เฮระลึกชาติ ที่เลย (3)

อ่าน: 3370

ตื่นเช้าไปบ้านแม่ลำไย ร่ำลากัน แม่ลำไยจะไปสตึก แม่หวีจึงไปด้วยกัน กระหนุงกระหนิงตามประสาคนถูกอัธยาศัย ส่วนเราเดินทางย้อนขึ้นไป อ.วังสะพุงไปเก็บน้ำที่แม่น้ำเลย แล้วกลับไปผาซ่อนแก้วซึ่งตั้งใจจะแวะไปดูความก้าวหน้า ก่อนถึงผาซ่อนแก้ว แวะเข้า อ.หล่มสัก กินก๋วยเตี๋ยวเจ้าเก่า อนุมาณเอาว่าเป็นก๋วยเตี๋ยวมีชื่อที่ไม่มีชื่อ คงเป็นรุ่นลูกแล้ว คิวยาวมาก ขนาดขายอยู่ในตรอกแคบที่รถเข้าไม่ได้

จากนั้นก็ไปเก็บน้ำจากแม่น้ำป่าสัก มีวีรกรรมอีกแต่ไม่เล่า น้ำจากแม่น้ำต่างๆ หวังจะนำมาช่วย อ.พิสูจน์/รร.บางลี่วิทยา ซึ่งป่วยมาปีกว่าแล้ว

แวะผาซ่อนแก้ว กระจกใสไม่มีเทปปิดแล้ว เพราะหลังจากมีคนชนเข้าจังเบ้อเร่อเมื่อปีที่แล้ว ก็ไม่มีใครทำอย่างนั้นอีก; แล้วเข้าพิษณุโลก GPS ไม่รู้จักโรงแรม แต่ในที่สุดก็หาเจอหลังจากได้คุยกับราณี

ค่ำกินช้าวที่ร้านครัวต้นปีป อาหารอร่อย แต่ไม่รู้ราคาเพราะเจ้าถิ่นแย่งจ่าย

อ่านต่อ »


เฮระลึกชาติ ที่เลย (2)

อ่าน: 4696

วันที่ 25 เดิมคิดว่าจะทำพิธีอะไรต่างๆ ตอนเช้า แต่ยังไงก็ไม่รู้เปลี่ยนไปทำตอนเย็น เช้าก็เลยไปเที่ยวกัน ได้แม่ลำไยซึ่งเป็นเจ้าถิ่นพาเที่ยว ไปน้ำตกเพียงดิน วัดอะไรสักอย่าง (จดชื่อไว้ใน GPS) สวนหินผางาม (คุนหมิงเมืองไทย) น้ำตกสวนห้อม ถ้ำโพธิสัตว์ แล้วก็ไปกินข้าวกันในอำเภอหนองหิน

จากนั้นแยกย้ายกันอาบน้ำพักผ่อน แล้วทำพิธีต่างๆ บันทึกรูปและวิดีโอไว้ให้ครูบา แต่ส่วนนั้นไม่มีอยู่ในสไลด์โชว์ข้างล่างครับ เป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งจะให้ใครดูหรือไม่ให้ใครดู ก็แล้วแต่ครูบา — นับว่าวัตถุประสงค์ในการมาครั้งนี้ ก็บรรลุไปอีกอย่างหนึ่ง สังเกตได้ว่าใครต่อใคร มีกำลังใจดีขึ้นทั้งนั้น — ทริปนี้ไม่หนักเกินไปแม้แต่ตอนไปเที่ยว เพราะรู้สภาพอยู่ว่า ห้าคนร่วมสามร้อยปี อะไรไม่ไหวก็ข้ามไป

สไลด์โชว์ชุดนี้ ไม่มีเรื่องลับ แต่มี…ลับ (แล้วแต่จะคิดกันครับ)

อ่านต่อ »


เฮระลึกชาติ ที่เลย (1)

อ่าน: 3405

มาจังหวัดเลยเที่ยวนี้ ไม่ได้มาเที่ยวหรอกครับ มีหลายวัตถุประสงค์ที่จะออกจากพื้นที่ปลอดภัย (บ้าน) มาเหนื่อย มาลำบาก ก็นับได้ว่าได้เห็นเรื่องแปลกประหลาดต่างๆ มากมาย จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ ผมไม่เล่าอยู่ดี ฮี่ฮี่ ของอย่างนี้ต้องมาดูเอง พิจารณาเอง

เช้าวันที่ 24 ไปรับครูบากับแม่หวี แล้วไปรับป้าจุ๋ม ออกเดินทางมา อ.หนองหิน จ.เลย ระยะทางประมาณ 560 กม. มาถึงเอาบ่ายแก่ๆ หลงที่นัดหมายกันนิดหน่อย นัดที่ป้อมตำรวจ แต่ไม่ได้บอกว่าป้อมไหน บอกว่าอยู่บ้านหลักร้อย ที่จริงชื่อบ้านหลักร้อยหกสิบ นัดที่หนองหิน แต่ไม่บอกว่าตำบลหนองหิน หรืออำเภอหนองหิน เฮ้อ อิอิ มี GPS ไป ยังไงก็ไม่หลง (แต่เลย เพราะมาเลย)

ในที่สุดก็ได้เจอ แล้วเราก็เข้าไปบ้านแม่ลำไย-พ่อสุวรรณ เกษตรกรท้องถิ่น แม่ลำไยเป็นวิทยากรของจังหวัด มีความรู้เรื่องสมุนไพรเป็นอย่างดี(มาก) สุขภาพแ็ข็งแรง ปฏิบัติธรรม ก็รู้สึกเป็นคนใจดีครับ ภาษาถิ่นฟังพอเข้าใจแม้ไม่ 100% เวลามีศัพท์ยากๆ ป้าจุ๋มกรุณาอธิบายให้ฟัง

อ่านต่อ »


คนหลังบ้าน

5 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 26 August 2009 เวลา 0:34 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการ, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 6034

ในการที่เราสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอยู่ทุกๆ วันนี้ มีคนกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกรวมกันว่า System administrator (SysAdmin) ผู้ดูแลระบบ คอยจัดการให้ระบบงานต่างๆ ดำเนินไปได้

งานของ SysAdmin ทั้งหลาย เป็นงานที่มีความกดดันสูง เป็นงานปิดทองหลังพระ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็วิ่งกันวุ่นเพื่อแก้ไข ทั้ง hardware/software failure ไวรัส สแปม ระบบงานต่างๆ วงจรอินเทอร์เน็ต — งานเหล่านี้แม้ทำได้สมบูรณ์ ก็มักถูกมองข้ามไปเสมอๆ ในขณะที่หากมีอะไรไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ก็จะโดนตำหนิ ประหนึ่งว่าเป็นความผิดร้ายแรงที่ทำให้คนทั้งองค์กร ต้องประสบปัญหาติดขัดไปหมด

ในปี ค.ศ. 2000 ได้มีกลุ่มคนระลึกได้ว่าควรแสดงความขอบคุณต่อกลุ่มงาน Sysadmin แล้วก็ได้จัดเป็น event ขึ้นมา แพร่หลายไปทั่วโลก เรียกว่างาน System Administrator Appreciation Day ซึ่งจัดในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม

ในบริษัทที่ผมเคยทำงานอยู่ จัดงานนี้มาหลายปีแล้ว แต่ได้ขยายขอบเขตออกไปโดยรวมถึงพนักงานที่ทำงานในกลุ่มที่เรียกว่า back office ซึ่งเป็นงานที่อยู่เบื้องหลังเช่นกัน — บัญชี/การเงิน จัดซื้อ ทวงหนี้ เลขา กฏหมาย บุคคล แม่บ้าน ฯลฯ

งานปิดทองหลังพระเหล่านี้ เป็นงานสำคัญแต่ถูกมองข้ามไปอยู่เรื่อยๆ เป็นงานที่ผู้คนมัก take it for granted คาดหวังว่ามันจะมีอยู่อย่างสมบูรณ์ตลอดเวลา โดยลืมไปว่าเราโชคดีแค่ไหนที่มีมันอยู่ในตอนนี้ และมีใครทำงานหนักขนาดไหนที่จะทำให้เราทำงานของเราได้สะดวกสบายอยู่ในวันนี้

งานนี้เป็นงานง่ายๆ ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรมาก มีกินอาหารว่างกันนิดหน่อย มีการกล่าวแสดงความขอบคุณจากฝ่ายต่างๆ

อยากเชิญชวนให้ลองคิดดู ว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ ที่จะแสดงน้ำใจและความขอบคุณชื่นชมต่อบุคคลเหล่านี้ในองค์กรของท่าน หากจะทำ จะทำอย่างไร 

สังคมไทยมีคนหลังบ้าน อยู่มากมาย เวลาท่านจะกินข้าวสักจาน รู้ไหมครับว่ากว่าจะเป็นข้าวและกับแต่ละคำ มีใครต้องทำอะไรมาบ้างเพื่อให้ท่านกินข้าวได้; คนเหล่านี้ มักทำงานบริการและไม่ค่อยมีปัญหากับใคร แต่คนอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่คิดว่าตัวสำคัญ กลับทำให้คนเหล่านี้เดือดเนื้อร้อนใจอยู่เนืองๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นครับ?

สำหรับท่านผู้บริหาร ฝากคำถามอีกอันหนึ่ง คือการที่ท่านนั่งอยู่ในตำแหน่งบริหารได้นั้น ท่านตระหนักหรือไม่ว่ามีคนเป็นจำนวนมากที่อยู่ใต้ท่าน ประคับประคองให้ท่านอยู่ในตำแหน่งนั้น ท่านปฏิบัติต่อเขาเหล่านั้นดีพอหรือไม่/อย่างไรนะครับ


งานอาสาสมัคร: บัณฑิตอาสาสมัคร

อ่าน: 3624
พระราชดำรัส พระราชทานแก่บัณฑิตอาสาสมัคร รุ่นที่ ๑๓
และคณะกรรมการประจำสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันอังคาร ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๔

ตามที่รายงาน งานของสำนักบัณฑิตอาสาสมัครนี้ได้ดำเนินมาด้วยดี มีผลดี นับว่าเป็นโชคดีของส่วนรวม ที่มีการจัดการฝึกเป็นพิเศษอย่างนี้ แต่ผู้ที่โชคดีที่สุดก็คงเป็นผู้ที่เป็นบัณฑิตอาสาสมัครนี้เอง เพราะเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาขั้นอุดมศึกษามาแล้ว และมีเจตนาที่จะปฏิบัติงานเพื่อเป็นประโยชน์

การมีเจตนาที่จะปฏิบัติงานเพื่อเป็นประโยชน์นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่ว่าเป็นสิ่งที่ยาก เพราะว่าผู้ที่มีความรู้ขั้นอุดมศึกษาแล้วจะไปปฏิบัติงาน ย่อมต้องประสบอุปสรรคมากมาย ถ้าเรามาพิจารณาดู ในประเทศไทยมีผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตใหม่ทุกปีจากสถาบันการศึกษาชั้นสูง ขั้นอุดมศึกษา เป็นจำนวนหลายหมื่นคนต่อปี ถ้าหากว่าทุกคน หรือจะว่าไปก็สักครึ่งหนึ่งของจำนวนนั้น มีเจตนาและมีโอกาสที่จะปฏิบัติงานเพื่อให้มีความเจริญในประเทศนี้ เราก็เชื่อได้ว่าเป็นจำนวนที่เพียงพอ แต่เราก็พูดอยู่เสมอว่า ทำไมประเทศไทยนี้ก้าวหน้าช้านัก ก็เพราะว่าเป็นหลักของธรรมชาติ ผู้ที่ศึกษาชั้นสูงแล้วจะนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนเป็นเวลาประมาณ ๓ – ๔ ปี ในสถาบันการศึกษาชั้นสูงขั้นอุดมศึกษา จะไปใช้ความรู้นั้นทันทีก็ยาก เพราะว่าทุกคนแม้จะมีความกระตือรือร้นก็ขาดความชำนาญ และก็อาจจะไม่มีทางที่จะเข้าไปถึงที่ที่ควรจะถึง ฉะนั้น การที่มีสำนักบัณฑิตอาสาสมัครนี้ก็นับว่าเป็นของดี เสียอยู่ว่าในจำนวนบัณฑิตหลายหมื่นคน ปีหนึ่งๆ มีจำนวนผู้ที่อาสาสมัคร และได้เข้ารับการอบรมการฝึกและการปฏิบัติเพียงจำนวนเป็นสิบ อย่างที่วันนี้มี ๔๑ คน ปีก่อนๆ ก็อาจจะมีระหว่าง ๓๐ ถึง ๕๐ คน ถ้านับดูแล้วก็เป็นจำนวนน้อยมาก ฉะนั้น ผู้ที่ได้รับการอบรมและเข้าปฏิบัติงานอย่างนี้ ย่อมต้องมีความรับผิดชอบไม่ใช่น้อย เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ศึกษาขั้นอุดมศึกษาแล้วจะทำงานเป็นประโยชน์ ได้เร็วขึ้น ตามธรรมดาผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไปทำงานกว่าจะได้ทำประโยชน์ได้อย่าง แท้จริง ก็อายุเข้าไปถึง ๔๐ – ๕๐ แล้ว ดังนี้ก็เท่ากับเสียเวลาของทรัพยากรบุคลากรหรือบุคคลของประเทศ ซึ่งจะต้องคลำหาทางต่อสู้ บางทีก็มีความเข้าใจผิดกันบ้าง มีการกลั่นแกล้งกันบ้าง หรือมีความไม่รู้เฉยๆ บ้าง ถ้าเฉลี่ยแล้วผู้ที่สำเร็จการศึกษาก็อายุ ๒๓ – ๒๔ ว่าสัก ๒๕ จนถึงว่าอายุสัก ๔๕ ก็เป็นเวลา ๒๐ ปีที่จะต้องคลำทาง เสียเวลาไป ๒๐ ปี แต่ถ้าเร่งรัดเวลาที่จะคลำทางนี้ให้เร็วขึ้น ให้เหลือปีเดียว และตั้งใจจริงๆ ก็จะได้กำไรสำหรับในด้านทรัพยากรบุคคลไม่ใช่น้อย

นอกจากนี้ การที่ออกไปศึกษาความจริงหรือพยายามคลำทางนั้น เป็นเวลานานย่อมมีโอกาสที่จะทำให้ท้อใจ คนเราถ้าท้อใจแล้วเป็นคนอันตราย เพราะว่าถ้าเป็นคนที่มีความรู้แล้วท้อใจ ความท้อใจนั้นทำให้การควบคุมจิตใจสติของตัวน้อยลง เพราะว่ามันท้อ ความท้อใจนี้เป็นสิ่งกีดขวางความดีไปได้มาก เพราะว่าไม่ระวังตัว เวลาท้อใจก็เกิดน้อยใจ น้อยใจก็เกิดประชด เปิดโอกาสให้จิตใจรับสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาในจิตใจได้ เพราะว่ามีความฟุ้งซ่าน คนไหนถ้าท้อใจสังเกตดีๆ พวกเพื่อนๆ ที่ท้อใจ บางทีคนนั้นพูดฟุ้งซ่าน พูดอะไรไม่ได้เรื่อง แล้วถ้าใครมาชักชวนให้ทำอะไรก็อาจจะเป็นผู้ร้ายไปก็ได้ ทำให้ขาดการพิจารณา คือขาดสตินั่นเอง ฉะนั้น การที่ได้ศึกษาสำเร็จหลักสูตรได้เป็นบัณฑิตแล้ว คือสำเร็จการศึกษาขั้นอุดมศึกษาแล้วออกไป มีความฟุ้งซ่านถูกชักชวนไปในทางที่ไม่ถูก ในทางที่ไม่สร้างสรรค์ ความรู้ที่มีอยู่ในตัวก็ถูกใช้ไปในทางที่ไม่สร้างสรรค์ ก็เท่ากับทำลาย ถ้าคนโง่ๆ ไม่รู้เรื่อง หรือคนที่ไม่มีโอกาสที่จะได้รับความรู้เป็นกำลังนี้ ถ้าไม่มีกำลังถูกชักชวนไปทำอะไรก็ไม่ค่อยเสียหายนัก แต่คนไหนที่มีความรู้เป็นกำลังแล้วถูกชักชวนไปในทางที่ไม่ถูก ก็อันตราย เพราะว่ากำลังที่มีความรู้นั้นเป็นกำลังหลอกลวง ทำให้เกิดผลเสียได้มากมาย อันนี้ไม่ได้พูดถึงความเสียหายที่เกิดแก่บุคคลเหล่านั้น เกิดแน่นอน แต่ที่เราเป็นห่วงก็เป็นผลเสียต่อส่วนรวม การที่ฝึกเป็นพิเศษและปฏิบัติเป็นพิเศษ มีผู้อุปการะ มีผู้ที่คอยแนะนำก็ทำให้ข้อนี้ที่ผู้ที่ไม่ได้มีโอกาสได้เผชิญ คือการคลำหาทางเป็นเวลานาน และอันตรายที่เกิดขึ้นที่ได้ยกไว้เพียงอย่างเดียว อันตรายอย่างอื่นก็ยังมีอีกมาก

ฉะนั้น การที่ท่านทั้งหลายขึ้นชื่อว่าเป็นอาสาสมัคร ก็หมายความว่าตนเองอาสาที่จะปฏิบัติงาน นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นโชคลาภของตนเอง ที่ได้สมัครแล้วทางสำนักก็เลือกไว้ ก็เชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติงานให้ดีที่สุดตามที่ได้เรียนมา และที่จะเรียนรู้ด้วยการเปิดหูเปิดตาและรับอบรม ที่ท่านทั้งหลายจะทำงานก็จะสังเกตว่าวิชาที่ได้เรียนมาเป็นประโยชน์ จะเป็นวิชาใดก็ตามก็เป็นประโยชน์ แต่ว่างานที่อยู่ข้างหน้าจะเห็นได้ว่าไม่ใช่งานที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่ เรียนมาเป็นส่วนใหญ่ ที่เราเรียนเป็นเฉพาะส่วนเดียวของงาน หรือเป็นส่วนประกอบส่วนเดียว อาจจะเป็นประมาณหนึ่งในสิบของงานทั้งหมด เช่น ที่ได้แจ้งได้รายงานว่า จะออกไปปฏิบัติงานเพื่อที่จะช่วยพัฒนาหมู่บ้าน ในหมู่บ้านนั้นย่อมมีผู้ที่อาศัยในหมู่บ้าน มิฉะนั้นก็ไม่ใช่หมู่บ้าน ผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านนั้นก็เป็นคนเหมือนเรา ก็ต้องมีอาหารใส่ท้อง ต้องมีเสื้อใส่ ต้องมีความรู้ คือต้องมีโรงเรียนสำหรับลูกหลาน ต้องมีสิ่งทุกอย่าง ก็สรุปได้ว่าสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต่อร่างกายและใจของแต่ละคน สิ่งเหล่านั้นที่จะได้มาจะต้องอาศัยหลักวิชามากหลายและพร้อมกัน คือไม่ใช่ว่าคนหนึ่งจะต้องอาศัยเพียงแต่หลักวิชาการปกครองที่จะอยู่ได้ จะต้องสามารถที่จะทำมาหากิน ทำมาหากินในด้านเกษตรกรรมก็จะต้องสามารถที่จะไถนาพรวนดินให้ได้ ก็จะต้องรู้เหมือนกัน อันนี้การปกครองก็ไม่ได้ว่าด้วยการไถนา แต่ว่าวิชาการไถนาก็ต้องใช้เหมือนกัน ฉะนั้น ผู้ที่มีความรู้ใดก็ย่อมต้องรู้ว่ามีความรู้อื่นๆ ที่ต้องมาประกอบด้วย แต่ละคนก็ได้เรียนมาในวิชาเฉพาะของตน ก็จะต้องเปิดหูเปิดตาว่าในชีวิตของแต่ละคนมีวิชาอื่นตั้งเยอะแยะ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่เรียนจบเป็นบัณฑิต และออกไปทำงานโดยไม่มีการฝึกฝนหรือระมัดระวังตัวเกิดความฟุ้งซ่านได้ เพราะว่าจะน้อยใจว่าตัวไม่ได้เรียนอะไรแต่ตัวก็ได้ปริญญา ตัวเป็นบัณฑิตมีปริญญาไปอวดเขา เสร็จแล้วคนเขาก็เยาะเย้ยว่ามีแต่เศษกระดาษ ฉะนั้น ถ้าทุกคนตั้งใจที่จะไปดูเปิดหูเปิดตาในการงาน ก็จะได้รับประโยชน์อย่างมาก เพราะว่าที่เรียนมาโดยเฉพาะนั้นก็เป็นประโยชน์ และโดยที่ไปร่วมมือกับคนอื่นที่เรียนอย่างอื่นโดยเฉพาะก็สามารถที่จะปฏิบัติ งานของตัวได้อย่างดี ทั้งที่ได้รับการอบรมฝึกฝนก็เข้าใจว่าไปในแนวความคิดนี้ว่า ทุกคนจะต้องร่วมมือกันและควบคุมจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน ก็จะได้รับผลสำเร็จอย่างดีงาม เมื่อได้รับผลสำเร็จอย่างดีงาม แล้วก็จะเป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง เพราะว่าตัวเองมีความภูมิใจว่าทำงานอะไรที่ดี ได้รับการยกย่องชมเชยเราก็ภูมิใจอีกที ทั้งเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะว่าถ้าท้องที่ที่เราไปช่วยได้รับประโยชน์ ก็นับว่าทำให้เกิดความมั่งคั่งมั่นคงขึ้น ส่วนรวมของประเทศชาติก็ย่อมจะต้องดีขึ้น ทุกคนก็มีความสุข ทุกคนก็มีความพอใจ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ได้พยายามชี้แจงฝึกให้พวกเรา ได้มีความรู้ มีความสามารถ ก็ภูมิใจ เพราะว่างานของท่านก็เป็นผลสำเร็จที่ดี สำคัญอยู่ที่ทุกคนจะต้องตั้งความเห็นให้เหมาะสม หมายความว่าตั้งความเห็นในงานของตัวว่ามีจุดประสงค์อะไร และก็ปฏิบัติตรงไป จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ที่จริงก็ได้เคยพูดกับรุ่นก่อนๆ นี้ในด้านว่าแต่ละคนจะได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ อาจจะไม่เข้าใจดีนัก แต่ถ้าอธิบายอย่างที่อธิบายเมื่อกี้นี้อาจจะเข้าใจดีขึ้น ถ้าทุกคนเข้าใจและทั้งรุ่นเก่าได้ทำความเข้าใจให้ดี สามร้อยคนที่ได้รายงานทั้งหมดนี้จะเป็นกำลังของส่วนรวม เป็นทางที่จะทำให้เป็นประโยชน์ได้เต็มเปี่ยม และอาจจะทำให้ผู้อื่น ได้ทบทวนผู้อื่น ให้มีความคิดอย่างนี้ได้ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาขั้นอุดมศึกษาในประเทศไทยเป็นจำนวนหลายหมื่นคนก็จะ มีความหวังขึ้น ไม่เกิดความน้อยใจเมื่องานของตัวไม่ค่อยสำเร็จ ก็เป็นการสร้างให้การศึกษาขั้นอุดมศึกษานี้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น แล้วก็ปัญหาต่างๆ อุปสรรคต่างๆ ปัญหาในทางความเดือดร้อนที่มีอยู่ในประเทศ ก็จะคลี่คลายไปได้ด้วยดี

ฉะนั้น ก็ขอให้ทุกคนตั้งใจทำความเข้าใจในงานของตัวให้ดีตั้งแต่ต้น แล้วก็พยายามทำตามที่อาสาสมัคร ทำงานด้วยความตั้งใจที่แน่ จะใช้คำว่าด้วยอุดมคติที่สูงก็ได้ ขอให้ทุกคนอย่าให้กำลังใจลดลงไป รักษากำลังทั้งกาย ทั้งใจให้ดี เพื่อที่จะปฏิบัติงานเป็นประโยชน์ เป็นความสำเร็จสำหรับตนเอง เป็นประโยชน์เป็นความสำเร็จเป็นความก้าวหน้าสำหรับส่วนรวม ก็ขอให้ได้ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม มีความสำเร็จในงานการทุกอย่าง ทำให้เกิดความปีติยินดี หมายถึงความเจริญ ก็ขอให้ทุกคนได้ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง.


มองอนาคตกับ พล นิกร กิมหงวน

อ่าน: 4636

หนังสือหัสนิยาย ชุด พล นิกร กิมหงวน แต่งโดยคุณปรีชา อินทรปาลิต (๒๔๕๓-๒๕๑๑) ซึ่งน่าจะมีส่วนที่ทำให้ผมกลายเป็นนักอ่านในปัจจุบัน เท่าที่ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร แฟนพันธ์ุแท้ รวบรวมไว้ได้ มี ๘๗๕ ตอน — อาจคลาดเคลื่อนได้

พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๒ ๙๔ ตอน
พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๗ ๑๗๗ ตอน
พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๐๑ ๑๓๕ ตอน
พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๑๑ ๔๖๙ ตอน

มีอยู่ตอนหนึ่งที่เป็นการวาดภาพอนาคตล่วงหน้าไป ๔๐ ปี จากพ.ศ.๒๕๑๐ ครับ จะถูกหรือผิดไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่ผมพบว่าความกล้าหาญ และจินตนาการของคุณปู่ปรีชานั้น น่าทึ่งมากครับ

อ่านต่อ »


ความคืบหน้าของ เจ้าเป็นไผ ๒

อ่าน: 3131

จากบันทึก แนวคิดของ เจ้าเป็นไผ ๒ ในขณะนี้ได้เลือกเรื่องราวไว้คร่าวๆ แล้วหลายเรื่องครับ

  • ภาค ๑ “มองโลกอย่างเฮ” มีบันทึกของครูบา รนยทศมต.หมอจอมป่วน กับพี่บางทราย และมีเรื่องที่จะต้องเรียบเรียงใหม่จากกลุ่มบันทึกเก่าโดยนักเขียนมากกว่าหนึ่งคน
  • ภาค ๒​ “เจ้าเป็นไผ” มีของเปลี่ยน (3,430 ตัวอักษร) ดร.เม้ง (18,003) พี่แฮนดี้ (20,830) เบิร์ด (22,835) หนิง/พิดโลก (25,853) ดร.ขจิต (6,957) และอยากได้ของดร.พี่สร้อยมากๆ ครับ
    • Sub-theme: แม้แต่ละคนจะมีความแตกต่าง แต่ก็ยังรวมกันอยู่ได้อย่างสงบสุข และใช้ประโยชน์จากความแตกต่างนั้นอย่างรู้คุณค่า
    • ไผชุดนี้ มีบางเรื่องค่อนข้างสั้นมาก ขนาดที่เหมาะคือประมาณสองหมื่นตัวอักษรครับ เวลาเอาไปเรียงพิมพ์แล้วน่าจะอยู่ประมาณ 16 หน้า เกินจากนั้นก็ยังรับได้ครับ คราวนี้ก็จะไม่มีการเขียนแนะนำนักเขียนในแต่ละเรื่อง เพราะว่าเรื่องราวแต่ละเรื่อง ควรจะให้อะไรผู้อ่านได้มากกว่าเอาประวัติมาเล่าสู่กันฟังเฉยๆ ประเด็นที่ดีคือบทเรียน/ประสบการณ์ชีวิต วิถีการเรียนรู้ ประเด็น/แง่คิดต่างๆ ที่พบเห็นและประทับใจ เรื่องที่เราเห็นว่าธรรมดาแต่คนอื่นเห็นว่าไม่ธรรมดา (tacit knowledge) ตามคำนำที่ อ.เสน่ห์ จามริก เขียนไว้ให้คือ
      • งานเขียนเชิงเค้าโครงอัตชีวประวัติที่นำมาประมวลรวบรวมไว้ในที่นี้ เป็นผลงานจากความริเริ่มและเห็นพ้องกัน ในอันที่จะนำเสนอเรื่องราวชีวิตของแต่ละคน มิใช่เพียงเยิรยอตนเอง หากแต่เพื่อบอกเล่าถึงประสบการณ์ “เรียนรู้” ของตนเอง ซึ่งย่อมจะแตกต่างหลากหลายกันออกไปเป็นธรรมดา เจตนารมณ์และความพยายามเช่นว่านี้ ถึงจะมองอย่างผ่านๆกันไป ก็คงดูไม่น่าจะต้องคิดอะไรกันมาก แต่ทว่าอีกมุมมองหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากแง่มุมของการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน ในสังคมอันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์เราแล้ว ก็เชื่อว่าจะต้องมีอีกหลาย ๆ ประเด็นที่เราอาจจะถอดความ นำมาคิดขยายความต่อๆไปอีกไม่น้อย ทั้งเพื่อการเรียนรู้สำหรับตัวเราแต่ละคน และเพื่อคุณประโยชน์ต่อการปรับปรุงพัฒนาชีวิตของสังคมโดยส่วนรวม สุดแต่ข้อสังเกตตามอัธยาศัยการอ่านของเรา ๆ แต่ละคน
        อยากจะคาดหวังในที่นี่ว่า การรวบรวมงานเขียนทำนองนี้ คงจะไม่ใช่เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการเรียนรู้ในทำนองเดียวกันกับชีวิตการเรียนรู้ด้าน อื่นๆ ซึ่งย่อมต้องมีการพัฒนายิ่งๆขึ้นไปโดยลำดับ จึงขอถือโอกาสนี้อำนวยพรให้บรรดาคณะผู้ร่วมงานทั้งหลาย ประสบแต่ความสุขและความสำเร็จโดยทั่วกัน
    • วิธียืดความยาวที่ดี คือเล่าเหตุการณ์จริงตามที่เกิดขึ้น มองย้อนกลับไป แล้วถามตัวเองว่าผ่านมาได้อย่างไร ได้อะไรมาบ้าง ฯลฯ
    • มีบางอันเขียนเป็นลักษณะ bullet point ซึ่งอาจจะดีในกรณีที่ให้ผู้อ่านเข้าถึงประเด็นที่อยากจะบอกโดยเร็ว แต่ผมคิดว่าทำให้ขาดอรรถรส ขาดเรื่องราวที่ชวนให้ติดตามเท่าที่ควรนะครับ
    • ยังรับพิจารณาไผของท่านอื่นๆ อีก แต่ขอให้เป็นเรื่องที่จบในตัวเอง คือไม่ต้องให้ไปอ่านต่อในเล่ม ๓ นะครับ
  • ภาค ๓ “เครือข่าย ภาคี และเพื่อน” มีแล้วหนึ่ง (39,620 ตัวอักษร เขียนดีมากๆด้วย) รับปากแล้วหนึ่งแต่ยังไม่ส่ง กำลังติดต่ออีกหนึ่ง
    • Sub-theme: การมีหลักชัยเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเดินบนเส้นทางเดียวกัน สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้

Release criteria ยังเป็นเช่นเดิมครับ คือไม่ดีก็ไม่พิมพ์ ลองทำดูแล้วไม่ได้ใช้+เหนื่อยฟรีก็ไม่เป็นไร หนังสือนี้เป็นหนังสือขาย ไม่ได้ไล่แจก จึงต้องพิจารณาความเหมาะสมหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือผู้อ่านได้ประโยชน์จากหนังสืออย่างเต็มที่นะครับ


พลังงานจากดวงอาทิตย์​ (6)

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 22 August 2009 เวลา 3:33 ในหมวดหมู่ พลังงาน #
อ่าน: 5713

ใครๆ ก็รู้ว่ารูปทรงพาราโบลา รวบรวมแสงเข้าสู่จุดโฟกัสได้ดีที่สุด แต่มีปัญหาใหญ่คือพาราโบลาเป็นผิวโค้ง สร้างยากกว่าผิวเรียบ

บันทึกนี้ แสดงวิธีง่ายๆ ที่จะสร้างจานรวมแสงพาราโบลา

เริ่มต้นด้วยไม้ฉาก ไม้อัด ด้าย ปากกา ขึงด้ายให้ตึงจากปลายหนึ่งของไม้ฉาก กับจุดโฟกัส เลื่อนไม้ฉากห่างออกไปเรื่อยๆ ลากเส้นโค้งตามแต่ด้วยจะพาไป จะได้รูปพาราโบลา

สังเกตว่าต้องให้เชือกตึงอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะให้ดี จุดโฟกัสควรอยู่สูงกว่าขอบจาน

อ่านต่อ »


พลังงานจากดวงอาทิตย์ (5)

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 21 August 2009 เวลา 0:34 ในหมวดหมู่ พลังงาน #
อ่าน: 3659

จะรวมแสง ก็ต้องหาวัสดุเงามาสะท้อนแสงนะครับ ซึ่งวัสดุต่างๆ มีสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงไม่เท่ากัน ซึ่งนำมาให้ดูบางตัวดังนี้

%
Surface Reflectivity
Aluminum foil, bright 92 - 97
Reflective Mylar Film 90 - 93
Aluminum sheet 80 - 95
Plate glass mirrors coated with aluminum on back 85
Aluminum-coated paper, polished 75 - 84
Steel, galvanized, bright 70 - 80
Rhodium 70 - 80
Stainless Steel 62 - 65
Chromium 60 - 63
Aluminum paint 30 - 70
Building materials: wood, paper, glass, masonry, nonmetallic paints 5 - 15

แต่ว่าเมืองไทย มีอากาศร้อนชื้น และมีฝุ่นมาก ก็จะต้องระวังรักษาผิวสะท้อนให้สะอาดพอสมควร เพื่อไม่ให้ลดทอนความสามารถในการสะท้อนแสง

จากตารางข้างบน ใช้อะลูมินัมฟอยล์ (ที่ใช้ห่ออาหาร) ด้านมันวับ เอามาติดกาวห่อแผ่นพลาสติค ก็อาจจะสร้างผิวสะท้อนแสงประสิทธิภาพสูงที่มีน้ำหนักเบาขึ้นมาได้ — อย่าลืมว่าเราต้องหมุนแผงสะท้อนแสงตามดวงอาทิตย์ไปด้วย ดังนั้นน้ำหนักของแผง ก็เป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน

ถ้าใช้กระจก ก็ได้เหมือนกันครับ แต่ต้องระวังเรื่องน้ำหนัก


พลังงานจากดวงอาทิตย์ (4)

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 20 August 2009 เวลา 0:17 ในหมวดหมู่ พลังงาน #
อ่าน: 5148

ดวงอาทิตย์สาดแสงลงมายังพื้นโลก ถ้าเราตามเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ทั่วทั้งพื้นที่ ก็เหมือนเอาแผ่นเหล็กไปวางไว้กลางแดด แสงแดดจะทำให้แผ่นเหล็กทั้งแผ่นร้อนขึ้น แต่เนื่องจากแผ่นเหล็กมีขนาดใหญ่ ทำให้ความร้อนกระจายออกไปทั่วทั้งแผ่น หากแทนที่เราจะใช้แผ่นเหล็กเก็บความร้อน สู้เบนแสงมารวมกันเป็น “จุด” จะช่วยให้ได้ความร้อนในปริมาณเดียวกัน รวมกันอยู่ในจุดเดียว หรือเส้นเดียว สร้างอุณหภูมิที่สูงอาจจะเป็นพันองศา เอาไปต้มน้ำเป็นไอ หรือเอาไปใช้ปั่นกำลังกลด้วย Sterling Engine ฯลฯ ก็ยังจะดีกว่าให้ความร้อนกระจายออกเต็มแผ่นเหล็ก ซึ่งรวบรวมไปใช้งานได้ยากครับ

คงเป็นที่รู้กับโดยทั่วไปว่าจานพาราโบลา รวบรวมแสงไปที่จุดโฟกัสได้ดีที่สุด แต่มีปัญหาพื้นฐานคือถ้าจะใช้จานพาราโบลารวมแสง ก็จะต้องใช้กระจกโค้ง ซึ่งหาอุปกรณ์สำเร็จรูปไม่ได้ (แต่ไม่ใช่ว่าจะสร้างไม่ได้ เพียงแต่ยุ่งยากมาก ถ้ายังอยากเขียน อาจกลับมาเล่าถึงวิธีการครับ)

ดังนั้น วิธีการรวมแสงที่คนทั่วไปสร้างได้ ก็จะใช้หลักการที่เรียกว่า Heliostat ใช้กระจกเงาเรียบบานเล็กๆ สะท้อนแสงไปรวมกันที่จุดโฟกัส

มีตำนานอยู่อันหนึ่งบอกว่าอาคีมีดีส ก็คนที่ร้องยูเรก้านั่นแหละครับ ใช้โล่ขัดเงาสะท้อนแสงไปรวมกันที่ใบเรือของกองทัพโรมัน เผาใบเรือกองทัพเรือโรมันจนแตกพ่ายไปที่เมือง Syracuse เมื่อปี พ.ศ.331 ประมาณรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช — เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น Polybius, Livy หรือ Plutarch ต่างก็ไม่เคยบันทึกว่าอาคีมิดีสทำอย่างนั้น จึงน่าสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง

แต่การทำงานของ Heliostat นั้น ใช้หลักการเดียวกับในตำนาน และทำงานได้จริง เพียงแต่ว่า…

ดวงอาทิตย์ “โคจร” ไปเป็นอัตรา 15° ทุกชั่วโมงเมื่อเทียบกับตำแหน่งคงที่บนโลก ดังนั้นเมื่อเล็งกระจกไว้แล้วไปที่จุดโฟกัสไว้แล้ว เดี๋ยวเดียว แสงก็จะเฉออกไปจากจุดโฟกัส

Heliostat (หรือ Parabola) ต่างก็ต้องหมุนตามดวงอาทิตย์ แล้วพยายามสะท้อนแสงไปรวมกันที่จุดโฟกัสให้ได้


ตำแหน่งของดวงอาทิตย์เทียบกับทิศ ในวันที่เขียนบันทึกนี้

อ่านต่อ »



Main: 0.10490012168884 sec
Sidebar: 0.15175700187683 sec