การหยอดกระปุก บางทีเราอาจจะนึกว่าเป็นเรื่องของเด็กๆ พ่อผมให้ลูกน้องทำกระปุกไม้ มีสี่ช่องเขียนเบอร์ 1-4 เก็บเงินแข่งกันระหว่างพี่น้อง ได้เท่าไหร่ พ่อแม่แถมให้เท่าตัว นิสัยนี้ ติดตัวมาจนปัจจุบัน บนโต๊ะทำงานผมที่บ้าน ก็ยังมีกระปุกอยู่ เอาไว้หยอดเศษเหรียญซึ่งคนขายของทอนมา เปิดออกมาแต่ละที ได้เป็นพัน
เรื่องนี้เริ่มต้นในวัยเด็กเพื่อเสริมสร้างนิสัยรักการออม แต่พอโตแล้ว บางคนยังมีกระปุกเสมือนอยู่ แต่หลายคนทำกระปุกหายไปแล้ว
ได้เงินมา ควรออมก่อน เหลือเท่าไหร่จึงนำไปใช้จ่าย
ปัจจุบันนี้ เรามักคิดกลับกัน ได้เงินมา ใช้ก่อน ฉันทำงานหนัก เหลือเท่าไหร่ จึงออม บางทีก็ไม่ออม พอเงินเหลือตันกลุ้มใจว่าจะซื้ออะไรดี
ถ้าคิดแบบนี้ เมื่อไหร่จะมีบ้าน มีรถ มีของใหญ่ที่ต้องการได้ พ่อแม่ครอบครัวเจ็บป่วยจะทำอย่างไรครับ — อีหรอบนี้ ไม่พ้นก่อหนี้แน่ๆ
ถ้าห่างหายจากการออมมานาน เวลาจะเริ่ม อาจจะทำใจยากสักหน่อย ผมจึงอยากเสนอวิธีการแบบนี้ครับ
- [หาเหตุสร้างวินัยการออม] ทำเหมือนน้ำมันยังราคาลิตรละ 40 บาทอยู่ เราเคยผ่านมาแล้ว และยังมีชีวิตรอดอยู่ได้ แสดงว่าทำได้
- [หยอดกระปุก] ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คิดเหมือนตอนที่น้ำมันราคาลิตรละ 40 บาท ส่วนต่างเอาไปหยอดกระปุก เช่นเติมน้ำมันลิตรละ 20 บาทไปเป็นเงิน 800 ก็ควักอีก 800 ไปหยอดกระปุก; จะเป็นค่าน้ำมัน ค่ารถเมล์ ค่ารถตู้ ค่าแท็กซี่ ค่าสองแถว ค่ามอเตอร์ไซค์ ค่ารถไฟ ค่าเครื่องบิน ค่าไปเที่ยว ให้คิดหมด ก่อนเดินทางจะได้คิด+วางแผนให้หนัก หาซื้ออะไรใกล้ๆ บ้าน เดินไปซื้อจากโชห่วยก็ได้ครับ ไม่ใช่เอะอะอะไร ก็ไปซูเปอร์สโตร์
- [กระปุกเต็ม] ได้เงินเก็บครบห้าพันบาท เอาเงินไปซื้อกองทุน (การลงทุนมีความเสี่ยง) ถึงจะขาดทุนบ้างก็ไม่เป็นไร เราเพียงแต่จ่ายค่าน้ำมันลิตรละ 40 บาทเหมือนที่เคยจ่ายมา — เหมือนให้เพื่อนยืมตังค์ ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ
- [ลงทุน] เลือกการลงทุนให้ดี ให้ปลอดภัย ในแปดเก้าปี เงินต้นที่ลงทุนไป อาจจะเพิ่มได้เท่าตัว
- [อย่ารอ] ทำก่อน ได้ก่อนครับ จะรอไปถึงไหน ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี เริ่มเมื่อวานนี้ ดีกว่าเริ่มวันนี้
- ถ้าอยากรวย ก็หัดใช้เงินให้เป็น ไม่ใช้จ่ายสำหรับเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์ และไม่ปล่อยเงินให้อยู่นิ่งๆ
- มีเก็บเดือนละหมื่น แปดปีมีเงินล้านครับ ถ้ามีเก็บเดือนละพัน แปดปีมีเงินแสน — แต่ถ้าจะออมเดือนละร้อย ช่างมันเถอะ ไม่เอาจริงอยู่แล้วนี่
- ไม่มีใครได้อะไรโดยไม่ทำอะไร