หัวใจนักปราชญ์ ตีความแบบตามใจฉัน
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต วัดราชโอรสาราม กล่าวในหนังสือ พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด ถึงคาถาบาลีบทหนึ่งว่า สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กถัง โส ปํณฑิโต ภเว แปลว่า ผู้ปราศจาก สุ จิ ปุ ลิ จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร คาถาบทนี้ เป็นที่ถือกันว่าเป็นหัวใจนักปราชญ์
ผมลองค้นพระไตรปิฎกดู ไม่พบทั้ง “สุ จิ ปุ ลิ” และ “หัวใจนักปราชญ์” และเมื่อพิจารณาดูว่าสมัยพุทธกาล อักษรเทวนาครี/อักษรพราหมณ์ มีไว้เพื่อจารึกพระเวทย์ และมีไว้ใช้ในวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์เท่านั้น ตัว ลิ (ลิขิต/เขียน) จึงไม่น่าจะเกิดจากสมัยนั้น น่าจะเป็นเกจิอาจารย์แต่งเสริมขึ้นในสมัยหลัง เลยค้นไม่พบในพระไตรปิฎก [พาหุสัจจะ ตามความหมายในพระไตรปิฎก]
แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า สุ จิ ปุ ลิ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมาก เพียงแต่การตีความนั้น ผมขยายออกไปอีก ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวครับ บางส่วนเล่าให้ฟังแล้วในกิจกรรมอ่างปลา
ความรู้ไม่ได้ถ่ายให้กันได้ง่ายๆ เหมือนเทน้ำจากถังหนึ่งไปยังอีกถังหนึ่ง ฝั่งผู้สอนหรือผู้ถ่ายทอดนั้น เป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ต้องใช้แสวงหาเอา แต่ปัจจัยที่เกิดขึ้นในตัวเรา (ซึ่งไม่ต้องไปโทษใคร) นั้น คือ สุ จิ ปุ ลิ ของกระบวนการเรียนรู้นั่นล่ะครับ