Pentatonic Scale รู้โดยไม่ต้องเรียน

อ่าน: 5448

ใน World Science Festival 2009 เมื่อปีที่แล้ว Bobby McFerrin แสดงให้ผู้ร่วมสัมนาทั้งหมดเห็นการสอนแบบไม่ต้องสอน ใช้ทฤษฎีดนตรีง่ายๆ เรียกว่า Pentatonic Scale (หนึ่ง octave มีโน๊ต 5 ตัว เช่นในสเกล C ประกอบไปด้วย โด เร มี ซอล ลา) ถึงจะไม่รู้ทฤษฎีดนตรี และไม่เคยได้ยินคำว่า Pentatonic Scale มาก่อน ผู้ฟังทั้งห้อง ก็ต่อได้ถูกต้อง

เรื่องนี้มีประเด็นน่าสนใจสองอย่าง คือ (1) ทำไมต้องจับความรู้ยัดเยียด เหมือนกับไม่มีความเชื่อใจผู้เรียน แค่สะกิดนิดเดียวด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ก็อาจจะได้ผลสมบูรณ์ตามที่ตั้งใจก็ได้ (2) วิธีการนำเสนอ+ถ่ายทอด อาจจะสำคัญกว่าหลักสูตร เช่นเดียวกับประโยคที่ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ของ Einstein ก็ได้

การเรียนรู้ ทำไมต้องเกิดในสถาบันการศึกษาเท่านั้น?


กังหันลมที่หันผิดทาง

3 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 26 February 2010 เวลา 0:02 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, พลังงาน #
อ่าน: 6138

สำหรับการวิจัยเรื่องพลังงานลมนั้น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ากำลังไฟฟ้าที่แปลงมาจากโมเมนตัมของลม มีค่าเป็น

kWh = (1/2)(ρ)(v3)(A)(E)(H)

  • ρ (rho) คือความหนาแน่นของอากาศ ซึ่งมีค่า 1.165 kg/m3 ที่อุณหภูมิ 30°C และระดับน้ำทะเลปานกลาง
  • v คือความเร็วของกระแสอากาศ
  • A คือพื้นที่หน้าตัดของเครื่องแปลงพลังงาน (กังหันปั่นไฟ)
  • E คือประสิทธิภาพในการดักจับพลังงานจลน์จากการไหลของกระแสอากาศ คิดต่อหน่วยพื้นที่(ให้เป็นหน่วยเดียวกับหน่วยของ A เช่นตารางเมตร) ค่าของ E ในทางทฤษฎีจะไม่สามารถเกิน 59.3% ซึ่งเรียกว่า Betz Limit ตัว E นี้ ในอุตสาหกรรมพลังงานลมเรียกว่าสัมประสิทธิ์กำลัง (Power Coefficient)
  • H คือจำนวนชั่วโมงที่ปั่นไฟได้

ρ มีค่าคงที่; A ก็คงที่เพราะขึ้นกับรูปร่างทางกายภาพของใบพัดกังหัน; H อยู่นอกเหนือการควบคุม

มีตัว E ซึ่งมีงานวิจัยอยู่พอสมควรที่จะออกแบบกังหันลมอย่างไร จึงจะแปลงโมเมนตัมของลมให้เป็นพลังงานได้มากที่สุด เช่นเรื่องการออกแบบใบพัด

แต่ตัว v นั้น เรากลับยังคิดกันในแบบธรรมดาว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เมืองไทยไม่(ค่อย)มีลมแรง — ที่จริงแล้ว แม้มีลมไม่แรง ก็ทำให้แรงได้นะครับ เพียงแต่ต้องเลิกคิดถึงกังหันแบบที่คุ้นเคย

อ่านต่อ »


อิฐเก็บน้ำ

6 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 23 February 2010 เวลา 17:39 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, เทคโนโลยีชาวบ้าน #
อ่าน: 4476

การประกวด “การออกแบบนานานชาติอินชอน” Incheon International Design Awards สำหรับปี 2010 ซึ่งประกาศผลแล้ว มีนวัตกรรมอยู่อันนึ่งซึ่งน่าสนใจ คืออิฐเก็บน้ำจากเกาหลีครับ

อิฐบ้านเราก็เป็นอิฐทื่อๆ เช่นอิฐมอญ อิฐบล็อค บางทีก็ใช้วัสดุอื่นเช่น ดิน+ทราย+ปูน ผสมคลุกเคล้าแล้วอัดเป็นก้อน บางทีก็ทำบล็อคให้เรียกก้อนตรงเอาไว้ก่อเป็นกำแพง บางทีก็ทำบล็อคโค้งให้ก่อแล้วเป็นส่วนโค้ง

การออกแบบของเกาหลี เซาะร่องด้านหนึ่งเป็นรางเพื่อเก็บกักน้ำฝน จะทำให้น้ำฝนที่มาปะทะกับอิฐบล็อคไหลมารวมกัน เพื่อที่ง่ายต่อการกักเก็บครับ

วัสดุเค้าก็ใช้วัสดุเหลือใช้เช่นเศษใบไม้ และเศษพลาสติก นำมาป่นให้เป็นผง แล้วนำมาอัดรวมกัน ใช้ใยไฟเบอร์ธรรมชาติในใบไม้มาผสมกับพลาสติก ซึ่งเมื่อนำมาอัดแล้ว สามารถยึดไฟเบอร์ไว้ด้วยกันได้

น้ำฝนที่มาปะทะกับอิฐ ไหลลงมาตามร่อง ทำให้สามารถรวบรวมไปเก็บไว้ใต้ดิน เพื่อนำน้ำที่ไม่ต้องกรองหรือบำบัดไปใช้

เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มันก็ยังเลื่อนลอยอยู่ในหมู่นักคิด ไม่สามารถจะขับเคลื่อนไปไหนได้เพราะคนโดยทั่วไป ไม่เข้าใจว่ามันดียังไง

อ่านต่อ »


บรรยาย

อ่าน: 3545

เมื่อคืนนี้ ทวิตไปว่าทั้งโลกไม่มีใครรู้เรื่องที่พูดดีเท่าเรา ความสำเร็จของการพูดไม่ใช่ทำให้คนอื่นรู้เท่าเรา แต่ให้เขาคิดพิจารณาในประเด็นที่เราชี้”

ในทวิตเตอร์ จำกัดความยาวของข้อความไว้ที่ 140 ตัวอักษร จึงเขียนได้แค่นั้น ขออธิบายเพิ่มดังนี้ครับ

โดยทั่วไปนั้น การบรรยายเป็นการสื่อสารทางเดียว มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นการสื่อความให้ผู้ฟัง มีความรู้เหมือนกับที่ผู้บรรยายพยายามจะถ่ายทอด — ความคิดแบบนี้มีปัญหาพื้นฐานอยู่ที่ว่า หากการถ่ายทอดมีประสิทธิภาพเต็มร้อย โลกนี้ก็ไม่ก้าวหน้า เพราะไม่มีความรู้ความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่หากถ่ายทอดได้ไม่เต็มที่ โลกกลับเดินถอยหลัง เสื่อมลงไปเรื่อยๆ ผู้ฟังรอคอยของตาย พอฟังจบ นึกว่ารู้แต่ที่จริงไม่รู้เพราะไม่เคยทำ จึงยังรอแต่คำสั่งเหมือนเดิม ปลอดภัย/แน่นอน/มีคนอื่นรับผิดชอบแทน ไม่รู้จักคิดเอง จึงไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ [อยากให้ฟัง ดร.วรภัทร์​ ภู่เจริญ พูดถึงคำว่าลูกอีแร้ง ตอนท้ายคลิปที่ 1 กับต้นคลิปที่ 2 แต่ถ้ามีเวลา ก็ดูตั้งแต่ต้นจนจบก็แล้วกันครับ]

ความสำเร็จในการบรรยาย จึงไม่ใช่การทำให้คนอื่นรู้เท่ากับที่เรารู้-เหมือนกับการจับความรู้ในสมองเราไปยัดใส่สมองผู้ฟัง วัดผลไม่ได้ด้วยเสียงปรบมือ จำนวนผู้เข้าฟัง หรือคำยกย่อง

ความสำเร็จในการบรรยาย สำหรับผู้ฟังคือการได้ประเด็นจากการฟังการบรรยายไปคิดพิจารณาต่อ เอาไปใช้ได้ สำหรับผู้บรรยายคือการทำให้ผู้ฟังคิดและพิจารณาในประเด็นที่เราพยายามชี้ให้เห็น อธิบายด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยการเปรียบเทียบ ด้วยตัวอย่าง ถ้าคิดเอาเองก็พูดให้ชัดว่าเป็นความเห็น ให้เกียรติผู้ฟัง แล้วก็ไม่จำเป็นต้องสรุปให้แบบแม่อีแร้ง — แยกแยะการรับรู้กับการเรียนรู้ออกจากกัน — อย่าพอใจแค่สาระของการบรรยาย ให้ดูว่าช่วยผู้ฟังให้เข้าใจแก่นสาร+ความหมายมากขึ้นได้อย่างไรครับ อย่าทำเหมือนรายการเล่าข่าว

หากจะฟังทั้งหมด คลิกตรงนี้ครับ


บทเรียนจากทะเลทรายในอินเดีย: เก็บน้ำไว้ใต้ดิน

อ่าน: 4390

ถ้าเก็บไว้ผิวดิน ก็มีโอกาสระเหยไปได้มาก แต่ถึงระเหย ก็ยังดีกว่าไม่เก็บอะไรไว้เลยนะครับ

ผู้เฒ่า Anupam Mishra จากทะเลทราย Golden Desert ในอินเดีย มาเล่าให้ฟังถึงภูมิปัญญาโบราณ ซึ่งเก็บน้ำฝนจากพื้นที่ที่มีฝนตกเพียง 16 นิ้วต่อปี (400 มม./ปี ครึ่งเดียวของอีสานในปีที่แล้งจัด) แต่เขาเก็บน้ำไว้ทุกหยด จากทุกหลังคา ทุกพื้นที่ เอาไปรวมกันในบ่อใต้ดินส่วนกลาง

น้ำฝนที่ตกลงมา 2 มม. (ตกแบบไม่ตั้งใจตก) ถ้ามีพื้นที่รับน้ำ 10 ไร่ คิดเป็นน้ำหนักน้ำฝน 32 ตัน หรือเป็นปริมาตร 32 คิว ให้สูญเสียจากการซึมลงไปในดินเสียสามในสี่ ก็ยังได้น้ำถึง 8 คิว — ถ้าใช้หลังคารับน้ำบ้านเรือน ก็จะได้เป็นน้ำอุปโภคบริโภคทั้งหมด

ผมนึกถึงพื้นที่ภูเขาแถวสถานปฏิบัติธรรมผาซ่อนแก้วนะครับ ระดับน้ำใต้ดิน (water table) ลึก 150 เมตร แต่ถ้าให้ภูเขารับน้ำ เก็บไว้ในห้องใต้ดินที่ดาดคอนกรีต จะใช้ไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำ ต่ำกว่าที่ใช้อยู่เยอะแยะ บางทีอาจไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเลย ถ้าสร้างห้องเก็บน้ำไว้บนภูเขา ให้สูงกว่าผาซ่อนแก้ว

อ่านต่อ »


ปฏักแห่งสติ

อ่าน: 3077

…ระบบการศึกษาที่ดำรงอยู่ทำให้เกิดความอ่อนแอทางปัญญา เพราะเป็นระบบการศึกษานอกสังคม ไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ร่วมแก้ปัญหา จึงอ่อนแอทางปัญญา ปัญญาจะเข้มแข็งต่อเมื่อเผชิญปัญหาและพยายามแก้ปัญหา การปฏิรูปการศึกษาที่กำลังทำอยู่ ไม่เพียงพอต่อการอภิวัฒน์ทางปัญญา เพราะยังทำอยู่ในภพเดิมที่ถือว่าความรู้มาจากตำรา เป็นการคิดแยกชีวิตกับการศึกษาออกจากกัน ว่าชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อีกอย่างหนึ่ง โดยการศึกษาเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง…

ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
หนังสือ ดินดิ้นได้ กรกฎาคม ๒๕๔๘
สคส. สกว. สสส.


เมื่อไหร่จะคิดเปลี่ยนระบบโทรทัศน์กันเสียที

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 6 February 2010 เวลา 1:51 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4733

ตลาดโทรทัศน์ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น คือตลาดสหรัฐ​ซึ่งได้เปลี่ยนไปใช้ HDTV และเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลไปแล้ว โรงงานผลิตโทรทัศน์ในเมืองไทย ก็ไม่ผลิดโทรทัศน์แบบเก่าแล้ว เพราะผลิตมา จะขายได้ในตลาดโบราณเท่านั้น ถ้าจะส่งออก ต้องเป็นจอแบบใหม่หมดแล้ว

แต่ผลข้างเคียงที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็คือ ความถี่ที่เดิมเคยกันไว้ให้สถานีโทรทัศน์ (แบบอนาลอก) ก็ว่างลง มีช่วงกว้างเป็นหลายๆ ร้อยเมกะเฮิร์สเลยทีเดียว เครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใช้ๆ กันอยู่นั้น รับสัมปทานมา แต่ก็มีช่วงกว้างไม่กี่เมกะเฮิร์สเท่านั้น

เมื่อสถานีโทรทัศน์ไม่ใช้ความถี่ตรงที่เคยใช้ ก็สามารถนำช่วงความถี่นี้ มาทำระบบ video-on-demand/e-learning การส่งราคา+ปริมาณ+ความต้องการผลิตผล (โลจิสติกส์) หรือทำเป็นอินเทอร์เน็ตให้ใช้ในประเทศ ฟรีทั่วประเทศก็ได้

การเปลี่ยนระบบโทรทัศน์เป็นเรื่องใหญ่ครับ ต้องเตรียมการล่วงหน้ากันหลายปี ต้องรอจนผู้บริโภคพร้อม (ผู้ผลิตโทรทัศน์พร้อมแล้ว) สถานีโทรทัศน์ และผู้ผลิตรายการ ก็ต้องใช้เวลาเตรียมตัวเช่นกัน… แต่ถึงวันนี้ ยังไม่เห็นแผน ไม่มีการประกาศอะไรเลยนะครับ เลยไม่รู้ว่าว่างพอจะวางแผนพัฒนาให้เมืองไทยหรือยัง


ภูเขาไฟใกล้ตัว

อ่าน: 7666

เมืองไทยก็มีภูเขาไฟครับ มี 8 ลูก แต่ดับไปหมดแล้ว ถึงภูเขาไฟดับแล้ว แต่ก็ยังมีบ่อน้ำร้อนที่กระจายกันอยู่ในหลายพื้นที่ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงกิจกรรมใต้พื้นแผ่นดิน

นอกจากนั้น บริเวณรอบๆ เมืองไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะปราศจากภูเขาไฟเลยนะครับ ภูเขาไฟระเบิดจะมีอิทธิฤทธิ์ทำลายล้างขนาดไหน ขึ้นกับหลายปัจจัย แต่ไม่ใช่ว่าปลอดภัยเหมือนครั้งหนึ่งที่เราเคยเข้าใจว่าฝั่งทะเลอันดามันอยู่ในเขตสงบทางธรณีวิทยา (จนกระทั่งเกิดสึนามิปี 2547 ขึ้น)

ดัชนีความแรงของภูเขาไฟระเบิด (Volcanic Explosivity Index หรือ VEI)

ดัชนี VEI เป็นดัชนีวัดความแรงของภูเขาไฟระเบิด มีตั้งแต่ระดับ 0 ชิลชิล ไปจนระดับ 8 ซึ่งเป็นระดับที่เกิดการทำลายล้างขนานใหญ่ทั่วโลก เรียกว่า VEI 8 เป็นระดับล้างโลกก็ได้ครับ

ในอดีต ในประเทศอาเซียน มีการระเบิดแบบ VEI 6 สองครั้งซึ่งทุกคนคงรู้จักดี คือ

  • การระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัวในอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2426 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ยินมาถึงกรุงเทพ เถ้าถ่านจากกรากะตัว บดบังแสงอาทิตย์ทั่วโลก ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก ลดลงถึง 1.2 °C และปั่นป่วนต่อไปถึงห้าปี
  • การระเบิดของภูเขาไฟพีนาทูโบในฟิลลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ.2534 มีเถ้าถ่านปลิวมาถึงกัมพูชา และในบางฤดู ก็มาถึงจังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย พีนาทูโบ ทำให้อุณหภูมิที่ผิวโลกซีกเหลือ ลดลง 0.5-0.6 °C ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลง 0.4 °C แต่เพิ่มระดับอุณหภูมิของบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียขึ้นอีกหลายองศา

ในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เคยมีภูเขาไฟระเบิด ในระดับทำลายล้างสูง VEI 7 และ 8 มาแล้วอย่างน้อยสองครั้งในเวลา ไม่เกินหนึ่งแสนปี และอยู่ในอินโดนีเซียทั้งคู่ ภัยจากภูเขาไฟ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภัยจากเถ้าร้อน (ไพโรคลาสติค)

แต่เถ้าภูเขาไฟปริมาณมหาศาล ถูกพ่นขึ้นสู่บรรยากาศ เปลี่ยนแปลสภาพอากาศ ตลอดจนสร้างมลพิษในอากาศ การหายใจเอาเถ้าภูเขาไฟเข้าไป ก็เหมือนการหายใจเอาใยแก้วเข้าไป จะไปรบกวนการทำงานของปอด สูดมากตายเร็ว สูดน้อยตายช้า แต่ตายเหมือนกัน

ไม่แต่เฉพาะคน สัตว์และพืชที่ต้องหายใจ ก็ตกอยู่ในอาการเดียวกัน ดังนั้น ห่วงโช่อาหาร จึงถูกรบกวนอย่างหนักจากเถ้าภูเขาไฟ แหล่งน้ำผิวดินจะไม่สะอาด น้ำฝนก็กินไม่ได้…

อ่านต่อ »


ภาวะฉุกเฉินกับป้ายสัญญลักษณ์

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 3 February 2010 เวลา 2:26 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3482

ไม่รู้เป็นอะไร ผมย้อนกลับมานึกถึงภาวะสับสนอลหม่านในการจัดการวิกฤติสึนามิครับ ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าอะไรอยู่ที่ไหน โรงพยาบาลสนาม คนหลง คนหายระบบโทรคมนาคม อาหาร/น้ำสะอาด อยู่ตรงไหน ไม่รู้เลย

มาคิดดูอย่างง่ายๆ ว่าสถานที่ที่มีบริการแบบนี้ และยังให้บริการได้ น่าจะประกาศให้คนเห็นได้ในระยะไกล ก็ใช้บัลลูนส่งป้ายสัญลักษณ์ ลอยขึ้นไปในอากาศสัก 50 เมตรก็คงพอนะครับ แต่ดูอย่าอยู่ใกล้สายไฟ

บัลลูนใช้ก๊าซที่เบากว่าอากาศ ซึ่งน่าจะเป็นฮีเลียม แต่ถ้าฉุกเฉินจริงๆ หาฮีเลียมไม่ได้ ก็อาจใช้ไฮโดรเจนหรือมีเทน (ก๊าซธรรมชาติหรือ NGV) ได้ แต่จะต้องระวังให้มากเพราะก๊าซพวกหลังนี้ติดไฟได้

ทีนี้ เมื่อเอาบัลลูนขึ้นอากาศแล้ว ก็อาจใช้บัลลูนนั้นเป็นสถานีทวนสัญญาณโทรคมนาคมได้ ซึ่งไม่น่าจะหนักเกิน 2 กก. รวมแบตเตอรี่แล้ว

ที่ payload 2 กก. จะต้องใช้บัลลูนทรงกลม ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางดังนี้

บัลลูนฮีเลียม: เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ฟุตครึ่ง
บัลลูนไฮโดรเจน: เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ฟุต
บัลลูน NGV: เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 ฟุตครึ่ง

สำหรับโรงพยาบาลสนาม อาจจะใส่ LED ลงไปในบัลลูน เพื่อให้มองเห็นได้ในเวลากลางคืนด้วย


เมื่อมองไม่เห็นปัญหา ย่อมแก้ไขไม่ได้

อ่าน: 2919

ไม่ได้เขียนบันทึกหลายวัน แต่ไม่ได้แป้กหรอกนะครับ

ผมร่วมกับบรรณาธิการชาวเฮ ตรวจแก้หนังสือเจ้าเป็นไผ ๑ อีกครั้งหนึ่งเพื่อจัดพิมพ์ครั้งที่สอง… ไม่อยากคุยเลย ของเค้าดีจริงๆ ครับ… หนังสือชุดนี้เป็นบทเรียนชีวิต ถึงแม้ผู้อ่านจะไม่ได้ผ่านประสบการณ์นั้นโดยตรง แต่ก็สามารถเรียน (อย่างแห้งๆ) ได้บ้างว่า กว่าที่คนแต่ละคนจะมายืนอยู่ตรงที่เขายืน ผ่านอะไรต่างๆ มามากมาย ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง “ถูกทาง” บ้าง ไม่ถูกบ้าง แต่ก็ไม่มีใครที่อยู่ดีๆ ก็เป็นแบบที่เป็นอยู่ การจะเป็นอย่างที่เป็น ต้องฝ่าฟันกันทั้งนั้น… ให้นักศึกษาอ่าน สร้างแรงบันดาลใจได้อย่างมหาศาล… ให้ผู้ต้องขังในทัณฑสถานอ่าน ครอบครัวรายงานว่าพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ทำงานทำการมากขึ้น

ที่อยากบอกในบันทึกนี้คือ ภัยแล้งครั้งนี้ หนักหนาสาหัสแน่นอน แต่เราก็ยังมองน้ำเป็นแต่เรื่องน้ำผิวดิน เมืองไทยไม่มีภูเขาสูงพอที่จะดักจับความชื้นในอากาศ หรือมีหิมะตก เรายังพึ่งฝน แต่ก็ทำลายป่าซึ่งดูดความชื้นในอากาศ เอาน้ำจากแม่น้ำนานานชาติมาใช้ก็ไม่ได้ แล้วเราก็บ่นๆๆๆ ชี้นิ้วไปเรื่อยๆ

เรายังคิดเหมือนเดิม (รอฝน) ทำเหมือนเดิม (รอน้ำ) ผลย่อมเหมือนเดิมครับ (รอต่อไป)

มีวิธีเติมความชื้นในอากาศโดยใช้น้ำทะเลสร้าง “เชื้อเมฆ” แก้โลกร้อน และปั่นไฟฟ้าไปในขณะเดียวกัน

บันทึกเก่าๆ เรื่องน้ำนี้ น่าอ่านทุกอันครับ หวังว่าจะได้แง่คิดอะไรบ้าง



Main: 0.11275196075439 sec
Sidebar: 0.35402417182922 sec