ตรวจปริมาณฝนระยะไกล
ไปเจอข้อมูลการตรวจปริมาณฝนจาก Tropical Rainfall Measuring Mission ซึ่งเป็นภารกิจร่วมระหว่าง NASA และ JAXA ใช้เครื่องมือวัดต่างๆ ในดาวเทียมวัดปริมาณฝน ซึ่งเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ให้ข้อมูลออกมาว่าเกิดฝนตก 1200 มม. ใน 24 ชั่วโมง อันเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกต้อง
การวัดปริมาณฝนในลักษณะนี้ จึงน่าสนใจกว่าการดูภาพถ่ายจากดาวเทียมด้วยแสงอินฟราเรด ภาพสีจริง หรือภาพเรดาร์ตรวจอากาศในลักษณะที่ว่าเมื่อเห็นเมฆ ไม่ได้แปลว่าฝนตก; ผู้เชี่ยวชาญทางอุตุนิยมวิทยา ใช้ข้อมูลอื่นประกอบจนพอบอกได้ว่าอะไรเป็นเมฆ อะไรเป็นฝน มีปัญหาสองอย่างคือ (1) ผู้เชี่ยวชาญ ผิดได้เหมือนกัน (2) เราตรวจสอบเองไม่ได้ โดยปกติก็มักจะเชื่อและระวังตัวไว้ก่อน
เมืองไทยตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร มีทะเลใหญ่ขนาบข้างทั้งสองด้าน อุณหภูมิของน้ำทะเลมีความสำคัญ เพราะน้ำทะเลเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ได้มาก ความร้อนเหล่านี้สามารถถ่ายไปเป็นความร้อนแฝง ทำให้น้ำทะเลกลายเป็นไอ เป็นเมฆ เติมเชื้อปริมาณน้ำและความรุนแรงให้กับพายุที่พัดผ่านมาในทะเลแถวนี้ได้ (ที่ไหนๆ ก็เป็นอย่างนี้)
ตัวอย่างของการเติมปริมาณน้ำและความรุนแรงที่เห็นชัด ก็คือพายุไซโคลนนาร์กีสในปี 2551 เส้นทางของพายุ พัดเลียบฝั่งพม่า ตาพายุอยู่ชายฝั่งบนบก รัศมีของพายุครอบคลุมทั้งบนบกและในน้ำ ดังนั้นนาร์กีส จึงได้รับน้ำและพลังงานจากส่วนที่อยู่ในน้ำ เติมความรุนแรงลงไปเรื่อยๆ จนพม่าตอนล่างแหลกราญไป แต่เมื่อตาพายุเคลื่อนตัวลึกเข้ามาในแผ่นดินจนจะเข้าเขตพรมแดนไทย พายุอยู่ห่างฝั่งมากแล้ว อ่าวเบงกอลไม่สามารถเติมพลังงานให้กับพายุได้อีก นาร์กีสจึงสลายตัวไป ก่อนที่จะทำความเสียหายแต่แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่