำมัน โอเปคไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่านี่มันแบ๊งค์กงเต็ก แต่ไม่มีเงินสกุลใหญ่อื่นๆ ที่มีความมั่นคงพอ จะสังเกตได้ว่าเศรษฐีอาหรับเอาเงินไปซื้อห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือแม้แต่ทีมฟุตบอล ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนเงินสดไปเป็นสินทรัพย์อย่างอื่นเผื่อว่าระบบเงินตราจะมีปัญหาหนัก

ทั้งในอเมริกาและยุโรป นอกจากความเชื่อในกระแสโลกวิบัติปี 2012 แล้ว ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความอยู่รอดของยูโรโซน ปัญหาการขาดดุลย์การค้าที่กลับเพิ่มขึ้นอีกของญี่ปุ่น อัตราการว่างงานในสหรัฐและยุโรป เงินเฟ้อ ประเทศล้มละลาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือราคาน้ำมันผันผวน ทำให้ผู้คนเริ่มระแวงว่าเมื่อระบบโลจิสติกส์มีปัญหา แหล่งผลิตทางอุตสาหกรรมจะมีปัญหาสองเด้ง คือการขนส่งวัตถุดิบเข้ามาผลิตไม่ได้และส่งสินค้าที่ผลิตแล้วไปขายไม่ได้เช่นกัน พื้นที่เกษตรกรรมก็เช่นกัน ถ้าราคาน้ำมันผันผวนมาก เครื่องจักรกลการเกษตรทำงานไม่ได้ จะไม่มีแรงงานเพียงพอที่จะเก็บเกี่ยว และจะไม่สามารถขนพืชผลไปขายได้

แล้วเมืองจะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าไม่สามารถส่งสินค้าและอาหารจากแหล่งผลิตสู่เมือง คำว่าเมืองไม่ใช่กรุงเทพนะครับ ชุมชนต่างๆ ที่มีความสะดวกสบายแต่ไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้ เป็นอาการเดียวกันหมด

บันทึกนี้เสนอวิธีการปลูกพืชอาหารและเลี้ยงปลา โดยอาศัยพึ่งพากันและกัน เรียกว่าระบบ Aquaponics

อ่านต่อ »


ใช้ชีวิตที่สวนป่า 22 พค - 8 มิย 2555

อ่าน: 5308

ผมไปสวนป่าเป็นระยะเวลานานอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตั้งใจจะไปทำหนังสือโมเดลบุรีรัมย์เพื่อส่งโรงพิมพ์ก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมต้องรีบขนาดนั้น ฮี่ฮี่ฮี่

ที่เคยทำมา เมื่อเรื่องพร้อม รูปพร้อม ผม (มือสมัครเล่น) จะใช้เวลาครึ่งอาทิตย์ในการเรียงพิมพ์ ปรับรูป วางข้อความและรูปภาพลงในร่างหนังสือ ปรับแก้เรื่องการแบ่งคำและการตัดคำที่ขอบบรรทัด และใช้เวลาอีกสองอาทิตย์ตรวจแก้รายละเอียดโดยทีมบรรณาธิการสามคน เครื่องมือที่เตรียมไปสวนป่า เป็นเครื่องมือสำหรับเรียงพิมพ์หนังสือครับ

แต่ปรากฏว่าเรื่องยังไม่พร้อม สั้นไป จำนวนเรื่องน้อยไป รูปยังไม่ได้รวบรวม จึงต้องรอทั้งเรื่องและรูป ในระหว่างรอก็เลยทำหนังสือ เจ้าเป็นไผ ๑ (พิมพ์ครั้งที่ 3) กับ เจ้าเป็นไผ ๒ (พิมพ์ครั้งที่ 2) ส่งโรงพิมพ์ไปก่อน ทั้งสองเล่มไม่มีวางขายทั่วไปครับ จะมีขายที่ร้านค้าของหมู่บ้านโลกในสวนป่า ส่วนช่องทางอื่นยังไม่ได้พูดจาตกลงกัน แต่จะไม่วางขายตามร้านขายหนังสือ ที่เคยทำมา สั่งซื้อโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร แล้วผมส่งหนังสือให้ทางไปรษณีย์ เรื่องนี้ไม่ยุ่งยากเพราะหนังสือกระจายอยู่ในวงชาวเฮ ซึ่งรู้จักกันหมด มีที่อยู่อยู่แล้ว หรือไม่ก็เป็นมหาวิทยาลัยสั่งซื้อมา ซึ่งจัดส่งไปให้เป็นล็อตๆ ได้ แต่ถ้าหากหนังสือจะกระจายในวงกว้างขึ้น ต้องหาระบบที่ดีมารองรับก่อนครับ

ทีนี้ในเมื่อหนังสือโมเดลบุรีรัมย์ยังทำไม่ได้เพราะครูบาป่วยเป็นงูสวัด ก็หาเรื่องอย่างอื่นทำ อย่างแรกก็ส่งหนังสือ เจ้าเป็นไผ ๑/๒ ไปโรงพิมพ์แล้ว น่าจะพิมพ์เสร็จอาทิตย์หน้า

อ่านต่อ »


เปิดตัวคุณชาย

อ่าน: 4150

อย่างที่รู้กันว่าถนนหลวงที่จะเข้ามาสวนป่านั้น ชำรุดเสียหายเป็นระยะทางยาว

ปีนี้ได้งบประมาณมา 6.93 ล้านบาทเพื่อซ่อมหลุมบ่อระยะทาง 1.3 กม. มี สส.มาติดป้ายแสดงความยินดีกับชาวบ้านด้วย แต่มันซ่อมไป 100 เมตรเท่านั้นก็เลิกซ่อมแล้ว (มันไหนก็ไม่รู้ แต่สมควรเรียกว่ามัน) เหลือระยะที่จะต้องซ่อมอีก 1.4 กม. (ไม่ได้คิดเลขผิด ถนนเสีย 1.5 กม.) เมื่อวาน ไปสั่งของในอำเภอมาสร้างบ้าน ผ่านมาเห็นกำลังง่วนกันอยู่เชียว แต่แวะช่วยไม่ได้เพราะมีธุระต้องรีบไปรีบกลับมาดูการล้มไม้ยูคาที่สวนป่า

วันนี้หลังจากเล่นเครื่องตบดินพอได้เหงื่อ จึงบอกครูบาว่าขอไปช่วยเค้าซ่อมถนน มีอะไรฉุกเฉินให้ครูบาโทรไปตาม (ครูบาอยู่คนเดียว แม่หวีไปวัด)

พอไปถึงที่ เค้าซ่อมไปแล้วกิโลหนึ่งเมื่อวาน วันนี้กำลังทำต่อ คิดว่าเย็นนี้จะเสร็จหมด — การซ่อมถนน ทำทีละครึ่งเพื่อจะได้ไม่ต้องปิดการจราจรทั้งสาย — ผมแบกจอบส่วนตัวลงรถเบนซ์ไปช่วย มีชาวบ้านประมาณ 30 คน พระ 3 รูป ไม่ต้องรู้จักใคร แต่ชาวบ้านคงเห็นผมเป็นตัวประหลาดเหมือนกัน ต่างมารุมซักถาม “มาจากไหน อยู่ที่ไหน มาทำอะไร ฯลฯ”

หนีจากความเป็นท่านในกรุงเทพ มาเป็นท่านเอากลางป่า อย่างนี้ก็มีด้วย

ทำไปก็สนุกดีครับ ไม่ต้องมีหัวหน้า ไม่ต้องมีคนสั่งการ ทุกคนรู้หน้าที่ เป็นประโยชน์ร่วมกัน มีคนหนึ่งที่ชาวบ้านเรียก “กำนัน” แรกๆ ก็ยืนดู ยืนชี้ พอผมลงมือทำ ก็ช่วยทำโน่นทำนี่

ระหว่างที่วางจอบไปขนหินขนทราย มีคนขอยืมจอบส่วนตัวไปใช้แล้วชมว่าเหมาะมือดี น้ำหนักกำลังดี

อ่านต่อ »


กำเนิดหมู่บ้านโลก

อ่าน: 3733

ครูบาขอให้ช่วยเขียนเรื่อง “กำเนิดหมู่บ้านโลก” ไปเสริมหนังสือโมเดลบุรีรัมย์ (Buriram Model) แต่เขียนเรื่องลึกลับอย่างนี้ ยากเหมือนกันครับ

หมู่บ้านโลกไม่ได้เกิดจากเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง เรื่องเกี่ยวกับชีวิตนั้น ไม่ใช่สมการเชิงเส้นตัวแปรเดี่ยว มีทั้งเรื่องเหตุผล อารมณ์ ความเหมาะสม การเรียนรู้ ประสบการณ์ ประโยชน์ และความเข้ากันได้

จุดใหญ่ใจความคือ ครูบากับแม่หวีทำงานหนักมาสามสิบปี ปลูกป่าจากที่แห้งแล้งไม่มีอะไรเลย จนเป็นป่าที่สมบูรณ์ พืชพรรณหลากหลาย เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ในนาม มหาชีวาลัยอีสาน มาเป็นสิบปีเช่นกัน มีผู้คนผ่านมาเรียนรู้วิถีธรรมชาติปีละหลายพันคน ทำงานตอบแทนคุณแผ่นดินด้านการศึกษา แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างอย่างชัดเจนว่า คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขโดยไม่ต้องเบียดเบียนกัน แต่ใช้วิธีพึ่งพาอาศัยกันและกัน

เรียนในห้อง…ได้ความรู้
เรียนนอกห้อง…ได้ความจริง

เอาความรู้บวกกับความจริง
เราได้…ความรู้จริง

ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ หนังสือ “คนนอกระบบ”

ทั้งครูบาและแม่หวี ต่างอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จะให้ทำงานหนักเหมือนสมัยก่อนคงไม่ได้แล้ว สิ่งที่มีค่ามากในตัวท่าน คือความรู้และประสบการณ์ จึงควรใช้สิ่งนั้นให้คุ้มค่าที่สุด แทนที่จะให้ท่านมาออกแรงทำเองทั้งหมดเหมือนก่อน

การทดแทนคุณแผ่นดินเป็นสำนึกของแต่ละคน ไม่ต้องให้ใครเห็นหรือชื่นชม และไม่มีใครบังคับให้ทำหรอกครับ ทำแล้วมีความสุขเอง ถ้าหากมีความพร้อม ยามแก่เฒ่าคงไม่ลำบาก แต่สำหรับชีวิตเกษตรกรซึ่งไม่มีลูกหลานดูแล แล้วปลูกและรักษาป่ามาทั้งชีวิต ตอนนี้แก่เฒ่า จะทำอย่างไรดี ถ้าตัดไม้ขายคงจะรวยอื้อซ่า แต่ว่าป่าคือชีวิตครับ ทั้งสองท่านทุ่มเทอย่างยากลำบากกว่าจะทำให้สวนป่าเป็นป่าที่สมบูรณ์มาขนาดนี้ ตั้งใจจะทิ้งป่าไว้ในแผ่นดินอีสาน

อ่านต่อ »


หมู่บ้านโลก (6)

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 20 May 2012 เวลา 22:48 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3563

ในฐานะของที่หลบภัย หมู่บ้านโลกก็เหมาะสมครับ แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกนิดหน่อยที่ต้องปรับปรุง

ที่เขียนในประเด็นของภัยพิบัตินี้ก็เป็นธรรมดาเพราะว่าผมทำงานเรื่องนี้โดยตรง หากเกิดภัยพิบัติขึ้น สวนป่าเป็นที่หนึ่งที่เหมาะจะหลบภัย แต่ว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น จะไปถึงสวนป่าได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หมายความว่าตัวสวนป่าน่ะปลอดภัยครับ แต่อาจจะเข้าไม่ได้ ไปไม่ถึง ทั้งจากระยะทางและจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นระหว่างทาง เช่นเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเมืองใหญ่ๆ เมืองใดก็ตาม ถ้าหากสะพานลอยคนข้าม สะพานลอยรถข้าม สะพานข้ามคลอง+ช้ามแม่น้ำ ทางด่วนที่สร้างยกสูงจากพื้น หรือแม้แค่อาคารหักพังลงมาขวางถนน เคยศึกษาดูกันไหมครับว่ามีเส้นทางไหนออกจากเมืองได้(และนำความช่วยเหลือเข้ามาได้)โดยไม่ผ่านซากปรักเหล่านี้ หรือแม้แต่เกิดอุทกภัย ต่อให้ที่หมายน้ำไม่ท่วม แต่ถนนที่ไปยังที่หมายเดินทางได้จริงหรือเปล่า มีเส้นทางอื่นใช้ได้หรือไม่ ยิ่งจะเดินทางไกล ก็ยิ่งต้องศึกษาให้ละเอียดตลอดเส้นทาง

ภัยพิบัติอะไร จะเกิดเมื่อไร จะเกิดหรือไม่เกิด ผมไม่รู้หรอกครับ แต่มันไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้เตรียมรับมือ+หาทางหนีทีไล่เอาไว้หรือเปล่า ต่อให้ “รู้” ล่วงหน้าแต่ไม่เตรียมอะไรเอาไว้หรือเตรียมเอาไว้อย่างไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบ เมื่อเกิดภัยขึ้นก็ไม่รอดอยู่ดี — แต่หากเตรียมการไว้ไม่ว่าจะ “รู้” ล่วงหน้าหรือไม่ เมื่อเกิดภัยพิบัติก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น… ส่วนจะรอดจริงหรือไม่ ก็แล้วแต่ว่าที่คิดว่าเตรียมไว้ดีแล้วนั้น ดีจริงหรือไม่

อ่านต่อ »


หมู่บ้านโลก (5)

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 18 May 2012 เวลา 21:57 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 4880

เขียนมายาวยืดหลายตอน แต่ยังไม่ได้บอกเลยว่าหมู่บ้านโลกนี่มันอะไรกัน

หมู่บ้านโลกอาจจะเป็นหลายอย่างสำหรับหลายคน คงจะไม่มีนิยามอันเดียวเท่านั้นที่ถูกต้องและทำให้มุมมองอันอื่นผิดหมด ทั้งนี้เพราะการสร้างสังคมขึ้นมานั้น จะอาศัยความเห็นของคนคนเดียวไม่ได้ แต่โดยพื้นฐานแล้ว ผมผู้ทำโครงการเห็นว่าหมู่บ้านโลกเป็นแหล่งเรียนรู้เสริมงานของสวนป่า มหาชีวาลัยอีสาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ของสวนป่า มีผู้อยู่อาศัยเป็นผู้ช่วยและผู้ดำเนินกระบวนการกระตุกความคิดและถ่ายทอดแง่คิด หมู่บ้านโลกจึงไม่ใช่หมู่บ้านจัดสรร รีสอร์ต หรือคอนโด พื้นที่ทั้งหมดในโครงการเป็นที่ดินของครูบา จะไปอยู่ก็ต้องเป็นไปโดยความยินยอมของท่าน ซึ่ง(ผมคิดเอาเองว่า)ท่านคงไม่ขายที่ดินด้วยต้องการจะเก็บสภาพของป่าเอาไว้และไม่ต้องการให้ที่ดินแบ่งเป็นหย่อมๆ ที่ไม่เข้ากัน สวนป่ามีพื้นที่ 600 ไร่ มีพื้นที่ที่จะไม่แตะต้องเด็ดขาดประมาณ 500 ไร่

เมื่อประมาณปี 2544 สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม ถ่ายทำสารคดีเรื่อง การออกแบบการเรียนรู้…กู้ชีวิตท้องถิ่น เป็นการสัมภาษณ์ครูบา ซึ่งครูบาก็เล่าให้ฟังว่าในตอนนั้นมหาชีวาลัยอีสานทำอะไรบ้าง เวลาผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว รายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่หลักการยังคงเดิมนะครับ

อ่านต่อ »


หมู่บ้านโลก (4)

อ่าน: 4107

ผู้ที่ศึกษาทางพุทธมาบ้าง จะเข้าใจว่าชีวิตเป็นไปตามกฏของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่สามารถกำหนด บังคับ ควบคุมได้ หากแต่ชีวิตนั้นมีค่า ไม่ควรปล่อยเวลาและศักยภาพทิ้งให้สูญเปล่า (”เรื่องใหญ่ของมนุษย์ มีอยู่แค่เรื่องเดียว คือเรื่องความไม่รู้ ว่าเรื่องใดน่ารู้” — คิดจากความว่าง โดยดังตฤณ)

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เมื่อนำมาปฏิบัติให้ได้ผลแล้ว ชีวิตจะไม่ตกต่ำลง เนื่องจากปัจจัยสี่มาจากดิน เป็นการเก็บกินไม่ใช่ทำกิน ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นลูกจ้าง ในเมื่อมีชีวิตอยู่ได้ หากสิ่งใดที่ทำแล้วเกิดคุณค่า ต่างเป็นกำไรของชีวิตทั้งนั้น ในเมื่อทุกคนเป็นนายจ้างของตนเอง จะทำกำไรได้มากเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ว่าทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นหรือไม่ และขยันขันแข็งเพียงใด

แต่ว่าร่างกายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา คนจำเป็นต้องหาเครื่องมือผ่อนแรงช่วยให้ เครื่องมือเหล่านี้จะเปลี่ยนพลังงานรูปหนึ่งเป็นอีกรูปหนึ่ง มีส่วนต่างที่เกิดเป็น “งาน” ขึ้น ซึ่งงานตรงนี้ เรานำเอามาใช้ผ่อนแรง เช่นแทรกเตอร์ ปั้นจั่น ปั๊มน้ำ ลิฟต์ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ​ เตา ฯลฯ คงจะพูดไม่ได้ว่าอะไรจำเป็นกว่าอะไร เนื่องจากแต่ละคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน

ที่กลับมาอัพเดตความคืบหน้าของโครงการหมู่บ้านโลกหลังจากไม่ได้เขียนมาปีหนึ่งนี้ ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ใครเสียกำลังใจ ตรงกันข้ามเลยครับ ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มทำโครงการนี้มาอย่างเงียบๆ (ซึ่งเพิ่งประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อสิ้นปีที่แล้ว) ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย อยากนำประสบการณ์นี้มาแบ่งปัน เพื่อให้ผู้ที่คิดจะออกจากระบบเมืองแล้วกลับสู่วิถีธรรมชาติ ได้มองเห็นประเด็นและเตรียมตัวต่างๆ ล่วงหน้า ตั้งความคาดหวังให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เมื่อพาครอบครัวออกไปสู่วิถีนี้แล้ว จะได้ไม่ต้องผิดใจกันว่ามันไม่เป็นอย่างฝันที่โรแมนติค มีอะไรจะต้องทำอีกเยอะเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรก ถ้าคิดว่าจะไปตายเอาดาบหน้า อาจได้เจอดาบเร็วกว่าที่คิดเพราะความไม่รอบคอบครับ

เรื่องความมั่นคงสามแนวทางสำหรับสวนป่าและหมู่บ้านโลกนั้น กล่าวไปแล้วในบันทึกที่แล้วว่าอาหารไม่เป็นห่วงเลย น้ำมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงและปรับปรุงได้ไม่ยาก ส่วนเรื่องที่ยังไม่ได้พูดนั้นคือเรื่องพลังงาน

อ่านต่อ »



Main: 0.072109937667847 sec
Sidebar: 0.14920091629028 sec