พระไม้ วันต่อมา
อ่าน: 10900ต่อจากเมื่อวาน แผลไม่ระบม จึงแกะพระต่อครับ
แต่จากคำแนะนำทั้งในความคิดเห็น ทาง SMS และโทรคุยกัน วิธีการมีมากมาย เลือกไม่ถูกเลย ผมชอบคำแนะนำของ อ.พฤษภ์ ที่ให้ใช้เลื่อย แต่วันนี้ยังไม่ได้ทำหรอกครับ สถานที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ผมแอบทำไม่ให้พ่อรู้ แต่คนอื่นรู้กันทั้งบ้าน อีกอย่างหนึ่งคือ ผมไม่ค่อยไว้ใจตัวเองเวลาใช้เครื่องมือหยาบๆ ครับ
ครูบาแนะให้ลองที่กรอแบบหมอฟัน ราคาไม่แพง แต่ผมมีเครื่องมืออื่นอยู่แล้ว คือสว่านความเร็วสูง คอตรง ซึ่งมีหัวเจียร เพียงแต่ว่าหัวเจียรใช้ทำงานไม้ไม่ดีนัก (ละเอียดเกินไป) จึงต้องพลิกแพลง
ก็เลยจะไปซื้อกระดาษทรายหยาบมากๆ เดินดูไปดูมา ไม่ถูกใจ จะกลับอยู่แล้ว ไปเจอกระดาษทรายสำหรับเครื่องขัดแบบสายพาน มีสามแผ่นราคารวมสี่สิบกว่าบาท เลยหยิบมาชุดหนึ่งครับ เป็นสายพานกระดาษทรายเบอร์ 36 แต่จะใช้เบอร์ 40 ก็ไม่น่าเกลียด เบอร์ยิ่งต่ำก็ยิ่งหยาบ
ตัดกระดาษทราย เป็นวงเกือบกลม ไม่จำเป็นต้องกลมดิ๊ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ผมใช้สองชั้นประกบกลับหน้าหลังเพื่อให้แข็งพอ เจาะรู ใส่แกน แล้วต่อกับเครื่องเจียร
พบว่ากินเนื้อไม้มากกว่าหัวเจียรที่มากับเครื่อง แถมมีราคาถูก ทำเองได้ซะด้วย — หัวเจียรวางอยู่ข้างกรรไกร
ทีนี้ก็สนุกล่ะ ทำการขึ้นรูปต่อ จะเห็นส่วนลำตัวขององค์พระ ผมใช้สว่านกับหัวกระดาษทรายขัด ทำให้เรียบผิดปกติ แต่ส่วนเศียรพระ ยังใช้สิ่วเล็กขุดต่อไปครับ สะใจดี ได้แผลเล็กมาอีกแผลหนึ่ง รูปวันนี้ (ซ้าย) เทียบกับเมื่อวาน (ขวา) หลังเลือดสาด
“เรียนในห้อง…ได้ความรู้
เรียนนอกห้อง…ได้ความจริงเอาความรู้บวกกับความจริง
เราได้…ความรู้จริง”ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ หนังสือ “คนนอกระบบ”
ปราชญ์ชาวบ้านที่ไม่ชอบให้เรียกอย่างนี้
มหาชีวาลัยอีสาน บุรีรัมย์