ตรวจปริมาณฝนระยะไกล

อ่าน: 2954

ไปเจอข้อมูลการตรวจปริมาณฝนจาก Tropical Rainfall Measuring Mission ซึ่งเป็นภารกิจร่วมระหว่าง NASA และ JAXA ใช้เครื่องมือวัดต่างๆ ในดาวเทียมวัดปริมาณฝน ซึ่งเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ให้ข้อมูลออกมาว่าเกิดฝนตก 1200 มม. ใน 24 ชั่วโมง อันเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกต้อง

การวัดปริมาณฝนในลักษณะนี้ จึงน่าสนใจกว่าการดูภาพถ่ายจากดาวเทียมด้วยแสงอินฟราเรด ภาพสีจริง หรือภาพเรดาร์ตรวจอากาศในลักษณะที่ว่าเมื่อเห็นเมฆ ไม่ได้แปลว่าฝนตก; ผู้เชี่ยวชาญทางอุตุนิยมวิทยา ใช้ข้อมูลอื่นประกอบจนพอบอกได้ว่าอะไรเป็นเมฆ อะไรเป็นฝน มีปัญหาสองอย่างคือ (1) ผู้เชี่ยวชาญ ผิดได้เหมือนกัน (2) เราตรวจสอบเองไม่ได้ โดยปกติก็มักจะเชื่อและระวังตัวไว้ก่อน

เมืองไทยตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร มีทะเลใหญ่ขนาบข้างทั้งสองด้าน อุณหภูมิของน้ำทะเลมีความสำคัญ เพราะน้ำทะเลเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ได้มาก ความร้อนเหล่านี้สามารถถ่ายไปเป็นความร้อนแฝง ทำให้น้ำทะเลกลายเป็นไอ เป็นเมฆ เติมเชื้อปริมาณน้ำและความรุนแรงให้กับพายุที่พัดผ่านมาในทะเลแถวนี้ได้ (ที่ไหนๆ ก็เป็นอย่างนี้)

ตัวอย่างของการเติมปริมาณน้ำและความรุนแรงที่เห็นชัด ก็คือพายุไซโคลนนาร์กีสในปี 2551 เส้นทางของพายุ พัดเลียบฝั่งพม่า ตาพายุอยู่ชายฝั่งบนบก รัศมีของพายุครอบคลุมทั้งบนบกและในน้ำ ดังนั้นนาร์กีส จึงได้รับน้ำและพลังงานจากส่วนที่อยู่ในน้ำ เติมความรุนแรงลงไปเรื่อยๆ จนพม่าตอนล่างแหลกราญไป แต่เมื่อตาพายุเคลื่อนตัวลึกเข้ามาในแผ่นดินจนจะเข้าเขตพรมแดนไทย พายุอยู่ห่างฝั่งมากแล้ว อ่าวเบงกอลไม่สามารถเติมพลังงานให้กับพายุได้อีก นาร์กีสจึงสลายตัวไป ก่อนที่จะทำความเสียหายแต่แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่

อ่านต่อ »


ตายน้ำตื้น (ปะการัง)

อ่าน: 3954

ด้านใต้ของเกาะสุมาตรา มีปะการังน้ำตื้นอยู่ใน genus Porites

ปะการังนี้ เติบโตได้ใต้น้ำทะเล (แหงล่ะ) ตามรูป A มันก็ค่อยๆ โตออกรอบทิศทาง

ในรูป B เมื่อส่วนของปะการังโผล่พ้นน้ำ มันไม่สามารถจะโตต่อไปได้ และจะมีผิวอยู่ในระดับเพียงแค่ระดับน้ำทำเล ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ที่ยังอยู่ใต้น้ำ ยังคงโตต่อไป

ถ้าหากว่าพื้นจมลงอีกเหมือนในรูป C ประการังสามารถกลับมาโตทางด้านสูงได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยจะเห็นรูแหว่งอยู่ตรงกลางหัวกะโหลก

แล้วเมื่อแผ่นดินยกตัวขึ้น การเติบโตจะมีเพียงที่ด้านข้าง (โตเกินระดับน้ำไม่ได้)

เฮ้ย…จะมีอะไรพิสดารขนาดนี้เชียวหรือ… ก็มีน่ะซิครับ!!!

รูปทางซ้าย คือการเติบโตของปะการังทางด้านใต้ของเกาะสุมาตรา ซึ่งการยกตัวครั้งสุดท้าย (46 ซม.) เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิในวันที่ 26 ธันวาคม 2547

ปะการังในรูปทางซ้ายนี้ เราเห็นทั้งขั้นตอน A B C และ D

อ่านต่อ »


แผ่นดินบิด

อ่าน: 5812

@DrJoop ให้ลิงก์ของเอกสารสนุกชื่อ The Science behind China’s 2008 earthquake พร้อมทั้ง e-book วิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์อีกกระบิหนึ่ง แต่ตอนนั้นกำลังอลหม่านกับน้ำท่วมทางภาคใต้ จึงเก็บไว้ก่อน ปลายสัปดาห์นี้จะไปต่างจังหวัดหลายวัน จึงพยายามเคลียร์งานที่คั่งค้างให้ได้มากที่สุด

เอกสารดังกล่าวข้างบนมาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งคาลิฟอร์เนีย (คาลเทค) ซึ่งที่นี่ล่ะครับ บีโน กูเทนเบิก และ ชาลส์​ ริกเตอร์ เป็นผู้บัญญัติ Local Magnitude scale (ML) ที่ใช้วัดความแรงของแผ่นดินไหวมาตั้งแต่ปี 2478 เรามักเรียกกันติดปากว่าริกเตอร์สเกล แต่ ML ก็วัดได้ไม่ค่อยดีในกรณีที่แผ่นดินไหวมีความแรงสูงๆ ดังนั้น ในปี 2522 นักธรณีวิทยาของคาลเทคอีกสองคน คือทอมัส แฮงส์ และฮิรู คานาโมริ ได้พัฒนา Moment Magnitude scale (Mw) ขึ้นมาใช้วัดพลังงานที่แผ่นดินไหวปลดปล่อยออกมา เรายังเรียกเหมารวมกันว่าริกเตอร์สเกลเช่นเดิม ทั้งที่ไม่เหมือนกันทีเดียวหรอกครับ

เอกสารในย่อหน้าแรก เป็นงานวิจัยของคาลเทคเหมือนกัน แต่เป็นการมองในภาพที่ใหญ่กว่าสึนามิปี 2547 มาก (อันหลังผมเล่าไว้นิดหน่อย ท้ายบันทึก [แผ่นดินไหวขนาด 10 ริกเตอร์])

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.9 ริกเตอร์ในแคว้นเสฉวน ประเทศจีน แคว้นนี้อยู่ติดกับที่ราบสูงทิเบต ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงบ่อย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น รายงานอย่างเป็นทางการปลายปีนั้น ยืนยันว่ามีเด็กนักเรียนตาย 19,065 คน และมีคนอีก 90,000 ตายหรือสูญหาย ในตอนปลายปี ทางการสร้างบ้านใหม่ไปแล้ว 200,000 หลัง และยังกำลังสร้างอีก 685,000 หลัง แต่ว่ายังมีอีก 1.94 ล้านครอบครัวที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยถาวร มีการสร้างโรงเรียนใหม่ 1,900 โรง จำเป็นต้องอพยพ(ปิดตาย)เมือง 25 เมือง

ความเสียหายครั้งนั้นรุนแรงมาก บรรดาผู้เชี่ยวชาญ (และผู้เสมือนเชี่ยวชาญ) ต่างก็บอกว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากแผ่นดินไหวปลายเกาะสุมาตราที่ทำให้เกิดสึนามิปี 2547…แฮ่… ผมสงสัยครับ ถ้าแผ่นดินไหวที่สุมาตรา (ซึ่งรุนแรงมากจริงๆ) ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่เสฉวน ทำไมรอยแยกมีพลังในพม่าจึงไม่ออกฤทธิ์ในระหว่างปี 2548-2551​ (มีแผ่นดินไหวบ้างแต่ไม่รุนแรง)

เอกสารของคาลเทคในย่อหน้าแรก อธิบายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งฟังดูสมเหตุผลกว่ามากนะครับ ถ้าอยากอ่านแบบละเอียดโดยไม่ผ่านการตีความของผม ก็เชิญคลิกที่ลิงก์นั้นได้เลย

อ่านต่อ »


แผ่นดินไหวขนาด 10 ริกเตอร์

อ่าน: 4153

บันทึกนี้ เขียนก่อนที่สารคดี Megaquake 10.0 จะฉายทาง History Channel ในตอนค่ำนี้ เพื่อที่จะให้แง่คิดอีกด้านหนึ่งสำหรับผู้ชมในวงเล็กๆ ที่อ่านบันทึกนี้ แต่เนื่องจากมันเป็นเพียงแง่คิด ผมไม่รับรองความถูกต้องนะครับ เพราะไม่มีความสามารถใดๆ ในการทำนายทายทักอนาคต แต่ถ้าถามถึงความเสี่ยง…พอตอบได้

มีโอกาสไหมที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 10 ริกเตอร์

ตอบ: ไม่รู้ครับ เท่าที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์…มันยังไม่เคยเกิดขึ้นมา

แผ่นดินไหวที่แรงที่สุด ประมาณ 9.5 ริกเตอร์ เกิดบนบกที่ชิลีในเดือนพฤษภาคม 2503 เกิดเพราะแผ่นเปลือกโลกนาซคามุดใต้แผ่นเปลือกโลกอเมริกาใต้ แล้วเกิดดีดขึ้นมา (มุดกันมานานๆ เกิดความเค้นที่รุนแรง เรียกว่า Megatrust จนแผ่นดินแตกหัก แล้วดีดขึ้น) เกิดที่ความลึกเพียง 33 กม. จึงรุนแรง

ในอดีต นักธรณีวิทยาศึกษาแผ่นเปลือกโลก ไม่พบว่ามีแผ่นเปลือกโลกมุดตัวอันไหน ที่น่ามีพลังงงานมากพอจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 10 ริกเตอร์ — อันนี้ ผมคิดว่ามีข้อโต้แย้งได้เหมือนกัน คือ (1) โลกวันนี้ไม่เหมือนกับโลกเมื่อวาน (2) แผ่นดินไหวไม่จำเป็นต้องเกิดจากแผ่นเปลือกโลกมุดตัวหรือเกยกันเท่านั้น (3) แผ่นดินไหวขนาดที่เล็กกว่า 10 ริกเตอร์ หากเกิดใกล้บริเวณที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น สามารถสร้างความเสียหายได้มากกว่าครั้งที่เกิดรุนแรงแต่เกิดในบริเวณห่างไกล

อ่านต่อ »


ประปาภูเขา

อ่าน: 4434

อยู่บนเขา ยังพอหาน้ำได้จากลำธารหรือตาน้ำครับ เพียงแต่ว่าลำธาร ตาน้ำ หรือน้ำตก ไม่ได้มีอยู่ทั่วไป

ข้อมูลจากอาสาดุสิต แจ้งว่าระบบประปาภูเขาในพื้นที่กรุงชิง ถูกน้ำป่าพัดเสียหายหมด จะต้องทำใหม่ ได้รับบริจาคท่อพลาสติกจากมูลนิธิซิเมนต์ไทยมาจำนวนหนึ่ง คงจะพอทำประเดิมได้สักหมู่บ้านหนึ่ง

เดิมทีเดียวประปาภูเขา เริ่มต้นจากการลำเลียงน้ำผ่านท่อไม้ไผ่ผ่าครึ่ง ซึ่งจะต้องไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ แม้หมู่บ้านจะตั้งอยู่ในที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ ก็ยังใช้น้ำจากที่สูงได้ พื้นที่ภูเขาไม่ได้เรียบสนิท ดังนั้นรางน้ำอาจจะต้องลอยอยู่เหนือพื้น ซึ่งน้ำหนักจะทำให้เกิดความเค้น ทำให้ไม้ไผ่แตกหักเสียหาย หรือถ้าเจอน้ำป่าเข้า ก็ต้องซ่อมแซม

ต่อมามีการใช้ท่อพลาสติกซึ่งสะดวกกว่าไม้ไผ่ เนื่องจากท่อพลาสติกเป็นท่อปิด รักษาแรงดันได้ ประปาภูเขาที่ใช้ท่อพลาสติก จึงตกท้องช้างได้ ตราบใดที่ปลายท่อที่แหล่งน้ำ(ฝาย) อยู่สูงกว่าปลายท่อที่จะใช้น้ำ(ที่หมู่บ้าน) ตามหลักการของกาลักน้ำ ประปาภูเขาที่ใช้ท่อพลาสติกในลักษณะนี้ ยังใช้หลักของแรงโน้มถ่วงเช่นเดิม เนื่องจากท่อพลาสติกในขนาดใหญ่และมีความแข็งแรงกว่าไม้ไผ่ ประปาภูเขาในลักษณะนี้ สามารถนำน้ำเป็นปริมาณมาก มาจากที่ไกลๆ เช่นมาจากภูเขาลูกอื่นก็ได้ — ถ้าจะให้ดี ก็ควรฝังท่อพลาสติกในดิน จะได้ไม่มีปัญหากับน้ำป่า แต่ผมเข้าใจว่าไม่มีใครทำกัน และยอมซ่อมแซมระบบหากเกิดน้ำป่าขึ้น

อ่านต่อ »


เหตุเกิดที่กรุงชิง-นบพิตำ

อ่าน: 4781

กรุงชิงมีสภาพเป็นที่ราบผืนเล็กที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงทุกทิศทาง เคยเป็นฐานการก่อความไม่สงบมาก่อนเนื่องจากเข้าถึงได้ลำบาก — นบพิตำเป็นที่ราบสุดท้ายก่อนเข้าไปกรุงชิง โดยต้องเลาะไปตามโตรกเขา ซึ่งมีทางน้ำไหลอยู่

อ่านต่อ »


เพราะมองข้ามความปลอดภัย

อ่าน: 3200

เมื่อตอนหัวค่ำ คุยกับ ผอ.ศูนย์ข้อมูลและการจัดการความรู้ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (@MunicipalLeague) บนทวิตเตอร์ ร้อยข้อความเป็นเรื่องให้แล้ว ถ้าห้วนไปบ้าง ก็เพราะข้อจำกัดของความยาวแต่ละข้อความนะครับ

@iwhale: เรื่องเศร้าคือยังไม่ได้ถุงยังชีพ เรื่องเศร้ากว่าคือได้ถุงยังชีพจนล้น ดีที่สุดคือป้องกันให้ไม่ต้องส่งถุงยังชีพอีก #thaiflood

@superconductor: ปัญหา last miles? ชาวบ้านกระจัดกระจายอยู่ตรงไหนบ้างก็ไม่รู้ ขนส่งลำบาก เรือ-รถไม่มี ขนส่งของลำบาก #thaiflood ถ้าไม่รู้ ทำไมไม่รู้

@MunicipalLeague: @superconductor @iwhale ชาวบ้านกระจัดกระจายอยู่ตรงไหนบ้างก็ไม่รู้ขนส่งลำบาก  #thaiflood / ติดต่อเทศบาล อบต.สิคะรู้ทุกหลืบของพท.(มีเบอร์โทรค่ะ)

@superconductor: ควรจะเป็นอย่างนั้นล่ะครับ แต่เห็นเรียกชาวบ้านมารับแจกของ+ซองทุกที… เฮ้อ ว่าจะไม่บ่นแล้วเชียว :)

@MunicipalLeague: แล้วแต่พท.นะคะ ท้องถิ่นก็คนเหมือนกับเรา มีดีบ้างเลวบ้างเป็นธรรมดา แต่ส่วนมากจะโอเคนะคะ เรื่องไหนเป็นประโยชน์ก็ประสานกันนะ

@superconductor: ถนนขาด-ท่วม-เสีย เข้าพื้นที่ลำบาก เรือทานแรงน้ำไม่ไหว ชาวบ้านออกมาลำบาก เสบียงส่งเข้าพื้นที่ลำบากเหมือนกัน คอปเตอร์ไม่พอ — ถ้าจะให้ความช่วยเหลือกระจายได้ แก้ปัญหาโลจิสติกส์+คมนาคมก่อนครับ หรืออพยพชาวบ้านไปที่ปลอดภัย (ที่ไหน? พอไหม?)

@MunicipalLeague: ปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือชาวบ้านไม่ยอมย้ายออก หลายพท.ท้องถิ่นแจ้งเตือนหรือเอาเรือเข้าไปรับ ชาวบ้านรวมถึงพระตามวัด — ไม่ยอมอพยพออกมาเพราะห่วงข้าของ พอตกดึกน้ำขึ้นสูงและเชี่ยว ไฟดับ ไปช่วยเพราะอันตรายมาก ปัญหาออกสื่อว่าไม่มีหน่วยไหนไปช่วย — บางแห่งทางขาดชาวบ้านออกมาลำบาก นายกอบต.หรือผู้ใหญ่เป็นตัวแทนออกมารับ แต่คนบริจาคก็อยากเอาไปมอบให้ถึงมือ #ละเหี่ยใจ — ถุงยังชีพมากมาย ต่างคนต่างเอาไปให้ใครๆก็อยากเอาไปให้ถึงมือชาวบ้าน บางแห่งมี500หลัง300หลังแรกได้หลายรอบอีก200ได้1รอบจากเทศบาล

@superconductor: จริงครับ แต่ชาวบ้านเดือดร้อนก็ต้องเข้าไปช่วย ชิมิ สังคมไทยยึดแต่มุมมองของตัวเอง จึงขาดความเข้าใจความจริงจากอีกมุมหนึ่ง

@MunicipalLeague: จริงค่ะ ตอนนี้ที่น่าสงสารที่สุดคือเทศบาลหรืออบต.ที่ไม่รู้จักใคร ขอกาชาดหรือ ปภ.ก็รอขั้นตอน แทบไม่มีถุงยังชีพมาเลย — บางแห่งคอนเนกชั่นดี มีทั้งช่องนู้นนี้ขนมาให้กันเพียบ อย่างทันท่วงที/ ไม่รู้จักคนโทรไปเบอร์กลางก็รอแล้วรออีก

อ่านต่อ »


การสื่อสารฉุกเฉิน (2)

อ่าน: 3199

เขียนต่อจากตอน 1 สำหรับสถานการณ์อุทกภัยทางใต้นะครับ

มันไม่มีประโยชน์ที่จะบอกว่าการสื่อสารฉุกเฉินเตรียมเอาไว้นั้นเป็นอย่างไร เวิร์คหรือไม่เวิร์คก็เห็นๆ กันอยู่ แล้วมันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะบอกว่าเห็นไหมบอกแล้ว ภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้วโดยเราไม่พร้อม

ข้อเท็จจริงอันโหดร้ายก็คือ

  1. การสื่อสารถูกตัดขาด การคมนาคมก็ถูกตัดขาด
  2. ผู้ประสบภัยอยู่กันกระจัดกระจาย ถึงรวมกลุ่มกันได้ ก็ติดต่อขอความช่วยเหลือไม่ได้
  3. ผู้ประสบภัยอยู่ในพื้นที่ก็ช่วยตัวเองไม่ได้ อพยพออกมาก็ไม่มีที่พักพิงชั่วคราว
  4. เมื่อข้อมูลหลั่งไหลออกมา อาจจะแปลกใจในความย่อยยับ
  5. ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพิ่งจะมาเป็น แต่เป็นมานานหลายรัฐบาลแล้ว

หลักการจัดการภัยพิบัติ มีอยู่ง่ายๆ ว่า Hope for the best, prepare for the worst ญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวระดับ 6-7 ริกเตอร์อยู่บ่อยๆ เขาเตรียมการสำหรับแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ แต่ไหวจริงระดับ 9 ริกเตอร์ ดังนั้นจึงเป็นระดับที่เตรียมการไว้ไม่พอ

อ่านต่อ »


ความไม่รู้เป็นภัยอันยิ่งยวด

อ่าน: 3263

เวลาเราพูดถึงการจัดการภัยพิบัติ ก็มักจะเข้าใจไขว้เขวไปถึงการบรรเทาทุกข์ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดการภัยพิบัติเท่านั้น

มนุษย์กระจ้อยร่อย ไม่สามารถต่อกรกับภัยขนาดใหญ่เช่นภัยธรรมชาติได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะปล่อยไปตามยถากรรม — จะอ้างว่าอะไรจะเกิดก็เกิด เหมือนเป็นผู้สูงส่งที่ปล่อยวางได้หมด ก็โอเคนะครับ ส่วนจะเป็นผู้สูงส่งของจริงหรือไม่ ตัวท่านผู้กล่าวคำนี้ รู้เอง

ผมไม่ใช่ผู้สูงส่ง ยังไม่หลุดพ้น ไม่เคลมอะไรทั้งนั้น และยังมีคนที่ห่วงใยอยู่พอสมควร แต่ผมพอมีเบื้องลึกของการจัดการภัยพิบัติเป็นกรณีศึกษาบ้าง การจัดการภัยพิบัติแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 4 ช่วง

ก่อนเกิดภัย

ช่วงก่อนเกิดภัย อาจจะเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องเข้าใจความเสี่ยงของตัวเอง *ล่วงหน้า* ในยามสงบ เตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้ เตรียมพื้นที่ปลอดภัย ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง เมื่อเกิดภัยชึ้นแล้ว จะหวังให้ใครมาบอกว่าจะต้องทำอะไรนั้น ไม่เวิร์คหรอกครับ คำแนะนำที่ประกาศออกมาผ่านสื่อ จะเหมาะกับทุกพื้นที่ได้อย่างไร ในเมื่อแต่ละพื้นที่นั้นไม่เหมือนกันเลย แล้วใครจะมารู้ทางหนีทีไล่ดีกว่าคนในพื้นที่

อ่านต่อ »


ข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติ

อ่าน: 4316

เนื่องจากข้อจำกัดในพื้นที่ ข่าวตามสื่อมวลชนให้ได้แต่ภาพใหญ่ของความเสียหาย และด้วยวงจรของการทำและนำเสนอ ข่าวตามสื่อก็จะเป็นสถานการณ์ที่ย้อนหลังเสมอ ด้วยลักษณะของการประมวลภาพข่าวและข่าวสาร แต่ก็สามารถจะให้ภาพสุ่มของสถานการณ์ ที่ผู้สื่อข่าวพอจะเข้าไปยังพื้นที่ได้ แต่บริเวณที่ผู้สื่อข่าวเข้าไม่ถึง ก็จะขาดหายไป

ดังนั้นในภัยพิบัติที่เกิดเป็นวงกว้าง จะมีพื้นที่ที่ตกหล่นเสมอ ซึ่งหากว่าเน็ตยังอยู่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ยังอีกมีทวิตเตอร์เป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะรายงานสถานการณ์ที่แท้จริงออกมาสู่โลกภายนอกได้ แต่หากเน็ตไม่อยู่แล้ว ข่าวสารยังต้องอาศัยทีมสำรวจส่วนหน้า บุกลงไปในพื้นที่ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องความทั่วถึงและความล่าช้า ซึ่งภัยพิบัติทำให้เข้าพื้นที่ได้ลำบาก

นี่จึงเป็นที่มาของการสื่อสารฉุกเฉิน แต่ถึงแม้เมืองไทยจะมีหน่วยงานภายใต้กระทรวงไอซีทีและกทช.ที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขอบเขตยังจำกัดอยู่แค่การนำระบบสื่อสาร ให้กลับมาอยู่ในสภาพพร้อมใช้เท่านั้น

การสื่อสารที่ดีจะต้องเข้าใจตรงกันทั้งผู้ส่งและผู้รับ ข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติ ควรจะมีทั้งตำแหน่ง(พิกัด) เวลา สถานการณ์ ความช่วยเหลือที่ต้องการ และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อที่ว่าความช่วยเหลือที่ส่งไปยังพื้นที่ จะไม่น้อยเกินไป(จนเกิดการแย่งชิงแตกแยกในชุมชน) หรือมากเกินไป(แล้วผู้ประสบภัยนำไปขายทำให้ผู้บริจาคเกิดความเสียใจ) — ทวิตเตอร์ดูเหมาะดี ส่งจากโทรศัพท์มือถือจากพื้นที่ประสบภัยก็ได้ แต่ก็มีปริมาณการรีทวิตมากมายจนข้อความสำคัญจางหายไปหมด ประกอบกับมีความยาวจำกัด จึงขาดความแม่นยำ

อ่านต่อ »



Main: 0.085533857345581 sec
Sidebar: 0.22069215774536 sec