พื้นที่เสี่ยงต่อสึนามิ
อ่าน: 7237พื้นที่ชายฝั่ง มีความเสี่ยงต่อสำนามิทั้งนั้นครับ แต่สึนามิไม่ไช่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมาเฉยๆ แต่เกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่ง มุดลงใต้อีกแผ่นหนึ่ง (subduction zone) นานๆ ไปก็เกิดความเค้นขึ้นมหาศาล จนเมื่อความเค้นเพิ่มขึ้นจนถึงจุดวิกฤต แผ่นเปลือกโลกตรงรอยต่อทนไม่ไหว ก็ดีดตัวขึ้นมา ดันเอาน้ำที่อยู่เหนือแผ่นดินตรงนั้นเคลื่อนตัวด้วยความเร็ว เป็นคลื่นที่มีมวลน้ำมหาศาล เคลื่อนที่ไปจนไม่มีอะไรหยุดยั้งการทำลายล้างชายฝั่งได้
- สึนามิ 26 ธ.ค. 2547 — ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
- แบบจำลองการแพร่กระจายคลื่น
- เกิดอะไรขึ้นในสึนามิปี 2547 — หน่วยเฝ้าระวังแผ่นเปลือกโลก สถานบันเทคโนโลยีแห่งคาลิฟอเนีย
นอกจากนี้ สึนามิยังเกิดขึ้นได้จาก ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด แผ่นดินชายฝั่งถล่ม หรืออุกาบาตขนาดใหญ่ตกลงในมหาสมุทร ซึ่งทั้งหมดก่อให้เกิดคลื่นที่มีมวลหลายล้านตัน กระจายออกไปจากจุดศูนย์กลาง
ในกรณีของ subduction zone นั้น หากที่ใดเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้น ก็อาจเรียกได้ว่ามีการปลดปล่อยความเค้นออกแล้ว โอกาสที่จะเกิดสึนามิขึ้นบริเวณนั้น จะน้อยลงไปมากเนื่องจากแผ่นเปลือกโลก จะต้องอาศัยเวลาอีกนานกว่าจะมีความเค้นในระดับที่มีอันตราย
- ภาพจำลองการเกิดสึนามิแบบนี้ (ไฟล์ใหญ่มาก โหลดช้าแต่น่าดูเพื่อความเข้าใจ)
ทั่วทั้งโลก มีพื้นที่อยู่สองจุดที่ยังมีความเสี่ยงสูง คือเมืองปาดัง ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ในอินโดนีเซีย บน Sunda Subduction Zone (ซุนดา) และรอยแยกนอกชายฝั่งรัฐบริติชโคลัมเบียของคานาดา มาจนมลรัฐวอชิงตัน-โอเรกอน-คาลิฟอเนียเหนือของสหรัฐ ที่เรียกว่า Cascadia Subduction Zone (คาสเคเดีย)
เมื่อคราวที่เกิดสึนามิขึ้นตามชายฝั่งอันดามันเมื่อปลายปี 2547 แผ่นเปลือกโลกสองอันคือแผ่น Indo-Australia Plate มุดลงใต้แผ่น Sunda หรือแผ่น Eurasian ที่เป็นทวีปเอเซีย ในครั้งนั้น เกิดแผ่นดินไหวเป็นแนวยาวประมาณ 1200 กม. จากหัวเกาะสุมาตรา (ที่เมืองบันดาอาเจะห์) ไปจนหมู่เกาะนิโคบา ของอินเดีย (อยู่ตรงกับระนอง) แผ่นดินไหวใหญ่ในปี 2548 เกิดขึ้นเป็นแนว 400-500 กม หน้าเมือง Nias (นีแอส) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบันดาอาเจะห์ เหลือแนวรอยแยกประมาณ 100 กม หน้าเมืองปาดัง ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศทางตอนใต้ของเกาะสุมาตราพอดี “ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว” (ซึ่งไม่เคยทายถูก) เชื่อว่าหากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ อาจจะมีความแรง M8.5-8.9 ซึ่งมีโอกาสเกิดสึนามิ ประกอบกับรอยแยกอยู่ไม่ไกลจากเมือง แถมเมืองเป็นพื้นที่ราบ มีประชากรแปดแสนคน จึงมีความเสี่ยงสูงมาก ที่จะเจอคลื่นสูง 5.5 เมตร พัดเข้าไปในฝั่งถึงสองกิโลเมตร และจะทำลายไปครึ่งเมือง [แผนที่]
- Relief Web — สภากาชาดสากล
- เขตที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ใต้เกาะสุมาตรา
รอยแยกอีกอันหนึ่งคือรอยแยกคาสเคเดีย มีความเสี่ยงที่น่าหวาดเสียวมาก คือเป็นส่วนต่อมาจากรอยแยกซานแอนเดีรยสอันมีชื่อเสียงของคาลิฟอเนีย คาสเคเดีย ไม่มีแผ่นดินไหวใหญ่มา 300 ปีแล้ว คาดกันว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความเค้นมหาศาล และ “รอบปกติ” ควรจะเป็นเพียง 200 ปีเท่านั้น
- ข้อมูลของ USGS
- เครือข่ายเฝ้าระวังของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน
- Cascadia Subduction Zone — Wikipedia
- หายนะจากสึนามิเป็นไปได้ที่ Pacific Northwest (ของสหรัฐ) — Science Daily
- สถานะทุ่นเตือนภัยสึนามิ
เช้าวันพรุ่งนี้จะมีสุริยุปราคาไม่เต็มดวง ซึ่งไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นกลัวสึนามิครับ เพราะการเกิดสุริยุปราคาไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดสึนามิ