บ่อน้ำ
ไม่มีน้ำ แย่แน่ครับ แต่น้ำที่จัดหามาเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำผิวดินอย่างเดียว
ในรัฐราชาสถานในอินเดีย ใกล้เมืองชัยปุระ มีบ่อน้ำซึ่งสร้างมาประมาณพันสองร้อยปีแล้ว ชื่อว่า Chand Boari เป็นบ่อหินยาปูน ลึกรอยฟุต ประมาณตึก 13 ชั้น ผนังชัน สร้างบันได 3500 ขั้นให้คนเดินลงไปตักน้ำ ดูรูปเพื่อความเข้าใจดีกว่าครับ
ถ้าอบต.จะขอความสนับสนุนจากรัฐ สร้างบ่อน้ำทำนองนี้เอาไว้บ้าง ก็จะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการแก้ปัญหาน้ำแล้ง และเป็นแก้มลิงบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้นะครับ บ่อเปิดแบบนี้มีอัตราการระเหยของน้ำสูง แต่ถ้าบ่อลึกชัน ยังไงอัตราการระเหยของน้ำก็ยังดีกว่าฝายเขื่อนหรือบ่อตื้นเมื่อเทียบกับปริมาตรการกักเก็บที่เท่ากัน
บ่อแบบนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งน้ำของชุมชนแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย เทียบกับการสร้างเขื่อนใหญ่เอาไว้ แล้วปล่อยน้ำเข้าโครงการชลประทาน น้ำจะสูญเสียไปในคลองส่งน้ำ ยิ่งยาวก็ยิ่งสูญเสีย ต้นน้ำกับปลายน้ำได้รับน้ำไม่เท่ากัน เกิดเงื่อนไขความไม่เท่าเทียมเข้าไปอีก แต่ถ้าปลายน้ำมีบ่อ ก็จะมีน้ำพอครับ
มันไม่ได้ใช้ที่ดินมากมาย ปากบ่อขนาด 120×120 เมตร ใช้เนื้อที่ 9 ไร่ ขุดลึก 20 เมตร จะเก็บน้ำได้ 96,000 ลบ.ม. มีน้ำพอใช้ทั้งปี ดินที่ขุดขึ้นมา 96,000 คิว ส่วนหนึ่งเอามาถมเป็นที่สูง เอาไว้เป็นพื้นที่พักพิงในยามเกิดอุทกภัย ปลูกต้นไม้ที่ไม่ต้องการน้ำมากนัก ตั้งเสาโทรคมนาคมของชุมชน และเอาไว้ดูวิว
บ่ออย่างนี้ต้องสูบ แต่ถ้าไม่มีบ่อก็ต้องสูบน้ำบาดาลเหมือนกันนะครับ เหนือบ่อน่าจะร้อน ดังนั้นควรจะมีลม ก็ดักจับพลังงานลมเอามาสูบน้ำ แล้วถ้าต้องการน้ำฝนเยอะๆ ก็ปลูกต้นไม้เยอะๆ ต้นเล็กต้นน้อยก็ยังดี อย่าปล่อยให้ดินถูกเผา ถ้าดินไม่ถูกเผาเมฆฝนจะไม่ถูกความร้อนของแผ่นดินไล่ไป ความชุ่มชื้นก็ยังอยู่เหนือพื้นที่ ต้นไม้อาศัยหมอกและน้ำค้างเจริญเติบโตได้ (ไม่พอค่อยช่วย)
การสร้างบ่อ ในเมื่อจะสูบอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นหินให้คนลงไปตักน้ำก็ได้นะครับ แล้วแต่สภาพดินแถวนั้นว่าเก็บน้ำได้หรือไม่ ถ้าเก็บน้ำไม่ได้ (ซึ่งส่งน้ำจากเขื่อนมาตามแม่น้ำลำคลองก็จะซึมหายไปหมดอยู่ดี) ใช้พลาสติก ส่าเหล้า หรือการปรับปรุงดินให้เก็บน้ำได้แบบอื่นก็ยังได้
« « Prev : บ้านใหม่ในสวนป่า แบบที่ 1ก
ความคิดเห็นสำหรับ "บ่อน้ำ"