เรือโครงเหล็กเส้น
คนเราถ้าใส่ใจในความเดือดร้อนของผู้อื่น รู้ว่าน้ำท่วมผู้คนเดือดร้อนเป็นล้านคน คงไม่อยู่เฉยๆ หรอกครับ แล้วยิ่งมีความรู้จริง ก็จะเห็นช่องทางทำอะไรได้เยอะ แสวงเครื่องได้หลากหลาย
อาจารย์ทวิช อดีตวิศวกรนาซ่าท่านหนึ่ง สอนอยู่ที่สำนักวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สร้างต้นแบบเรือที่ใช้เหล็กเส้นมาผูกเป็นโครง (Rebar) แล้วใช้ผ้าใบคลุมรถสิบล้อมาทำเป็นลำเรือครับ สร้างได้ง่ายมาก งบประมาณสักสองพันบาท
(อาจารย์ไม่อยากให้นำชื่อนาซ่ามาใช้เป็นยี่ห้อเหมือนนักร้องที่ต้องมีชื่อวงหรือชื่อการประกวดแปะท้ายเป็นยี่ห้อ แต่ว่าผมรู้จักท่านบนเน็ตตั้งแต่ท่านยังทำงานอยู่ที่นั่นเมื่อยี่สิบปีก่อน รู้ว่าท่านเป็นของจริง; อดีตวิศวกรนาซ่าทุกคนที่ได้พูดคุย ต่างก็คิดแบบนี้เหมือนกันหมด เพราะต่างคนต่างเป็นของจริงโดยไม่ต้องอวดอ้าง)
ถ้าอย่างนี้ ช่างก่อสร้าง ช่างกล หรือใครๆ ก็สร้างได้ เหมือนดังกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานให้คณะผู้บริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรและถ่ายทอดทางโทรทัศน์
… ถ้าทำได้แล้วก็จะเป็นการช่วยประเทศชาติให้อยู่อย่างดี ถ้าไม่เอาใจใส่ในความคิดเหล่านี้ งานทั้งหลายที่เราทำก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แต่ก็ต้องมีบกพร่อง เพราะว่าเศรษฐกิจพอเพียงถ้าคิดแบบชาวบ้าน ไม่มีอะไรที่ฝรั่งเรียก sophisticated มันแบบธรรมดาๆ พอทำอะไรแบบธรรมดาก็ดูท่าทางไม่มีประโยชน์ใหญ่โตมโหฬาร แต่ว่าถ้าทำไม่ sophisticated ชาวบ้านก็ทำเองได้ …
เศรษฐกิจพอเพียงนั้นซื้อของได้ แต่ซื้ออย่างฉลาด ซื้อเท่าที่จำเป็น… ถ้ายังคิดเอะอะอะไรก็ซื้อแหลก อย่างนั้นไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงมั๊งครับ
เรือนี้เบื้องหลังเป็นเรื่องของการเลือกใช้สิ่งที่พอหาได้ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม (แรง+วัสดุ ฟังดูน่าปวดหัว) แต่เวลาสร้างนั้น ใครก็ทำได้ง่ายๆ ครับ