ภูเขาไฟใกล้ตัว
เมืองไทยก็มีภูเขาไฟครับ มี 8 ลูก แต่ดับไปหมดแล้ว ถึงภูเขาไฟดับแล้ว แต่ก็ยังมีบ่อน้ำร้อนที่กระจายกันอยู่ในหลายพื้นที่ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงกิจกรรมใต้พื้นแผ่นดิน
นอกจากนั้น บริเวณรอบๆ เมืองไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะปราศจากภูเขาไฟเลยนะครับ ภูเขาไฟระเบิดจะมีอิทธิฤทธิ์ทำลายล้างขนาดไหน ขึ้นกับหลายปัจจัย แต่ไม่ใช่ว่าปลอดภัยเหมือนครั้งหนึ่งที่เราเคยเข้าใจว่าฝั่งทะเลอันดามันอยู่ในเขตสงบทางธรณีวิทยา (จนกระทั่งเกิดสึนามิปี 2547 ขึ้น)
ดัชนีความแรงของภูเขาไฟระเบิด (Volcanic Explosivity Index หรือ VEI)
ดัชนี VEI เป็นดัชนีวัดความแรงของภูเขาไฟระเบิด มีตั้งแต่ระดับ 0 ชิลชิล ไปจนระดับ 8 ซึ่งเป็นระดับที่เกิดการทำลายล้างขนานใหญ่ทั่วโลก เรียกว่า VEI 8 เป็นระดับล้างโลกก็ได้ครับ
ในอดีต ในประเทศอาเซียน มีการระเบิดแบบ VEI 6 สองครั้งซึ่งทุกคนคงรู้จักดี คือ
- การระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัวในอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2426 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ยินมาถึงกรุงเทพ เถ้าถ่านจากกรากะตัว บดบังแสงอาทิตย์ทั่วโลก ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก ลดลงถึง 1.2 °C และปั่นป่วนต่อไปถึงห้าปี
- การระเบิดของภูเขาไฟพีนาทูโบในฟิลลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ.2534 มีเถ้าถ่านปลิวมาถึงกัมพูชา และในบางฤดู ก็มาถึงจังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย พีนาทูโบ ทำให้อุณหภูมิที่ผิวโลกซีกเหลือ ลดลง 0.5-0.6 °C ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลง 0.4 °C แต่เพิ่มระดับอุณหภูมิของบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียขึ้นอีกหลายองศา
ในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เคยมีภูเขาไฟระเบิด ในระดับทำลายล้างสูง VEI 7 และ 8 มาแล้วอย่างน้อยสองครั้งในเวลา ไม่เกินหนึ่งแสนปี และอยู่ในอินโดนีเซียทั้งคู่ ภัยจากภูเขาไฟ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภัยจากเถ้าร้อน (ไพโรคลาสติค)
แต่เถ้าภูเขาไฟปริมาณมหาศาล ถูกพ่นขึ้นสู่บรรยากาศ เปลี่ยนแปลสภาพอากาศ ตลอดจนสร้างมลพิษในอากาศ การหายใจเอาเถ้าภูเขาไฟเข้าไป ก็เหมือนการหายใจเอาใยแก้วเข้าไป จะไปรบกวนการทำงานของปอด สูดมากตายเร็ว สูดน้อยตายช้า แต่ตายเหมือนกัน
ไม่แต่เฉพาะคน สัตว์และพืชที่ต้องหายใจ ก็ตกอยู่ในอาการเดียวกัน ดังนั้น ห่วงโช่อาหาร จึงถูกรบกวนอย่างหนักจากเถ้าภูเขาไฟ แหล่งน้ำผิวดินจะไม่สะอาด น้ำฝนก็กินไม่ได้…