เกษียณอายุ

6 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 14 February 2010 เวลา 20:43 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 3350

ร่างกายมนุษย์มีข้อจำกัดเยอะแยะ มีเสื่อมไปเป็นธรรมดา เมื่ออายุมากขึ้น กำลังวังชา เรี่ยวแรงถดถอย ความเบื่อหน่ายพอกพูน ดังนั้นสำหรับมนุษย์เงินเดือน จึงมักจะมีเส้นขีดไว้ที่อายุ 60 ว่าจะต้องเกษียณอายุครับ เส้น 60 ปีนั้น เป็นเส้นสมมุติ ไม่ได้หมายความว่าหมดคุณค่า แต่ก็เป็นกติกาที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มทำงาน ว่าเมื่อหมดเวลาแล้ว ก็หมดเวลา

ถ้าหากเราทำงานแล้วเกิดความผูกพัน อยากเห็นองค์กรพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ควรจะเตรียมผู้ที่จะมายืนอยู่ในตำแหน่งของเรา — ไม่ใช่แค่มาแทนเรา แต่ควรทำได้ดีกว่าเราเสียอีก อย่างนั้นจึงจะเป็นของขวัญชิ้นสุดท้าย ที่จะมอบไว้ให้แทนความผูกพัน

แน่ล่ะเมื่อถอดหัวโขนออกวางแล้ว ที่แตกต่างออกไปก็เป็นแค่หัวโขน และเครื่องประกอบต่างๆ เราเพียงแต่สวมใส่ชั่วคราวเพื่อทำงานเฉพาะกิจ เมื่องานเลิกแล้วก็วางลง ตัวคนยังเป็นคนคนเดิม ยังมีคุณค่าเช่นเดิม เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ และสิ่งบำรุงบำเรออาจจะไม่เหมือนสมัยที่ยังสวมหัวโขนอยู่ แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก ว่าสิ่งที่ได้มา เป็นของชั่วคราว — ไม่ว่าหัวหน้า HR หรือตำราจะบอกว่าอย่างไร ก็ไม่มีคำว่างานของฉันหรอกนะครับ มีแต่งานที่ฉันกำลังทำอยู่ (คือถ้ามันเป็นงานของฉันจริง ก็ทำต่อไปจนตาย แล้วจะพบว่าการที่แบกอะไรไว้เยอะๆ มันหนัก มันทุกข์)

นอกจากนั้น การเกษียณอายุ ยังหมายถึงการปรับตัวของทุกๆ คนด้วย เป็นสิ่งที่มีกำหนดการล่วงหน้า (ยกเว้นรีบตายไปเสียก่อน) เป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า

สำหรับผู้ที่กำลังจะเกษียณ ผมไม่มีอะไรแนะนำหรอกนะครับนอกจากเรื่องปรับตัว ทุกท่านคงรู้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากว่าไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร/เตรียมอะไร มาถึงตอนนี้ ก็คงไม่ทันการแล้วครับ

อ่านต่อ »


Logos เป็นหยัง

5 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 14 February 2010 เวลา 3:00 ในหมวดหมู่ ลานปัญญา, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4088

ชื่อ Logos นี้ (อ่านว่าโลกอส หรือ ลอกอส อ่านออกเสียง) พระอาจารย์ชัยวุธท่านตั้งให้ เป็นคำที่มีความหมายสำคัญในวิชาปรัชญา ท่านเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)

wikipedia ให้ความหมายไว้หลายอย่าง ตั้งแต่ในปรัชญากรีก คริสต์ศาสนา เทววิทยา จิตวิทยาวิเคราะห์ ซึ่งทั้งสี่อาจจะเกินจากบริบทที่พระอาจารย์ชัยวุธตั้งให้

อนึ่ง เมื่อถือเอาตามนี้ ก็อาจแปล Logos ได้ทำนองว่า..

  • Logos แปลว่า คำพูด หรือ คำศัพท์…… นั่นคือ God สร้างสรรพสิ่งด้วยคำพูด
  • Logos แปลว่า จิต เจตจำนง หรือ ความคิด….. นั่นคือ God สร้างสรรพสิ่งด้วยเจตจำนง
  • Logos แปลว่า ความรู้ หรือ ปัญญา …… นั่นคือ God สร้างสรรพสิ่งด้วยปัญญา
  • ฯลฯ

ในปรัชญาสมัยใหม่ ให้ความหมายไว้แบบที่น่าจะแปลเป็นไทยได้สั้นๆ ว่า โลกทัศน์ คือการมองภาพใหญ่ เห็นความแตกต่าง หลากหลายตามความเป็นจริง กล่าวคือ Logos คือแนวคิดต่อโลก ต่อองค์รวม ต่อสังคม ต่อองค์กร ที่ให้น้ำหนักกับหมู่คณะมากกว่าปัจเจกชน และพบในพจนานุกรมและสารานุกรมหลายฉบับ ที่หมายถึง “คำ” ที่มีความหมายศักดิ์สิทธิ์ (ออกแนวพระผู้สร้าง-จักรวาล ทำนองนั้น)

คาร์ล กุสตาฟ จุง ชาวสวิส-เยอรมัน ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาวิเคราะห์  ได้ให้คำนิยามที่น่าสนใจไว้ว่า Logos คือเพศชายของหลักแห่งเหตุผลและจิตสำนึก เป็น hard-side; ส่วนเพศหญิงของหลักแห่งเหตุผลและจิตสำนึก คือ Eros (ภาษากรีกเช่นกัน แปลตรงตัวว่าความรัก) แต่ในที่นี้หมายถึงความเชื่อมโยง เป็นด้าน soft-side

ทางด้านปรัชญาตะวันออก ก็ไม่ใช้ภาษากรีกอยู่แล้ว แต่คำว่า Logos น่าจะเทียบได้กับคำว่าหยาง ในหยิน-หยาง เป็นสีขาว ในขาว-ดำ เป็นกลางวัน ในวัน-คืน เป็นเพศชาย ในชาย-หญิง เป็นความร้อน ในร้อน-เย็น

อาจจะต่างกับความเชื่อโดยทั่วไปว่า “คู่” ธรรมชาตินี้ เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันและอยู่กันคนละขั้วเสมอ — ผมกลับคิดว่าไม่ว่าจะเป็นขั้วใด อีกขั้วหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ขาดไปของตัวเองเสมอ จะต้องใช้ทั้งสองด้านจึงจะสมบูรณ์ ขาดไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะแหว่ง จะเบี้ยวทันที

ไม่รู้ว่าแม่นหรือเปล่านะครับ รู้แต่ว่าไม่ควรตอบว่าแม่นหรือไม่แม่น เพราะว่าถ้าเลือกเมื่อไหร่ ก็แหว่ง ก็เบี้ยว เสียสมดุลย์ทันที จะเป็นอะไร ก็เป็นอย่างนั้นล่ะครับ

Logos ที่เป็นคนนั้น ไม่สามารถจะตัดสินด้วยคำว่าแม่น ไม่แม่น ใช่ ไม่ใช่ นะครับ



Main: 0.035269021987915 sec
Sidebar: 0.2373960018158 sec