ทริปดูฮวงจุ้ยที่สวนป่า 9-11 กพ 2555

อ่าน: 3020

ไม่ได้ไปดูฮวงจุ้ยหรอกครับ ในเมื่อจะสร้างบ้าน ก็ต้องเตรียมการเยอะ

ประเด็นสำคัญของทริปนี้คือพาน้องชายไปดูสถานที่จริง เพื่อที่จะได้วางผังหลักของหมู่บ้านโลก เขาก็มีไอเดียของเขาตามประสาคนที่มีประสบการณ์มากมายในโครงการทุกขนาด ส่วนผมก็มีความฝันของผม ถึงเป็นพี่น้องกัน ก็ต้องคุยกันเยอะๆ เพื่อปรับจูนความคิดให้เข้ากันได้นะครับ ถึงอย่างไรก็ทำโครงการเดียวกัน (หมู่บ้านโลก) ประสบการณ์ของน้องเป็นสิ่งที่มีค่า เมื่อเขาเตือนอะไรก็ต้องฟังไว้… ไปเที่ยวนี้ก็ถือโอกาสคุยกับครูบา+แม่หวีในฐานะเจ้าของที่ด้วย ว่าคิดอะไร จะทำอะไร เพื่ออะไร

มีผู้ใกล้ชิดครูบาบอกกับผมว่าเป็นห่วง ปัจจุบันนี้สวนป่ามีค่าใช้จ่ายซึ่งผู้มาเยือนมองไม่เห็น คือค่าจ้างคนงานซึ่งก็หนักเอาการ ครูบาท่านไม่รับผู้มาเยือนที่ไม่ได้ตั้งใจมาเรียนรู้แล้วครับ อยากไปอบรมที่ไหนก็ไป ถ้ามาสวนป่าแล้วไม่ได้ตั้งใจมาเรียนรู้ก็อย่าเสียเวลาด้วยกันทั้งสองฝ่ายเลยนะครับ… เรื่องจ้างคนงานนี้ ทั้งครูบาและแม่หวีอายุมากขึ้น สุขภาพก็ต้องซ่อมแซม ไม่จ้างคนงานก็ไม่ไหวหรอกครับ ครั้นจะจ้างก็เป็นภาระหนักเหมือนกัน เรื่องที่จะปรับปรุงที่พักก็เป็นเรื่องตึงมือเข้าไปอีก ผมอยากให้ครูบา+แม่หวีได้พักผ่อนบ้าง ไม่อยากให้มาเป็นกังวลกับการลงทุนใหม่ๆ อีก

ดังนั้นเรื่องที่พัก ก็คงโยนไปทางหมู่บ้านโลกซึ่งอยู่ห่างออกไปร้อยห้าสิบเมตร ให้เดินไปนอน มีที่พักเอาไว้นอน ติดเครื่องปรับอากาศให้ ในแต่ละหลังมีที่นอนเป็นสัดเป็นส่วน เข้านอนแล้วมองไม่เห็นกัน แต่ละหลัง พักหนึ่งคนหรือพักสิบคนคิดราคาเดียวกันหมด มีอย่างนี้สักสามหลัง ก็จะรับกลุ่มใหญ่ขึ้นได้อีกมาก ตื่นเช้า ก็เดินไปเรียน ไปทำกิจกรรม คิดว่าปูพรมสวนป่าด้วย wi-fi mesh อยู่ตรงไหนก็ถ่ายรูปแล้วอัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์ค (เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ กูเกิลพลัส) ได้เลย

อ่านต่อ »


ทริปสวนป่า 6-8 ม.ค.

อ่าน: 4316

ระหว่างวันที่ 6-8 ที่ผ่านมา ผมชวนทีมบริหาร thaiflood (เว็บไซต์) และทีมบริหารกลุ่มอาสาดุสิตประเทศไทยกลับมาสดใสดีกว่าเดิม (เว็บไซต์) ไปถ่ายทำความรู้เกี่ยวกับชีวิตที่สวนป่า ยกทีมกันไปสิบสองคน

ความจริงทีมนี้เป็นทีมบริหารโครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ ซึ่งทำงานทั้งป้องกัน เฝ้าระวัง รับมือและบรรเทา ตลอดจนฟื้นฟูเหตุจากสถานการณ์ภัยพิบัติ (2P2R)

กิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ ที่เราเห็นกันโดยทั่วไป มักเป็นการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน แต่โครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ เป็นการรวมรวมความรู้ประสบการณ์และทำงานเพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถรับมือและผ่านภาวะวิกฤตได้ดีกว่านั่งรอความช่วยเหลือจากภายนอกอย่างเดียว

พอไปถึง ก็ชวนไปดูต้นเอกมหาชัยก่อนเลย เอกมหาชัยเป็นไม้พันธุ์มะกอก เมล็ดให้น้ำมันคุณภาพดี (แบบเดียวกับน้ำมันมะกอก ซึ่งใช้แทนน้ำมันพืช และใส่เครื่องยนต์ดีเซลได้) แต่จุดสำคัญคือต้นเอกมหาชัยมีระบบรากที่แข็งแรงมาก ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่ฝนตกหนัก เติบโตได้ดีในพื้นที่ลาดเอียง ดังนั้นหากปลูกต้นเอกมหาชัยไว้ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อดินถล่ม ก็น่าจะลดความเสี่ยงของดินถล่มได้ และอาจใช้ได้ทั้งภาคใต้และภาคเหนือ ทางสวนป่ากำลังเร่งขยายพันธุ์อยู่

อ่านต่อ »


กลับสู่ความคุ้นเคยเก่าๆ

อ่าน: 3242

หลังจากที่พาพ่อแม่อพยพไปอยู่หัวหินเสีย 44 คืน วันนี้ก็อพยพกลับบ้านแล้วครับ

ที่ต้องอพยพไปก็เพราะพ่อแม่ผมอายุมากแล้ว สองท่านอายุรวมกัน 155 ปีแล้วครับ ดังนั้นจึงไม่ควรเอา สว.มาเสี่ยงกับน้ำท่วมด้วย จริงอยู่ แม้ว่าที่บ้านจะไม่ท่วม แต่ก็ต้องเผชิญกับความขาดแคลนและความไม่สะดวกทั้งปวง ไปหัวหินคราวนี้ ที่จริงพ่อแม่ยังไม่อยากกลับ แต่เผอิญผมมีงานในวันที่ 8 ธค. แล้วไม่อยากให้พ่อกับแม่อยู่กันตามลำพัง เลยพากันกลับบ้านก่อนดีกว่า ถ้าจะกลับไปอีกค่อยหาเวลาเหมาะๆ อีกที

นอกจากแผลที่ได้มากจากหัวหินแล้ว การไปอยู่หัวหินก็ยังเขียนบันทึกอยู่สม่ำเสมอ (เขียนเป็นวรรคเป็นเวร และอ่านยาก) เหมือนเดิม ผมเขียนเพราะรู้สึกว่ามีประเด็นที่ควรจะเขียน หัวหินมี 3G เมื่อกลับมาบ้านแล้วจึงพบว่าที่บ้านก็มี 3G แล้วเหมือนกัน (ก่อนไปยังไม่มี) แต่ถึงหัวหินจะมี 3G มี Wifi ก็ยังไม่จุใจเหมือนใช้เน็ตที่บ้านหรอกครับ

เรื่องสำคัญคือได้ไฟเขียวอ่อนๆ ว่าไปอยู่สวนป่าและทำอย่างที่อยากจะทำได้ แผนเดิมของสวนป่าคือหมู่บ้านเฮ ซึ่งยังไม่ได้เรียนปรึกษาครูบาอย่างเป็นกิจลักษณะ แต่ก็เข้าใจว่ารู้กันอยู่ในที ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมก็พยายามชี้ความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตเท่าที่นึกออก [ความมั่นคงสามแนวทาง] ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ แต่หลังจากเกิดอุทกภัยใหญ่ในปีนี้ ผมคิดว่ามีเงื่อนไขของความไม่ปกติเกิดขึ้นมาก จนคิดว่าไม่ควรปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน ควรหาสถานที่ที่ดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืนอย่างจริงจังได้แล้ว พ่อแม่อายุมากแล้ว ไม่อยากให้ไปลำบากในบั้นปลายของชีวิต แต่บรรดาผู้ที่ยังพอมีกำลังวังชาอยู่และตั้งใจจะฟื้นฟูบ้านเมือง ก็ควรจะดำรงชีวิตต่อไปได้

อ่านต่อ »


ปรับตัวหลังน้ำท่วม

อ่าน: 3253

วิกฤตยังไม่จบหรอกครับ สำหรับท่านที่น้ำลดแล้ว ก็ยินดีด้วย แต่ท่านคงรู้แจ้งว่าแม้น้ำลดแล้ว ยังมีปัญหารออยู่อีกมาก ดินอิ่มน้ำ อันตรายกว่าที่เห็น

สี่ปีที่ผ่านมา ผมโชคดีที่ได้ไปเยี่ยมสวนป่าของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์หลายครั้ง แล้วผมก็พบว่าชีวิตเรียบง่ายนั้น ไม่ใช่แค่อวดอ้างแสดงตัวว่าเรียบง่าย แต่ต้องใช้ความรู้จริงมากมาย แล้วยังต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ด้วย จึงจะไปถึงสถานะที่เก็บกินได้ ใครจะยังไงก็ไม่เดือดร้อน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่หลอกตัวเอง มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ปลีกวิเวกไปอยู่ในป่า — เก็บกินไปได้เรื่อย ถ้ามีแรงเหลือและยังมีความอยาก ค่อยทำกินหาเงินหาทองมาซื้อเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์และประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้น แต่ถ้ารู้สึกว่าพอแล้ว ก็มีกินไปเรื่อยๆ

ครูบาจะเขียนหนังสือร่วมกับ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญเล่มหนึ่ง ขอโปรโมทไว้ตรงนี้ก่อนเลยครับ

เงินนั้นมีที่ให้ใช้เสมอครับ แต่วิถีที่รู้จักพอแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง และไม่ซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต ถ้าหากว่าเรามีความรู้จริงๆ ไม่ใช่แค่รู้ตามหลักสูตร ก็ต้องนำความรู้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

ภาวะน้ำท่วมจะผ่านไป ปีหน้าฟ้าใหม่จะโดนอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ในภาวะน้ำท่วม มีเงินมีทองเหมือนไม่มีเพราะหาซื้ออะไรที่ต้องการแทบไม่ได้เลย ในสภาพเมืองที่เกิดน้ำท่วม การคมนาคมขนส่งสินค้าเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้คนเอารถไปจอดหนีน้ำตามที่สูง ในกรุงเทพแท็กซี่ก็หยุดวิ่งเพราะเจ้าของแท็กซี่เอารถไปจอดหนีน้ำไว้แล้วที่ังเหลือวิ่งอยู่ ก็หาก๊าซเติมไม่ได้เพราะรถส่งก๊าซก็หยุดส่งเหมือนกัน  ตามห้างสรรพสินค้า ของหมดชั้นวางสินค้า ส่วนคนที่จะไปดูให้เห็นว่าของไม่มีขายแล้วนั้น แค่จอดรถก็แย่แล้ว [สึนามิโลก]

ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว (เป็น past tense) จะชดเชยเยียวยาอย่างไร ก็ไม่เหมือนเดิมหรอกครับ การที่จะไปจมอยู่กับอดีต ก็เหมือนกับเด็กที่ร่ำร้องจะย้อนอดีตให้กลับคืนมา เหมือนเอาหัววิ่งชนกำแพงหวังจะให้กำแพงพังเพื่อที่ตัวจะได้ผ่านไปได้

น้ำท่วมจะผ่านไปเพราะว่าน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงเสมอ ซึ่งชีวิตเราจะผ่านไปได้หรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าปรับตัวได้หรือไม่

อ่านต่อ »


แผงตัดยอดคลื่น

อ่าน: 2713

ที่จริง วันนี้ค้นข้อมูลจะหาวิธีลดผลกระทบจากเรือหรือรถที่วิ่งด้วยความเร็วไปในน้ำแล้วก่อให้เกิดคลื่นเข้ากระแทกบ้านเรือนจนพัง

น้ำท่วมอาจทำให้บ้านพังได้ แต่คลื่นที่มาจากพาหนะที่เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้บ้านพังนี่ มันปวดใจครับ

ค้นไปค้นมา ก็เจอการออกแบบง่ายๆ ใช้พลาสติก LDPE หล่อเป็นรูปสามเหลี่ยม (ลอยน้ำ) โยงกันไว้ด้วยเชือก ผูกโยงกันเป็นแนว สามารถใช้กันคลื่นได้

ระหว่าง LDPE รูปสามเหลี่ยม มีช่องว่างอยู่ ช่องนี้ดักคลื่นที่พยายามวิ่งข้ามแนวกั้น ส่วน LDPE ที่ตั้ง ก็ปะทะคลื่นโดยตรง น่าจะลดพลังงานจากคลื่นไปได้ครึ่งหนึ่ง

ฝรั่งใช้ LDPE แต่ในยามจำเป็น ไม่ต้องไปทำโมลเพื่อจะมาหล่อบล็อกก็ได้นะครับ ใช้กระดาษ ใช้โฟม หรือวัสดุเหลือใช้อื่นๆ ก็น่าจะไหว พอน้ำลดแล้ว เราก็ไม่ใช้อีก… ผมเชียร์ถุงพลาสติกเป่าลมห่อด้วยกระดาษแข็ง ซึ่งสามัญสำนึกจะบอกเราว่าเดี๋ยวกระดาษก็เปื่อย แต่เปื่อยก็เปื่อยไปสิครับ ดีกว่าบ้านพังเป็นไหนๆ


ความมหัศจรรย์ของคลองลัดโพธิ์

อ่าน: 4705

สองสัปดาห์ก่อน (วันที่ 29 เดือนที่แล้ว) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ และคุณดาริน คล่องอักขระ ทำรายการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำทางสถานีไทยพีบีเอส

ตอนนั้นเป็นตอนที่ อ.เสรี วิเคราะห์ถึงความมหัศจรรย์ของคลองลัดโพธิ์ ซึ่งบานประตูน้ำ ยังเปิดอยู่แม้เป็นช่วงน้ำทะเลหนุน คลองลัดโพธิ์ยาวไม่กี่ร้อยเมตร เป็นทางลัดของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แทนที่จะต้องไปวิ่งอ้อมท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) อ้อมไป 17 กม. พอพระราชทานพระราชดำริขุดคลองลัดโพธิ์เท่านั้น น้ำจำนวนมากไหลผ่านทางลัดคลองลัดโพธิ์ไปลงปากอ่าวในเวลาอันรวดเร็ว

แต่ที่เหนือความคาดหมาย(ของผม) คือคลองลัดโพธิ์มีความแตกต่างระหว่างระดับน้ำที่ปากคลองทางเหนือและปากคลองทางใต้ ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านคลองลัดโพธิ์ทางเดียว แม้ในเวลาที่น้ำทะเลหนุน!

อ่านต่อ »


นาวาฝ่าวิกฤต: Mobility in the time of flood

อ่าน: 2887

เรื่องนี้รู้มาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้เขียนถึงแม้จะคิดว่าเป็นไอเดียที่ดีมากก็ตามครับ

https://www.facebook.com/groups/floodcontest/

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนชาวไทยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ “นาวาฝ่าวิกฤต: Mobility in the time of flood” เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ ประสบภัย ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน โดยกำหนดให้การพัฒนาต้นแบบต้องเสร็จสิ้น ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน เพื่อส่งเข้าในรอบชิงชนะเลิศวันที่ 11 พฤศจิกายน ศกนี้ ชิงเงินรางวัลและเงินทุนพัฒนาโครงการมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท โดยผลงานที่สำเร็จจะนำมาสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยต่อไป ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ e-mail: floo...@nectec.or.th หรือ Facebook: “Flood Mobile Contest Thailand”

…สำหรับโจทย์ของการประกวดในครั้งนี้ คือ เราจะช่วยผู้คนเดินทางสัญจรทางน้ำได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ด้วยวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือใกล้ตัวที่เหลือใช้ หาได้ง่ายได้อย่างไร ผู้สนใจจะต้องพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ในการเคลื่อนย้ายซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้ที่ 160 กิโลกรัมในพื้นที่น้ำท่วมโดยสะดวกและปลอดภัย ซึ่งอาจจะเป็นแพและ/หรือใช้จักรยานที่สามารถขับเคลื่อนหรือปั่นในน้ำ แทนที่จะใช้การพาย มีความถ่วงสมดุลและสามารถลอยน้ำได้ โดยใช้วัสดุทั่วไปที่ต้นทุนต่ำ หาง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น สร้างขึ้นโดยง่ายเพื่อให้สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวสามารถนำไปใช้งานที่ใดก็ได้ในประเทศไทย ทั้งนี้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของผู้ประดิษฐ์ แต่ผลงานต้องเปิดเผยและเผยแพร่ให้เป็นสมบัติสาธารณะ และอนุญาตให้คนไทยใช้งานได้ทั่วไป และสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้งานจริงได้…

กล่าวคือเป็นพาหนะลอยน้ำ น้ำหนักบรรทุก 160 กก. เสถียรภาพดี ไม่ใช้เครื่องยนต์ เป็นเทคโนโลยีชาวบ้านซึ่งใครๆ ที่ไม่งอมืองอเท้า สามารถสร้างได้เองโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือ — ความคิดอย่างนี้น่ายกย่องครับ

ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ผ่านการคัดเลือกทุกทีม ท่านใช้รอยหยักในสมองให้เป็นประโยชน์แล้ว

อ่านต่อ »


สัญญาณน้ำ

อ่าน: 2469

น้ำท่วมกรุงเทพ ก็เป็นการศึกษาภูมิศาสตร์อีกแบบหนึ่ง คือสื่อสารมวลชนแทบจะอุทิศเนื้อที่ทั้งหมดให้กับข่าวนี้

แต่การศึกษาที่ดีนั้น ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก หรือฟันธงว่าถูกหรือผิด เราโตๆ กันแล้ว ไม่ได้กำลังทำข้อสอบอยู่นะครับ การศึกษาที่นำไปสู่ความรู้นั้นไม่ใช่แค่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จะต้องเข้าใจความหมายจนสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อีกด้วย

บันทึกนี้ผมมีบางประเด็นจะเสนอ

  1. เขื่อนต่างๆ ที่แตกแล้ว และได้พิจารณาแล้วว่าน้ำปริมาณมากจะไม่บ่ามาเพิ่มอีก ตัวคันดินและกระสอบทรายจะกักน้ำเอาไว้ ทำให้น้ำลดช้าและนิ่งจนเน่าเสีย ดังนั้นหากคันดินแตกแล้วจนน้ำด้านนอกและด้านในแนวป้องกันมีระดับที่เท่ากัน จะดีกว่าหรือไม่หากจะรื้อคันดินออก เปิดทางให้น้ำไหลออกได้สะดวก กระสอบทรายที่น้ำล้นข้ามมาแล้ว ควรย้ายไปเสริมหลังแนวกำแพงบริเวณแม่น้ำหรือส่วนที่ยังทานอยู่ดีไหม ในช่วงน้ำท่วมเครื่องมือกลเข้าพื้นที่ไม่ได้ ข้อเท็จจริงก็คือมันก็ไม่ง่ายที่จะรื้อออกหรอกครับ แต่ก็ยังน่าพิจารณาอย่ดี
  2. น้ำที่ไหลข้ามถนน น่าจะเป็นตัวชี้บ่งถึงปริมาณน้ำที่กำลังมาได้ ยกตัวอย่างเช่นระดับน้ำที่ไหลข้ามถนนสายเอเซีย (ขึ้นเหนือผ่านอยุธยา) หรือถนนรังสิต-สระบุรีแถววังน้อย หรือระดับน้ำบนถนนสายอื่นๆ… ไม่น่ายากที่จะทำไม้วัดระดับน้ำสักอัน ปักไว้กับดิน ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้เทียบกับระดับน้ำทะเลานกลาง เช่นบนนถนนหนึ่ง วันนี้ระดับ +10 ซม. ถ้าพรุ่งนี้เหลือ +5 ซม. ก็แปลว่าน้ำมาลดลงแล้ว ข้อมูลที่ไม่เป็นวิชาการอย่างนี้ ใครก็ทำได้ ไม่มีต้นทุน แต่ส่งสัญญาณสำคัญเพื่อให้การจัดการปั๊มน้ำ วางแผนได้ดียิ่งขึ้น… ถ้าน้ำไม่ข้ามถนนจากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาทาง อ.วังน้อย (โรงไฟฟ้าวังน้อยของ กฟผ.) หรือ อ.คลองหลวง (หน้าธรรมศาสตร์รังสิต) ก็แปลว่าแรงกดดันต่อคันดินและกำแพงกระสอบทรายต่อคลองรังสิต จะลดลงมหาศาล
  3. ควรจะมีการจัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยในภาคประชาชน หากระดับน้ำสูงขึ้นผิดปกติ ผู้ที่อยู่เหนือน้ำ สามารถแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำไปยังผู้ที่อยู่ใต้น้ำได้ ให้ระวังคันดิน/กระสอบทรายที่มีอยู่ อาจจะต้องเสริมความสูงหรือความแข็งแรง เพื่อที่ว่าผู้ที่อยู่ทางใต้น้ำ จะได้มีโอกาสสูงขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือถ่ายรูปแล้วทวิตบอกครับ ติดแท็ก #thaiflood ด้วยเสมอ ส่วนจะติด tag อื่นด้วย ก็ติดไปตามสบายครับ
  4. น้ำทะเลหนุนสูงสุดวันที่ 30 นี้ จากนั้นก็จะค่อยๆลดลง แต่จะหนุนสูงสุดอีกครั้งหนึ่งประมาณกลางเดือนหน้า ดังนั้นจะทำอะไรก็รีบทำซะครับ น้ำเหนือยังมีอีกมาก ไม่ใช่ว่าผ่านรอบนี้ไปแล้วจะจบ
  5. ถ้ายังไม่ได้อ่านบันทึกที่แล้ว ลองไปอ่านดูนะครับ อ่านทุกลิงก์ในบันทึก สอนวิธีทำอีเอ็มเพื่อใช้บำบัดกลิ่นน้ำเน่า จะต้องใช้เวลาหมักน้ำอีเอ็ม 7 วัน ดังนั้นยิ่งเริ่มเร็วก็ยิ่งดี ใช้ขวดพลาสติกที่มีฝาปิดสนิท (ขวดน้ำหรือขวดน้ำอัดลม) ใช้น้ำตาลทรายแดง ใช้น้ำที่ท่วมอยู่นั่นแหละ และหัวเชิ้ออีเอ็มที่ราคาไม่แพง ผสมในสัดส่วนที่ถูกต้อง ตั้งทิ้งไว้ในร่ม 7 วัน — หัวเชื้อ 1 ลิตร หมัก 7 วันได้ 100 ลิตร ถ้าเอาอีเอ็ม 100 ลิตรนี้ไปหมักต่อ อีก 7 วันกลายเป็นหมื่นลิตร แล้วถ้ายังทนเหม็นได้ไม่ยอมเอาไปใช้ ก็หมักต่อ อีก 7 วันกลายเป็นล้านลิตร


กว่าจะได้ความรู้มา

อ่าน: 3006

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่ประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำผู้เข้าร่วมสัมมนา
และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวของเฝ้า ฯ เพื่อรับพระราชทานพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการดำเนินงานในช่วงต่อไป
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันศุกร์ ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๑

วันนี้ก็ขอพูดแบบที่เคยทำในระยะที่ผ่านมา คือโดยมากให้ความเห็น ก็ให้ความเห็นตอนที่ไปเยี่ยมศูนย์ศึกษา หรือตอนที่ไปในภูมิประเทศ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าถ้าหากว่าจะมาให้ปาฐกถาเรื่องอะไรก็ตามอย่างนี้ต่อที่ประชุมก็ไม่คอยถนัดนัก แล้วก็ไม่ทราบว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ ฉะนั้นที่จะพูดนี้ก็พูดเหมือนเวลาไปเยี่ยมศูนย์ศึกษา

ข้อแรก เรื่องคำว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องจากพระราชดำรินั้น คำนี้ทำให้เข้าใจว่าเป็นการศึกษาการพัฒนาที่เป็นเรื่องของพระราชดำริ ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมายความว่าทั้งอันนี้เป็นศูนย์ศึกษา ทั้งอันนี้เป็นพระราชดำริ แล้วที่ดำเนินงานก็ดำเนินงานตามที่มีพระราชดำริ แต่ชื่อของกิจการก็ชื่อเพียงว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนา ซึ่งหมายความว่าเป็นศูนย์หรือเป็นแห่งหนึ่งที่รวมการศึกษาเพื่อดูว่าทำอย่างไรจะพัฒนาได้ผล และแม้กระนั้นที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนานี้มิได้ตั้งชื่อก่อน ได้ตั้งศูนย์ก่อนถึงได้ให้ชื่อว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ซึ่งหมายความว่าได้ตั้งกิจการอย่างหนึ่ง และได้ตั้งชื่อซึ่งจะชี้ว่าศูนย์หรือกิจการนี้ทำอะไร

มีคนที่เข้าใจว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนานั้น เป็นเหมือนสถานีทดลองหรืออีกอย่างหนึ่งก็เป็นวิทยาลัย ทั้งสองอย่างนี้ไม่ใช่ เป็นสถานที่ที่ผู้ที่ทำงานในด้านพัฒนาจะไปทำอะไรอย่างหนึ่งหรือจะเรียกว่าทดลองก็ได้ เมื่อทดลองแล้วจะทำให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้นได้สามารถเข้าใจว่าเขาทำอะไรกัน อันนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งที่จะได้จากกิจการศูนย์ศึกษาการพัฒนา คือเป็นการทำอะไรของฝ่ายหนึ่ง และทำให้ฝ่ายอื่นได้เข้าใจว่าคนอื่นเขาทำอะไรกัน เรียกว่าเป็นการทำให้เจ้าหน้าที่ด้านพัฒนาได้มีการร่วมมือสอดคล้องกัน อันนี้ก็เป็นข้อแรกที่สำคัญที่ว่าไม่ใช่สถานีทดลอง ก็เพราะว่าสถานีทดลองในด้านต่างๆ ก็มีอยู่มากแล้ว เช่น ทดลองเพาะพันธุ์ต่างๆ ทดลองพันธุ์ข้าว เป็นต้น นี้มีอยู่หลายแห่งแล้วและทำงานได้ดีมาก ได้ผลได้ประโยชน์มาก

อ่านต่อ »


ใกล้แต่หาผิดที่

อ่าน: 4162

ผมคิดว่าทั้งสาธารณชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าใจคำว่าการจัดการภัยพิบัติไขว้เขวไป

การจัดการภัยพิบัติไม่ใช่การนำความช่วยเหลือไปให้ผู้ประสบภัย เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว จะมีความเสียหายเสมอ ไม่ว่าจะเยียวยา หรือแจกถุงยังชีพอย่างไร ก็ไม่เหมือนก่อนเกิดภัย — การบรรเทาทุกข์อย่างที่ทำกันโดยแพร่หลาย เป็นเพียงส่วนจำเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการภัยพิบัติเท่านั้น

การจัดการภัยพิบัติเป็นกระบวนการต่อเนื่อง มีสองส่วน คือการจัดการความเสี่ยง (ครึ่งซ้ายในรูปข้างล่าง) กับการแก้ไขสถานการณ์ (ครึ่งขวา) เป็นกระบวนการที่ใช้ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนการยอมรับความจริง เป็นส่วนผสมหลัก ส่วนกำลังเป็นเรื่องรองลงไปครับ

Disaster Management Cycleกระบวนการจัดการภัยพิบัติตามรูปทางขวา มีอยู่หลายขั้นตอน แต่สิ่งที่เราทำกันคือไปอัดกันอยู่ในช่วงสีแดง แถมยังไม่มีการประสานกันเสียอีก จึงเกิดความอลหม่านขึ้น เกิดเป็นกระแส แย่งกันทำ แย่งกันช่วย ซ้ำซ้อน ทำไปโดยความไม่รู้

ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยหรอกนะครับ… ช่วงที่ผู้คนทุกข์ยาก ก็ต้องช่วยกันให้ผ่านไปได้ไม่ว่าจะทุลักทุเลขนาดไหน… แต่ถ้าหากต้องการจะช่วยจริงๆ แล้ว ไม่ต้องรอให้เกิดเป็นกระแสขึ้นมาก่อนได้หรือไม่ หาความรู้ พิจารณาล่วงหน้าก่อนดีไหมครับ ว่าจะช่วยอย่างไรดี

คลิกบนรูปทางขวาเพื่อขยาย — เมื่อเกิดภัยขึ้น ส่วนของการบรรเทาทุกข์ก็จะต้องทำโดยความเร่งด่วน ซึ่งคำว่าเร่งด่วนหมายถึงช่วยให้ผู้ประสบภัยปลอดภัย และดำรงชีวิตผ่านช่วงวิกฤตไปได้ ความปลอดภัยและปัจจัยสี่ต้องพร้อม

จะเป็นถุงยังชีพหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำไปเถิดครับ ขออนุโมทนาด้วย แต่จะส่งอะไรลงไปยังพื้นที่นั้น ควรจะรู้หรือประเมินล่วงหน้าได้ก่อน ว่าผู้ประสบภัยในพื้นที่ต้องการอะไรเป็นลำดับก่อนหลัง แม้จะฟังดูโหด (ภัยพิบัติเป็นเรื่องโหดร้ายอยู่ดี) แต่การส่งของที่ไม่เป็นที่ต้องการลงไปในพื้นที่ (หรือเรียกว่าองค์ทานไม่มีประโยชน์ต่อปฏิคาหก) กลับจะเป็นภาระต่อผู้ประสบภัย ผู้แจกจ่าย และการขนส่ง ต้องไม่ลืมวัตถุประสงค์ว่าเราต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ใช่เพียงช่วยให้ตัวเองรู้สึกดีว่าได้ทำอะไรบางอย่างแล้ว

อ่านต่อ »



Main: 0.29894590377808 sec
Sidebar: 0.72107887268066 sec