ความจริงวันนี้…พื้นที่ประสบภัย
อ่าน: 3402อุทกภัยใหญ่สร้างความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ผู้ที่โชคดีไม่โดนอุทกภัย ก็จะเจอทุพภิกขภัยตามมาในเวลาอีกไม่นาน เนื่องจากพื้นที่ปลูกพืชอาหารได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง
“คนไทย มีน้ำใจ ไม่ทิ้งกัน” ถึงกระนั้น ก็ยังมีหลายเรื่องที่น่าจะทำความเข้าใจกันครับ
1. ความรู้สึกที่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่เห็นทำอะไรเลย มีสิทธิ์รู้่สึกอย่างนี้ได้ครับ แต่ต้องรู้ด้วยว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เองนั้น ก็เป็นผู้ประสบภัยเหมือนกัน ใจเขา ใจเรานะครับ ถ้าเรารู้สึกแย่ เจ้าหน้าที่เขาก็คงรู้สึกแบบเดียวกัน ยิ่งมีคำสั่งที่ไม่รู้เรื่อง ต้องไปต้อนรับคณะผู้ใหญ่ซึ่งไม่รู้จะลงพื้นที่ไปทำไมให้ยุ่ง เหน็ดเหนื่อย ไม่ได้พัก ไม่ได้หยุดเลยตลอดมาตั้งแต่น้ำท่วม ในบางพื้นที่ก็หลายเดือนแล้ว
2. พื้นที่ประสบภัยเป็นพื้นที่อันตราย ไม่เหมาะกับการไปปิคนิคนะครับ ไม่เหมือนกับไปเที่ยวผจญภัย หากลงพื้นที่แล้วรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนไปรับไปส่ง ต้องมีคนพาไปกินข้าว ไม่มีทักษะในเรื่องความปลอดภัย อย่างนี้อย่าไปเลยครับ ให้คนรับรองเอาเวลาไปช่วยเหลือชาวบ้านดีกว่า แล้วตัวเราช่วยอย่างอื่นดีไหมครับ
3. เมื่อลงพื้นที่แล้ว ของที่นำไปให้ ก็ขอให้ให้จริงๆ ไม่ใช่ว่ามอบให้ไปแล้วยังยึดติดอีกว่าถุงนี้เราเป็นคนให้ไป อย่างนั้นยังไม่ได้ให้หรอกครับ ยังเป็นถุงยังชีพของเราอยู่
4. วางแผนล่วงหน้า และเตรียมความพร้อมให้ดี รถบางคันลุยน้ำได้ แต่ไปได้แค่ครึ่งล้อเท่านั้น แล้วก็ไม่ได้เตรียมเรือที่วิ่งในกระแสน้ำแรงๆ ไปด้วย แบบนี้ถ้าเอาของไปแจก คนที่ได้ก็ได้อยู่อย่างนั้น ส่วนคนที่อยู่ลึกเข้าไป อดตลอด นานไป อาจจะทำให้ชุมชนแตกแยก
5. หาข้อมูลโดยการอ่าน และให้ข้อมูลโดยการเขียนให้มากที่สุดครับ ระบุวันเวลาสถานที่และสถานการณ์ให้ชัดเจน ถ้าจะไปยังพื้นที่ใด ประกาศบอกทีมอื่นๆ ด้วย จะได้ไม่ไปซ้ำซ้อนกัน โทรไปถามก็ง่ายดีสำหรับคนถามครับ แต่ถ้ามีคนคิดง่ายๆ อย่างนี้สัก 10 คน คนตอบไม่ต้องทำอะไรแล้ว
6. น้ำปริมาณมหาศาล ต้องการที่อยู่ครับ ถ้าหากที่บ้านระดับน้ำสูงหรือแรงจนมีอันตราย แล้วทางอำเภอหรือจังหวัดประกาศอพยพ ขอให้เชื่อประกาศครับ ดูแลเรื่องความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัวไว้ก่อน การดื้อแพ่งไม่ยอมอพยพ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องแบ่งกำลังมาดูแลเรากลางน้ำท่วม ความช่วยเหลือก็มาไม่ค่อยเพราะหาพาหนะเข้าออกพื้นที่ลำบาก แต่หากอพยพไปรวมกันที่ศูนย์อพยพ จริงอยู่ว่าจะไม่อุ่นใจคุ้นเคยเหมือนอยู่บ้าน แต่สามารถนำความช่วยเหลือเข้ามาได้ง่าย
7. เอาถุงไปแจก ไม่จบนะครับ ถุงยังชีพอยู่ได้สามวันห้าวัน แล้วหลังจากนั้นจะทำอย่างไร นอกจากปัจจัยสี่แล้ว ให้เครื่องมือเช่นเรือแพยนต์ก็ช่วยได้มาก ให้สิ่งที่ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้บ้างดีกว่าครับ
หากใครว่างและอยู่ใกล้ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ใกล้เมเจอร์รัชโยธิน ในพรุ่งนี้ (29 ก.ย. 2554) โครงการ แบ่งปัน 1 วัน ใน 1 ปี ของธนาคารไทยพาณิชย์ ระดมอาสาสมัครจัดถุงยังชีพเพื่อนำไปแจกจ่ายผู้ประสบภัยนะครับ รับสิ่งของบริจาคถึงพรุ่งนี้เท่านั้นครับ
ส่วนศูนย์รับบริจาคที่ธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ ฝั่งเพลินจิต ยังเปิดรับบริจาคสิ่งของอยู่ภายในล็อบบี้ของอาคาร จอดรถหน้าตึกแล้วนำของเข้าไปบริจาคได้ตลอดเวลาทำการ ซึ่งมักจะระดมอาสาสมัครทำถุงยังชีพกันในวันศุกร์หรือเสาร์ เพื่อลงพื้นที่ลึกๆ ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ครับ
Next : เรื่องงานเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ » »
2 ความคิดเห็น
เห็นด้วยค่ะ
สำหรับคนในพื้นที่ก็อย่าปล่อยข่าวลือโดยไม่ตรวจสอบอีกอย่างค่ะ
และควรรู้จักพื้นที่ของตัวเอง ก่อนการจะเชื่อข่าวลือด้วย
เมื่อวานข่าวลือสะพัดว่าเขื่อนแตก (เขื่อนอยู่ไกลเกิน 10 กม.) มีคนลือปากต่อปาก จนเหมือนน้ำจะมาท่วมหลังคาในนาทีนั้นเลยค่ะ ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลออกเสียงตามสายให้เข้าใจสถานการณ์ ชาวบ้านก็ยังจะไม่ค่อยเชื่อว่าเจ้าหน้าที่พูดจริงอีก (กรรมจริงเลย)