เมื่อคืนนี้ ทวิตไปว่า “ทั้งโลกไม่มีใครรู้เรื่องที่พูดดีเท่าเรา ความสำเร็จของการพูดไม่ใช่ทำให้คนอื่นรู้เท่าเรา แต่ให้เขาคิดพิจารณาในประเด็นที่เราชี้”
ในทวิตเตอร์ จำกัดความยาวของข้อความไว้ที่ 140 ตัวอักษร จึงเขียนได้แค่นั้น ขออธิบายเพิ่มดังนี้ครับ
โดยทั่วไปนั้น การบรรยายเป็นการสื่อสารทางเดียว มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นการสื่อความให้ผู้ฟัง มีความรู้เหมือนกับที่ผู้บรรยายพยายามจะถ่ายทอด — ความคิดแบบนี้มีปัญหาพื้นฐานอยู่ที่ว่า หากการถ่ายทอดมีประสิทธิภาพเต็มร้อย โลกนี้ก็ไม่ก้าวหน้า เพราะไม่มีความรู้ความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่หากถ่ายทอดได้ไม่เต็มที่ โลกกลับเดินถอยหลัง เสื่อมลงไปเรื่อยๆ ผู้ฟังรอคอยของตาย พอฟังจบ นึกว่ารู้แต่ที่จริงไม่รู้เพราะไม่เคยทำ จึงยังรอแต่คำสั่งเหมือนเดิม ปลอดภัย/แน่นอน/มีคนอื่นรับผิดชอบแทน ไม่รู้จักคิดเอง จึงไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ [อยากให้ฟัง ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ พูดถึงคำว่าลูกอีแร้ง ตอนท้ายคลิปที่ 1 กับต้นคลิปที่ 2 แต่ถ้ามีเวลา ก็ดูตั้งแต่ต้นจนจบก็แล้วกันครับ]
ความสำเร็จในการบรรยาย จึงไม่ใช่การทำให้คนอื่นรู้เท่ากับที่เรารู้-เหมือนกับการจับความรู้ในสมองเราไปยัดใส่สมองผู้ฟัง วัดผลไม่ได้ด้วยเสียงปรบมือ จำนวนผู้เข้าฟัง หรือคำยกย่อง
ความสำเร็จในการบรรยาย สำหรับผู้ฟังคือการได้ประเด็นจากการฟังการบรรยายไปคิดพิจารณาต่อ เอาไปใช้ได้ สำหรับผู้บรรยายคือการทำให้ผู้ฟังคิดและพิจารณาในประเด็นที่เราพยายามชี้ให้เห็น อธิบายด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยการเปรียบเทียบ ด้วยตัวอย่าง ถ้าคิดเอาเองก็พูดให้ชัดว่าเป็นความเห็น ให้เกียรติผู้ฟัง แล้วก็ไม่จำเป็นต้องสรุปให้แบบแม่อีแร้ง — แยกแยะการรับรู้กับการเรียนรู้ออกจากกัน — อย่าพอใจแค่สาระของการบรรยาย ให้ดูว่าช่วยผู้ฟังให้เข้าใจแก่นสาร+ความหมายมากขึ้นได้อย่างไรครับ อย่าทำเหมือนรายการเล่าข่าว
หากจะฟังทั้งหมด คลิกตรงนี้ครับ