ปุ๋ยสั่งตัด (3)
เมื่อรู้ว่าดินที่เพาะปลูก อยู่ในชุดดินใด และทำการวัดปริมาณธาตุอาหาร N-P-K ในดินออกมาแล้ว ก็สามารถเปิดตารางเทียบดูได้ว่ากับพืชที่ปลูกลงบนชุดดินแบบนั้น และมีธาตุอาหารแบบที่วัดออกมา ควรจะปรับปรุงธาตุอาหารด้วยอะไร เป็นปริมาณเท่าไหร่
การตะบี้ตะบันใส่ปุ๋ย โดยไม่รู้ว่าดินขาดธาตุอะไร เป็นปริมาณเท่าไหร่ เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ไม่ให้ผลผลิตมากเท่าที่ควรจะเป็น
คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยทุนวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน มหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย ได้จัดทำเว็บไซต์การจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ (Site-specific nutrient management) ขึ้นมา
ในเว็บไซต์นี้ มีโปรแกรมสองชุด ชื่อว่า SimCorn และ SimRice ใช้สำหรับเปิดตารางดูค่าว่าชุดดินกับธาตุอาหารที่มีอยู่ จะต้องเพิ่มอะไรอีกเท่าไหร่ แล้วในกรณีที่สูตรธาตุอาหารที่พืชต้องการจากดิน ไม่มีขายเป็นปุ๋ยสูตรสำเร็จรูป โปรแกรมทั้งสองนี้ สามารถคำนวณส่วนผสมจากแม่ปุ๋ยหลักได้ด้วย
โปรแกรม SimCorn ใช้กับข้าวโพด ส่วนโปรแกรม SimRice ใช้กับข้าวเปลือกและยางพาราซึ่งใช้ธาตุอาหารในปริมาณ กก./ไร่ เท่าๆกัน
สำหรับเรื่องของชุดดิน ถ้ารู้พิกัด ก็สามารถถามกรมพัฒนาที่ดินตามบันทึกดินได้ แต่ถ้าไม่มี GPS โปรแกรมสามารถจะ “เดา” ชุดดินจากเนื้อดิน สีดิน ชิ้นส่วนหยาบ ร่วมกับจังหวัดที่ตั้งได้
ข้อเสียของโปรแกรมทั้งสองคือใช้ร่วมกับฐานข้อมูล Microsoft Access รุ่น 2000 หรือใหม่กว่า