คณิตศาสตร์ชี้ คนจำนวนน้อยก็ปฏิวัติสำเร็จได้!

อ่าน: 3252

นักสังคมศาสตร์พยายามจะหาทางอธิบายการเป็นผู้นำสังคมอย่างมีประสิทธิผลมานานแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าคนในสังคม มีความเป็นปัจเจกอยู่เหมือนกัน ต่อให้กดขี่บังคับก็จะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเสมอ — นักฟิสิกส์ซึ่งดูเหมือนไม่น่าจะรู้เรื่องนี้กลับมีคำตอบ ซึ่งสอบทานด้วยแบบจำลองในคอมพิวเตอร์แล้วใช้ได้

คิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ผลเหมือนเดิม

เพราะนักสังคมศาสตร์ พยายามหาคำตอบเบ็ดเสร็จ คำตอบเดียว/ทฤษฎีเดียวอธิบายได้ทุกอย่าง มาจนปัจจุบัน จึงยังไม่ได้คำตอบ top-down ที่ดี

ในทางตรงกันข้าม นักฟิสิกส์รู้ว่าวิธีการแบบนั้น ใช้กับคำตอบที่ซับซ้อนไม่ได้ (จนปัจจุบัน ยังหาทฤษฎีที่อธิบายแรงทุกชนิดยังไม่ได้ หลังจากวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามาหลายร้อยปีแล้ว) นักฟิสิกส์เริ่มต้นจากการกำหนดขอบเขตของปัญหา ตั้งสมมุติฐาน แล้วอธิบายแบบ bottom-up

สมมุติฐานก็คือ แม้ปัจเจกชนจะมีความเป็นเอกเทศ เขาก็ยังมอง “ศูนย์กลาง” ของกลุ่มคนอยู่ดี

ถ้าศูนย์กลางของฝูงชนเคลื่อนที่ไปทางซ้าย เขาก็มีแนวโน้มจะเคลื่อนไปทางซ้ายด้วย ชาวบ้านเรียกว่าตามไปดูแห่

ผมคิดว่าสมมุติฐานนี้ก็มันดีเหมือนกัน อย่างตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีนักเศรษฐศาสตร์มาออกทีวีมากมาย คนไทยในตอนนั้น กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์กันไปหมด แม่บ้านก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ แม่ค้าก็เป็น คนทำงานในโรงงานก็ใช่ โอย นักเศรษฐศาสตร์ตัวจริงเป็นเทพไปเลย… พูดย้อนหลัง ชี้ความผิดของคนอื่น ยังไงก็มีส่วนถูก ฮี่ฮี่

ฝูงนก ฝูงปลา ไปไหนไปกัน พอเลี้ยวขวาก็ขวากันหมด ทำไมล่ะครับ ไม่ใช่ว่าเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยหรอก แต่เป็นเพราะเวลาอยู่รวมกันแล้ว ต่างคนต่างทำตามใจตัว ก็จะชนกันเองที่ความเร็วสูง สัตว์ยังรู้เรื่อง มีแต่คนนั่นแหละสันดานไม่ดี ผิวเผินแล้วนึกว่าเจ๋ง

ในกรณีของฝูงสัตว์ที่เคลื่อนที่เร็วนั้น ผู้นำส่งสัญญาณ ผู้ตามไม่ต้องคิดอะไรเลย ตามไปลูกเดียว… แต่กรณีของฝูงคน ซึ่งเคลื่อนที่ช้ากว่าสัตว์นั้น ยังหลอกได้ง่ายแม้แต่ละคนคิดว่าตนมีสมองเป็นเลิศครับ ตั้งเครือข่ายของคนที่สังเกตได้ง่ายขึ้นมา แล้วนัดแนะให้คนเหล่านี้กระทำการในทางเดียวกัน พร้อมกัน คนดูซึ่งเป็นปัจเจกชน ก็มีแนวโน้มจะทำตาม

อาการอย่างนี้เป็นเรื่องน่าวิตกมากกับสถานการณ์ของข่าวทีวี ซึ่งนิยมเอาหนังสือพิมพ์ที่เป็นอภินันทนาการ มานั่งอ่านอย่างออกรสออกชาติ การที่มีรายการข่าวเป็นจำนวนมาก ข่าวสารถูกส่งออกมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ข่าวระเบิดก็ระเบิดกันอยู่นั่นทั้งวัน ข่าวฆาตกรรมก็ออกจนตายไปไม่รู้กี่รอบแล้ว ความรู้สึกของผู้บริโภคข่าวสาร ก็จะโน้มเอียงไปตามข่าวที่ขาดความหลากหลาย มีแต่ภาพของปัญหา

และในกรณีที่สังคมนั้นมีผู้นำอยู่แล้ว ผู้ที่ต้องการจะขึ้นเป็นผู้นำแทน สามารถใช้วิธีการแบบนี้ได้เช่นเดียวกัน ทำให้ “คนดู” รู้สึกคล้อยตามด้วยความรู้สึกว่าใครๆ ก็ว่าแบบนี้ โฆษณาในลักษณะ testimonial ก็จัดเป็นวิธีการแบบนี้เช่นกัน

Effective Leadership in Competition



Main: 0.29035091400146 sec
Sidebar: 0.64128708839417 sec