ฟอร์เวิร์ดเมล
อ่าน: 3398อีเมลเป็นเครื่องมือสื่อสารที่แห้งมาก แต่ก็ได้รับความนิยมตลอดมา ตั้งแต่เริ่มมีอินเทอร์เน็ตสี่สิบปีก่อน
มาจนยุคปัจจุบัน อีเมลกลายเป็นเครื่องมือกระจายข่าวสารชนิดหนึ่ง จนมีคนนำไปใช้เป็นเครื่องมือโฆษณา (สแปม)
คอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ มีโอกาสติดไวรัส และมีไวรัสบางแบบที่สามารถอ่าน contact จาก IM (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง MSN/Windows Live) เพื่อนำอีเมลไปใช้ส่งสแปมทั้งที่เป็นสแปมทางอีเมลหรือส่งเป็นไฟล์ผ่าน IM ไวรัสหลายตัวสามารถปลอมตัวโดยเลือกชื่อจาก contact ที่อ่านได้ซึ่งไม่ใช่เครื่องที่ติดไวรัส
สำหรับฟอร์เวิร์ดอีเมลที่ส่งกันระหว่างเพื่อนฝูงกัลยาณมิตรนั้น มีข้อแนะนำดังนี้
- ให้พิจารณาก่อนว่าควรส่งไปถึงคนที่เราอยากส่งหรือไม่ ส่งไปแล้วผู้รับได้อะไร
- ตัดเฉพาะข้อความที่อยากให้เขาได้รับรู้ ตัดทางที่ส่งต่อผ่านๆกันมาออกไป เช่นถ้าส่งกันมายี่สิบทอดแล้ว ส่งเฉพาะข้อความต้นทาง ไม่ต้องส่งเส้นทางของเมลที่ผ่านมาอีกสิบเก้าคน (edit ข้อความก่อนส่ง)
- ตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ การส่งสแปมเป็นความผิด ดังนั้นเราจะต้องเก็บจดหมายต้นทางเอาไว้ หากมีผู้ร้องเรียนว่าได้รับสแปมแล้วสืบสาวมาถึงเรา เราจะต้องชี้แจง และมอบหลักฐานให้กับเจ้าหน้าที่ได้ว่าได้รับมาจากใคร — แต่ถ้าเราไม่ส่งต่อ ก็จะพ้นจากความเสี่ยงที่จะละเมิดกฏหมายนี้ทันที
- เพื่อไม่ให้ขยายผลจากไวรัสมากไปกว่านี้ แทนที่จะเอาชื่อคนอีกสามสิบที่เราส่งไปถึงใส่ไว้ในช่อง To: ตามตรรกะ ควรเอาไปใส่ในช่อง Bcc: แทน ผู้รับจะเห็นว่าส่งมาจากเราคนเดียว โดยไม่เห็นว่าเราส่งไปถึงอีเมลอื่นๆอีก หากผู้รับติดไวรัส ไวรัสนั้นจะไม่ได้อีเมลอื่นๆ ไปใช้
- ข้อความขนาดใหญ่ ไม่ควรส่งทางอีเมล ใช้วิธีอัพโหลดขึ้นเว็บ แล้วส่ง URL ไปแทนน่าจะดีกว่าครับ