คืนชีวิตให้แม่น้ำ

อ่าน: 3421

วันนี้กลับไปที่อิงนที รีสอร์ต ปทุมธานีใหม่อีกครั้งหนึ่ง เรื่องจากเครือข่ายจัดงานคืนชีวิตให้แม่น้ำ โดยมีอาสาสมัครมาร่วมสักสองสามร้อยคน มีนักเรียนจากสองโรงเรียนในท้องถิ่น สององค์การบริหารส่วนตำบล ทหารจากศูนย์ต่อสู้ป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก ซึ่งรับผิดชอบในเขตจังหวัดแถวนี้ กลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานอยู่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (ในนามส่วนตัว) ผู้ใหญ่บ้านแถวนั้น 4 หมู่บ้าน (มีมูลนิธิอะไรก็ไม่รู้ที่มาถ่ายรูปเสร็จก็หายตัวไป) แล้วก็มีกลุ่มผู้จัดงานคือ อาสาดุสิต PS-EMC และ Thaiflood งานนี้มีคุณปิยะชีพ ส.วัชโรบลเป็นพ่องาน (สงสัยว่า ส. น่าจะเป็นชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็นปิยะชีพ)

คลิปที่ถ่ายในวันนี้ ไม่ค่อยมีเรื่องความรู้หรอกนะครับ เป็นพิธีการและบรรยากาศทั่วๆ ไปเสียมากกว่า

สำหรับเรื่องที่ว่าจัดงานวันนี้ทำไมนั้น โดยส่วนตัว ผมคิดว่าเนื้อเพลงนี้ บอกอะไรหลายส่วน หากผู้คนในวงกว้างเกิดจิตสำนึกรู้คุณ ช่วยกันรักษาแม่น้ำลำคลอง ก็จะเป็นกุศลต่อตัวเอง ผู้ใช้น้ำอื่นๆ สัตว์ต่างๆ จิตสำนึกนี้ ไม่ควรจะเป็นเฉพาะที่อยุธยาตรงจุดที่เรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ถิ่นฐานบ้านเรือนที่น้ำเสียไหลผ่าน หรือชาวบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชังเท่านั้น แต่เป็นทุกคนที่ใช้น้ำ ไม่ว่าจะอยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ ต่างก็มีหน้าที่ที่จะรักษาน้ำ มันไม่ใช่หน้าที่ของผู้ที่อาศัยริมน้ำเท่านั้น

อ่านต่อ »


วันสิ่งแวดล้อมโลก กับ EM Ball

อ่าน: 6057

วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี (เมื่อวาน) สหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งธีมในปีนี้เป็นเรื่องป่า พื้นที่ป่าต้องเป็นหนึ่งในสามของพื้นที่ที่มีอยู่ (ด้วยตัวเลขอย่างเป็นทางการ เมืองไทยมีไม่ถึงหรอกครับ นี่ยังไม่นับการบุกรุก) วิกฤตแต่ละเรื่อง ใหญ่ทั้งนั้น วิกฤตสิ่งแวดล้อมนั้น แก้ไขได้ยากเนื่องจากการทำลายใช้เวลาเดี๋ยวเดียว แต่ว่าการฟื้นฟูนั้นกลับใช้เวลานาน บ่อยไปที่เป็นสิบปี อย่างไรก็ตาม วิกฤตเฉพาะหน้าของเมืองไทยในวันนี้ มีอยู่หลายเรื่อง แก้ไม่จบเสียที (หรือไม่ได้แก้ก็ไม่รู้)

วันนี้ทางศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ThaiFlood.com) อาสาดุสิต (ArsaDusit.com) และ เครือข่ายรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน ภาคประชาชน (PS-EMC) ชวนไปโยนลูกโบกาฉิ (EM Ball) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์พันธุ์พิเศษสำหรับแก้น้ำเสีย หวังว่าจะช่วยให้สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาเน่าจากการที่เรือบรรทุกน้ำตาลล่มที่อยุธยาดีขึ้นบ้าง แต่เรื่องอย่างนี้ต้องไปดูแห่ เมื่อเจอวิกฤตอยู่ต่อหน้าต่อตา จะน่ิงเฉยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่ไหวแล้วครับ

อ่านต่อ »


กู้วิกฤตแม่น้ำเจ้าพระยา

อ่าน: 4289

บันทึกนี้ นอกจากจะ open source แล้ว ยัง open thought ด้วย

กรณีเรือบรรทุกน้ำตาลขนาด 2,400 ตัน ล่มตั้งแต่เช้าวันที่ 2 มิถุนายนที่บริเวณใต้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา เรือจมค่อนมาทางตลิ่ง กระแสน้ำที่พัดมาเจอเรือที่ขวางทางน้ำอยู่ ก็แยกอ้อมเรือไปทั้งด้านกลางแม่น้ำและด้านริมตลิ่งด้วยความเร็ว ทำให้เซาะตลิ่งพังไป กระทบต่อบ้านเรือนชาวบ้าน; ตามข่าวบอกว่าสูบน้ำตาลออกจากเรือได้หมดเมื่อวันที่ 3 แล้ว

แต่ที่เกิดเป็นภัยก็คือน้ำตาลที่รั่วลงน้ำ ทำให้ค่าออกซิเจนที่ละลายน้ำ (dissolved oxygen หรือ DO) ลดลงสู่ระดับวิกฤต บางช่วงต่ำกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร (ต่ำกว่า 2-3 มก./ลิตร หรือ 2-3 ppm ก็เรียกว่าน้ำเน่าแล้ว) สัตว์น้ำที่หากินอยู่แถวผิวน้ำ อาจจะยังพอขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำได้ แต่ปริมาณ DO ที่ต่ำนั้น กระทบต่อสัตว์น้ำที่หากินอยู่แถวผิวดินก้นแม่น้ำ (ซึ่งปลาเหล่านี้มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างออกไป) ตายเสียเป็นส่วนใหญ่เช่น กระเบนราหู ปลาลิ้นหมา ปลาม้า ปลากดคัง ตัวละ 10-30 กก. — น้ำตาลเป็นอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ พอจุลินทรีย์ยิ่งโต ยิ่งแบ่งตัว ก็ยิ่งใช้ DO ในน้ำ ทำให้ DO ลดลงต่ำมากจนสัตว์น้ำอื่นหายใจไม่ได้และตายยกแม่น้ำ

อ่านต่อ »


พืชน้ำมัน: ทานตะวัน

อ่าน: 4447

ความคิดเดิมที่คุยกันในบรรดาชาวเฮ ก็คิดกันว่าต้นเอกมหาชัยซึ่งเมล็ดมีน้ำมันมาก คุณภาพดีแบบน้ำมันมะกอก น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่กว่าต้นเอกมหาชัยจะโตพอที่จะออกดอกออกผลก็ใช้เวลาหลายปี ระหว่างที่รอจนเก็บเกี่ยวเมล็ดได้ ยังไม่มีคำตอบว่าจะทำอะไรดี

คืนนี้ค้นเน็ตไปเรื่อย ก็เจออีกไอเดียหนึ่งคือทานตะวันครับ เมล็ดทานตะวันเอามาบีบน้ำมัน ได้น้ำมันทานตะวันขายกันเกร่อ

ทานตะวันเป็นพืชที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพของเขตร้อนได้ดีพอสมควรไม่ไวต่อแสง สามารถออกดอกให้ผลได้ทุกสภาพช่วงแสง ปลูกได้ในบริเวณที่มีการปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง เมื่อทานตะวันตั้งตัวได้แล้ว จะมีความทนทานต่อสภาพแห้งและร้อนได้พอสมควร และจะเริ่มเติบโตทันทีเมื่อมีฝน นอกจากนี้ทานตะวันยังมีความทนทานต่อสภาพอากาศเย็นจัดได้ดีกว่าข้าวโพด ข้าวฟ่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้นกล้า ทานตะวันขึ้นได้กับดินหลายประเภท แต่จะขึ้นได้ดีในสภาพดินที่มีผิวดินหนาและอุ้มความชื้นไว้ได้ดี สามารถทนต่อสภาพความอุดมสมบูรณ์ตํ่า ตลอดจนสภาพดินเกลือและเป็นด่างจัดได้พอสมควร ซึ่งดินเหล่านี้จะมีอยู่เป็นจำ นวนมากในเขตแห้งแล้งทั่วๆไป

สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

น้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน มีคุณค่าทางอาหารสูง ขายได้ราคา แต่หากเกิดการขาดแคลน สามารถใช้เป็นน้ำมันพืชได้โดยตรง หรือจะใส่เครื่องดีเซลเป็นไบโอดีเซล 100% แก้ขัดไปก็ยังได้

อ่านต่อ »


เตาเผาอิฐ

อ่าน: 5954

อิฐเป็นวัสดุก่อสร้างซึ่งหาซื้อได้ทั่วไป แต่ถ้าขนส่งไม่ได้ (ยังไง?) หรือไม่มีในแบบที่ต้องการ ก็ต้องทำขึ้นมาเองหรือไม่ก็ไม่ใช้ครับ

แต่มีความต้องการพิเศษแบบที่ผมคิดว่าน่าจะเตรียมการไว้นี่นา นั่นคือดินเผาที่ใช้เป็นเครื่องกรองน้ำในยามจำเป็น… จำเป็นขนาดที่กระบอกกรองน้ำ (ธมกรก) ก็เป็นหนึ่งในอัฐบริขารครับ

ทีนี้ กรองแล้วเวิร์คขนาดไหน — เครื่องกรองน้ำแบบนี้ กรองสารเคมี-กรองปุ๋ยไม่ได้ครับ กรองจุลชีพได้บางส่วน (ซึ่งควรเอาน้ำที่กรองไปตากแดดไว้ทั้งวัน เพื่อให้ UV ฆ่าเชื้อโรคอื่นที่อาจหลุดรอดมา) และกรองสารแขวนลอยได้ครับ

น้ำในบีกเกอร์ขวาเป็นน้ำที่ยังไม่ได้กรอง เมื่อเทน้ำนี้ใส่ถ้วยดินเผา น้ำจะซึมผ่านตัวกรองน้ำดินเผาลงมาในบีกเกอร์ทางซ้าย เป็นน้ำใสๆ (เค้าน่าจะหาบีกเกอร์/กระบอกที่สะอาดเสียหน่อย)

อ่านต่อ »


ผลิต Biochar อย่างจริงจัง (2)

อ่าน: 7933

หลักการผลิตถ่าน Biochar นั้น เกี่ยวพันกับกระบวนการ Gasification กล่าวคือเราใช้ความร้อน ไปทำลายพันธะทางเคมีของ biomass ที่แห้ง เช่น เศษไม้ เศษหญ้า มูลไก่ มูลโค มูลหมู — ถ้า biomass แห้ง จะทำให้อุณหภูมิที่ต้องการให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นถ่าน (carbonization) ลดลงได้ เป็นการประหยัดเชื้อเพลิงและประหยัดเวลา

วิธีที่ง่ายที่สุด คือใช้ถังสองใบที่มีขนาดไม่เท่ากัน มีก้น ไม่มีฝา เป็นอุปกรณ์

ถังใบเล็ก ใส่ biomass แห้ง ที่ต้องการจะเปลี่ยนเป็นถ่าน Biochar คว่ำเอาไว้ในถังใบใหญ่ — ซึ่งถังใบใหญ่ เจารูอากาศรอบๆ ก้นถัง แล้วใส่เชื้อเพลิง จุดไฟ

เมื่อไฟร้อนขึ้น อุณหภูมิในถังเล็กก็ร้อนขึ้นด้วย จนได้ระดับ biomass แห้ง ก็จะเริ่มปล่อยก๊าซออกมา

ก๊าซที่ติดไฟได้นี้ จะค่อยๆ ซึมลงมาข้างล่าง ออกไปยังถังใหญ่ภายนอก เพราะว่าเราแค่เอาถังเล็กครอบ biomass ไว้เฉยๆ

เมื่อเกิดก๊าซขึ้น ทีนี้เชื้อเพลิงซึ่งใช้ให้ความร้อนในตอนแรก ต่อให้เผาไหม้หมดไป ก็ไม่มีความหมายแล้ว

ก๊าซเผาตัวเองระหว่างถังเล็กกับถังใหญ่ สร้างความร้อนหล่อเลี้ยงอุณหภูมิในถังเล็ก เกิด gasification ไปเรื่อยๆ จน biomass กลายเป็น biochar ไปหมด

ในตอนแรก ถ้าใช้เศษไม้เป็น biomass (ถ้าผ่าเอาไว้ก็จะดี เพราะเป็นการเพิ่มพื้นผิวของไม้ให้ก๊าซออกมาได้ดีกว่า) เราเรียงเศษไม้แห้งเอาไว้ในถังเล็ก แล้วเอาถังใหญ่ครอบ จากนั้นค่อยพลิกกลับหัวอีกที

อ่านต่อ »


ผลิต Biochar อย่างจริงจัง (1)

อ่าน: 6328

อินทรียสารในดิน (humus) สลายตัวโดยธรรมชาติที่อุณหภูมิสูงกว่า 25°C… ดินบ้านเรา ไม่มีต้นไม้ปกคลุม โดนแดดเผาชั่วนาตาปี ทำให้อุณหภูมิของผิวดินสูงได้กว่า 70°C และทำให้ดินปล่อยธาตุอาหารออกมาเป็นก๊าซเรือนกระจก (มีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์) ชาวนาชาวไร่ใส่ปุ๋ยเคมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ยิ่งใส่ปุ๋ยก็ยิ่งจน เพราะกงเต็กปุ๋ยไปให้บรรพบุรุษโดยการเผาซากต้นไม้

ปุ๋ยคือสารอาหารของต้นไม้ จำเป็นต่อการเจริญเติบโตเพื่อออกดอกออกผล แต่ปุ๋ยเคมีนั้นเหมือนยาโด๊ป ใส่มากเกินไปยังไม่แน่ว่าจะดี… ธรรมชาติรักษาตัวเองได้ซึ่งอาจจะใช้เวลาบ้าง ไม่ทันอัตราที่มนุษย์ทำลายสมดุลย์ของธรรมชาติ

ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่โลกน่าจะปลอดภัย จากความปั่นป่วนของบรรยากาศคือระดับ 350 ppm แต่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะที่เขียนนี้ เป็น 393.18 ppm แถมยังสูงขึ้นเรื่อยๆ อีก… ก๊าซเรือนกระจก (ประกอบกับอย่างอื่น) ล้วนเป็นองค์ประกอบของปัญหาโลกร้อน ซึ่งทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดไอน้ำมากขึ้น กลายเป็นพายุที่มีความรุนแรง น้ำฝนมาเป็นปริมาณมาก เดือดร้อนกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็คือมหาสมุทร จุลชีพปริมาณมหาศาลของมหาสมุทรในอดีต ดูดจับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ แล้วเปลี่ยนเป็นหินปูนตกตะกอนลงพื้นทะเล จนบรรยากาศของโลกกลายเป็นบรรยากาศที่หายใจได้… ปัจจุบันนี้ ไม่มีจุลชีพยุคโบราณที่จะทำอย่างนั้นอีก โลกจึงไม่มีวิธีกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศ และกิจกรรมของมนุษย์ ก็เร่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ทำให้ก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ — แหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่รองลงมาคือแผ่นดิน แต่แผ่นดินนั่นแหละ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก!

อ่านต่อ »


ภัยอะไรน่ากลัว (2)

อ่าน: 3353

ผมไม่เขียนภัยจาก ลม ไฟ ต่อจาก ดิน น้ำ ที่เขียนในตอนที่แล้วหรอกครับ คงพอจะพิจารณาต่อกันได้เองแล้ว

ตอนนี้ เป็นภัยจากอวกาศ ซึ่งตื่นเต้น เร้าใจ น่าติดตาม และถูกขยายผลโดยใช้ข้อความเพียงบางส่วน; อวกาศ กว้างใหญ่และทรงพลัง สิ่งที่เกิดในอวกาศอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ซึ่งบางส่วนก็ได้รับการพิสูจน์แล้ว แต่มีอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เช่นเดียวกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่เกินจากความเข้าใจของคนทั่วไป เช่นทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ เมื่อประกาศออกมาก็มักจะได้รับการท้าทาย กาลครั้งหนึ่ง คนที่มีความคิดแปลกๆ ก็ยังถูกฆ่าขัดกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ได้

พอกล่าวถึงภัยจากอวกาศ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือมากมาย ซึ่งเมืองไทยไม่มีสักอย่าง ถึงมีก็คงแตะต้องไม่ได้ เราต้องอาศัยข้อมูลมือสองจากต่างประเทศทั้งนั้น เค้าจะเปิดหรือไม่เปิดให้ก็ได้ จะพลิกแพลงแบบเนียนๆ ก็ไม่มีใครรู้ แต่เราก็ยังเชื่อกันเป็นตุเป็นตะ (หรือเป็นวรรคเป็นเวรก็ไม่รู้)

มีทฤษฎีต่างๆ มากมายที่อธิบายความเป็นไปได้ของเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังในอวกาศ ซึ่งหากดาวฤกษ์ในกาแลกซีทางช้างเผือกซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เกิดระเบิดขึ้น เราคงไม่รอดมายืนยันทฤษฎีนั้น เพราะรังสีที่ปลดปล่อยออกมาจะเกินกว่ามนุษย์จะต้านทานได้ เช่นกรณีดาวนิวตรอน SGR 1806-20 ขนาด 20 กม. เกิดระเบิดขึ้น และแสงเดินทางมาถึงโลกเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 หนึ่งวันหลังจากเกิดสึนามิทางฝั่งอันดามัน SGR 1806-20 ปล่อยพลังงานทั้งหมดออกมาใน 0.1 วินาที มากกว่าพลังงานที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาในแสนปี — ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ในระยะ 10 ปีแสงจากโลก ชั้นโอโซนคงถูกทำลายหมด และชีวิตบนโลกคงดับลงหมด

อ่านต่อ »


ภัยอะไรน่ากลัว (1)

อ่าน: 3266

ทีแรกจะตั้งชื่อบันทึกนี้ว่าภัยอะไรน่ากลัวที่สุด แต่ในที่สุดก็ตัดคำว่าที่สุดออกไป เพราะว่าคำว่าที่สุดเป็นการเอาตัวเองตัดสิน

ภัยจากแผ่นดินไหวเป็นข่าวอึกทึกทุกทีจนผู้คนประสาทเสีย แผ่นดินไหวขนาดมดตด (น้อยกว่า 4 ริกเตอร์) ที่เขาไกรลาส ก็ยังก่อให้เกิดความแตกตื่นได้ — แผ่นดินไหวไม่ได้ฆ่าใครหรอกครับ แต่สิ่งปลูกสร้างที่หล่นลงมา สามารถฆ่าคนได้ ความประหวั่นพรั่นพรึงคือเราทำนายแผ่นดินไหวล่วงหน้าไม่ได้ เมื่อไหวเบาๆ เราไม่รู้ว่าจะมีการไหวที่รุนแรงตามมาอีกหรือไม่ ไม่รู้ว่าจะไหวอีกใกล้หรือไกล เมื่อไหร่ และรุนแรงไหม

ภัยจากน้ำก็น่ากลัว เพราะเราเป็นสัตว์บก หายใจในน้ำไม่ได้ น้ำมีพลังอันน่ากลัว น้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตรหนักหนึ่งตัน น้ำท่วมทีหนึ่ง ก็หมดตัวทีหนึ่ง — เขื่อนกันคลื่นและถนนสูง สร้างปัญหาอย่างต่อเนื่อง ถ้าน้ำไม่สูงกว่าที่กั้น ก็ยังไม่เป็นไรมาก แต่เมื่อไหร่ที่ระดับน้ำสูงกว่าที่กั้น พอน้ำทะลักเข้ามาแล้ว ทีนี้ระบายออกไม่ได้ เหมือนเขื่อนกั้นคลื่นสึนามิในญี่ปุ่น น้ำสูงกว่าเขื่อน พัดเข้ามาแล้วออกไม่ได้ จึงไหลบ่าไปท่วมที่ลุ่มอื่นๆ ลึกเข้าไปในแผ่นดินเป็นสิบกิโลเมตรก็มี (แล้วแต่ภูมิประเทศ) หรืออย่างน้ำท่วมครึ่งประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว ถนนกลายเป็นเขื่อนเตี้ยที่ขวางทางน้ำไหล เมื่อน้ำไหลบ่าข้ามถนนเข้าท่วมแล้ว ถนนนั่นแหละที่กักน้ำเอาไว้ ทำให้น้ำขังและเน่าเสียอยู่ในที่ทำกินของชาวบ้าน

อ่านต่อ »


น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม (2)

อ่าน: 7788

บันทึกนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ต่อจาก [น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม (1)] ซึ่งใช้กระถางดินเผา ที่เรียกแบบโก้ว่า ceramic filter มาเป็นตัวกรองสารแขวนลอย แล้วใช้ silver colloid หรือซิลเวอร์นาโนในเครื่องซักผ้าบางยี่ห้อ มาฆ่าเชื้อโรค — วิธีการดังกล่าว ถึงดูดีมีสกุล แต่ก็ดูจะเกินเอื้อมของชาวบ้าน บันทึกนี้ จึงเสนอความคิดแบบง่ายๆ ชาวบ้านสร้างเองได้ เรียกในภาษาต่างประเทศว่า Biosand filter

Biosand filter เป็นเครื่องกรองน้ำชนิดกรองช้า ให้น้ำค่อยๆ ไหลผ่านเครื่องกรองซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติเป็นตัวกรอง มีทราย กรวด ถ่าน เป็นเครื่องกรองสารแขวนลอย และใช้เมือกชีวภาพ Schmutzdecke ซึ่งเป็นเมือกของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ (แบคทีเรีย รา โปรโตซัว โรติเฟอรา) คอยจับกินเชื้อโรคอื่นๆ ที่ปนเปื้อนมาในน้ำ

เมือกชีวภาพ biofilm ที่เรียกว่า Schmutzdecke ต้องอาศัยเวลา 20-30 วัน จึงจะเติบโตเป็นชั้นหนาพอที่จะกรองเชื้อได้ ดังนั้น หากต้องการน้ำดื่มในปัจจุบันทันด่วน ก็ต้องมีมาตรการอื่นมาเสริมด้วย เช่นเอาตากแดดไว้วันหนึ่ง [แสงแดดฆ่าเชื้อโรค] [อีกด้านหนึ่งของน้ำ]

อ่านต่อ »



Main: 0.16933703422546 sec
Sidebar: 0.23078489303589 sec