กทม. ในฐานะองค์กรอันซับซ้อน
ช่วงนี้ใกล้เวลาเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จะว่าไป ผมก็จะไม่ไปเลือกกับเขาหรอกครับ (ไม่ได้อยู่ กทม.) แต่มาคิดดูว่าคนที่อาสามาเป็นผู้ว่าฯ จะบริหารเขตเศรษฐกิจที่เก็บภาษีได้ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ มีประชากรที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านหกล้าน และเป็นที่ทำงานเลี้ยงชีวิตของคนสิบกว่าล้านนี่ เค้าคิดอะไรกันแน่
ยิ่งกว่านั้น เนื่องจาก กทม.เอง ก็เป็นส่วนราชการแบบท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดเป็นแสนคน ผู้ว่าฯ และทีมบริหารจะทำหมดแบบที่หาเสียงกันได้อย่างไร ปัญหาการศึกษา ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาขยะ ปัญหาการจราจรและคมนาคม ปัญหาพ่อค้าแม่ค้า และอีกร้อยแปดพันเก้า จะเอาผู้วิเศษที่ไหนมาแก้
ในส่วนของคนเลือก เลือกผู้ว่าฯ จากอะไร จากประสบการณ์ จากความรู้ จากแคมเปญการตลาด จากนโยบาย จากพรรค จากโหงวเฮ้ง+ความถูกชะตา จากความสะใจ จาก “ความประหลาดพิลึกกึกกือ” หรือว่าหลายๆ อย่างกันแน่
ยิ่งคิดไป ก็ยิ่งคิดว่าองค์กรที่ซับซ้อนแบบ กทม. น่าจะต้องเป็นองค์กรแบบ Chaordic ทีมผู้บริหารตั้งนโยบาย แล้วเฝ้าติดตามความคืบหน้าของงาน กล้าเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างและตัวบุคคล เพื่อให้เกิดผลตามนโยบายและทิศทางที่วางไว้
- ประเภทเก่งเดี่ยวไม่ฟังใคร แล้วจะมาเนรมิตให้ กทม.เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้นั้น น่าจะเป็นการเพ้อเจ้อครับ
- ผมคิดว่าผู้ว่าฯ ที่ดี ควรจะฟังเยอะๆ ทำงานประสานกับคนอื่นเป็น ใช้คนเป็น+เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของผู้ร่วมงานแต่ละคน มากกว่าจะรวบมาทำเอง; กทม. มี 50 เขต (อำเภอ) กับ 17 สำนัก รอง ผู้ว่าฯ อีกสามสี่คน แค่นับจำนวน direct report 70 คนนี้ ถ้าประชุมพร้อมกันหมด ก็เหมือนไม่ได้ประชุมแล้วครับ เป็นการมอบนโยบาย (ทางเดียว) ซะมากกว่า ต้องหาวิธีจัดการแล้ว
- ผู้ว่าฯ กทม.ควรจะจัดการกับการทุจริตอย่างเด็ดขาด คำว่าเด็ดขาดหมายความว่าให้เป็นไปตามกฏหมาย
- ดังนั้น จุดขาย จึงควรเป็นการขายนโยบาย และวิธีการเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ
- แม้เลือกไม่ได้ แต่ผมอยากฟังข้อเสนอที่เป็นไปได้ ไม่ใช่สัญญาบ้าๆ บอๆ หรือการสาดโคลนใส่กันครับ