อภัย
อ่าน: 3644บทความนี้ มีการอ้างถึงบ่อย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขอนำมาฝากคนที่โทรมาปรึกษาเมื่อวานนี้ รู้ว่าจะมาอ่านแน่ครับ
ผมแก้ตัวสะกดในสำนวนภาษาอังกฤษ และภาษาไทยให้ถูกต้อง (เข้าใจว่าพิมพ์คัดลอกมาผิด)
ให้อภัย
จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 4
ฉบับที่ 46 กันยายน 2547โดย วศิน อินทสระ
มนุษย์ที่มีใจสูงย่อมรู้จักให้อภัยไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็กน้อย
อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทางที่ถูกควรทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ถ้าเป็นเรื่องเล็กอยู่แล้วก็ไม่ควรเอาเรื่องเสียเลย ปล่อยไปเสีย ทำไม่รู้ไม่เห็นเสียบ้าง ไม่บอดทำเป็นเหมือนบอด ไม่ใบ้ทำเหมือนใบ้ ไม่หนวกทำเหมือนหนวกเสียบ้าง จิตใจของเราจะสบายขึ้น
มีเรื่องแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์ คือ คนส่วนมากเผชิญกับเหตุการณ์ใหญ่ ๆ อย่างกล้าหาญได้ แต่กลับขาดความอดทนต่อสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ
ตัวอย่างเช่น ใครมาพูดเสียดสี กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เขาทนไม่ได้ แต่กลับทนอยู่ในคุกตารางได้เป็น 20-30 ปี และยินดีรับความทุกข์เหล่านั้นไปตลอดเวลาที่ทางราชการกำหนด แม้จะไม่ยินดี ก็เหมือนยินดี เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเขายินดีรับความทุกข์เพียงเล็กน้อยเสียก่อน คืออดทนต่อคำด่าว่าเสียดสี หรืออาการทำนองที่เขาคิดว่าเป็นการดูถูกดูแคลนเพียงเล็กน้อยเสียก่อน ไหนเลยเขาจะต้องมาทนทุกข์ทรมานอันมากมายยาวนานถึงเพียงนั้น
การให้อภัยเป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในมนุษย์
คนส่วนมากเมื่อจะทำทานก็มักนึกถึงวัตถุทานคือการให้วัตถุสิ่งของ ให้ได้มาก เตรียมการมาก ยุ่งมาก เขายินดีทำ แต่ใครมาล่วงเกินอะไรไม่ได้ ไม่มีการให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น ความจริงเขาควรหัดให้อภัยทานบ้าง แล้วจะเห็นว่า จิตใจสบาย ขึ้นประณีตขึ้น สูงขึ้น เป็นเทวดา ดังสุภาษิตอังกฤษบทหนึ่งว่า “To err is human, to forgive divine” แปลว่า การทำผิดเป็นเรื่องของมนุษย์ ส่วนการให้อภัยเป็นเรื่องของเทวดา ถือเอาความว่ามนุษย์ธรรมดาย่อมมีการทำผิดพลาดบ้าง
ส่วนมนุษย์ที่มีใจสูงย่อมรู้จักให้อภัย ไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็กน้อย
หรือแม้ในสายตาของคนอื่นจะเห็นเป็นเรื่องใหญ่ แต่สำหรับท่านผู้มีใจกรุณา ย่อมเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย